“เอานิ้วชี้แตะปลายจมูก” ผมชูนิ้วชี้ขึ้นมาแตะปลายจมูกให้คนไข้ดูเป็นตัวอย่าง
“ใช่ อย่างนั้นแหละครับ แล้วเอามาแตะปลายนิ้วหมอ”
ขณะเดียวกันผมก็ยื่นนิ้วชี้ออกไปตรงหน้า ให้คนไข้เหยียดแขนสุดเพื่อเอานิ้วชี้มาแตะกับของผม
“อีกครั้งหนึ่งครับ” รอบนี้ผมเลื่อนนิ้วชี้ไปอีกทางหนึ่ง “ดีครับ ทีนี้สลับข้าง ทำเหมือนกันเลย”
ถ้าใครเคยเล่าให้หมอฟังว่ามีอาการ เวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือ ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ ก็อาจได้รับการทดสอบแบบนี้กันมาบ้าง หรือถ้าใครเคยเข้าห้องตรวจไปเป็นเพื่อนกับผู้ป่วย ก็อาจเคยอมยิ้มกับการ ‘เล่น’ ไล่แตะนิ้วสลับไปมาระหว่างจมูกคนไข้กับนิ้วหมอ ซึ่งมองดูแล้วเหมือนคนไข้กำลังไล่ตีแมลงวันที่บินวนไปมาบนโต๊ะอาหารอยู่
นิ้วหมอเป็นแมลงวัน
ส่วนนิ้วคนไข้เป็นไม้ตีแมลงวัน
ที่ไม่ว่าจะตีโดนยังไง แมลงวันก็ฟื้น บินไปเกาะที่ใหม่ได้อยู่ดี
โรคทางสมอง
เมื่อก่อนผมไม่เคยแจ้งคนไข้ก่อนว่าจะตรวจอะไร เพราะในการตรวจร่างกาย ระบบประสาทจะมีลักษณะเป็นคำสั่งให้คนไข้ทำตามเกือบทั้งหมด ตัวอย่างที่น่าจะคุ้นเคยกันมากกว่าคือการสั่งให้ยิ้มยิงฟัน และการสั่งให้เกร็งแขนขาต้านแรงกับหมอเพื่อทดสอบกำลัง พอถึงการทดสอบในส่วนนี้ผมก็บอกให้คนไข้ทำตามที่สั่งตามปกติ (ของหมอ)
แต่ผมสังเกตว่าคนไข้หลายคนจะทำสีหน้าสงสัยทำนองว่า “ทำไมหมอถึงสั่งให้ทำท่าทางผิดปกติ (ของคนไข้)” หรือ “ทำไมการตรวจนี้ถึงแปลกไปจากการตรวจร่างกายตามปกติ” เมื่อมีประสบการณ์กับความฉงนนี้มากขึ้น ผมก็เปลี่ยนมาแจ้งกับคนไข้ก่อนว่า “ต่อไปจะทดสอบความแม่นยำนะครับ”
โดยการทดสอบนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Finger to Nose Test” หรือ “การทดสอบนิ้วไปแตะจมูก” เพื่อตรวจสอบการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อซึ่งควบคุมโดยสมองน้อย (Cerebellum) หากคนไข้ไม่สามารถทำได้ เช่น นิ้วส่ายไปมา แตะไม่โดนนิ้วหมอสักที แสดงว่ามีความผิดปกติของสมองส่วนนี้ หมอก็จะส่งตรวจสแกนคอมพิวเตอร์สมอง (CT brain) หรือตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองขาดเลือด, หลอดเลือดสมองแตก หรือมีเนื้องอกในสมองหรือไม่อีกที
อ่อ นึกกันอยู่รึเปล่าว่าสมองน้อยอยู่ตรงไหน
ตำแหน่งเดียวกับก้านคอที่นักมวยเตะแล้วชนะน็อคคู่ต่อสู้นั่นแหละครับ
โรคในหูชั้นใน
แต่ถ้าคนไข้สามารถไล่แตะนิ้วสลับไปมาระหว่างจมูกคนไข้กับนิ้วหมอได้ อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือ ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ ก็จะถูกจัดให้อยู่ใน ‘ตะกร้า’ ใบใหญ่ที่หมอใช้สื่อสารกับคนทั่วไปว่า โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
