สภาวะหนี้ครัวเรือนไทยมีความสำคัญทั้งต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและต่อระบบการเงินของไทย ที่ผ่านมามีการศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยกันอย่างแพร่หลาย แต่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค จึงยากที่จะเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทยอย่างลึกซึ้งพอที่จะนำไปประกอบการกำหนดนโยบาย บทความนี้จึงนำเสนอมุมมองเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทยที่ได้จากการศึกษาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของหนี้รายสัญญาของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau: เครดิตบูโร) ซึ่งครอบคลุมข้อมูลหนี้ครัวเรือนกว่า 60 ล้านสัญญาในช่วงกว่า 8 ปีที่ผ่านมา
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยกำลังเป็นที่จับตามอง เพราะในปัจจุบัน หนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (Debt to GDP) มีค่าสูงถึงร้อยละ 71.2 และทั้งระดับหนี้และอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนโดยรวมของไทยก็สูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การมองในภาพรวมจากหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมนั้นเพียงพอแล้วหรือที่จะตัดสินว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ สถานการณ์อาจไม่ได้น่าเป็นห่วง หากประชากรไทยที่มีหนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการผลิต การลงทุน และการใช้จ่าย แต่อาจมีผลต่อการพัฒนาและเสถียรภาพของระบบการเงิน หากประชากรไทยที่มีหนี้เป็นกลุ่มที่เปราะบาง
สถานการณ์อาจไม่ได้น่าเป็นห่วง หากประชากรไทยที่มีหนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการผลิต การลงทุน และการใช้จ่าย แต่อาจมีผลต่อการพัฒนาและเสถียรภาพของระบบการเงิน หากประชากรไทยที่มีหนี้เป็นกลุ่มที่เปราะบาง
การศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค ซึ่งมีข้อดีที่ความครอบคลุมและศึกษาสถานการณ์หนี้ทั้งระบบได้ แต่มันไม่ละเอียดพอที่จะทำให้เรารู้ว่าหนี้อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร และคนกลุ่มดังกล่าวมีศักยภาพหรือมีความเปราะบางหรือไม่ จึงยากที่จะเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทยอย่างลึกซึ้งจนกระทั่งได้ข้อสรุปเชิงนโยบาย
การศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยที่ใช้ข้อมูลระดับจุลภาคจึงมีความสำคัญ แต่ในปัจจุบัน งานศึกษาระดับจุลภาคส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลสำรวจรายครัวเรือน ซึ่งอาจมีข้อดีตรงที่ครอบคลุมหนี้ทุกประเภททั้งในระบบและนอกระบบของแต่ละครัวเรือน แต่จำนวนกลุ่มตัวอย่างของข้อมูลสำรวจไม่ได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มของประเทศ รวมถึงข้อมูลสำรวจเป็นข้อมูลที่ครัวเรือนตัดสินใจตอบเอง ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนอาจมีแรงจูงใจที่จะไม่ตอบตามความเป็นจริง
ข้อมูลเชิงสถิติของเครดิตบูโร
ข้อมูลเชิงสถิติของสินเชื่อบุคคลของเครดิตบูโรเป็นข้อมูลรายบัญชีที่ถูกเก็บอย่างเป็นระบบโดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกรายงานมาที่เครดิตบูโรทุกเดือน บทความนี้ใช้ข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2559 ข้อมูลถูกส่งมาจากสถาบันการเงิน 90 แห่ง ซึ่งรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และสถาบันการเงินอื่นๆ เกือบทั้งหมด มีข้อมูลสินเชื่อ 60.5 ล้านบัญชี ของผู้กู้ 19.3 ล้านรายทั่วประเทศ และมียอดหนี้รวม 9.8 ล้านล้านบาท (ไม่ได้รวมหนี้สหกรณ์ สินเชื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้นอกระบบ)
นอกจากเป็นข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอย่างมีระบบตรงตามสถานะหนี้ ข้อมูลนี้ยังครอบคลุมผู้กู้ในระบบเกือบทั้งหมด และครอบคลุมร้อยละ 87 ของปริมาณหนี้ในระบบของครัวเรือนไทย ครอบคลุมทุกสัญญาเงินกู้ของผู้กู้แต่ละรายกับทุกสถาบันการเงิน ซึ่งต่างจากข้อมูลของสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเห็นเฉพาะข้อมูลหนี้ของสถาบันเดียว นอกจากนี้ยังมีความละเอียดในระดับรายสัญญา ในสามมิติหลัก ได้แก่ (1) รายละเอียดประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงิน (2) รายละเอียดผู้กู้ โดยเฉพาะอายุและรหัสไปรษณีย์ที่อยู่ (3) วงเงินกู้ ปริมาณหนี้ปัจจุบัน และการค้างชำระ
หนี้ครัวเรือนในมุมใหม่
จากข้อมูล เราพบว่าหนี้ครัวเรือนไทยมีการกระจุกตัวสูง ผู้กู้รายใหญ่สุด มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 62.4 ของหนี้ในระบบทั้งหมด
