ป่าฮาลา-บาลา ได้รับฉายา ‘แอมะซอนแห่งอาเซียน’ นั่นหมายถึงป่านี้ย่อมไม่ธรรมดาด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่กินขาดใครๆ ในภูมิภาค ฮาลา-บาลาเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาส ป่าดิบชิ้นแห่งนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชพันธุ์ที่สำรวจพบที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลกอย่าง ย่านดาโอ๊ะ หรือต้นใบไม้สีทอง ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของดอกดาหลาสีขาว เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากอย่าง กระซู่ (แรด 2 นอ) กระทิง สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือลายเมฆ เลียงผา กบภูเขา ช้างป่า และที่เราจะพาไปส่องกันในคราวนี้—นกเงือก

สายเดินป่ารุ่นเก่าหน่อยน่าจะรู้สึกป่าแห่งนี้ในฐานะที่มันเป็นแรงบันดาลให้ให้พนมเทียนสร้างนวนิยายเลื่องชื่ออย่าง เพชรพระอุมา ที่ซึ่งมีสิ่งมหัศจรรย์พันลึกมากมายแฝงเร้นอยู่ และแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่ความอุดมสมบูรณ์ของฮาลา-บาลายังคงอยู่ในระดับที่น่าอัศจรรย์ใจ ฟังอย่างนี้แล้วหลายคนคงคิดว่าการเข้าป่าไปนั่งส่องนกเงือกในคราวนี้จะต้องลำบากลำบนแน่ๆ แต่เปล่าเลย การเข้าป่าลึกครั้งนี้แทบไม่ต้องเดินให้เหนื่อย แถมบรรยากาศพงไพรมาเต็ม

รู้จักป่าฮาลา-บาลา

ก่อนเข้าป่า อยากชวนมารู้จักผืนป่าแห่งนี้กันอีกสักนิด จะสังเกตได้ว่ามีเครื่องหมาย ‘ – ’ คั่นกลางระหว่างสองคำ นั่นเพราะมีสองป่ามารวมกัน คือ ‘ฮาลา’ และ ‘บาลา’ แม้ป่าจะไม่ต่อเนื่องกัน แต่ก็ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเดียวกัน ฮาลา อยู่ในพื้นที่ จ.ยะลา ส่วน บาลา อยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทั้งคู่ตั้งชื่อตามหมู่บ้านซึ่งเป็นภาษามลายู

ฮาลา แปลว่า ทิศทางมุ่งไปสู่ เช่น ทิศทางน้ำ ทิศทางดิน ทิศทางลม

บาลา แปลว่า กลุ่มคน ทหาร หรือหน่วยอื่นๆ

‘ฮาลา-บาลา’ จึงแปลว่า ทิศทางของการอพยพของกลุ่มคน

แม้ถูกประกาศให้ชื่อป่าฮาลา-บาลา ทว่าชาวบ้านในพื้นที่นิยมนำชื่อของพื้นที่ตัวเองขึ้นก่อน หากไปถามชาวบ้าน ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ป่านี้จะชื่อ บาลา-ฮาลา หรือไม่ก็ บาลา เท่านั้น

เข้าป่า แบบไม่ต้องฝ่าดง

อย่างที่บอกไปว่าทริปส่องนกเงือกของเราจะเป็นทริปสบายๆ และเราสามารถเข้าป่าฮาลา-บาลาได้จากทั้งสองฝั่ง

หากจะไปฝั่งฮาลา สามารถติดต่อไปยังผู้บังคับบัญชากองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 ผู้พิทักษ์ ‘สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2’ เพื่อขอเข้าพื้นที่จนกระทั่งได้รับอนุญาตแล้ว จะมีคนให้บริการเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์เข้าไปยังต้นน้ำของเขื่อนบางลาง ชมกระทิง ส่องนกเงือก หรือทักทายคนป่าโอรังอัสลี หรือซาไก กันได้ถึงถิ่น

หากจะไปฝั่งบาลา ส่วนนี้ ไม่ต้องขออนุญาต เพราะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอยู่แล้ว อยู่ภายใต้การดูแลของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา’ เพียงตื่นแต่เช้า ขับรถที่มีสมรรถนะพร้อมไต่เขาสูง พกกล้องถ่ายภาพ เตรียมเสบียงไปเล็กน้อย แล้วลุยได้เลย 

ป่าฝั่งบาลาจะมีถนนสายความมั่นคง (ทางหลวงหมายเลข 4062) เลื้อยเลาะไปตามเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้เข้าถึงพื้นที่ป่าได้ง่ายดาย เริ่มจากบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง ถึงบ้านภูเขาทอง อ.สุคิริน ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เราใช้เส้นทางนี้แหละครับ ขับรถชมธรรมชาติสวยงามไปเรื่อยๆ ผ่านทางเข้าน้ำตกสิรินธร ผ่านผาลึก ผ่านหมอกจางๆ แล้วไปหยุดที่ป้าย ‘จุดชมสัตว์’ จอดรถแอบๆ ริมถนนให้มิดชิด แล้วนั่งรออย่างใจเย็น ที่นั่นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ที่ทำได้คงเป็นการคุยกันเบาๆ หรือนั่งชมป่าเงียบๆ หิวก็หยิบเสบียงขึ้นมาเคี้ยว เมื่อได้ยินเสียงตีปีกแหวกอากาศดังพรึบๆ ตามด้วยเสียงร้อง “กั๊ก กั๊ก กั๊ก” ดังมา นั่นแหละ คือนกเงือก

