ถ้านับกันที่จำนวน มหกรรมกีฬาที่แข่งกันมากที่สุดอาจไม่ใช่กีฬาอาชีพที่มีวงเงินหมุนเวียนมากมายหรือกีฬาระดับสูงอย่างทีมชาติ แต่เป็นกีฬาในและระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นกีฬาที่เข้าถึงคนเป็นจำนวนมาก (ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ)

ความน่าสนใจของกีฬาระดับสถาบันการศึกษาเหล่านี้คือ แม้จะมีการแข่งขันกีฬามากมาย แต่เอาเข้าจริงแล้วไฮไลต์ของมันมักจะไม่ใช่กีฬา แต่เป็น ‘เชียร์ลีดเดอร์’

กำเนิดเชียร์ลีดเดอร์: จากกิจกรรมของเพศชายกลายมาเป็นกิจกรรมของเพศหญิง

วัฒนธรรมการเชียร์กีฬาที่ต้องมีเชียร์ลีดเดอร์ น่าจะเรียกได้ว่า ถือกำเนิดและพัฒนาขึ้นมาในอเมริกาพร้อมๆ กับความนิยมของการแข่งขันกีฬาระดับสถาบันการศึกษา ขณะที่ในยุโรปซึ่งการแข่งขันกีฬาอาชีพได้รับความนิยมมากกว่านั้น เชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้มีที่ทางอยู่ในสนามกีฬามากนัก (กีฬามหาชนอย่างฟุตบอลสโมสรอังกฤษก็แทบจะไม่มีเชียร์ลีดเดอร์อยู่เลย เมื่อปี 2015 คริสตัล พาเลซ เป็นสโมสรเดียวที่มีเชียร์ลีดเดอร์และได้รับความสนใจในฐานะที่เป็นสิ่งแปลกใหม่)

อันที่จริงการร้องเพลงเชียร์กีฬานั้นเป็นอะไรที่มีมาก่อนแล้วในในยุโรป ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการร้องเพลงเชียร์ในการแข่งขันกีฬารายการเก่าแก่ต่างๆ ของอังกฤษ แต่วัฒนธรรมการเชียร์ที่ต้องมีเชียร์ลีดเดอร์ออกท่าทางนำเชียร์นั้น ก่อกำเนิดและพัฒนาขึ้นมาในอเมริกา โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาในสถานศึกษาช่วงปลายศตวรรษที่ 19

กำเนิดเชียร์ลีดเดอร์ในอเมริกาเริ่มจากการนำเข้าวัฒนธรรมการร้องเพลงเชียร์กีฬาเข้ามา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่เริ่มร้องเพลงเชียร์อย่างจริงจังตั้งแต่ราวปี 1877 ต่อมา ศิษย์เก่าพรินซ์ตันคนหนึ่งไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา และนำเอาการร้องเพลงเชียร์ไปเผยแพร่ที่นั่น รูปแบบการเชียร์ที่มินนิโซตาค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนกระทั่งเกิดมีเชียร์ลีดเดอร์ขึ้นมาอย่างจริงจังในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1898 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดอย่างเป็นทางการของวัฒนธรรมเชียร์ลีดเดอร์ ที่ต่อมาได้แพร่หลายไปในสถาบันการศึกษาทั่วอเมริกา จนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญอันหนึ่งของวัฒนธรรมกีฬาแบบอเมริกา

เมื่อไล่ย้อนไปดูต้นกำเนิดของมันแล้ว สิ่งน่าประหลาดใจอันหนึ่งคือ ในช่วงเริ่มแรกนั้น เชียร์ลีดเดอร์เป็นกิจกรรมของผู้ชายเท่านั้น ทีมเชียร์ลีดเดอร์ยุคบุกเบิกของมหาวิทยาลัยมินนิโซตาประกอบไปด้วยสมาชิกชายล้วน 6 คน และในที่อื่นๆ ก็เช่นกัน ในช่วงของการก่อร่างสร้างตัวนั้น เชียร์ลีดเดอร์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเพศชาย ซึ่งดูจะขัดกับภาพลักษณ์ในปัจจุบันที่เชียร์ลีดเดอร์ดูจะโดดเด่นในฐานะที่เป็นกิจกรรมของเพศหญิงเสียมากว่า

