“ไม่มีการกดขี่ข่มเหงใดที่ทารุณโหดร้ายยิ่งไปกว่าการถูกกดขี่ข่มเหงที่อิงอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือปรากฏตัวในนามของกระบวนการยุติธรรม” (There is no crueler tyranny than that which is perpetuated under the shield of law and in the name of justice)
คำกล่าวของมงแต็สกีเยอ (Montesqieu) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสข้างต้นนี้ยังคงเป็นอมตะและชวนให้ปัจเจกชนอย่างเราทุกคนได้ตระหนักถึงการหวงแหนซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมกับการจำกัดอำนาจของรัฐเพื่อมิให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นอำนาจตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ได้รับรองความชอบธรรมให้แก่รัฐในการสร้างความเสียหายแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาที่เป็นการประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ หรือริบทรัพย์สิน ตลอดจนมาตรการในการสอบสวน จับ ค้น ฯลฯ หากได้มีการนำมาบังคับใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยเหตุผลในการกดขี่ประชาชนแล้ว การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมเป็นความเลวร้ายที่ปราศจากความรับผิดชอบทั้งปวง เนื่องจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะทำลายความอยุติธรรมนั้น ได้เข้าร่วมกับความอยุติธรรมไปเสียแล้ว
ทั้งนี้ ช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอดีตที่ประเทศเยอรมนีอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคนาซีนั้น ก็เคยมีเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมของวงการนิติศาสตร์เยอรมันที่กฎหมาย นักกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ต่างได้กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการกำจัดประชาชนพลเมืองที่มีสถานะหรือปฏิบัติตนไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นกัน
จนกระทั่งภายหลังสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็ได้มีการนำตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิจารณาความผิด เกิดเป็นคดีอาชญากรรมสงครามที่มีผู้พิพากษา พนักงานอัยการและข้าราชการกระทรวงยุติธรรมเป็นจำเลยเสียเอง ในชื่อของ ‘Justice Case’ (Juristenprozess) หรือในชื่ออย่างเป็นทางการคือ คดี The United States of America vs. Josef Altstötter, et al. ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอถึงเรื่องราวความเป็นมาและประเด็นปัญหาในคดีดังกล่าวถึงการบิดเบือนกฎหมายโดยบุคคลากรในกระบวนยุติธรรมที่จะนำไปสู่การทำลายล้างประชาชนต่อไป
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
ภายหลังจากที่ประเทศเยอรมนีประสบความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีก็ตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงระส่ำระส่าย เศรษฐกิจของประเทศถดถอยอย่างหนักเนื่องจากต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนที่พ้นวิสัยจะชำระได้ จากผลของสนธิสัญญาแวร์ซายส์
สภาพสิ้นหวัง แร้นแค้นทางเศรษฐกิจ รวมผสมกับความโกรธแค้นหงุดหงิดต่อกิจกรรมประชาธิปไตยที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นแรงกระตุ้นสำคัญอันเป็นรากฐานส่งผลให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และพรรคสังคมชาตินิยมของคนงานเยอรมัน หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party: NSDAP เรียกอย่างสั้นว่า Nazi) ขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง
ทั้งนี้ นโยบายของพรรคดังกล่าวมีข้อความคิดที่จะตั้งประชาคมแห่งชาติขึ้นโดยการยึดถือเอาเชื้อชาติของบุคคลเป็นแกนหลักอันสำคัญ มุ่งปราบปรามกดขี่ หรือถึงขั้นกวาดล้างชาติพันธุ์ยิวที่ถือเป็นพิษภัยต่อสังคมเยอรมัน และการกำจัดกลุ่มคนที่พรรคกำหนดให้เป็น ‘พวกไม่พึงปรารถนา’ เช่น คนรักเพศเดียวกัน คนศาสนาเยโฮวาวิตเนส และพลเมืองอื่นๆ ที่กระด้างกระเดื่องต่อนาซีที่แม้จะเป็นคนชาติเยอรมันก็ตาม
