ชาวกรีกนั้นเชื่อว่าทฤษฎีของความสุขชีวิตคือความมั่งคั่งในเงินทอง ความอภิรมย์ในการพักผ่อน และการใช้ปรัชญาในการแสวงหาความหมายของชีวิต พวกเขาเรียกมันว่า Eudaimonia หรือ สถานะความสุขของมนุษย์ อริสโตเติลกล่าวว่า การเข้าถึงสถานะของ Eudaimonia นั้นเกิดจากการมี โชคลาภ สุขภาพ เพื่อน อำนาจ และ ความมั่งคั่งทางวัตถุ
ขณะที่เจเรอมี่ เบนแธม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาชาวอังกฤษ เชื่อว่าความสุขสามารถวัดได้ด้วยตัวเลขทางคณิตศาสตร์ และความสุขก็เกิดขึ้นจากการครอบครองทรัพย์สมบัติ เขาได้อธิบายหลักการนี้ในทฤษฎีหลักการของประโยชน์สุข (principle of utility) ว่าด้วยอำนาจในการซื้อความสุข โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักจะเปลี่ยนนิยามของความสุขเป็นสิ่งของรูปธรรมที่จับต้องได้ หรือ สามารถจินตนาการได้ ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ เมือง รถยนต์ สิ่งของ หรือ ธรรมชาติ การครอบครองทรัพย์สมบัติจะนำซึ่งความสะดวกสบายมาให้และความสุขในชีวิต
แน่นอน นิยามของคำว่าความสุขของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางมิติ ‘วัตถุ’ ก็ตอบโจทย์ความสุขได้หลายข้อ แม้บางทีแนวคิดแบบนี้จะถูกผลักให้กลายเป็นผลผลิตชั่วร้ายของทุนนิยมหรือวัตถุนิยมก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าความสุขจากวัตถุจะเป็นเรื่องของความฟุ้งเฟ้อไปเสียทั้งหมด มันยังหมายถึงคุณภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ที่ดีได้ด้วย
หากมองสถาปัตยกรรมและผังเมืองเป็นกระจกเงาที่สะท้อนทัศนคติของรัฐและเอกชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่—เรามักเห็นถนนหนทางในกรุงเทพ ที่ปันสรรพื้นที่มากมายให้กับรถยนต์ แต่กลับแบ่งพื้นสำหรับทางเดินเท้าเพียงน้อยนิด หรือกระทั่งไม่มีเลยด้วยซ้ำในบางเส้นหรือบางซอย โดยการวางผังเมืองที่ตอบสนองการผู้ใช้รถยนต์เป็นหลักนี้ เกิดขึ้นจากการที่ผู้คนเริ่มใช้รถยนต์มากขึ้น เพื่อจะได้เดินทางไปยังจุดหมายได้เร็วหรือสะดวกขึ้น แต่ผลคือเรากลับต้องติดอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมแคบๆ บนท้องถนนนานกว่าที่ควรจะเป็น
และแม้การจัดการถนนจะพยายามเอื้อต่อจำนวนรถมากแค่ไหน แต่มันกลับกระทบไปสู่มิติอื่นอีกหลายต่อในเมืองนั้นๆ เราพบว่าเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความเจริญด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจกำลังละเลยความสำคัญของคุณภาพชีวิตชาวเมือง เช่น ทางเท้าที่มีคุณภาพ ทางสำหรับจักรยาน การจัดการเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะ การจัดการน้ำ พื้นที่สีเขียว ห้องน้ำสาธารณะ รวมถึงพื้นที่สันทนาการ ซึ่งหลายครั้งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ ‘ยังไม่จำเป็น’ หรือไม่จำเป็นเลยด้วยซ้ำสำหรับรัฐหรือผู้พัฒนาบางพื้นที่
สุขนิยม (Hedonism) ในงานสถาปัตยกรรม
แนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแบบ hedonism มักจะมาคู่กับเรื่องความยั่งยืนหรือ sustainable ซึ่งหลายฝ่ายพยายามผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สำหรับบางเมืองอาจยังต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย
เช่นในบ้านเราเอง คุณค่าของสถาปัตยกรรมและการออกแบบถูกวัดจากผลกำไรที่มันทำ ราคาต่อตารางเมตรกลายเป็นหน่วยวัดคุณค่าที่นักลงทุน ภาครัฐ และคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งหากมองไปที่หลายประเทศ ‘กำไร’ อาจไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งอีกต่อไปแล้ว เช่นประเทศภูฏานที่มีนโยบายวัดความสุขมวลรวมประชากรของตน (Gross National Happiness) แทนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) คำถามคือเราสามารถวัดค่าความสุขได้อย่างไร? หนึ่งในบรรดาคำตอบก็เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมและผังเมืองด้วย
ค่าความสุขดังกล่าวไม่ได้แปรผันตรงตามระบบเศรษฐกิจ แต่ถูกคำนวณจากข้อมูลของความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ของประชาชนซึ่งมาจากการเก็บค่าสถิติต่างๆ เช่น จำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล, เวลาที่ใช้ในการเดินทาง, ตัวเลขผู้ป่วย, จำนวนพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น หากจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง หมายความว่าผู้คนหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าระบบขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพมากพอ และยังส่งผลให้มลพิษในอากาศลดน้อยลง นำมาซึ่งสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย (อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงตัวเลขเชิงสถิติ ที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาประเทศ ไม่ได้เป็นข้อยืนยันเรื่องความสุขของปัจเจกบุคคลซึ่งขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยยิ่งกว่านั้น)
และการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีหรือความสุขของประชากรนี่เอง จึงมีการนำแนวคิดสุขนิยมมาใช้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนขณะที่ก็เพิ่มคุณค่าของพื้นที่ได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น โครงการ 10Cal ของสถาปนิก Supermachine Studio ในสวนสาธารณะริมทะเลบางแสน จังหวัดชลบุรี ที่สร้างในปี 2014
โครงการสนามเด็กเล่นนี้สร้างเป็นบันไดวงกตซ้อนกัน สามารถให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเล่นซ่อนหา หรือใช้เป็นจุดชมวิวริมทะเล สิ่งที่สนใจของโครงการนี้คือมีการคำนวณว่าเมื่อเดินจากจุดเริ่มต้นจนไปถึงยอดตึกแล้วร่างกายจะเผาผลาญพลังงาน 10 แคลอรี่ การออกแบบถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชักชวนให้คนเดินวนไปวนมา เพื่อเป็นการออกกำลังกายไปโดยปริยาย
อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารจอดรถแบบดั้งเดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ออกแบบโดย บริษัท JAJA Architects ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2016 ซึ่งโดยทั่วไปอาคารจอดรถจะถูกสร้างเพื่อใช้สอยล้วนๆ ไม่มีการตกแต่งใดๆ และด้วยความใหญ่ของแบบอาคาร อาคารจอดรถจึงมักใช้พื้นที่มากและสร้างทัศนียภาพที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับตัวเมือง และนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาในเชิงภูมิศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และผังเมือง
ในโครงการนี้ สถาปนิกจึงพยายามใส่ความสนุกให้กับตัวอาคารโดยไม่ยึดติดกับรูปลักษณะของอาคารจอดรถแบบเดิมๆ ด้วยการใช้สี การนำต้นไม้ตกแต่งส่วนหน้าของตึก (facade) สร้างสนามเด็กเล่นและจุดชมวิวบนชั้นดาดฟ้า เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นให้กับตัวตึกเอง และและสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาให้กับเมืองด้วย
สุขนิยมในการออกแบบเมือง
ในส่วนของการออกแบบเมืองที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างเท่าเทียมนั้น คงต้องเป็นบทบาทของภาครัฐ ในการใช้นโยบายเพื่อการออกแบบพื้นที่สาธารณะ (public space) และระบบสาธารณูปโภคของเมือง (urban infrastructure system) ให้มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนถนนทางหลวงจากยุค 1970 ของ กรุงโซล ประเทศเกาหลี ที่มีความยาวกว่า 938 เมตรและสูง 16เมตร ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ชื่อว่า ‘Seoul Street’ โดยฝีมือของสถาปนิก ชาวดัตช์ MVRDV ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลเกาหลีใต้อีกทีหนึ่ง
พวกเขาทำให้ผู้คนสามารถชมกรุงโซลในมุมมองที่แปลกใหม่ มากไปกว่านั้นสะพานนี้ยังเป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้พื้นเมืองมากถึง 228 สายพันธุ์ โดยจัดเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อสายพันธ์ ทั้งยังมีคาเฟ่เล็กๆ ร้านค้า ห้องสมุด รวมถึงนิทรรศการเล็กๆ กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บนสะพาน ผู้คนยังสามารถเดินขึ้นบนสะพานนี้ได้จากหลายจุด ทั้งทางบันได ลิฟต์ หรือทางลาด เพื่อให้ผู้คนทุกประเภทสามารถมาใช้งานได้เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น คนแก่ เด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้พิการ
ส่วนหนึ่งมันอาจเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่โครงการนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของภาครัฐที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และในปัจจุบันผู้ได้รับประโยชน์จาก Seoul Street ก็คือชาวเมืองเองเป็นส่วนใหญ่
และหากวันหนึ่ง หน่วยวัดความสำเร็จของงานสถาปัตยกรรมเปลี่ยนจากราคาต่อตารางเมตร เป็นคุณภาพชีวิตต่อตารางเมตร นี่เองอาจเป็นสุขนิยมที่แท้จริง อันเกิดการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและ ประชาชน ที่ต้องการจะพัฒนาเมืองไปด้วยกัน
ท้ายที่สุดนี้ผมนึกถึงโควตของ Enrique Peñalosa นายกเทศมนตรีเมือง โบโกตา (Bogotá) ประเทศโคลัมเบีย ที่เคยกล่าวขณะดำรงตำแหน่งไว้ว่า “เราอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เราอาจจะไม่สามารถทำให้ทุกคนร่ำรวยเหมือนคนอเมริกันได้ แต่เราสามารถออกแบบเมืองที่ทำให้พลเมืองรู้สึกภาคภูมิใจ มีเกียรติ และออกแบบเมืองที่ทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นได้”
และนี่คือแนวคิดของรัฐที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
รวบรวมข้อมูล และอ่านบทร่าง โดย เรโช ตระกูลสัจจาวัตร www.instagram.com/ratiotio
อ้างอิง
Montgomery, Charles. Happy City: Transforming Our Lives through Urban Design. Penguin Books, 2015.
Tags: Architecture, Urban Planning, Hedonism