ในช่วงยี่สิบกว่าปีแรกนั้น ผู้ที่จะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเพศชายมาตลอด จนช่วงทศวรรษ 1920s ผู้หญิงเริ่มได้รับเข้ามาอยู่ในทีมเชียร์ลีดเดอร์ แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก กว่าที่ผู้หญิงจะเข้ามาอยู่ในทีมเชียร์ลีดเดอร์ได้เป็นจำนวนมากก็ต้องรอจนถึงช่วงทศวรรษ 1940s ซึ่งเป็นผลมาจากที่ผู้ชายจำนวนมากต้องไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีพื้นที่สำหรับเพศหญิงในทีมเชียร์ลีดเดอร์มากขึ้น และเมื่อสงครามจบลง ก็กลายเป็นว่าผู้หญิงได้เข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเชียร์ลีดเดอร์ไปแล้ว (ปัจจุบันเชียร์ลีดเดอร์ในอเมริกาประมาณ 90% เป็นเพศหญิง)

หลังจากนั้นเชียร์ลีดเดอร์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา แทบทุกโรงเรียนไฮสคูลและมหาวิทยาลัยในอเมริกาล้วนแต่มีทีมเชียร์ลีดเดอร์เป็นของตัวเอง และทศวรรษถัดมามันก็ขยายความนิยมออกนอกสถานศึกษาเข้าไปในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลอาชีพและบรรลุถึงจุดสูงสุดด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกาอย่างซูเปอร์โบวล์เมื่อปี 1976

ในช่วงที่เชียร์ลีดเดอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นนี้เองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้น เริ่มมีการกำหนดท่ามาตรฐาน (เช่นท่า Herkie jump ที่เป็นการกระโดดกางแขนเตะขา) เกิดสมาคมเชียร์ลีดเดอร์ระดับชาติ และเกิดการแข่งขันเชียร์ลีดเดอร์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หรือพูดอีกแบบได้ว่าจากกิจกรรมเสริมสำหรับกีฬา เชียร์ลีดเดอร์เริ่มที่จะกลายเป็นกีฬาโดยตัวมันเองมากขึ้น

การเติบโตขึ้นมาของเชียร์ลีดเดอร์ดูจะสัมพันธ์อยู่กับการพัฒนาขึ้นมาของแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่ด้วย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เชียร์ลีดเดอร์ในสถานศึกษาขยายตัว มาจากที่อเมริกาได้ออกกฎหมาย Title IX เมื่อปี 1972 กฎหมายฉบับนี้ว่าด้วยการรับรองสิทธิการเข้าถึงโอกาสในการศึกษาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเพศ

นอกจากที่กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นแล้ว พร้อมๆ กันนั้น มันก็ส่งผลต่อวงการกีฬาในสถานศึกษาอย่างมาก จากเดิมที่สถานศึกษาส่วนใหญ่มักส่งเสริมการแข่งขันกีฬาประเภทชาย กฎหมายฉบับนี้ทำให้กีฬาประเภทหญิงได้รับการสนับสนุนมากขึ้น เชียร์ลีดเดอร์ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นกิจกรรมของผู้หญิงและกำลังเริ่มกลายเป็นกีฬาจึงได้รับการสนับสนุนจากสถานศึกษามากขึ้นไปด้วย

ปัจจุบันเชียร์ลีดเดอร์เป็นกิจกรรมยอดนิยมในสถานศึกษาทั่วอเมริกา นอกจากมีบทบาทในการเชียร์กีฬาตามชื่อของมันแล้ว เชียร์ลีดเดอร์ยังพัฒนาไปในแนวทางที่เป็นกีฬาโดยตัวมันเองมากขึ้น มีการผสมผสานระหว่างการเต้นโลดโผนและทักษะทางกายแบบยิมนาสติก พัฒนาระบบมาตรฐานการให้คะแนนเพื่อตัดสินผลแพ้ชนะ มีรายการแข่งขันเป็นของตัวเอง มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และมีผู้ชมจำนวนมากอย่างแทบจะไม่ต่างกับกีฬาอื่นๆ (และก็แน่นอนว่าตามมาด้วยข้อถกเถียงไม่รู้จบแบบเดียวกับการแข่งขันอื่นๆที่ไม่ได้มี “ภาพลักษณ์แบบกีฬ้ากีฬา” ที่ว่าตกลงมันควรถูกนับว่าเป็นกีฬาหรือไม่)

จากอเมริกาสู่สยามและการกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์แบบไทยๆ

เชียร์ลีดเดอร์เข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ชื่อประเทศว่าสยาม เริ่มมีขึ้นในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ต่อมาคณะนี้แยกตัวจากจุฬาฯ ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และปัจจุบันได้กลายเป็นคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)

เชียร์ลีดเดอร์ครั้งแรกในสังคมไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473 เก่าแก่กว่าประชาธิปไตยเสียอีก ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ และหลวงพิณพากย์พิทยาเภทก็น่าจะมีส่วนร่วมด้วย (ต่อมาหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์เป็นผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนหลวงพิณพากย์พิทยาเภทมีบทบาทสำคัญในแวดวงรังสีวิทยาและเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