ซึ่งความจริงแล้ว โรคนี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายโรคในกลุ่มความผิดปกติของหูชั้นในและเส้นประสาทหูเท่านั้น แต่เนื่องจากชื่อโรคแยกย่อยลงไปเป็นภาษาอังกฤษ เช่น โรค BPPV (benign paroxysmal positional vertigo) โรคมีเนียร์ (Meniere’s disease) ฟังแล้วก็ไม่เชื่อมโยงกับสาเหตุของโรคโดยตรง ถ้าแจ้งกับคนไข้ไปก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ อีกอย่าง คนไข้ก็คุ้นเคยกับชื่อเรียกนี้กันมานานแล้ว
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีบางคนเข้าใจว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเกี่ยวกับอาการน้ำเข้าหู ซึ่งก็ต้องแก้ไขความเข้าใจว่า น้ำที่เข้าหูจะอยู่แค่ในหูชั้นนอก เพราะมีเยื่อแก้วหูกั้นไว้ แต่สาเหตุของโรคนี้เกิดขึ้นภายในหูชั้นใน ซึ่งอยู่ถัดจากกระดูกค้อน-ทั่ง-โกลนเข้าไปอีก จะเจอส่วนของกระดูกรูปก้นหอยและท่อรูปครึ่งวงกลม 3 ท่อ ภายในท่อจะมีน้ำไหลเวียนอยู่สำหรับรับรู้การทรงตัวของร่างกาย (นึกภาพน้ำในขวดเปลี่ยนตามทิศทางการเอียงขวด) แล้วส่งสัญญาณข้อมูลต่อไปยังแกนสมอง สมองน้อย และสมองส่วนรับรู้การทรงตัวตามลำดับ
หากน้ำในท่อรูปครึ่งวงกลมแต่ละข้างไม่เท่ากัน หรือหูชั้นในแต่ละข้างทำงานไม่สมดุลกัน
ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนตามมา โดยอาการมักจะสัมพันธ์กับท่าทาง เช่น หันศีรษะ เปลี่ยนท่าจากนอน-นั่ง-ยืน (นึกภาพน้ำในขวดเปลี่ยนตามการทิศทางการเอียงขวดอีกรอบ)
หากเปรียบเทียบระบบการทรงตัวเป็น ‘ประเทศ’ หูชั้นในจะเทียบได้กับหน่วยงาน ‘ส่วนภูมิภาค’ (peripheral vertigo) เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น จึงไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงเหมือนกับโรคทางสมอง ซึ่งถือเป็นหน่วยงาน ‘ส่วนกลาง’ (central vertigo) ดังนั้น เกือบทุกโรคในตะกร้าใบใหญ่นี้จะรักษาเบื้องต้นเหมือนกันคือการกินยาแก้เวียนศีรษะก่อน ได้แก่
- ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ (antihistamine; H1 antagonist) ที่สามารถรักษาอาการเวียนศีรษะได้ หรือที่รู้จักกันดีว่ายาแก้เมารถ-เมาเรือ และคุ้นหน้าคุ้นตาด้วยว่าเป็นเม็ดกลมเล็กๆ สีเหลืองๆ และเป็นยาที่คนไข้มักจะกินก่อนมาโรงพยาบาลแล้ว
- เบตาฮีสทีน (Betahistine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านตัวรับฮีสตามีนคล้ายกับยาแก้แพ้ แต่เป็นคนละชนิดกัน (H3 antagonist) ออกฤทธิ์เหมือนฮีสตามีนเล็กน้อย (partial H1 agonist) ทำให้เลือดไปยังหูชั้นในเพิ่มขึ้น และปรับการรับรู้การทรงตัวของสมองให้สมดุล
- ยาในกลุ่มยับยั้งตัวรับแคลเซียม (calcium channel blocker: CCB) ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เช่น ซินนาริซีน (Cinnarizine) ฟลูนาริซีน (Flunarizine) ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับยาในกลุ่มนี้ซ้ำซ้อนกัน เพราะซื้อยากินเองหรือไปรับรักษากับหมอหลายแห่ง เช่น หมอคนแรกจ่ายซินนาริซีน แต่พอมารักษากับหมออีกคนก็ได้รับการจ่ายฟลูนาริซีน และหากกินยาในกลุ่มนี้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการมือสั่น
