ระลอกความครื้นเครงจากภาพล้อการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และครอบครัวยังไม่ทันจาง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กระชากอารมณ์ของประชาคมโลกชนิดหักศอก ด้วยการประกาศถอนตัวสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยข้ออ้างว่าข้อตกลง ‘แย่ๆ’ นี้ไม่สอดคล้องกับหลักการ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ที่เขาเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง
เห็นท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์เช่นนี้ คงไม่ต้องแปลกใจกับทีท่าขรึมเครียดของโป๊ปฟรานซิสที่ปรากฏในภาพถ่ายร่วม ณ กรุงวาติกัน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงแม้สำนักวาติกันกล่าวถึงการพบปะสนทนานานครึ่งชั่วโมงว่าอบอุ่นและเป็นมิตร ต่างคัดค้านการทำแท้งและมีความกังวลร่วมกันต่อสวัสดิภาพของชาวคริสเตียนในตะวันออกกลาง แต่คำแถลงไม่ได้กล่าวถึงความเห็นต่างระหว่างผู้นำทั้งสองต่อเรื่องผู้อพยพและปัญหาภาวะโลกร้อน
โดยเฉพาะประเด็นหลัง ก่อนหน้านี้สองปี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในฐานะประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทำให้ประชาคมโลกตะลึงในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยการกล่าวถึงปัญหาโลกร้อนด้วยความคิดเห็นค่อนข้างสอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์ไว้ในพระสมณสาส์น (encyclical letter) ฉบับเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นเอกสารทางการที่สื่อสารกับคริสตศาสนิกชนทั่วโลก
สาส์นความยาว 42,000 คำนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราทุกคนจะได้รับผลกระทบอันรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากผู้คนบนโลกใบนี้ไม่ทำอะไรเพื่อหยุดยั้งหรือทุเลามันลง และปัญหานี้โยงใยอย่างสำคัญต่อการกดขี่คนยากไร้และความอ่อนแอในสังคม
ขณะที่ประชาคมโลกกำลังผิดหวังและขุ่นเคืองกับการตัดสินใจของทรัมป์-ผู้นำประเทศมหาอำนาจที่เคยประกาศว่าปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องโกหก เราลองมาอ่านทวนสาส์นจากโป๊ปฟรานซิสกันอีกสักครั้ง ว่ามีประเด็นใดควรยึดเป็นหลักคิดบ้าง
ในบทนำ โป๊ปฟรานซิสกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงบูรณภาพ (integrity) ของระบบนิเวศกันมามากพอแล้ว เราควรจะกล้าพูดถึงบูรณภาพของชีวิตมนุษย์บ้าง พูดถึงความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมและสร้างความเป็นเอกภาพของคุณค่าอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย เมื่อใดเราสูญเสียความอ่อนน้อมถ่อมตนและหลงระเริงกับความสามารถในการควบคุมสรรพสิ่ง เราเองจะก่ออันตรายต่อสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1. ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งให้ครอบครอง
ถ้าเราปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยปราศจากความยำเกรงและความฉงน ถ้าเราเลิกพูดภาษาที่งดงามแสดงความเป็นพี่น้องเมื่อพูดถึงสัมพันธภาพระหว่างเรากับโลก ทัศนคติของเราจะเป็นแบบเจ้านาย ผู้บริโภค ผู้ช่วงใช้อย่างไร้ความละอาย ไม่รู้จักบันยะบันยัง ในทางตรงข้าม ถ้าเรารู้สึกใกล้ชิดกลมกลืนกับสรรพสิ่ง สติและความห่วงใยจะเกิดขึ้นทันที การดำรงชีวิตอย่างสมถะและเข้มงวดของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี ไม่ได้เป็นเพียงตัวอย่างของการบำเพ็ญพรต แต่เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ก้าวหน้ามาก เป็นการปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นแค่วัตถุสำหรับช่วงใช้และควบคุม โลกมิใช่ปัญหาให้แก้ หากเป็นความลี้ลับควรค่าแก่การใคร่ครวญด้วยปีติและความชมชื่น
2. สภาพภูมิอากาศถูกทำให้เสียสมดุล และผู้คนต้องช่วยกันแก้ไข