ทั้งสองคนได้ทุนไปเรียนที่อเมริกาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2461 (แต่เรียนต่างมหาวิทยาลัยกัน) และจบการศึกษากลับมาในช่วงไล่เลี่ยกันเมื่อปี 2471 แล้วทั้งคู่ก็เป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

คำไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของทั้งหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ และหลวงพิณพากย์พิทยาเภท มีผู้กล่าวถึงบทบาทการริเริ่มกิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์อยู่หลายครั้ง จากการปะติดปะต่อ พอจะได้ความว่า ทั้งคู่ร่วมกันฝึกนิสิตสำหรับการเชียร์ที่ “สนามข้างโรงม้า” (บริเวณหอพักนิสิตแพทย์ฯ ณ ตอนนั้น) และการแข่งขันที่เป็นการเปิดตัวเชียร์ลีดเดอร์ครั้งแรกเกิดขึ้นในบริเวณที่เรียกว่า “หอวัง” (ปัจจุบันน่าจะเป็นพื้นที่รอบๆ สนามศุภชลาศัย)

ในหนังสืออัตชีวประวัติของหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์เรื่อง พรหมลิขิต (ซึ่งหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์เล่าแทนตนเองในหนังสือด้วยชื่อ “เพียร ขวนขวายสกุล”) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ในครั้งกระโน้นเพียรได้ถูกขอร้องโดยศิษย์แพทย์ว่าที่เมืองนอกเขาทำอย่างไรกันในระหว่างแข่งขันกีฬา เพื่อไม่ให้ใครจำได้ เพียรอุตส่าห์ใส่หน้ากาก ใส่หมวกรูปกรวยสูง แล้วก็นำขบวนอยู่ตลอดบ่ายเป็นต้น เชียร์มีกระโดดโลดเต้นหกคะเมนตามลำพังจนฟุตบอลล์จบเกม ปรากฏว่าแพทย์เป็นฝ่ายชนะโดยเด็ดขาด”

จากจุดเริ่มต้นที่การแข่งขันระดับคณะ เชียร์ลีดเดอร์ก็ขยับไปอยู่ในการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย เช่น ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ แล้วค่อยๆ เผยแพร่ออกไปทั่วประเทศ และแทรกซึมอยู่ในการแข่งขันกีฬาของแทบทุกระดับการศึกษาอย่างในปัจจุบัน

แม้จะมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่า เชียร์ลีดเดอร์เริ่มต้นในสังคมไทยโดยได้รับอิทธิพลจากอเมริกา แต่เอาเข้าจริงแล้ว ลักษณะและท่าทางของเชียร์ลีดเดอร์ไทยในปัจจุบันก็ไม่ได้เหมือนกับเชียร์ลีดเดอร์อเมริกามากนัก เพราะเชียร์ลีดเดอร์อเมริกาดูจะเน้นการออกท่าทางโลดโผนที่ต้องใช้ทักษะทางกายเป็นอย่างมาก แทบจะไม่ต่างกับนักยิมนาสติก ขณะที่เชียร์ลีดเดอร์แบบไทยๆ นั้นไม่ได้ใช้ทักษะทางกายมากเท่าและเน้นไปที่การวาดแขนเป็นท่าทางต่างๆ เสียมากกว่า

ความเป็นไปได้น่าจะมีอยู่สองทาง ทางแรกคือท่าทางวาดแขนนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเชียร์ลีดเดอร์ไทยเอง ไม่ว่าด้วยเหตุผลที่ว่าเชียร์ลีดเดอร์แบบอเมริกานั้นต้องการต้นทุนที่สูงเกินไปทั้งทางกายและทรัพยากรอื่นๆ อย่างที่สถานศึกษาในอเมริกามี (โดยเฉพาะผลจากกฎหมาย Title IX) หรือเหตุผลอื่นๆ

ทางที่สอง อาจจะเป็นการรับอิทธิพลจากต่างประเทศเข้ามาอีกที ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์แบบญี่ปุ่นหรือ Ōendan ที่เป็นลักษณะเป็นกลุ่มเพศชายมาดเข้มใส่ชุดนักเรียนชายเสื้อยาวนำเชียร์ด้วยท่าวาดแขน (ใครที่อ่านมังงะอยู่บ้างอาจจะคุ้นกับมันในนาม “ชมรมเชียร์”) ซึ่งอันที่จริงแล้ว ญี่ปุ่นเองก็น่าจะรับมาจากอเมริกาอีกทีเหมือนกัน พร้อมๆ กับเบสบอล เพียงแต่ Ōendan ของญี่ปุ่นเก็บเอาความเป็นกิจกรรมแบบชายๆ เอาไว้อย่างที่เคยเป็นในอเมริกาช่วงแรก