ถ้าอาการเป็นหนักมาก
หากอาการ “เวียนศีรษะบ้านหมุน” เป็นหนักมาก บางคนถึงกับลืมตาไม่ได้ เพราะถ้าลืมตาปุ๊บจะรู้สึกบ้านหมุนขึ้นมาปั๊บ เลยไม่สามารถทดสอบกำลังแขนขาและความแม่นยำได้ ผมก็จะฉีดยาแก้เวียนศีรษะเข้าทางหลอดเลือดดำและนอนสังเกตอาการดูก่อน หากตอบสนองต่อยาแก้เวียนศีรษะ อาการที่เกิดขึ้นก็มักจะเกิดจากโรคในหูชั้นใน แล้วผมถึงค่อยให้คนไข้ “เอานิ้วชี้แตะปลายจมูก แล้วเอามาแตะปลายนิ้วหมอ” ในภายหลัง ร่วมกับขอให้คนไข้เดินให้ดู เพื่อทดสอบสมองน้อยอีกการทดสอบหนึ่งเรียกว่า “Tandem gait” และเป็นการยืนยันว่าอาการของคนไข้ดีขึ้นแล้ว
โดยผมจะไปยืนหันหน้าเข้าหาคนไข้ ห่างจากตัวคนไข้ประมาณ 2-3 ก้าว อ้าแขนเตรียมไว้เผื่อคนไข้เดินเซล้มจะได้เข้าไปอุ้มรับได้ทัน แล้วบอกให้คนไข้ค่อยๆ เดินเท้าต่อเท้าเป็นแนวเดียวตรงมาหาผม ถ้าบนพื้นมีเส้นของกระเบื้องก็จะให้คนไข้เดินบนเส้นเหมือนเล่นกายกรรมไต่เชือก (ญาติก็มักจะอมยิ้มอีกเช่นกัน) ขณะเดียวกันผมก็จะเดินถอยหลังตามคนไข้ไปด้วย
“ส้นเท้าชิดปลายเท้าเลยนะครับ” เป็นระยะทางหนึ่งจนมั่นใจว่าสามารถทำได้ปกติจึงให้คนไข้หันหลังกลับไปยังเก้าอี้หรือเตียงที่ลุกออกมา แต่ถ้าหากคนไข้ไม่สามารถทำได้ ก็จะถือว่ามีความผิดปกติที่สมองน้อยเช่นกัน
ทั้งนี้ ระดับความ ‘เล่นใหญ่’ ของการทดสอบเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับระดับความสงสัยของหมอแต่ละคนว่าคนไข้เวียนศีรษะจากโรคทางสมองหรือไม่ หมอบางท่านก็อาจไม่ได้ทดสอบอย่างที่ผมเล่าไป เพราะหมอจะรวบรวมความสงสัยจากการซักถามประวัติคนไข้ในตอนแรก และอาศัยการตรวจร่างกายอื่นร่วมกัน เช่น ความดันโลหิตสูง เปลือกตาซีด ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
แต่สำหรับผมแล้ว มักจะตรวจให้กับคนไข้เกือบทุกคน อาจเป็นเพราะตอนสมัยยังเป็นนิสิตแพทย์ได้เรียนรู้จากคนไข้เวียนศีรษะบ้านหมุนจากโรคทางสมองหลายราย และอีกอย่าง คนไข้มักจะกังวลว่า ตัวเองมีอาการจากสาเหตุในสมอง การที่หมอใส่ใจตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็ช่วยคลายความกังวลของคนไข้ได้
“โอเค ถ้าทดสอบแล้วยังแม่นยำอยู่ ก็แสดงว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากสมองนะครับ”
หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น
“หมอจะจ่ายยาแก้เวียนศีรษะให้ไปกิน 1-2 วันก่อน” ผมให้คำแนะนำในตอนท้าย “หากดีขึ้นก็สามารถหยุดกินยาได้ และเก็บยาไว้กินรอบหน้าถ้ามีเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นมาอีก”
“แต่ถ้ากินยาไปแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้กลับมาตรวจใหม่”
“อาจจะต้องปรับยา หรือส่งปรึกษาหมอเฉพาะทางด้านหูคอจมูกอีกทีนะครับ”
อ้างอิง:
- ตำรางหู คอ จมูก สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป ของภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ฐานข้อมูลยา Lexicomp®