สภาพภูมิอากาศเป็นประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ เป็นของทุกคนและมีเพื่อทุกคน เป็นระบบอันสลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกับเงื่อนไขจำเป็นที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทุกวันนี้มีความเห็นตรงกันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเรากำลังจะเป็นพยานรู้เห็นสภาพภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งยังผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงสภาพแปรปรวนรุนแรงอย่างพายุและความแห้งแล้ง แม้เรายังไม่สามารถระบุต้นตอสาเหตุได้แน่ชัด แต่มนุษยชาติต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่ตนจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต การผลิต และการบริโภคที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หรืออย่างน้อยที่สุดต้องลดผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ให้น้อยลง และไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
3. ปัญหาความยุติธรรมทางสังคมคือผลพวงโดยตรงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่คุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้แย่ลงทุกที ในหลายพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ กลับมีความพยายามแปรรูปทรัพยากรน้ำให้กลายเป็นสินทรัพย์ส่วนตนและสินค้าเพื่อหากำไรตามกลไกตลาด การเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นสากล เพราะมันจำเป็นต่อความอยู่รอดของปัจเจก และเป็นเงื่อนไขในการเคารพสิทธิของผู้อื่น โลกเราเป็นหนี้ทางสังคมอย่างมากต่อผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย เพราะเท่ากับว่าพวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
แต่ละปีมีสัตว์และพืชมากมายหลายสายพันธุ์ที่ต้องสูญพันธุ์ไป เราจะไม่รู้จักมันอีกต่อไปในอนาคต และลูกหลานของเราก็จะไม่มีวันได้เห็นมันอีก การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์เหล่านี้เกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ สายพันธุ์ชีวิตนับร้อยนับพันหมดโอกาสที่จะดำรงอยู่เพื่อประกาศเกียรติแด่พระผู้เป็นเจ้า ก็เพราะน้ำมือเรา ทั้งที่มนุษย์เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น
4. นักวิทยาศาสตร์พูดได้ถูกต้อง และเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
เราต้องขอบคุณและชื่นชมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทั้งหลายที่พยายามแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่เมื่อมองโลกใบนี้ให้ถ่องแท้ เราจะเห็นว่าการแทรกแซงของมนุษย์ ซึ่งบ่อยครั้งเพื่อสนองประโยชน์ทางธุรกิจและลัทธิบริโภคนิยม จะยิ่งทำให้โลกร่ำรวยและสวยน้อยลง เต็มไปด้วยข้อจำกัดและความทึมเทา แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสินค้าเพื่อการบริโภคจะเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด มนุษย์เหมือนจะคิดว่าตนสามารถทดแทนความงามที่ทดแทนและเรียกคืนไม่ได้ด้วยสิ่งที่ตนสร้างขึ้น
5. เลิกจ้องแต่โทรศัพท์มือถือได้แล้ว
ความสัมพันธ์ที่เป็นจริงของมนุษย์กำลังจะถูกแทนที่ด้วยการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่เราสามารถเลือกหรือลบความสัมพันธ์เมื่อไรก็ได้ตามใจปรารถนา และนำไปสู่การแสดงอารมณ์ที่ข้องเกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารทั้งหลายมากกว่ากับมนุษย์คนอื่นๆ หรือธรรมชาติรอบตัว
การขาดปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและการเจอหน้ากันจริงๆ นำไปสู่สามัญสำนึกที่เฉยชาและการคิดวิเคราะห์ที่เพิกเฉยต่อความเป็นจริงบางด้าน เราต้องตระหนักว่าแนวคิดทางนิเวศวิทยาที่เป็นจริงจะต่อยอดไปสู่แนวคิดทางสังคม และผนวกรวมคำถามเรื่องความยุติธรรมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม นั่นคือฟังเสียงเรียกร้องทั้งของโลกและของผู้ยากไร้
การไหลบ่าท่วมทับของสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ๆ สามารถครอบงำจิตใจและกีดขวางเราไม่ให้รู้จักชื่นชมสิ่งเล็กๆ และชั่วขณะหนึ่งๆ ตรงหน้า การสัมผัสกับสิ่งจริง ไม่ว่าจะเล็กจ้อยเพียงใด จะเปิดทางให้เราพบกับขอบฟ้าใหม่ของความเข้าใจและการบรรลุเป้าหมายส่วนตัว
6. แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งมหัศจรรย์
มนุษยชาติกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ซึ่งอำนาจของเทคโนโลยีพาเรามาถึงทางแยก สองศตวรรษที่ผ่านมา เราได้ประโยชน์มากมายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อย่างเช่นเครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ โทรเลข ไฟฟ้า รถยนต์ เครื่องบิน อุตสาหกรรมเคมี ยารักษาโรคใหม่ๆ เทคโนโลยีสารสนเทศ และล่าสุดคือการปฏิวัติดิจิทัล หุ่นยนต์ ไบโอเทคโนโลยี และนาโนเทคโนโลยี ถูกต้องแล้วที่เรายินดีกับความก้าวหน้าเหล่านี้ และตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผลผลิตที่มหัศจรรย์จากความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์
7. คนรวยยิ่งรวยมากขึ้นด้วยการฉกฉวยจากคนจนและสภาพแวดล้อม
หนี้ต่างประเทศกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือครอบงำประเทศยากจน กระนั้นก็ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงหนี้เชิงนิเวศ (ที่ประเทศพัฒนามีต่อประเทศยากจน) ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ถือครองทรัพยากรธรรมชาติอันจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ยังต้องก้มหน้ายอมเป็นแหล่งเชื้อเพลิงการพัฒนาให้กับประเทศที่รวยแล้วต่อไป โดยมีคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นเดิมพัน
8. พระเจ้าไม่ได้บอกว่ามนุษย์สามารถทำอะไรกับโลกได้ตามอำเภอใจ
เราไม่ใช่พระเจ้า โลกมีอยู่มาก่อนเรา และพระเจ้ามอบหมายให้เราดูแล แต่คนบางกลุ่มกลับตีความอย่างผิดๆ ว่าพระเจ้าทรงอนุญาตให้เรา ‘ครอบครอง’ มีอำนาจเด็ดขาดเหนือโลก
เมื่อธรรมชาติถูกมองว่าเป็นแหล่งสำหรับใช้แสวงหากำไรและผลประโยชน์ มันจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง ทัศนะที่ว่า ‘อำนาจคือความถูกต้อง’ ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม และการกระทำที่รุนแรงป่าเถื่อนต่อมนุษยชาติส่วนใหญ่ เพราะทรัพยากรตกไปอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยที่มาก่อนหรือคนที่มีอำนาจมากที่สุด
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ร่วมกัน เป็นทรัพย์สินของปวงมนุษยชาติ และทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเราจะเป็นเจ้าของบางสิ่ง ก็เพียงเพื่อจัดการให้เกิดสิ่งดีๆ แก่คนทุกคน ไม่เช่นนั้น เราก็กำลังปฏิเสธการมีชีวิตของมนุษย์คนอื่นๆ
9. การปฏิบัติต่อสภาพแวดล้อมอย่างผิดๆ เลวร้ายพอๆ กับการล่วงละเมิดกระทำรุนแรงต่อเด็ก และเรื่องสเต็มเซลล์
วัฒนธรรมที่ชอบอ้างสัมพัทธนิยมเป็นความป่วยไข้เดียวกันกับที่ผลักดันคนคนหนึ่งให้เอาเปรียบผู้อื่น ปฏิบัติต่อผู้อื่นเสมือนเป็นวัตถุ เป็นทาส อย่างเช่นการบังคับใช้แรงงานหรือการทำให้เป็นทาสเพื่อจ่ายคืนหนี้สิน ความคิดแบบเดียวกันนี้นำไปสู่การเอาเปรียบทางเพศต่อเด็กและการทอดทิ้งผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำประโยชน์ให้ตนได้ต่อไป มันเป็นวิธีคิดของคนที่ชอบพูดว่า เราควรปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นของตลาดเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และมองผลกระทบต่อสังคมและธรรมชาติที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเพียงความเสียหายที่ไม่ได้ตั้งใจ
ในตอนท้าย โป๊ปกล่าวย้ำว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายหลายประเด็นที่ยากจะบรรลุฉันทามติในวงกว้าง กระนั้น เราจำเป็นต้องส่งเสริมการอภิปรายที่เปิดกว้างและจริงใจ เพื่อที่ผลประโยชน์หรืออุดมการณ์เฉพาะกลุ่มใดๆ ก็ตาม จะไม่เบียดบังเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
Photo: REUTERS/Andrew Kelly
Tags: โดนัลด์ ทรัมป์, สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, ความตกลงปารีส, ปัญหาโลกร้อน, พระสมณสาส์น