หลังจากหุ้นของบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้สื่อพากันรายงานว่าซีอีโออย่างโพนี หม่า (Pony Ma) ได้กลายเป็นมนุษย์ที่รวยที่สุดบนแผ่นดินจีน หลายคนคงสงสัยว่าหมอนี่เป็นใคร ทำอะไรมาถึงได้รวยขนาดนั้น?

ถ้าจะให้ตอบกันจริงๆ ว่า เทนเซ็นต์ทำอะไรก็คงจะซับซ้อนยืดยาวเกินกว่าพื้นที่ตรงนี้จะบันทึกได้ จึงขอตอบสั้นๆ ว่า เทนเซ็นต์คือ ‘เจ้าของ’ เกมมือถือที่คนจีนเล่นกันมากที่สุด และอาจเป็นวิดีโอเกมที่มีคนเล่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติด้วยซ้ำ

เกมนี้มีนามว่า Honor of Kings (ชื่อจีนคือ王者荣耀 ออกเสียงกว่า หวัง-เจ่อ-หรง-เย่า)

…คนเล่นมากแค่ไหน ล่าสุดประเมินกันว่ามีคนเล่นถึง 180 ล้านคนในจีน ซึ่งนั่นคิดเป็น 13% ของประชากรจีนเลยทีเดียว ที่น่าสนคือ คนเล่นเกมนี้เป็นผู้ชายกับผู้หญิงเท่าๆ กัน และเป็นผู้หญิงมากกว่านิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นเกมยอดฮิตเกมแรกๆ ในโลกที่มีสัดส่วนทางเพศของผู้เล่นเท่ากันขนาดนี้

และมันเล่นกันไปทั่วจริงๆ ตั้งแต่คนวัยทำงานยันเด็ก ความฮิตในหมู่เด็กก็ทำให้ทางการจีนถึงกับออกมาบอกว่าเกมนี้คือ ‘ยาพิษ’ ของเยาวชน ทำเอาหุ้นเทนเซ็นต์หล่นพรวด ก่อนที่เทนเซ็นต์จะแก้ลำด้วยการสร้างระบบ ‘ลงทะเบียนด้วยชื่อจริง’ เพื่อควบคุมเวลาเล่นตามอายุ โดยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจะเล่นได้แค่วันละ 1 ชั่วโมง และเล่นได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม ส่วนเด็กวัยรุ่น 12-18 ปี จะเล่นได้วันละ 2 ชั่วโมง

ทำไมมันจะฮิตกันอะไรขนาดนั้น แต่ครั้นอยากรู้จักตัวเกม ก็ไม่มีสื่อเจ้าไหนอธิบายเลยว่ามันเป็นยังไง ทำไมคนชอบเล่น ถามคนเล่นก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเขาก็พูดกันในภาษาคนที่เล่นเกมกันอยู่แล้ว สุดท้าย-คนที่เลิกเล่นเกมไปนานแสนนานอย่างผู้เขียนเลยไปลองโหลดเกมนี้มาลงแท็บเล็ต (เพราะรู้สึกว่าน่าจะเล่นง่ายกว่าบนสมาร์ทโฟน) เพื่อที่จะ ‘ลงพื้นที่’ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้

นี่น่าจะเป็นเกมยอดฮิตเกมแรกๆ ในโลกที่มีสัดส่วนทางเพศของผู้เล่นเท่ากันขนาดนี้

สิ่งแรกที่พบคือ ในเกมสโตร์บ้านเราไม่มีไอ้เกม Honor of Kings ให้เล่น แต่จะมีเกม Realm of Valor แทน (RoV) ซึ่งเป็นเวอร์ชันนอกประเทศจีนของ Honor of Kings ทั้งสองเกมมีความต่างด้านตัวละครนิดๆ หน่อยๆ (ได้ยินมาแบบนั้น) ส่วนตัวเกมทั้งหมดนั้นเหมือนกันเด๊ะ (เกม Honor of Kings นอกจีนมีหลายชื่อ บางทีก็เรียกว่า Strike of Kings)

เมื่อเข้าไปในเกม อย่างแรกต้องลงทะเบียนเพื่อเล่นก่อน ก็เลือกได้ว่าจะลงทะเบียนแบบเป็นคนนอก ลงทะเบียนด้วยเฟซบุ๊ก หรือลงทะเบียนด้วยบัญชีของ Garena (บริษัทจากสิงคโปร์ที่เป็น ‘ตัวแทน’ ในการเผยแพร่เกมนี้ในไทยและภูมิภาค SEA – ในใจก็คิด มิน่าล่ะ กาเรนาถึงเป็นสตาร์ตอัพที่มูลค่าสูงสุดในอาเซียน) และผมก็เลือกลงทะเบียนด้วยบัญชีของกาเรนา

ขอเท้าความก่อนว่าเกมแนวนี้มีชื่อเรียกว่า MOBA (เขาออกเสียงกันว่า ‘โมบ้า’ ซึ่งเป็นตัวย่อของ Multiplayer Online Battle Arena) เกมแรกในแนวนี้ที่ดังมากคือ DotA (ดอทเอ ซึ่งเป็นตัวย่อของ Defense of the Ancients) ถ้าเทียบ MOBA กับพวกเกมต่อสู้แล้ว DotA ก็น่าจะเป็น Street Fighter II เลย คือเป็นต้นกำเนิดของทุกอย่าง ซึ่งก็มีทั้งของที่เลียนแบบมาดีและไม่ดี จนถึงของที่ต่อยอดมันขึ้นไปในหลายๆ มิติ

กติกาการเล่นทั่วไปของเกมแนวนี้คือ การแข่งขันหนึ่งจะแบ่งเป็นสองทีม ทีมละ 5 คน แต่ละคนจะเลือก ‘ฮีโร่’ มาเล่นได้หลากหลายแต่ห้ามซ้ำกัน ภารกิจในเกมคือ เอาฮีโร่ไปโจมตี ‘ฐาน’ ของฝ่ายตรงข้ามให้พัง ฝ่ายไหนตีพังก่อนก็ชนะไป การเดินดุ่ยๆ ไปตีฐานจะทำไม่ได้ตั้งแต่เริ่มเกม เพราะแต่ละฝ่ายจะมีป้อมที่ยิงตัวละครตายอย่างรวดเร็วได้ป้องกันอยู่หน้าฐาน ในพื้นที่ของแต่ละฝ่ายซึ่งสมมาตรกันเป๊ะๆ เราเลือกโจมตีได้สามทาง คือ ตรงกลาง อ้อมไปซ้าย หรืออ้อมไปขวา ซึ่งแต่ละทางก็จะมีป้อมขวางหน้าอยู่

วิธีทำลายป้อมคือ ต้องรอฐานเราปล่อย ‘ครีป’ ซึ่งก็คือตัวละครลูกสมุนออกมา ฐานจะปล่อยออกมาเรื่อยๆ ครีปเหล่านี้จะเดินดุ่ยๆ ไปตีป้อมฝ่ายศัตรู และจะรับกระสุนของป้อมเต็มๆ ระหว่างปล่อยให้พวกครีปล่อเป้า เราก็จะเข้าไปโจมตีป้อมได้โดยไม่โดนยิงตาย

อย่างไรก็ดี พลังของเราตอนต้นเกมจะทำอะไรป้อมไม่ได้มาก เราต้องไปเก็บเงินและเลเวลภายในแม็ตช์ให้สูงก่อน ซึ่งทำได้จากการโจมตีพวกมอนสเตอร์ที่อยู่ใน ‘ป่า’ (พื้นที่ข้างๆ ถนนที่ใช้เดินไปลุยป้อม) หรือโจมตีพวกลูกสมุนหรือฮีโร่ของฝ่ายตรงข้าม