ข้อมูลนี้ยังสะท้อนการกระจายตัวของหนี้ครัวเรือนเชิงพื้นที่ทั่วประเทศได้ดี ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการกระจุกตัวของหนี้มีความแตกต่างกันมากในเชิงพื้นที่ โดยผู้กู้รายใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ชุมชนเมืองในจังหวัดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสงขลา
กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนของประชากรที่มีหนี้สูงที่สุด ขณะที่ผู้กู้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ มีปริมาณหนี้ต่อหัวมากที่สุด และสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากที่สุดอยู่ในภาคใต้และภาคกลาง และน้อยที่สุดในภาคเหนือ
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนประชากรที่มีหนี้และปริมาณหนี้ต่อคนระหว่างปีล่าสุดและปี 2552 พบว่าจำนวนคนมีหนี้เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด และปริมาณหนี้ก็เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด ยกเว้นบางจังหวัดในภาคใต้
สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากที่สุดอยู่ในภาคใต้และภาคกลาง
ในปัจจุบัน หนึ่งในสามของคนไทยมีหนี้ในระบบ และมีค่ากลางของปริมาณหนี้ต่อผู้กู้อยู่ที่ 147,068 บาท โดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนคนไทยที่มีหนี้ (หรือที่เรียกว่า extensive margin) และปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ (หรือ intensive margin)
ขณะที่หนึ่งในห้าของคนไทยที่มีหนี้นั้นมีหนี้เสีย และมีค่ากลางของปริมาณหนี้เสียรายคนอยู่ที่ 56,529 บาท โดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียนั้นลดลงเรื่อยๆ ผิดกับปริมาณหนี้เสียรายคนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน
คนมีหนี้และหนี้เสียมากในช่วงอายุใด
คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยหนึ่งในสองของคนวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้ และเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด
คนไทยมีหนี้นาน โดยจะเห็นได้ว่าทั้งสัดส่วนของประชากรที่เป็นหนี้และปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ไม่ได้ลดลงมากนักตั้งแต่เริ่มทำงานจนจะเกษียณ หรือแม้แต่เมื่อเข้าสู่วัยชรา ประมาณร้อยละ 20 ของคนกลุ่มนี้ (60-80 ปี) ยังคงมีหนี้ และมีปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ที่ค่อนข้างสูง
คนวัยเริ่มทำงานเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุด โดยเกินหนึ่งในห้าของคนกลุ่มนี้มีหนี้เสีย
ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน จำนวนคนไทยที่มีหนี้และปริมาณหนี้ต่อผู้กู้เพิ่มสูงขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน
คนวัยเริ่มทำงานเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุด เกินหนึ่งในห้าของคนกลุ่มนี้มีหนี้เสีย
สินเชื่อชนิดใดน่าเป็นห่วง ในคนกลุ่มใด
คนไทยมีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน โดยร้อยละ 30 ของคนกลุ่มนี้มีสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่ประชากรทั้งประเทศมีสินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็นร้อยละ 17 นอกจากนี้ กลุ่มวัยเริ่มทำงานยังมีสัดส่วนผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหนี้เสียสูงที่สุด คือร้อยละ 20 ขณะที่สัดส่วนของผู้กู้ทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15
ทั้งนี้ ปริมาณสินเชื่อส่วนบุคคลมีมูลค่าร้อยละ 28 ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยยอดหนี้เสียรวมมีปริมาณมากถึงร้อยละ 32 ของปริมาณหนี้เสียทั้งระบบ สินเชื่อส่วนบุคคลจึงเป็นสินเชื่อที่ต้องจับตามอง เพราะเกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจมีความเปราะบาง
สัดส่วนของประชากรที่มีสินเชื่อบ้านมีเพียงร้อยละ 4 โดยสัดส่วนดังกล่าวมีค่าสูงสุดที่ร้อยละ 10 สำหรับคนช่วงอายุ 40 ต้นๆ ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ร้อยละ 40 ของคนอเมริกันที่มีอายุ 40 เป็นต้นไปจะมีสินเชื่อบ้าน สัดส่วนผู้กู้บ้านที่มีหนี้เสียก็มีเพียงร้อยละ 4 แต่ด้วยปริมาณสินเชื่อรายคนที่สูง สินเชื่อบ้านจึงมีสัดส่วนมากที่สุดในปริมาณสินเชื่อทั้งหมดในระบบ คือร้อยละ 33.2 และคิดเป็นร้อยละ 19.8 ของปริมาณหนี้เสียในระบบ สินเชื่อบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งสินเชื่อที่มีนัยสำคัญต่อระบบสินเชื่อ
ในกรณีสินเชื่อบัตรเครดิต พบว่าร้อยละ 9 ของคนไทยมีสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 63 ของคนอเมริกันที่มีบัตรเครดิต และร้อยละ 8.6 ของผู้ที่มีบัตรเครดิต มีหนี้เสีย ซึ่งก็น้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อชนิดอื่น ๆ
สินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 3.8 ของปริมาณสินเชื่อทั้งหมด และร้อยละ 8.1 ของปริมาณหนี้เสียทั้งหมด แต่กลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนของคนมีบัตรเครดิตมากที่สุดที่ร้อยละ 20 และมีสัดส่วนของคนมีหนี้เสียสูงสุดอีกด้วย สินเชื่อบัตรเครดิตจึงอาจไม่ได้มีนัยสำคัญต่อระบบสินเชื่อโดยรวม แต่อาจส่งผลกระทบต่อคนเฉพาะกลุ่ม
สินเชื่อรถยนต์ เป็นสินเชื่ออีกประเภทที่มีกันมากในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน และมีสัดส่วนหนี้เสียสูงสุดในคนกลุ่มนี้เช่นกัน โดยร้อยละ 20 ของกลุ่มวัยเริ่มทำงานจะมีสินเชื่อรถยนต์ และมีสัดส่วนผู้กู้ในกลุ่มนี้ที่มีหนี้เสียถึงเกือบร้อยละ 20 นี่จึงเป็นสินเชื่ออีกประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อคนเฉพาะกลุ่ม
สินเชื่อมอเตอร์ไซค์เป็นสินเชื่อที่มีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุด คือร้อยละ 37.2 นับว่าเป็นสินเชื่อที่มีความเปราะบาง ถึงแม้จะมีเพียงร้อยละ 2 ของประชากรไทยที่มีสินเชื่อประเภทนี้
มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทย บอกอะไรในเชิงนโยบาย
มิติของการเข้าถึงสินเชื่อของคนไทย หนึ่งในสามของประชากรไทยมีหนี้ในระบบ ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง แต่ต่ำในสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต (เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา) คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย และกลุ่มดังกล่าวก็มักมีหนี้ค้างชำระ และคนไทยมีหนี้นานจนแก่ ดังนั้น นโยบายที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนหรือใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น เช่น ที่อยู่อาศัย จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ควรมุ่งไปสู่กลุ่มที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ
คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย และคนไทยมีหนี้นานจนแก่
มิติของเสถียรภาพทางการเงินไทย หนี้ครัวเรือนไทยมีความกระจุกตัวสูง คือกระจุกตัวในชุมชนเมืองและในสินเชื่อบางประเภท เช่น สินเชื่อบ้าน นอกจากนี้ หนึ่งในห้าของผู้กู้มีหนี้เสีย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเริ่มทำงานที่มีหนี้เสียอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคลสูง และผู้กู้ในภาคใต้และภาคกลาง งานวิจัยและนโยบายที่จะมุ่งเข้าใจปัจจัยเสี่ยง และติดตามพื้นที่และกลุ่มคนที่มีการกระจุกตัวของหนี้สูงจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากพื้นที่หรือคนกลุ่มดังกล่าวมีความเปราะบาง ก็อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
มิติของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค กลุ่มวัยเริ่มทำงานมีหนี้และหนี้เสียค่อนข้างสูง และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนและการใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบและการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
หนี้และหนี้เสียในกลุ่มวัยเริ่มทำงานอาจส่งผลต่อระบบและการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณหนี้ต่อผู้กู้มีปริมาณที่สูงในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการใช้จ่าย การลงทุน และการพัฒนาในภูมิภาคดังกล่าว
ท้ายที่สุด บทความนี้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์หนี้รายคนมีความแตกต่างกันในทุกมิติ ดังนั้น การจะเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทย รวมถึงการกำหนดนโยบาย จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มีความละเอียดสูง และมีความครอบคลุมระบบสินเชื่อของประเทศ
บทความนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโรในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทั้งในเชิงนโยบายและวิชาการ แต่ข้อมูลนี้ยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถตอบคำถามสำคัญของหนี้ครัวเรือนในหลายประเด็น เพราะไม่ครอบคลุมถึงสินเชื่อสหกรณ์ สินเชื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา และไม่มีข้อมูลรายได้ซึ่งสามารถสะท้อนศักยภาพของผู้กู้แต่ละราย ข้อมูลเหล่านี้มีการเก็บไว้อย่างเป็นระบบอยู่แล้ว หากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในการนำข้อมูลส่วนนี้มาศึกษา ก็จะเป็นการยกระดับศักยภาพของข้อมูลสินเชื่อเชิงสถิติชุดนี้ได้อย่างมาก
เรียบเรียงจากบทความ “มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร” โดย โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, อัจจนา ล่ำซำ, ภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California, San Diego จัดทำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560.
เรียบเรียงโดย กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์
Tags: Economy, householddebt, debt