เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2020 ผู้อพยพชาวฮอนดูรัสไม่ต่ำกว่าหมื่นคน ตั้งขบวนเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ชายแดน เพื่อข้ามจากประเทศฮอนดูรัสมายังประเทศกัวเตมาลา จนเกิดการปะทะกับทหารกัวเตมาลาอาวุธครบมือที่พยายามสกัดกั้นฝูงชนไม่ให้ข้ามเขตแดน ผู้อพยพจำนวนมากถูกตีด้วยกระบองไม้ ควันจากการยิงแก๊สน้ำตากระจายฟุ้งทั่วพื้นที่ หลังยื้อกันอยู่พักใหญ่ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไม่สามารถต้านทานฝูงชนจำนวนมากได้ จึงต้องปล่อยให้มวลชนหลั่งไหลเข้าประเทศ
กัวเตมาลาเป็นประเทศที่มีพรมแดนด้านบนติดกับเม็กซิโก ส่วนด้านล่างติดกับฮอนดูรัส ผู้อพยพชาวฮอนดูรัสจำเป็นต้องเดินทางผ่านหลายประเทศระยะทางราว 2,600 กิโลเมตร เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ แต่ระหว่างทางผู้อพยพกลุ่มดังกล่าวปะทะกับทหารกัวเตมาลา เนื่องจากพวกเขาเข้าประเทศมาแบบผิดกฎหมาย
กลุ่มผู้อพยพที่พยายามข้ามพรมแดนหลายประเทศมายังสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นแล้วหลายระลอก โดยระลอกที่ปะทะกับทหารกัวเตมาลาถือเป็นผู้อพยพกลุ่มที่ 3 การเดินเท้าทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ต้องลงจากตำแหน่ง และคาดว่ากลุ่มผู้อพยพจะไม่สิ้นสุดแค่นี้ คาราวานจำนวนมากทำให้รัฐบาลกัวเตมาลาและเม็กซิโกต้องเตรียมกำลังทหารป้องกันกลุ่มผู้อพยพที่จะเข้ามาอีกหลังจากนี้
อเลฮานโดร เจมาเต (Alejandro Giammattei) ประธานาธิบดีกัวเตมาลา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลฮอนดูรัสออกคำสั่งควบคุมการเดินทางไม่ให้ประชากรของตัวเองออกนอกประเทศ พร้อมกับแสดงความกังวลว่ามวลชนจำนวนมากจากต่างแดนจะเข้ามาพร้อมกับเชื้อไวรัสโควิด-19 และย้ำว่าการกระทำดังกล่าวถือว่าละเมิดอธิปไตย ละเมิดการใช้มาตรการฉุกเฉินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอเมริกากลาง ทว่ารัฐบาลฮอนดูรัสยังคงไม่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
หนึ่งในผู้อพยพร่วมขบวนคาราวานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP พวกเขาไม่ได้ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพียงแค่พวกเขาไม่มีทางเลือก “ถ้าผมยังอยู่ในนั้น (ประเทศฮอนดูรัส) ผมก็จะตาย” ผู้อพยพวัย 25 ปีกล่าวกับสื่อ
เหตุผลที่ประชาชนชาวฮอนดูรัสจำนวนมากต้องดิ้นรนออกจากประเทศตัวเอง เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่สูงลิบ ประชาชนจำนวนมากเป็นคนยากจน จำนวนคนว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ สงครามระหว่างแก๊งค้ายาเสพติดทำให้ชุมชนไม่ปลอดภัย ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และพายุเฮอร์ริเคนเมื่อปลายปีที่แล้ว ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมถึงความลำบาก
เวลานี้ประเทศกัวเตมาลาเผชิญกับพิษเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลายคนจึงมองหาโอกาสใหม่นอกประเทศ และตัดสินใจตรงกันว่าสหรัฐอเมริกาคือคำตอบที่เข้าท่าที่สุด แต่พวกเขาไม่มีเงินมากพอให้ขึ้นเครื่องบินหรือนั่งรถไฟ จึงต้องเดินเท้าผ่านหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรวมถึงนักวิชาการคาดว่าพวกเขาต้องติดอยู่ตรงชายแดนสหรัฐฯ อีกนาน เพื่อรอคัดกรองผู้ติดเชื้อและทำเรื่องขอเข้าประเทศ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ แจ้งว่า “กลุ่มผู้อพยพต้องทำความเข้าใจด้วยว่าพวกคุณไม่สามารถเข้าประเทศมาได้ทันที”
ทีมงานรัฐบาลไบเดนที่เตรียมรับช่วงต่ออำนาจบริหาร ออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขอความร่วมมือชาวต่างชาติและผู้อพยพอย่าเพิ่งเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานี้ เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน เจ้าหน้าที่รัฐต้องควบคุมความสงบ ตรึงกำลังทั่วประเทศป้องกันเหตุจลาจลโดยเฉพาะในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ เข้าขั้นวิกฤต และร้อยวันแรกของประธานาธิบดีคือช่วงเวลาที่สำคัญ ประธานาธิบดีไบเดนจะต้องเตรียมตัวกับความท้าทายใหม่ จึงไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่ผู้อพยพจะเดินทางมายังสหรัฐฯ อเมริกา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (Joe Biden) เคยกล่าวปราศรัยช่วงหาเสียง ยืนยันจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพให้มีมนุษยธรรมมากกว่ายุคของทรัมป์ เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ผู้อพยพจากชายแดนเม็กซิโกข้ามมายังอเมริกา ทว่าผู้อพยพชาวฮอนดูรัสจำนวนมากที่กำลังหลั่งไหลมาใกล้ชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ ตั้งใจทำเรื่องขอลี้ภัยในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่ไบเดนทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ที่มา
Tags: ผู้อพยพ, Global Affairs, เม็กซิโก, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, Us, ไบเดน, The Momentum, สหรัฐอเมริกา