พูดง่ายๆ ก็คือ ใครสามารถโจมตีได้มากกว่า เก็บเงินได้มากกว่า ก็จะเลเวลอัปและซื้อของได้เร็วกว่า โจมตีป้อมอีกฝ่ายได้เร็วกว่า และก็จะชนะไป และสิ่งที่ทำในเกมแล้วจะได้เงินและขึ้นเลเวลเร็วที่สุดก็คือการโจมตีฮีโร่ฝ่ายตรงข้าม (ที่ตายแล้วจะไปเกิดใหม่ที่ฐานตัวเองเรื่อยๆ จนกว่าจะจบเกม) ดังนั้นการไล่ฆ่าฮีโร่ฝั่งตรงข้ามจึงเป็นกิจกรรมหลักๆ ที่ผู้เล่นทำกันในเกม

…แต่ความซับซ้อนของเกมมันอยู่ตรงนี้ครับ

เกมถูกออกแบบมาให้ตัวละครแต่ละตัวมีจุดเด่น ค่าสถิติ และท่าไม้ตาย (ในเกมเรียก skill) ต่างๆ กันไป แต่ละตัวจะมีวิธีการต่อสู้เฉพาะที่เหมาะกับตัวละคร ซึ่งเกมออกแบบอีกว่า การที่ตัวละครไปลุยเดี่ยวๆ ตัวเดียวกับตัวละครอีกฝ่าย ผลแพ้ชนะอาจจะยัง 50-50 แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างมากันหลายตัว ผลอาจเป็นไปได้หลากหลายมาก เพราะถ้าตัวละคร 2 ตัวร่วมงานกันดีๆ ก็อาจชนะตัวละคร 3 ตัวได้

ดังนั้น การทำงานเป็นทีมจึงสำคัญมากๆ และการสู้ของตัวละครแต่ละตัวที่มีธรรมชาติแตกต่างกันก็ทำให้การต่อสู้เป็นไปได้หลากหลาย บางตัวควรจะบุกไปตะลุมบอนเพราะพลังโจมตีเยอะ แต่โจมตีได้ระยะใกล้เท่านั้น บางตัวควรจะยิงพลังช่วยอยู่ไกลๆ เพราะพลังชีวิตน้อย บางตัวควรจะเอาไปเสริมทีหลังและไล่ล่าศัตรูที่กำลังหนีเพราะพลังชีวิตน้อย แต่จุดเด่นคือความเร็ว บางตัวควรจะใช้เวทมนตร์ช่วยสนับสนุนเพื่อนร่วมทีมเท่านั้น เพราะเอาไปลุยเดี่ยวๆ คงแพ้แทบ 100% เป็นต้น

ผลก็คือ เกมแต่ละเกมเป็นไปได้หลากหลายมาก เพราะมีตัวละครที่แตกต่างกันให้ผู้เล่นได้เลือกใช้หลายสิบตัว

เท่านั้นยังไม่พอ การเก็บเงินซื้อของในแต่ละแม็ตช์ก็ยังเป็นไปได้หลากหลาย และมีผลต่อสไตล์การเล่น เช่น ซื้อของเพิ่มพลังชีวิตเยอะๆ ก็จะเหมาะกับการไปเปิดฉากตะลุมบอนคลุกวงใน หรือถ้าซื้อของเพิ่มพลังโจมตีเยอะๆ แต่แทบไม่ซื้อของเพิ่มพลังชีวิตเลย ตัวละครนั้นก็เหมาะกับการแบ็กอัพให้เพื่อนร่วมทีมขณะเข้าโจมตี — ความเป็นไปได้ที่หลากหลายและตัวละครเป็นสิบที่มีให้เลือก ทำให้การเล่นแต่ละเกมมีความหลากหลาย ไม่ซ้ำซาก ทำให้เล่นแล้วไม่เบื่อ

เกมออกแบบมาให้ตัวละครแต่ละตัวมีจุดเด่น ค่าสถิติ และท่าไม้ตาย ต่างๆ กันไป ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจึงสำคัญมาก

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเกมพวกนี้ไม่มี Story Mode แบบเกมสมัยก่อน คือมันเป็นเกมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเล่นกับคนอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ ไม่สามารถ ‘เล่นคนเดียว’ แบบเกมสมัยก่อนได้ ซึ่งทำแบบนี้ได้ก็เพราะมันมีฐานคนเล่นมากมายมหาศาลเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่ากดเล่นทีไรทางเซิร์ฟเวอร์ก็จะจับคนมาแยกเป็นสองทีมแข่งกันได้ตลอดเวลา

และการสื่อสารกันระหว่างเพื่อนร่วมทีมก็สำคัญมากๆ สำหรับการแพ้ชนะ ซึ่งทำให้ผมเข้าใจเป็นครั้งแรกว่า ทำไมขณะเล่นเหล่าผู้เล่นต้อง ‘คุยกัน’ ตลอด เนื่องจากรูปแบบวัฒนธรรมแบบนี้ไม่มีในเกมสมัยก่อนที่ผู้เล่นก็ก้มหน้าก้มตาเล่นไป ไม่ได้ต้องคุยกัน
นี่คือธรรมชาติของเกมแนว MOBA ทั้งหมดนับตั้งแต่ DotA เป็นต้นมา

…แล้วอะไรคือความพิเศษของ Honor of Kings หรือ RoV ที่ทำให้มันฮิตขนาดนี้?

อย่างแรกสุดเลยคือเกมแนว MOBA ที่ดังๆ ก่อนหน้านี้ เป็นเกมที่ควรจะเล่นบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้าน (เพราะควรใช้เมาส์เล่นเพื่อความคล่องตัวสูงสุด) และการสู้กันแมตช์หนึ่งๆ จะยาวนานมากๆ แบบ 30-40 นาทีนี่คือปกติ สิ่งที่ Honor of Kings ทำคือทำให้เกมนี้มาอยู่บนมือถือและแท็บเล็ต ทำให้คนสามารถเล่นจากไหนก็ได้อย่างคล่องแคล่ว เท่านั้นยังไม่พอ มันปรับค่าต่างๆ เพื่อลดความยาวของแม็ตช์แต่ละแม็ตช์ให้เหลือราว 15-18 นาทีอีก (เกมอาจจะจบใน 10 นาทีก็ได้ ถ้าฝีมือสองฝั่งต่างกันมาก) ทำให้คนเล่นที่นั่งรถหรือนั่งรออะไรสามารถเล่นเกมจนจบแมตช์ได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ Honor of Kings ทำคือทำให้เกมนี้มาอยู่บนมือถือและแท็บเล็ต ทำให้คนสามารถเล่นจากไหนก็ได้อย่างคล่องแคล่ว

 

ในกรณีของจีน ที่เทนเซ็นต์ทำให้เกมนี้ดังขนาดนี้ได้ เพราะจีนเป็นสังคมที่ใช้สมาร์ตโฟนกันแพร่หลายสุดๆ มาแต่แรก รายงานหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า สำหรับคนจีนจำนวนมาก สมาร์ตโฟนคือคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของพวกเขา และคนจีนทุกคนมีสมาร์ตโฟน ส่วนหนึ่งที่ ‘สังคมไร้เงินสด’ ของจีนเป็นไปได้ก็เพราะทุกคนมีสมาร์ตโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันหมด และผู้เล่นใหญ่สุดของบริการชำระเงินออนไลน์นี้ก็คือ วีแชท เพย์ (WeChat Pay) ของเทนเซ็นต์นี่เอง

เทนเซ็นต์ลือชื่ออยู่แล้วในการโปรโมตทุกธุรกิจที่อยู่ในมือตัวเองผ่านแอปฯ วีแชท ซึ่งทำให้มันเริ่มจากการเป็นแอปฯ ที่เอาไว้แค่แชท ค่อยๆ กลายมาเป็นระบบที่ยิ่งใหญ่มาก เอาไว้ใช้ได้ทั้งจ่ายเงิน เรียกแท็กซี่ และเล่นเกม

Honor of Kings ก็คือผลผลิตหนึ่งของอาณาจักรวีแชท ความสำเร็จของมันในจีนคงจะล้นหลามระดับที่เฟซบุ๊กก็ได้แต่มองตาปริบๆ เพราะเทียบกันแล้ว ความพยายามเป็นแพลตฟอร์มในการจ่ายเงินและเล่นเกมของเฟซบุ๊กล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่เทนเซ็นต์ทำได้ผ่านวีแชท

ผู้เขียนยังไม่เคยใช้วีแชท แต่เท่าที่อ่านพบก็ทราบว่า คนจีนใช้วีแชทเพื่อชวนเพื่อนๆ มาเล่นเกม และคุยกับเพื่อนๆ ในเกมอย่างสะดวก ในจีน เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เล่นเกมนั้นแทบจะเป็นคนตกรุ่น และหนักข้อยิ่งกว่าเด็กรุ่นผู้เขียนที่ไม่เล่นกีฬาหรือเล่นดนตรีซะอีก เพราะมันคืองานอดิเรกของคนทั้งรุ่น ไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชาย เรียกได้ว่าไม่เล่นก็คุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง

ความง่ายและเข้าถึงคนจำนวนมากนี่เองที่เป็น ‘ท่าไม้ตาย’ ในทางธุรกิจ

ความร้ายการของ Honor of Kings อีกข้อ คือเกมถูกปรับมาให้เล่นง่ายกว่า MOBA แบบดั้งเดิมมาก มีระบบอัตโนมัติที่เป็นตัวช่วยในการเล่นเกมเพิ่มมาเต็มไปหมด และนี่ทำให้เกมเมอร์รุ่นใหญ่จำนวนมาก ‘อี๋’ กับเกมนี้ เพราะมัน ‘สามานย์’ เกิน ง่ายเกินไป ไม่ต้องใช้ฝีมือเท่ากับเกม MOBA รุ่นก่อนๆ

แต่ก็นั่นล่ะ ความง่ายและเข้าถึงคนจำนวนมากนี่เองที่เป็น ‘ท่าไม้ตาย’ ในทางธุรกิจ อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างอุตสาหกรรมดนตรีสอนเราซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เพลงง่ายๆ โง่ๆ นี่แหละขายดีที่สุด วงที่เคยทำเพลงซับซ้อนฟังยาก บ่อยครั้งก็มาขายออกกันตอนทำอะไรง่ายๆ แม้แฟนวงจะด่ากันขรม อะไรแบบนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ

แล้วก็อย่างที่บอก ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ Honor of Kings คือการทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมเล่นเกมอย่างไม่เคยมีมาก่อน และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกมประสบความสำเร็จขนาดนี้ เพราะเมื่อก่อน การขายเกมนั้นจะคำนึงถึงแต่ตลาดผู้ชาย แต่ตอนนี้อะไรๆ ก็ดูจะเปลี่ยนไปแล้ว และน่าจะเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเกมต่อไปในอนาคต ที่จะเป็นเกมที่คำนึงถึงผู้เล่นทั้งสองเพศเป็นหลัก

…ไม่ต้องอะไรมากครับ ฮีโร่ใน RoV เองก็แทบจะเป็นผู้หญิงครึ่งผู้ชายครึ่ง แถมมีทุกบทบาทเลยทีเดียว ตั้งแต่นักดาบสุดโหด นักสู้พันธุ์อึด นินจานักฆ่า (ที่จริงๆ ไม่มีตัวผู้ชายให้เล่นในบทบาทพวกนี้ด้วยซ้ำ) ไม่ได้เป็นแค่นักเวทย์ หรือฮีลเลอร์แบบพวกเกมภาษาสมัยก่อนแล้ว

และนี่ก็คือภาพสะท้อนของฐานผู้เล่นที่เปลี่ยนไป อันทำให้เกมฮิตขนาดนี้