นโยบายดังกล่าวของเผด็จการนาซีได้ผลักยุโรปเข้าสู่ยุคมืด นำไปสู่ลัทธิคลั่งเชื้อชาติ และการฆาตกรรมที่โหดร้ายทารุณที่คร่าชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในสงครามและค่ายกักกันนาซี (Nazi Concentration Camps)
จนกระทั่งจุดจบด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ (Axis) ซึ่งมีประเทศเยอรมนีเป็นผู้นำ และมีการหารือกันระหว่างผู้นำของชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาคดีผู้นำคนสำคัญและสมาชิกพรรคนาซีในการประชุมพ็อทซ์ดัม ซึ่งต่างก็มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) เพื่อดำเนินคดีดังกล่าวขึ้น ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นให้เป็นหน้าที่ของศาลภายในของประเทศเยอรมนี (National tribunals) ภายใต้การควบคุมของประเทศสัมพันธมิตรสี่มหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย
จนกระทั่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1947 ศาลภายในของประเทศเยอรมนีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกานั้นได้ถูกจัดตั้งเป็นศาลทหารแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Military tribunals) ขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์ก เพื่อพิจารณาคดีความผิดอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามในนามของ Subsequent Nuremberg trials ซึ่งมีทั้งหมด 12 คดี และจำเลยในคดีต่างๆ ทั้งหลายดังกล่าวนั้น นอกจากจะมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการทหารแล้ว ยังมีผู้มีสถานะเป็นแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้พิพากษา อัยการ ผู้บัญชาการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักการทูต และนักธุรกิจอีกด้วย
คดี The Justice Case นี้ก็เป็น 1 ใน 12 คดีของ Subsequent Nuremberg trials ที่ได้มีการพิจารณาความผิดอาญาของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม 16 คน ที่กระทำตนเป็น ‘เนติฆาตกร’ (Judicial murder) ในฐานะเครื่องมือทางกฎหมายของพรรคนาซีในการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำลายล้างประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ดำรงตำแหน่งพิพากษา พนักงานอัยการ และข้าราชการกระทรวงยุติธรรม โดยมีการดำเนินคดีกับบุคลดังกล่าวใน 4 ข้อหา ได้แก่
1. สมคบกันก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
2. ก่ออาชญากรรมสงครามและ
3. ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
4. เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรอาชญากรรม
การบิดเบือนกฎหมายเพื่อทำลายล้างประชาชน
ตลอดระยะเวลาที่ประเทศเยอรมนีอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคนาซีนั้น ได้มีเหตุการณ์การนำกฎหมายมาบิดเบือนและใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ข่มเหงประชาชนอยู่ในหลายกรณีที่ไม่อาจจะนำเสนอได้หมด ในที่นี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอยกกรณีศึกษาของจำเลยในคดี The Justice Case 2 กรณีคือ ฟรานซ์ ชเลเกลแบรเกอร์ (Franz Schlegelberger) และออสวอลด์ โรทเฮาก์ (Oswald Rothaug)
สำหรับกรณีศึกษาของฟรานซ์ ชเลเกลแบรเกอร์นั้น เขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ตลอดช่วงเวลาในการทำงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของเขานั้น ได้มีอัตราการลงโทษประหารชีวิตพุ่งขึ้นสูงอย่างมากเป็นประวัติการณ์