ไม่ว่าจะด้วยความเป็นไปได้ทางใดทางหนึ่ง ทั้งสองทาง หรือกระทั่งที่มาอื่น ในท้ายที่สุดเชียร์ลีดเดอร์ไทยก็กลายมาเป็นการนำเชียร์ด้วยการวาดแขนไปมาเป็นหลัก พร้อมกับภาพลักษณ์ในฐานะกิจกรรมที่มีความเป็นหญิง กลายเป็นเอกลักษณ์ของเชียร์ลีดเดอร์แบบไทยๆ ซึ่งต่างจากทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น (อันที่จริงในสังคมไทยเองก็มีกลุ่มเชียร์ลีดเดอร์ที่เน้นแข่งขันด้วยท่าทางโลดโผนและทักษะทางยิมนาสติกแบบอเมริกาอยู่เหมือนกัน แต่ก็ดูจะอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งที่ต่างไปจากเชียร์ลีดเดอร์ในกิจกรรมกีฬาของสถาบันการศึกษา)

จากกิจกรรมเสริมกลายเป็นสำคัญกว่ากีฬาและประวัติศาสตร์ที่ย้อนแย้งในตัวเอง

แทบจะทุกมหกรรมกีฬาในสถาบันการศึกษาไทยในปัจจุบัน กีฬาที่แข่งกันในวันแรกๆ มักจะเป็นไปอย่างเงียบเหงา นักกีฬาแทบจะมากกว่าคนดูอยู่ตลอด เอาเข้าจริงแล้ว อาจไม่มีใครรู้ผลเลยเสียด้วยซ้ำนอกจากตัวนักกีฬาเอง จนกระทั่งวันสุดท้ายที่ทุกคนรอคอยมาถึง กิจกรรมอย่างการประกวดสแตนด์เชียร์และเชียร์ลีดเดอร์กลายเป็นปลายทางของถนนทุกสาย น่าสนใจว่ากิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นส่วนเสริมของการแข่งขันกีฬากลายมาเป็น “กีฬา” ที่สำคัญที่สุดด้วยตัวมันเองได้อย่างไร

เชียร์ลีดเดอร์แบบไทยๆ เป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยตัวมันเองได้ เพราะมันต้องการเสียงเพลงจากสแตนด์เชียร์ด้วย ด้วยลักษณะดังกล่าวมันจึงต้องการคนร้องเพลงเชียร์จำนวนมากเสมอ

ในหลายๆ กรณี การระดมคนขึ้นร้องเพลงเชียร์บนอัฒจันทร์ (และอาจรวมไปถึงการผลิตอุปกรณ์เสริมการเชียร์) นั้นไปสัมพันธ์กับกิจกรรมในสถานศึกษาไทยที่เรียกว่า “ห้องเชียร์” ซึ่งก็มักเป็นส่วนหนึ่งของการ “รับน้อง” (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจอย่างโจ่งแจ้งแบบระบบ SOTUS หรืออำนาจแฝงที่แนบเนียนกว่าในแบบอื่นๆ) ในด้านหนึ่งเชียร์ลีดเดอร์แบบไทยๆ จึงถูกขยับความสำคัญให้มากกว่ากีฬาขึ้นมาได้ เพราะมันเป็นผลรวมของทรัพยากรจากคนจำนวนมาก จะเรียกให้สวยหน่อยว่าการมีส่วนร่วมก็คงพอได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมรับน้องหรือห้องเชียร์ ก็มักจะไปสัมพันธ์กับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้ที่มาก่อนและผู้ที่มาทีหลังอยู่ด้วย ดังนั้นแล้วการที่เชียร์ลีดเดอร์ซึ่งเคยเป็นกิจกรรมเสริมสามารถมีความสำคัญแซงหน้ากีฬาขึ้นมาได้นี้จึงสะท้อนอิทธิพลของการรับน้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ลักษณะทางเพศสภาพของเชียร์ลีดเดอร์ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาที่มีเพศนั้นรับเอาเชียร์ลีดเดอร์เข้าไปและเรียกมันว่า pom-pom girlซึ่งมีเพศสภาพเป็นหญิงอย่างชัดเจนจนทำให้ผู้ชายจำนวนมากไม่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้

เมื่อไล่ย้อนไปแล้วประวัติศาสตร์ของเชียร์ลีดเดอร์ดูจะมีความย้อนแย้งในตัวมันเองอยู่พอสมควร จากที่ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะกิจกรรมของผู้ชาย ค่อยๆ ถูกยึดครองโดยผู้หญิง และเติบโตขึ้นมาจากอิทธิพลของกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในท้ายที่สุด มันกลับกลายมาเป็นกิจกรรมที่มักถูกวิพากษ์ว่ารับใช้ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ไปเสียได้

Tags: