แถลงการณ์ของ H&M แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นระดับโลก กล่าวถึงเหตุผลที่ประกาศงดรับซื้อหนังจากบราซิลชั่วคราวว่า “จากเหตุไฟไหม้รุนแรงที่เกิดขึ้นในป่าฝนแอมะซอนของบราซิล ที่เชื่อมโยงกับการทำปศุสัตว์ เราตัดสินใจที่จะงดรับซื้อหนังวัวจากบราซิลชั่วคราว…การสั่งห้ามครั้งนี้จะมีผลจนกว่าบราซิลจะมีระบบการรับรองที่น่าเชื่อถือ เพื่อตรวจสอบว่าหนังวัวเหล่านั้น ไม่ได้มาจากการปศุสัตว์ อันมีส่วนที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในป่าแอมะซอน”

สาเหตุใหญ่ที่สุดสำหรับการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน ก็คือการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตถั่วเหลืองที่ใช้เป็นอาหารสำหรับวัว ดังนั้น เมื่อความต้องการวัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัวหรือหนังสัตว์ เจ้าของฟาร์มก็จะเผาป่าเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัวมากขึ้น

สหพันธ์สัตว์ป่าแห่งชาติของสหรัฐอเมริการายงานว่า ประเทศในแถบอเมริกาใต้ส่งออกหนังประมาณ 22% ของปริมาณหนังสัตว์ในโลก ถือเป็นแหล่งส่งออกหนังสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดแหล่งเดียวในโลกก็ว่าได้ และอุตสาหกรรมที่ใช้หนังมากที่สุดในโลกก็คืออุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า ซึ่งมีการเรียกร้องให้ออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นนี้เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า แฟชั่นที่มีความยั่งยืน 

จากข้อมูลของ H&M เองพบว่า หนังส่วนใหญ่ที่แบรนด์ใช้ผลิตไอเท็มต่างๆ มาจากยุโรป โดยมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่มาจากบราซิล และในขณะที่ H&M นอร์เวย์เพิ่งจะเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับเสื้อผ้าและไอเท็มต่างๆ ที่ขายในออนไลน์มากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากถูกเรียกร้องจากกลุ่มผู้บริโภคให้เพิ่มข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าหรือไอเท็มอื่นๆ สถานที่ในการผลิต ชื่อซัพพลายเออร์ และข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานที่ผลิตด้วย

บริษัทหลายแห่งมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำเข้าหนังสัตว์ อย่าง Nike, Kering และ LVMH ที่มีกฏว่า แหล่งที่มาของหนัง ต้องไม่ทำลายป่า แต่บางครั้งก็ยากที่จะทราบได้แน่ชัด ว่าหนังสัตว์เหล่านั้นมาจากที่ไหนอย่างไร เพราะมีการเคลื่อนย้ายฟาร์มปศุสัตว์ตลอดเวลา หรือเต็มไปด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้

“ในขณะที่หลายคนยังคงคิดว่า ‘หนังอิตาเลี่ยน’ นั้นหมายความว่าไม่ได้จากบราซิล แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจริง ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมเครื่องหนังของอิตาลีส่วนใหญ่มาจากบราซิล” นาตาลี วอล์กเกอร์ ผู้อำนวยการป่าเขตร้อนและเกษตรกรรมของ NWF กล่าว 

ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของแบรนด์แฟชั่นทั้งหลายมีให้เห็นมากขึ้น นอกจากกรณีของ H&M แล้ว ล่าสุด จากการประชุม G7 ที่ผ่านมา บริษัทระดับโลกที่ผลิตงานแฟชั่น 32 บริษัท ได้ร่วมมือกันประกาศพันธกิจต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน อาทิ Versace, Chanel, Ermenegildo Zegna, Gap, Giorgio Armani, H&M, Hermes, Zara, Karl Lagerfeld, Moncler, Nike, Prada, Puma, Ralph Lauren, Salvatore Ferragamo, Selfridges, Stella McCartney ฯลฯ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพื่อลดการทำลายธรรมชาติ ทั้งในแง่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลาสติก การไม่ใช้วัสดุที่มาจากระบวนการที่ทำลายธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีกรอบเวลาภายในปี 2050 ที่จะทำให้ธุรกิจแฟชั่นเป็นธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดขยะหรือมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง:

  • https://www.theguardian.com/world/2019/aug/21/fashion-g7-summit-sustainability-kering-inditex-macron

  • https://hypebeast.com/2019/9/hm-stop-sourcing-leather-brazil-amazon-rainforest-fire-fashion-industry-sustainability

  • https://www.voguebusiness.com/companies/amazon-fires-footwear-leather-sustainability

ภาพ: Gettyimages

Tags: , , ,