เหตุการณ์หนึ่งที่ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงในการพิจารณาคดี The Justice Case สำหรับรัฐมนตรีผู้นี้คือ การบิดเบือนโทษทางอาญาในการลงโทษ มาร์คัส ลุฟต์กลาส (Markus Luftglass) ชาวยิววัยชราผู้หนึ่งที่ได้ถูกพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีครึ่ง สำหรับการลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ และได้ไปถึงการรับรู้ของฮิตเลอร์ผู้นำพรรคนาซีแล้ว หลังจากนั้นฟรานซ์ก็ได้รับจดหมายจากฮิตเลอร์ที่ได้แจ้งกับเขาว่าการลงโทษในคดีลักทรัพย์ของมาร์คัสนั้นยังมีความรุนแรงไม่เพียงพอ ฮิตเลอร์ต้องการให้มาร์คัสได้รับโทษประหารชีวิตหลังจากที่ฟรานซ์ได้อ่านจดหมายฉบับดังกล่าวแล้วก็ได้รายงานกลับไปอย่างเลือดเย็นว่า “ข้าพเจ้าได้มอบอำนาจให้หน่วยเกสตาโพ (Gestapo) ดำเนินการประหารชีวิตมาร์คัส ลุฟต์กลาส ตามคำสั่งของท่านผู้นำเป็นที่เรียบร้อย” ในท้ายที่สุด ฟรานซ์ได้ถูกนำตัวเข้าสู่การพิจารณาคดี The Justice Case และถูกพิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับข้อหาสมคบกันก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
ส่วนกรณีศึกษาของออสวอลด์ โรทเฮาก์ เขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลของเมืองนูเร็มเบิร์ก ที่ดำเนินการรับผิดชอบคดีอาญามากมาย แต่คดีที่ออสวอลด์ได้ทำการบิดเบือนกฎหมายและทำลายประชาชนที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงใน The Justice Case นั้น คือการดำเนินคดีกับ เลโอ คัตเซนแบรเกอร์ (Leo Katzenberger) ในข้อหา ‘มลภาวะทางชาติพันธุ์’ (racial pollution) จากการมีความสัมพันธ์กับ อิเรเน ไซเลอร์ (Irene Seiler) หญิงชาวเยอรมัน
การดำเนินคดีดังกล่าวนั้น ไม่มีพยานหลักฐานที่ปราศจากข้อสงสัยเลยว่า ลีโอและอิเรเนมีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาวจริง มีเพียงแต่ข่าวลือ การบอกเล่าต่อๆ กันมาที่ไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งอิเรเนเองก็ให้การอีกว่า ตนไม่ได้มีความสัมพันธ์เช่นนั้นกับเลโอ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาออสวอลด์นั้นก็ได้จัดการอุปสรรคในการดำเนินคดีดังกล่าว ด้วยการกล่าวหาว่าอิเรเนพูดโกหก และดำเนินคดีกับอิเรเนในข้อหาเบิกความเท็จ (perjury) ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเลโอนั้นได้มีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาวกับอิเรเน
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานมลภาวะทางชาติพันธุ์นั้นมีอัตราโทษสูงสุดคือการจำคุกหรือการใช้แรงงานเพียงเท่านั้น ไม่มีการประหารชีวิตแต่อย่างใด ออสวอลด์จึงแก้ปัญหานี้ โดยการพิพากษาเกินไปกว่าข้อกล่าวหาตอนแรก ในความผิดที่ร้ายแรงขึ้นว่า เลโอนั้นมีความผิดฐานเป็น ‘ศัตรูของรัฐ’ (Public enemy) ที่มีอัตราโทษประหารชีวิต
ท้ายที่สุดออสวอลด์ก็ได้ถูกนำตัวเข้าสู่การพิจารณาคดี The Justice Case และถูกพิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ
หลักการผู้นำ (Führerprinzip) และการใช้การตีความกฎหมายที่บิดเบี้ยว
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าศึกษาขบคิดต่อไปก็คือ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้นักนิติศาสตร์และการใช้การตีความกฎหมายนั้นเบี่ยงเบนไปจากเหตุผลและความเป็นธรรมถึงเพียงนั้น ซึ่งคำตอบนั้นได้สะท้อนผ่านรูปแบบการเมืองการปกครองของเยอรมนีในขณะนั้น ที่อยู่ภายใต้ ‘หลักการผู้นำ’ (Führerprinzip) ซึ่งเป็นอำนาจของผู้นำที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ โดยยึดถือฮิตเลอร์เป็นศูนย์กลางของอำนาจอธิปไตย ผู้นำเปรียบเสมือนพระเจ้าที่จะนำพาเยอรมนีกลับไปสู่ยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ในอดีตอีกครั้ง อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น เป็นการตัดสินใจของผู้นำแต่เพียงผู้เดียว
สำหรับอิทธิพลของหลักการ Führerprinzip ที่มีต่ออำนาจตุลาการนั้นได้ก่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการบันทึกเอาไว้ว่า องค์กรตุลาการนั้นมีหลักการในการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1. กฎหมายจะต้องรับใช้ผู้นำทางการเมือง
