อุณหภูมิทางการเมืองไทยยังคงร้อนผ่าวราวคลื่นความร้อนกระหน่ำ หนำซ้ำการถกเถียงบนโลกออนไลน์ยังขับดันด้วยอารมณ์รักหรือชังมากกว่าเหตุผล ผู้เขียนสังเกตว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยทั้งใกล้และไกลตัวกำลังรู้สึกเครียดปนเศร้ากับสถานการณ์บ้านเมือง หลายคนบ่นว่าอยากย้ายออกไปอาศัยอยู่ประเทศอื่นที่ดูมีความหวังมากกว่านี้ เพราะเมืองไทยดูจะไร้ซึ่งอนาคตที่ไม่ถูกกดอยู่ใต้ระบอบเผด็จการจำแลง หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วแต่ใครจะเรียกระบอบที่รัฐธรรมนูญ 2560 พาเรานั่งย้อนเวลาหาอดีตกลับไปเกือบครึ่งศตวรรษ ย้อนไปสมัยที่คำว่า ‘รัฐบาลผสม’ และ ‘งูเห่า’ ยังใหม่หมาดในสังคม

ในภาวะเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าเราควรหาวิธีอยู่อย่างมีความหวัง เพราะไม่ว่าสังคมจะดูสิ้นหวังอย่างไร ‘ความหวัง’ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิต แม้ใครคิดย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าย้ายออกเพียงเพราะรู้สึกหมดหวังกับบ้านเกิดเมืองนอน ความคิดที่จะไปเริ่มชีวิตใหม่ในต่างแดนก็ใช่ว่าจะทำให้มีความสุขโดยอัตโนมัติ

เพราะนักจิตวิทยาบอกว่า ลงว่าเราตกอยู่ในสภาพ ‘หมดหวัง’ แล้วละก็ เราก็จะหมดแรงไม่อยากทำอะไร สุ่มเสี่ยงที่จะรู้สึกเดียวดาย ซึมเศร้า จมดิ่งลึกลงเรื่อยๆ ในกับดักความหดหู่ส่วนตัว

ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน มีฐานะทางการเงินและสถานภาพทางสังคมอย่างไร นักจิตวิทยาบอกว่า ‘ความหวัง’ ก็เป็น ‘เครื่องมือทางจิตใจ’ ที่สำคัญอย่างยิ่ง มันมีส่วนคล้ายแต่ไม่เหมือนกับ ‘การมองโลกในแง่ดี’ – คนที่มองโลกในแง่ดีเพียงแต่คาดหวังว่าอนาคตจะดี โดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ รองรับ และภาพอนาคตนั้นก็ไม่เกี่ยวเลยว่าตัวเองจะทำหรือไม่ทำอะไร

ในทางกลับกัน คนที่มี ‘ความหวัง’ เชื่อว่าอนาคตจะดีเพราะเขาหรือเธอมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีทั้ง ‘อิสระในการตัดสินใจ’ (agency) และ ‘ชุดกลยุทธ์’ ที่จะนำทางไปสู่เป้าหมาย

พูดง่ายๆ คือ คนที่มองโลกในแง่ดีอย่างเดียวอาจ ‘โลกสวย’ โดยไม่สนใจความจริง วิมานในอากาศอาจพังทลายทันทีที่เงยหน้ามาพบว่าความจริงโหดร้ายกว่าความเชื่อ ขณะที่คนมี ‘ความหวัง’ จะหล่อเลี้ยงความหวังนั้นได้อย่างยั่งยืนกว่า

ในเมื่อความหวังสำคัญต่อการใช้ชีวิต คำถามต่อไปก็คือ เราจะสร้างความหวังได้อย่างไรในสังคมที่ดูสิ้นหวัง?

จากงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่กองสุมเป็นพะเนินมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญเสนอวิธีต่างๆ มากมาย ผู้เขียนเลือกและสรุป ‘วิธีสร้างความหวัง’ โดยปรับให้เข้ากับบริบท ‘สังคมสิ้นหวัง’ ในปัจจุบันพอเป็นกระษัยได้สามข้อดังต่อไปนี้

1.  มองหาเส้นทางที่ชัดเจนสู่การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น นักจิตวิทยาบอกว่า ความสามารถในการมองเห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่เรากำลังทำอยู่นั้นมีความ ‘เชื่อมโยง’ กับการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นอย่างไร คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความหวัง ถ้าเรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำของเรากับผลลัพธ์เชิงบวกแล้วไซร้ ก็ยากที่เราจะมีกำลังใจทำ

ยิ่งสังคมดูสิ้นหวัง เรายิ่งควรพยายามเพ่งมองให้ชัด แตกเป้าหมายใหญ่(มาก)ออกเป็นเป้าหมายย่อยๆ ที่จัดการได้ง่ายกว่าและมองเห็นเส้นทางชัดกว่า ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะ “อยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นประชาธิปไตย ไม่เอาวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง” อย่างเดียว ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลานานมากและยังมองไม่เห็นเส้นทางชัดเจน เราก็อาจเปลี่ยนเป้าเป็น “อยากให้ฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง” แทน เพราะหลังวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็ชัดเจนแล้วว่าเรามีสภาที่มีฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในรอบห้าปี การเรียกร้องให้ ส.ส. ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง จึงไม่ใช่เรื่องสิ้นหวังแต่อย่างใด แถมถ้าฝ่ายค้านเข้มแข็งจริงๆ ก็จะช่วยปูทางไปสู่การแก้ไขหรือคว่ำรัฐธรรมนูญ 2560 ในอนาคตได้ด้วย

การแตกเป้าหมายใหญ่(ซึ่งมักจะดูไกลเกินเอื้อม) เป็นเป้าหมายย่อยๆ ที่มีความเป็นไปได้มากกว่า จึงเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างและหล่อเลี้ยงความหวัง

ลองดูตัวอย่างความเห็นของผู้ใช้ทวิตเตอร์สองท่านนี้ –

“เอาวะ ถึงจะได้นายกห่วยๆ คนเดิม แต่ถ้าให้มีคนเข้าไปพูดตรงๆ ในสภา โดยที่ไม่ถูกขัดแบบที่นักข่าวถามแบบทุกวันนี้ก็คงดีขึ้นไม่น้อย นึกภาพฝ่ายค้านถาม รมว. กลาโหมว่าทำไมถึงซื้อรถถังแพงกว่าประเทศอื่นสิ ตอบไม่ได้ก็หน้าแหกกลาง Facebook Live แน่นอน” (จาก @otaxpolitics)

“รู้สึกไม่ผิดคาดนะ ปูทางมาขนาดนี้มองจากดาวอังคารยังรู้ว่าฝ่ายไหนจะได้ตั้งรัฐบาล แต่รอดูตอนได้ตั้งแล้วมากกว่า ทุ่มโพเดียมไม่ได้ อาละวาดไม่ได้ ชี้นิ้วสั่งไม่ได้ เผลอๆ จะเถียงด้วยเหตุผลสู้ฝ่ายค้านไม่ได้ด้วย ดูซิจะเส้นเลือดในสมองแตกตายกันไปข้างไหม” (จาก @Thelittle_H2O)

นับเป็นการมองเห็นความก้าวหน้าในสถานการณ์ที่ล้าหลัง

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ แทนที่เราจะคาดหวังให้สมาชิกวุฒิสภา สมญา ‘สภาลากตั้งของพวกพ้องน้องพี่’ อย่างน้อยบางคนไม่ยกมือสนับสนุนให้ผู้นำเผด็จการทหารเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ซึ่งเป็นความคาดหวังที่มีความเป็นไปได้น้อยมากและน่าจะทำให้ผิดหวังจนหมดหวัง เราก็สามารถเปลี่ยนไปให้กำลังใจ ส.ส. หน้าใหม่แทน จากสถิติที่สำนักข่าวไทยพับลิก้ารวบรวม สภานี้มี ส.ส. หน้าใหม่มากถึง 318 คน คิดเป็นกว่า 63 เปอร์เซ็นต์ของทั้งสภา ในจำนวนนี้รวม ส.ส. ข้ามเพศ และ ส.ส. ชาวม้งคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยจากพรรคอนาคตใหม่

สัดส่วนที่สูงมากของ ส.ส. หน้าใหม่ นับเป็น ‘ความก้าวหน้า’ ที่น่ายินดี เพราะเท่ากับเพิ่มความหลากหลายของสภาผู้แทนราษฎร ขยับเข้ามาใกล้กับความหลากหลายของสังคมไทยจริงๆ มากขึ้นอีกนิด

2.  มองหาต้นแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะคนที่ไม่ย่อท้อแม้เผชิญกับอุปสรรคนานัปการ นักจิตวิทยาบอกว่า การอ่านเรื่องราวของพวกเขาและข้อความเชิงบวกจะช่วยสร้างความหวังในใจเราได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่าเรามองหา ‘ต้นแบบด้านกลับ’ ได้ด้วย นั่นคือ คนที่ใช้เหตุผลแย่ๆ หรือมีพฤติกรรมน่ารังเกียจ สามารถช่วยให้เราฮึดสู้และตั้งปณิธานว่า เราจะไม่ทำแบบนั้นเป็นอันขาด แถมเรายังได้ฝึกใช้ความคิด ลับสมองจากการคิดตามการใช้เหตุผลของพวกเขาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ส.ว. ลากตั้งรายหนึ่งออกมาอธิบายเหตุผลของตัวเองอย่างยืดยาวที่จะโหวตเลือกผู้นำเผด็จการทหารเป็นนายกฯ ว่า เพราะเขา “เป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ ‘เหตุผลพิเศษ’ ได้ใกล้เคียงที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ” โดยอธิบาย ‘เหตุผลพิเศษ’ ว่าหมายถึงการ “…ให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ…”

เมื่อคิดตามตรรกะเช่นนี้ เราก็สรุปได้ว่าเหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะเท่ากับบอกว่า มีแต่คนที่คุ้นเคยและมีส่วนในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้นที่สมควรเป็นนายกฯ เพราะเป็นคนเดียวที่จะทำให้การปฏิรูป “เกิดความต่อเนื่อง” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่า เราไม่ต้องจัดการเลือกตั้งอีกตลอดกาลเลยก็ได้ ลงเชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือนโยบายรัฐอะไรก็ตามแต่ จะมีแต่คนที่ริเริ่มเท่านั้นที่สามารถสานต่อได้!

(และแน่นอน ‘ตรรกะ’ นี้ปฏิเสธสิทธิของประชาชนอย่างสิ้นเชิง มองไม่เห็นว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในแง่หนึ่งคือการโหวตว่า เรา ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ แผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว)

3. ทำในสิ่งที่เรารู้ว่าทำได้แน่ๆ นักจิตวิทยาแนะว่า เวลาที่เรารู้สึกสิ้นหวังเพราะทำอะไรไม่ได้ ลองทำอะไรสักอย่างที่อยู่นอกเหนือกิจวัตรประจำวัน จะได้รู้สึกดีขึ้นและเริ่มมีความหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างเช่นการทำกับข้าว คุยกับเพื่อน เก็บบ้าน หรือในกรณีของผู้เขียนคือ การดูซีรีส์ เล่นเกม หรือโพสต์วิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารบนเฟซบุ๊ก

เพราะการได้แลกเปลี่ยนกันถึงเหตุผลที่เรารู้สึกสิ้นหวัง คือก้าวเล็กๆ ของการแผ้วถางหนทางสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม

Tags: