ก่อนสิ้นปี 2562 กระแส ‘ลงถนน’ หรือการรวมตัวหรือแสดงออกในที่สาธารณะเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น หลัง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เชิญชวนให้ทุกคนไปรวมตัวกันบริเวณสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล แม้ว่าหลังการรวมตัวในครั้งนั้น จะทำให้แกนนำพรรคอนาคตใหม่และนักกิจกรรมทางการเมืองต้องถูก ‘หมายเรียก’ จากตำรวจเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในฐานะผู้จัดการชุมนุมที่ไม่ยอมแจ้งการชุมนุมก็ตาม
จริงอยู่ว่า การชุมนุมนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง แต่ในรัฐธรรมนูญก็วางเงื่อนไขไว้ด้วยว่า เสรีภาพดังกล่าวสามารถถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ‘พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558’ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาแต่งตั้งชุดแรกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกนำใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับผู้ต่อต้านรัฐบาล
ในปี 2563 กิจกรรมทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะร้อนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีคนลงทะเบียนเข้าร่วมอย่างน้อยหนึ่งหมื่นคน ซึ่งก็เต็มไปด้วยความพยายามจำกัดปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น บทความนี้จึงอยากทำหน้าที่ปูพื้นความเข้าใจของคนที่จะจัดการชุมนุม หรือทำกิจกรรมในที่สาธารณะร่วมกัน เพื่อให้เห็นข้อจำกัดตามกฎหมายและวิธีการปฏิบัติตามกฎหมาย
จัดชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ วางบทนิยามของคำว่า ‘การชุมนุมสาธารณะ’ หมายถึง การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
ส่วนนิยามคำว่า ‘ที่สาธารณะ’ หมายถึง ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วนงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ
หมายความว่า ถ้าจะเป็นการชุมนุมสาธารณะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยดังนี้
(1) การชุมนุมของบุคคล
(2) ในที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือที่ที่รัฐครอบครองหรือใช้ประโยชน์ หรือทางหลวง หรือทางสาธารณะ
(3) เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน แสดงความคิดเห็น ต่อประชาชนทั่วไป
(4) บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้
ถ้าหากไม่ครบองค์ประกอบข้อสี่ข้อก็ไม่ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะตามที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะมีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่จัดการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะหรือบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุม ‘ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง’ ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะสามารถยื่นขอผ่อนผันได้ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ชุมนุม โดยผู้วินิจฉัยการขอผ่อนผันคือ ‘ผู้บังคับการตำรวจ’ ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม
‘งานวิ่ง-งานบุญ-งานมหรสพ’ ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
นอกจากการชุมนุมที่ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมายแล้ว พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 ยังยกเว้นการชุมนุมบางประเภทให้ไม่ได้ต้องแจ้งการชุมนุม หรืออยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ชุมนุม ได้แก่
(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
‘ทำเนียบ-สภา-ศาล-วัง’ พื้นที่หวงห้าม อยากชุมนุมต้องมีระยะ
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 กำหนดให้บางพื้นที่เป็นพื้นที่หวงห้าม โดยจะมีการกำหนดระยะห่างระหว่างสถานที่กับผู้ชุมนุมเอาไว้ ดังนี้
(1) ห้ามชุมนุม ภายในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ
(2) ห้ามชุมนุม ภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารและศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น ทั้งนี้ ในกรณีจําเป็นผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอํานาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบสถานที่ดังกล่าวได้
‘หน่วยงานรัฐ-โรงพยาบาล-สถานศึกษา’ ชุมนุมได้แต่ห้ามรบกวนการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากการกำหนดระยะในการชุมนุมบางพื้นที่แล้ว พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 ยังกำหนดให้ห้ามจัดการชุมนุมในลักษณะกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
(1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
การชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 15 กำหนดหน้าที่ให้ผู้จัดการชุมนุมต้องดูแลรับผิดชอบการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ต้องดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ปราศัยหรือใช้เครื่องขยายเสียงหลังเที่ยงคืน หรือใช้เครืองขยายเสียงเกินระดับที่ ผบ.ตร. กำหนด เป็นต้น
ผู้ชุมนุมห้ามพกพาอาวุธ อำพรางตัว ก่อกวนหรือก่อเหตุร้าย
ส่วนหน้าที่ของผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้ถูกกำหนดหน้าที่เอาไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 16 ซึ่งระบุว่า ผู้ชุมนุมต้องไม่ก่อความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ ไม่บิดบังอำพรางตน ไม่พกพาอาวุธ ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตราย หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือขัดขวางอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น
ตำรวจมีหน้าที่รับแจ้งชุมนุม อำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัย
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่มีการชุมนุมจะต้องเป็นหน่วยรับแจ้งการชุมนุม และมีหน้าที่สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมาย อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่อำนวจความสะดวก รักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุม โดยก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุมสาธารณะ ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติและหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐแจ้งให้ประชาชนทราบถึงสถานที่และช่วงเวลาที่มีการชุมนุม ตลอดจนคําแนะนําเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด
เมื่อชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายตำรวจมีหน้าที่ ‘เจรจา’ กับผู้ชุมนุมก่อน
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 21 กำหนดขั้นตอนสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีมีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้สองกรณี ได้แก่
(1) กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่แจ้งการชุมนุม ไม่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ หรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กําหนด
(2) กรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมในพื้นที่หวงห้าม หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กําหนด
จากขั้นตอนปฏิบัติดังกล่าวจะเห็นว่า เมื่อเกิดการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ ‘เจรจา’ กับผู้ชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมก่อนเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามก็ให้กำหนดเวลาเลิกการชุมนุม แต่ถ้าผู้ชุมนุมยังไม่ปฏิบัติตาม ถึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดเพื่อออกคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม
ตำรวจมีอำนาจ ‘จับกุม-ค้น-ยึด’ เมื่อศาลเป็นคนสั่งให้เลิกการชุมนุม
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 23 หากศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม เจ้าหน้าพนักงานบังคับคดีต้องนำคำสั่งศาลมาปิดประกาศไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น และประกาศโดยวิธีการใดๆ เพื่อให้ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปทราบคำสั่งศาล
หากผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจประกาศกำหนดให้พื้นที่ชุมนุมเป็น ‘พื้นที่ควบคุม’ และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงห้ามบุคคลเข้าออกในพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 24 กำหนดให้ เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม หากยังมีผู้ชุมนุมอยู่ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม ค้น ยึด อายัด หรือรื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้ในการชุมนุมได้
อย่างไรก็ดี ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 25 กำหนด ‘ช่องทางลัด’ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมและใช้อำนาจจับกุม ค้น ยึด อายัด หรือรื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้ในการชุมนุมได้ โดยไม่ต้องผ่านศาล ในกรณีที่เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
การชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีโทษตั้งแต่ปรับยันจำคุก
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดโทษเบาที่สุดไว้ที่โทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท สำหรับผู้จัดการชุมนุมที่ไม่ดำเนินการแจ้งการชุมนุม ไม่ขอผ่อนผัน หรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้สำหรับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม
โทษสูงขึ้นมาเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานชุมนุมในระยะของพื้นที่หวงห้าม หรือฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุม
โทษสูงขึ้นมาอีกเป็นโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือประกาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โทษสูงขึ้นมาอีกเป็นโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม หรือพกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนโทษสูงสุด คือ โทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท สำหรับความผิดฐานทำให้ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้า ประปา หรือสาธารณูปโภคใช้ไม่ได้ถาวรหรือชั่วคราว
Tags: การชุมนุมประท้วง, พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ, ม็อบ