เมื่อ 40 ปีก่อน กลุ่มนักศึกษาปฏิวัติมุสลิมเคร่งศาสนาพากันกรูเข้าไปในสถานทูตอเมริกา ในเมืองหลวงของอิหร่าน จับตัวประกัน 52 คนไว้เพื่อการต่อรองนานกว่าหนึ่งปี กระทั่งอิหร่านและสหรัฐอเมริกาเกือบต้องประกาศทำสงครามกัน

กลุ่มนักศึกษาพากันตะโกนอเมริกาไปตาย!” “แยงกีไสหัวไปพร้อมกับจุดไฟเผาธงชาติอเมริกา นักศึกษานับร้อยคนพากันมาชุมนุมประท้วงที่บริเวณด้านหน้าอาคารสถานทูตอเมริกาในกรุงเตหะรานตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 ความจริงแล้วการชุมนุมประท้วงดูเป็นเรื่องปกติในสายตาของเจ้าหน้าที่สถานทูต ทว่าเวลาประมาณ 11.30 . จู่ๆ นักศึกษาหลายคนก็ปีนกำแพงเข้าไปบริเวณด้านในสถานทูต

ผู้บุกรุกรู้ดีว่า อาจมีการตอบโต้ด้วยกระสุนปืน แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งได้รับคำสั่งตรงจากกระทรวงต่างประเทศไม่ให้มีการยิง เหตุการณ์จับกุมและเหนี่ยวรั้งตัวประกันในสถานทูตอันยาวนานจึงเริ่มต้นขึ้น

ช่วงต้นปีนั้น เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามขึ้น ทำให้พระเจ้าซาร์แห่งเปอร์เซียโมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลอเมริกัน ต้องสละบัลลังก์และลี้ภัยจากการคุกคามของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นองค์การฝ่ายซ้าย กลุ่มเคร่งศาสนา และขบวนการนักศึกษาอิหร่าน กอปรกับการกลับมายึดครองอำนาจของอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี (Ajatollah Ruhollah Khomeini) จากการลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1979 สองเดือนหลังจากนั้นอิหร่านจึงเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่เป็นสาธารณรัฐอิสลาม

โคมัยนีเข้ายึดครองอำนาจด้วยความรุนแรง มีคำสั่งให้จับกุมตัวฝ่ายตรงข้ามไปทรมานและสังหาร อิหร่านเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากรัฐตำรวจสู่อำนาจเผด็จการมุลลาห์นิกายชีอะฮ์ ที่มีโคมัยนีเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ เริ่มจากการปฏิวัติอย่างกว้างขวางในเบื้องต้น ก่อนจะเข้าสู่รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการใหม่ ที่ชาวอิหร่านต้องทนทุกข์มาตราบถึงทุกวันนี้

โคมัยนีพยายามรวบรวมพลังที่เปราะบางของเขาเข้าด้วยกัน ให้การสนับสนุนนักศึกษาที่รักของเขา ในการต่อสู้เรียกร้องให้ส่งตัวอาชญากรชาห์ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับมารับโทษทัณฑ์ที่อิหร่าน ข้อเรียกร้องดังกล่าวส่งตรงไปถึงสหรัฐอเมริกา ที่อ้าแขนต้อนรับพระเจ้าชาห์แห่งเปอร์เซียเป็นผู้ลี้ภัยคนสำคัญ

ข่าวการบุกเข้ายึดสถานทูตอเมริกันในกรุงเตหะรานถูกส่งไปถึงแคมป์ เดวิด ที่ซึ่งจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนช่วงวันหยุด ทำให้เขาถึงกับมโนภาพฝันร้ายผมเห็นภาพผู้ปฏิวัติยิงตัวประกันในทุกเช้าตอนพระอาทิตย์ขึ้น จนกว่าเราจะส่งตัวชาห์กลับไปให้ประธานาธิบดีกล่าวถึงเรื่องนี้ในเวลาต่อมา

ทว่าไม่มีการยิงตัวประกัน และสงครามไม่ปะทุขึ้น จะมีก็เพียงดรามา ทำให้จิมมี คาร์เตอร์ต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงในการเลือกตั้งปี 1980 และเกิดความสั่นคลอนในความมั่นใจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในระยะยาว

สหรัฐฯ งัดข้อกับอิหร่านในความขัดแย้งที่ไม่สมมาตรนี้ แม้แต่อำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกก็ไม่สามารถข่มประเทศกำลังพัฒนาที่วุ่นวายให้ยอมสยบได้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมือง แหล่งสำรองวัตถุดิบ หรือตลาดการซื้อขาย แต่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หรือพระเจ้าชาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักการทูตตัวประกันนับสิบคน

พนักงานและนักการทูตของสถานทูตถูกทรมาน ถูกกระทำให้อับอายด้วยการใช้ผ้าผูกตา ลากตัวออกไปประจานต่อหน้าสาธารณชน กระทรวงการต่างประเทศในกรุงเตหะรานให้เหตุผลของการยึดสถานทูตอเมริกันว่าเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของชาวอิหร่านเมื่อถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ทำร้ายความรู้สึกและเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐอเมริกาเคยยึดอิหร่านไว้เป็นตัวประกันเมื่อปี 1953 ครั้งนั้นสหรัฐอเมริกาเคยหนุนหลังให้มีการรัฐประหารล้มอำนาจของนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด โมซัดเดกห์ (Mohammad Mosaddegh) ครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลอิหร่านไม่มีอำนาจคัดค้าน หลังจากเหตุการณ์บุกยึดสถานทูตหนึ่งวัน นายกรัฐมนตรีเมห์ดิ บาซาร์กัน (Mehdi Bazargan) ผู้ไม่เห็นด้วยกับการจับตัวประกัน ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

 ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการรู้เห็นเป็นใจของมุลลาห์ และโดยปราศจากคอนเซ็ปต์เรามักปล่อยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปโดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างโคมัยนีแถลงทางทีวีแต่อัลลอฮ์ได้เตรียมทุกสิ่งไว้ด้วยวิธีที่ดีที่สุดเสมอ

ประธานาธิบดีคาร์เตอร์แสดงความเชื่อมั่นทางการทูตว่า อเมริกาต้องการทางออกที่สงบสุข จากนั้นสหรัฐอเมริกาจึงเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้อิหร่านปล่อยตัวประกันในทันที นอกจากนั้นรัฐบาลยังยกเลิกการส่งชิ้นส่วนอะไหล่มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทัพอิหร่าน และพยายามหลีกเลี่ยงคำพูดใดๆ ที่อาจตีความได้ว่าเป็นการยั่วยุอิหร่าน

กระทั่งสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ คาร์เตอร์จึงส่งตัวนักศึกษาชาวอิหร่าน 4,000 คนทั้งที่วีซ่าหมดอายุหรือไม่มีวีซ่าจากจำนวนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น 60,000 คนกลับประเทศอิหร่าน สั่งให้ธนาคารของอเมริกาใช้มาตรการแช่แข็งเงินฝากจำนวนหมื่นล้านของอิหร่าน รัฐบาลหยุดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน นอกจากนั้นเรือบรรทุกเครื่องบินมิดเวย์ยังเคลื่อนเข้าประชิดพื้นที่ตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย

ช่วงเวลานั้นเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 1976 “เราจะแสดงให้โลกเห็นว่า เรายืนหยัดอยู่เคียงข้างประธานาธิบดีของเราในภาวะวิกฤติเช่นนี้โรเบิร์ต โดล (Robert Dole) และจิม คอนนัลล์ (Jim Connall) คู่แข่งฝั่งริพับลิกันประกาศผ่านสื่อ ให้ความหวังแก่ประธานาธิบดี การสนับสนุนเช่นนี้ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มักได้รับในวิกฤตการณ์สำคัญๆ อย่างเช่นปี 1917 ชาวอเมริกันเฝ้าติดตามและเป็นกำลังใจให้กับวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) เมื่อเขาประกาศทำสงครามกับเยอรมนี ปี 1940 

แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าทำเนียบขาวเป็นครั้งที่สาม และภายใต้การนำของเขา สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงคราม ต่อสู้กับฮิตเลอร์เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ปี 1950 ชาวอเมริกัน 81 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนการตัดสินใจของแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ที่ส่งกองทัพไปร่วมในสงครามเกาหลีภายใต้ธงสหประชาชาติ

หรือในคราวที่ทำสงครามกับเวียดนาม มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 88 ใน 100 คนเห็นชอบกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีลีนดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) แต่สงครามกลางป่าเขาในเวียดนามใช้เวลานานปี และมีจุดจบที่ความพ่ายแพ้อย่างน่าอายของสหรัฐอเมริกา 

วิกฤตการณ์ตัวประกันในกรุงเตหะรานเผยให้เห็นความไร้อำนาจของมหาอำนาจโลกภายในไม่กี่สัปดาห์ ‘America held hostage’ เป็นประเด็นพาดหัวข่าวยาวนานในรายการข่าวของสถานีเอบีซี และผู้ประกาศข่าวยังตอกย้ำด้วยการนับวันที่ตัวประกันถูกกักขังด้วย

การตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาต่อวิกฤตการณ์นี้ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลยคณะเจ้าหน้าที่ทหารและผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองได้จัดทำแผนปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว เช่น แผนปิดล้อมทางเรือกับอิหร่าน เข้ายึดครองแหล่งน้ำมัน และทิ้งระเบิดโรงกลั่น กระนั้นประธานาธิบดีคาร์เตอร์ก็ยังหวั่นเกรงว่าจะไม่เป็นผลสำเร็จ ซ้ำร้ายอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของตัวประกันด้วย

ท่ามกลางความสับสน จิมมี คาร์เตอร์ก็ยังมีความพยายาม ในคืนย่างเข้าวันที่ 25 เมษายน 1980 เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ได้ผละจากเรือบรรทุกเครื่องบินนิมิตซ์มุ่งหน้าไปที่ทะเลทรายของอิหร่านปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์หมายจะช่วยเหลือตัวประกัน แต่แผนการต้องล้มเลิกไปเนื่องจากถูกพายุทรายพัดถล่ม ทำให้ทหารเสียชีวิตไป 8 นาย ความหวังของคาร์เตอร์ที่จะได้รับเลือกกลับเข้าทำเนียบขาวอีกครั้งร่วงลงเป็นศูนย์

 ดราม่าตัวประกันมีเค้าถึงบทอวสาน เมื่อพระเจ้าชาห์เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งที่ประเทศอียิปต์ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1980 หลังจากเร่ร่อนลี้ภัยอยู่ในหลายประเทศ ข้อเรียกร้องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจึงหมดไป ทว่าวันที่ 22 กันยายนก็ปรากฏความขัดแย้งครั้งใหม่ โดยที่อเมริกาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย นั่นคือ อิรักเปิดโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ ด้วยการทิ้งระเบิดลงที่สนามบินต่างๆ ในอิหร่าน สงครามครั้งนั้นดำเนินต่อเนื่องยาวนานถึงแปดปี และมีผู้คนเสียชีวิตนับล้านคน

นอกจากนี้บรรยากาศทางการเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 1979 กองทัพโซเวียตได้บุกยึดอัฟกานิสถาน นักการเมืองตะวันตกพยายามเกลี้ยกล่อมมุลลาห์ให้เข้าใจว่า ศัตรูที่แท้จริงของพวกเขาคือประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่อเมริกาที่อยู่ห่างออกไปถึง 15,000 กิโลเมตร

กุญแจสำคัญในบรรดาทางออกทั้งหมดคือ แกร์ฮาร์ด ริตเซล (Gerhard Ritzel) เอกอัครราชทูตเยอรมันตะวันตกประจำกรุงเตหะราน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในช่วงที่พระเจ้าชาห์ยังปกครองประเทศอยู่ แต่เขาก็ได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายค้านที่ถูกคุกคามไว้ อีกทั้งริตเซลยังรู้จักเป็นการส่วนตัวกับซาเดกห์ ทาบาทาไบ (Sadegh Tabatabai) ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรัวห์ ในเมืองโบคุม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ น้องสาวของทาบาทาไบมีความสัมพันธ์กับอะยาตุลลอฮ์ในฐานะสะใภ้คนหนึ่ง

ริตเซลได้รับเลือกเป็นตัวแทนของกาชาดสากล และได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมตัวประกัน ต่อมาเขาดำเนินการให้มีการเจรจาลับระหว่างทาบาทาไบ กับวอร์เรน คริสโตเฟอร์ (Warren Christopher) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายในบ้านรับรองของรัฐบาลกลางในกรุงบอนน์

ระหว่างนั้น ชาวอิหร่านถือว่าตัวประกันของพวกเขาเป็นภาระ แต่ก็กลัวว่าหากปล่อยตัวประกันไปแล้ว รัฐบาลอเมริกันอาจตอบโต้ให้ต้องเสียหน้า อีกอย่างอิหร่านยังต้องการทรัพย์สินมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ประธานาธิบดีคาร์เตอร์สั่งให้ธนาคารของสหรัฐฯ แช่แข็งไว้ แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายก็พบทางออก โดยที่ไม่ต้องมีการทิ้งระเบิดลงในกรุงเตหะราน และอิหร่านได้รับเงินหมื่นล้านคืน ทั้งหมดนี้รัฐบาลที่ยังอยู่ภายใต้การนำของคาร์เตอร์ลงมติเห็นชอบด้วย

เวลาล่วงเลยไป 444 วัน ตัวประกันทั้ง 52 คนก็ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระในวันที่ 20 มกราคม 1981 จิมมี คาร์เตอร์เดินทางไปต้อนรับพวกเขาทั้งหมดด้วยตนเองที่เมืองวีสบาเดน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แต่ในฐานะตัวแทนประมุขของชาติ

เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่โรนัลด์ รีแกนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่พอดี 

 อ้างอิง:

https://www.stuttgarter-zeitung.de/inhalt.geiseldrama-in-teheran-vor-40-jahren-ein-trauma-das-bis-heute-nachwirkt.220c00f3-efd2-4b94-98ff-7fcd40977949.html?reduced=true

http://www.bpb.de/politik/hintergrund-aktuell/218964/geiselnahme-in-teheran

https://www.youtube.com/watch?v=u2PNhkNvooU

 

Tags: , ,