แนวทางการปฏิบัตินี้ ส่งผลกระทบต่อการปรับใช้และการตีความกฎหมาย ให้ละทิ้งหลักการในการสร้างความสมดุลของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและอำนาจหน้าที่ของรัฐรักษาความสงบเรียบร้อยจนหมดสิ้น แล้วมุ่งแต่การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำเท่านั้น นอกจากนี้ บทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ควรจะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรกในนั้น กลับกลายเป็นเพียงทางเลือกในการปรับใช้กฎหมายของผู้วินิจฉัยคดีแต่เพียงเท่านั้น เพราะแม้จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ก็ตาม แต่สุดท้ายผู้วินิจฉัยก็สามารถเลือกที่จะตีความเกินเลยหรือเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางทางการเมืองตามความคิดของผู้นำได้เสมอ เสมือนกับไม่มีบทบัญญัติกฎหมายนั้นๆ อยู่เลย ประชาชนย่อมถูกกระทบสิทธิอย่างมาก เพราะไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้อย่างแท้จริงเลยว่า การกระทำของตนนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่
2. ผู้นำคือผู้พิพากษาสูงสุด อำนาจในการทำคำพิพากษาทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นของผู้นำ
เมื่อเกิดแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้นำแล้ว การนำสืบและรับฟังพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ย่อมขาดความเป็นภาวะวิสัยตามไปด้วย กล่าวคือ ไม่ว่าพยานหลักฐานในคดีจะมีความน่าเชื่อถือน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากผู้นำเห็นว่าเพียงพอที่ศาลจะทำการลงโทษจำเลยได้แล้ว คำพิพากษาของศาลก็ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้นำ หรือแม้พยานหลักฐานที่จะลงโทษจำเลยจะหนาแน่นเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากผู้นำเห็นว่าไม่เพียงพอต่อการลงโทษจำเลย ศาลก็จะต้องยกฟ้องปล่อยจำเลยไป
3. ผู้พิพากษาผู้ที่มีความจงรักภักดีโดยตรงต่อผู้นำจะต้องตัดสินคดีเหมือนกับผู้นำ
แนวทางการปฏิบัตินี้ทำลายหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยสิ้นเชิง เพราะการวินิจฉัยคดีของศาลนั้นถูกแทรกแซงโดยผู้นำ ฝ่ายตุลาการไม่อยู่ในฐานะองค์กรที่จะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อเป็นหลักประกันในการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ รัฐจึงย่อมสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไร้ขีดจำกัดโดยปราศจากความรับผิดชอบไปโดยทีเดียว
บทส่งท้าย
จากคดี The Justice Case นั้น เราจะเห็นได้ว่า ระบอบการเมืองการปกครองของรัฐนั้นส่งผลต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ หากอำนาจในทางการเมืองนั้นไม่ได้มีจัดสรรให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็มีแนวโน้มที่ฝ่ายตุลาการจะถูกนำไปใช้เป็น ‘เนติฆาตกร’ ที่เป็นเพียงเครื่องมือในบิดเบือนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อการทำลายล้างประชาชนผู้ที่ประพฤติตนไม่สอดคล้องกับอุดมคติทางการเมืองของผู้มีอำนาจแต่เพียงเท่านั้น แทนที่จะได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมๆ กับการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังเช่นที่เกิดกับประเทศเยอรมนีในอดีต
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเยอรมนีไม่ได้มีการปกครองภายใต้หลักการ Führerprinzip อีกต่อไปแล้ว หากแต่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักนิติรัฐ (Rechtsstaat) วงการนิติศาสตร์ของเยอรมันจึงฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง และเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน
ดังนั้น การซ่อมแซมสังคมที่ผุพังนั้นย่อมเป็นไปได้และยังไม่สายเกินไป หากเราตระหนักถึงปัญหาและเฝ้าระวังไม่ให้อิทธิพลทางความคิดของหลักการ Führerprinzip ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง
Tags: เนติฆาตกร, History, กฎหมาย, Nazi, ความยุติธรรม, Justice Case