หากคุณไม่โชคร้ายนัก นกเงือกจะบินมาให้ชมและเก็บภาพกันจนเหนื่อยมือ โดยเฉพาะในช่วงเมษายนถึง พฤษภาคมที่ผลไทรสุก ณ จุดชมสัตว์มีไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ฝูงนกเงือกจะพากันมากินลูกของไทรต้นนี้กันหลายสิบคู่ทีเดียว

รู้จักนกเงือก เพิ่มอรรถรสในการส่อง

นกเงือกทั่วโลก มีอยู่ทั้งหมด 54 ชนิด พบในประเทศไทย 13 ชนิด และมีอยู่ในป่าฮาลา-บาลา ถึง 10 ชนิด นับว่าเยอะที่สุดในประเทศไทย ส่วนพันธุ์ที่เราเก็บภาพได้ชัดเจนในคราวนี้คือนกเงือกหัวแรด

นกเงือก ภาษาถิ่นนราธิวาส (ภาษาเจ๊ะเห) เรียกว่า นกทูนหิน เพราะนกเงือกมีโหนกบนหัวลักษณะคล้ายนำหินมาวางบนหัว ส่วนภาษามลายูเรียกว่า ‘บูรง ออรัง’ บูรง คือนก ออรัง คือคน ที่เรียกว่านกคน เพราะเสียงร้องตอนใกล้จบท่อนของมันจะคล้ายเสียงหัวเราะของคน หากมีโอกาสไปนั่งรอส่องนกเงือก ลองฟังดูนะครับ ว่าตรงนิยามของศัพท์มลายูหรือไม่

มีเรื่องน่าตลกปนเศร้าเกี่ยวกับนกเงือก นั่นคือ นกเงือกถูกตั้งเป็นสัญลักษณ์ของ อ.แว้ง และเป็นตัวมาสค็อตประจำงานนิทรรศการใหญ่ๆ ของจังหวัดอยู่เสมอ ทว่าหลายครั้ง ผู้ออกแบบกลับนำนกทูแคนมาใช้แทน อาจเพราะมันดูคล้ายนกเงือกจนชวนให้ใครที่ดูไม่ละเอียดเกิดความสับสน ทั้งที่จริงแล้วนกทูแคนเป็นนกของทางแถบอเมริกาใต้และไม่ได้ทูนหินด้วย

เมื่อกล่าวถึงนกเงือก คนมักนึกถึงความรักเดียวใจเดียว แต่นกเงือกยังมีด้านอื่นที่มากกว่านั้น มันเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งยังเป็นนักปลูกป่าชำนาญการ เนื่องจากเป็นนกใหญ่ หากินกลางป่าลึก กินผลไม้และสัตว์เล็กเป็นหลัก เมล็ดพืชที่กิน จะไม่ถูกนกเงือกทำลาย มันจะคายเมล็ดนั้นลงพื้นในสภาพสมบูรณ์ หากกลืนลงไปก็จะถ่ายออกมาโดยคงรูปเมล็ดเหมือนเดิม ลองสมมติกันง่ายๆ ว่านกเงือก 1 ตัว ถ่ายเมล็ดลงพื้นป่าแล้วต้นไม้งอกงามดี วันละ 1 ต้น เท่ากับว่านกเงือกสามารถปลูกป่าได้ปีละ 365 ต้น แล้วอายุนกเงือกเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี จึงน่าเสียดายนักเมื่อมันมักจะถูกล่าเพียงเพื่อจะตัดโหนกขายให้ใครบางคนสะสม

เชื่อ ว่างามจริง แต่ใครจะกล้าไปชายแดนใต้

เรื่องนี้ไม่ปฏิเสธ ผมในฐานะคนในพื้นที่ขอน้อมรับโดยดี แต่ใช่ว่าเหตุความรุนแรงจะเกิดขึ้นอยู่ทุกหัวระแหง และต้องย้ำว่าความสมบูรณ์ของป่าคุ้มค่ากับการมาเยือนจริงๆ สำหรับใครที่อยากมาลองสัมผัสบรรยากาศและการท่องเที่ยวแบบที่ไม่ต้องคุกคามธรรมชาติ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา อ.แว้ง มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว แต่คิวจองยาวถึงสามเดือนสี่เดือน โดยเฉพาะช่วงผลไทรสุกต้องจองล่วงหน้าเป็นปีๆ นอกจากที่พักของทางราชการแล้ว รีสอร์ทประชารัฐของผู้ใหญ่บ้านก็มีคิวจองเต็มอยู่เสมอเช่นกัน ใครที่คิดจะโทรติดต่อขอเข้าพักล่วงหน้าแค่วันสองวันมีสิทธิ์ชวดได้ ดังนั้นหากใครสนใจ วางแผนกันตั้งแต่เนิ่นๆ ได้เลย

Fact Box

ผลงานเรื่อง ‘บุกป่าแต่ไม่ต้องฝ่าดง ชวนส่องนกเงือกแห่งป่า ‘ฮาลา-บาลา’ เจ้าของฉายาแอมะซอนแห่งอาเซียน’ โดย อนุสรณ์ ศรีคำขวัญ คือ 1 ใน 5 บทความที่ชนะการประกวดและได้รับคัดเลือกเป็นบทความไลฟ์สไตล์ที่มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานอบรม ID Creator Workshop ที่ทาง TrueID In-Trend ร่วมมือกับสื่อพันธมิตรได้แก่ Wongnai และ The Momentum ติดตามบทความนี้ใน TRUE ID ได้ทาง https://cities.trueid.net/south/id-creator-workshop-ส่องนกเงือก-ฮาลา-บาลา-อ-แว้ง-เข้าป่าลึก-แต่ไม่ฝ่าดง-24101

Tags: , , , ,