เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผักไฮโดรโปนิกส์ตกเป็นประเด็นฮือฮาหลังจาก ‘เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ (Thai-PAN) จัดแถลงข่าวเปิดเผยผลตรวจสอบผักไฮโดรโปนิกส์ที่จำหน่ายในห้างร้านโมเดิร์นเทรดว่า ผัก 19 ตัวอย่างจากทั้งหมด 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 63.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

โดยพบสารพิษตกค้างทั้งหมด 25 ชนิด แบ่งออกเป็น สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) 1 ชนิด สารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) 6 ชนิด สารกำจัดแมลงและไร (Insecticide and Acaricide) มากถึง 18 ชนิด

ประเด็นน่าเป็นห่วงคือ สารพิษตกค้างจำนวน 17 ชนิดเป็นสารเคมีประเภทดูดซึม ซึ่งการล้างทำความสะอาดผักเพื่อลดปริมาณสารเคมีตกค้างเป็นไปได้ยาก

ใครที่เคยเลือกซื้อผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยความเชื่อว่าปลูกในน้ำย่อมสะอาดและปลอดภัยกว่าปลูกบนดิน จึงควรทำความเข้าใจใหม่ เพราะเอาเข้าจริงมันก็ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหมือนๆ กัน ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรายงานการตรวจสอบผักผลไม้ทั่วไปที่ Thai-PAN เคยทำไว้ช่วงปลายปี 2560 ซึ่งปรากฏผลว่า ร้อยละ 54.4 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ยิ่งตอกย้ำว่า ผักไฮโดรโปนิกส์มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในสัดส่วนสูงกว่าผักทั่วไปที่ปลูกบนดินเสียอีก

พร้อมกันนี้ Thai-PAN ยังตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไนเตรตตกค้างในตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์โดยเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรปด้วย

ไนเตรตทำให้เป็นมะเร็ง? เรื่องที่ยังเถียงกันไม่จบ

ถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจสงสัย…ทำไมต้องสนใจการตกค้างของไนเตรต และทำไมต้องอ้างอิงค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป

Thai-PAN ให้เหตุผลว่า การตกค้างของไนเตรตเกินค่ามาตรฐานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และประเทศไทยยังไม่มีหลักกำหนดระดับการตกค้างของไนเตรตปริมาณสูงสุดในอาหาร

สำหรับประเด็นแรกเป็นข้อถกเถียงกันมานานแล้ว ฝ่ายหนึ่งอธิบายว่า ผักที่มีไนเตรตสะสมอยู่มากเกินไปอาจก่ออันตรายแก่ผู้บริโภค เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายไนเตรตจะเปลี่ยนรูปเป็นไนไตรต์ ซึ่งนอกจากจะรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ ไนไตรต์ยังสามารถทำปฏิกิริยากับเอมีน (amine) ในอาหาร กลายเป็นสารก่อมะเร็งชื่อ ‘ไนโตรซามีน’ (nitrosamine) ด้วย และในผู้ที่ไวต่อสารนี้เป็นพิเศษ ก็จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง หรือปวดศีรษะได้

ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (U.S. EPA) เคยระบุว่า ไนโตรซามีนเป็นต้นเหตุของเนื้องอกในสัตว์ทดลอง

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอธิบายว่า ไนเตรตที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการกินจะเปลี่ยนรูปเป็นไนไตรต์และไนตริกออกไซด์ตามลำดับ ส่วนไนโตรซามีนจะพบได้ในเนื้อสัตว์แปรรูปที่มีไนเตรตและไนไตรต์ความเข้มข้นสูงซึ่งผ่านความร้อนจัด โดยระบุคำประกาศขององค์การอนามัยโลกที่ว่า ทั้งไนเตรตที่อยู่ตามธรรมชาติในอาหารและที่เปลี่ยนเป็นไนไตรต์นั้นไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง

…จึงขอเชิญผู้อ่านศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและใช้วิจารณญาณไตร่ตรองประเด็นถกเถียงนี้กันตามอัธยาศัย

บนหลากความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ผลสำรวจล่าสุดเจออะไร?

ส่วนประเด็นที่สองว่าด้วยค่ามาตรฐานการตกค้างของไนเตรตปริมาณสูงสุดในอาหารนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปริมาณไนเตรตในพืชนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ชนิดพืช อายุ ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ความเข้มแสง ชนิดของปุ๋ยไนโตรเจนที่ให้พืช ฯลฯ

ประเทศเขตอบอุ่นมักพบปริมาณไนเตรตสะสมในพืชช่วงฤดูหนาวสูงกว่าช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพความเข้มแสงน้อยในฤดูหนาวทำให้ไนเตรตระเหยตัวไม่ดีนัก ขณะที่ฤดูร้อนความเข้มแสงมากกว่า ทำให้ไนเตรตระเหยตัวได้ดีกว่า

ด้วยหลักการเดียวกัน พืชผักในประเทศเขตร้อนที่มีดีกรีความเข้มแสงมากมากกว่าประเทศเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว (เนื่องจากแสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวละแวกเส้นศูนย์สูตรเป็นมุมชันกว่าและเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศในระยะทางสั้นกว่า) ก็ควรมีปริมาณไนเตรตสะสมน้อยกว่าด้วย

ถึงขนาดปรากฏข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการเกษตรและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในทำนองสอดคล้องกันว่า การสะสมไนเตรตของพืชผักระบบไฮโดรโปนิกส์ในบ้านเราเกิดขึ้นน้อยกว่า จึงไม่ต้องกังวล และผักไฮโดรโปนิกส์ในแปลงทดลองของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองมีปริมาณไนเตรตน้อยกว่าค่ามาตรฐานด้วยซ้ำ

ทว่าผลตรวจวิเคราะห์ของ Thai-PAN กลับออกมาในทิศทางตรงข้าม นั่นคือ ผักคะน้า ผักกาดฮ่องเต้ ผักโขมแดง และผักบุ้งจีนที่ปลูกแบบไร้ดิน มีไนเตรตตกค้างระหว่าง 2,976-6,019 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

…มากกว่ากลุ่มผักสลัด เช่น ผักเรดคอรัล เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค บัตเตอร์เฮด และฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก ซึ่งมีไนเตรตตกค้างตั้งแต่ 199-2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

…และมากกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรปที่เล็งเห็นว่าไนเตรตเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงระบุให้ผักสดและผลไม้ที่จะนำมาบริโภคต้องมีไนเตรตไม่เกิน 2500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักสด

ไทยควรกำหนดค่ามาตรฐาน หรือให้คนกินผักแบบวัดดวง

จากผลตรวจวิเคราะห์ของ Thai-PAN ก็นำมาซึ่งข้อเสนอ 3 ข้อตั้งแต่เดือนมกราคมให้

1) หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานการตกค้างของไนเตรตในผักไฮโดรโปนิกส์

2) กรมวิชาการเกษตรจัดทำข้อกำหนด ขึ้นทะเบียน และควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์

3) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักไฮโดรโปนิกส์

แต่ผ่านไปแล้วหกเดือน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องรายใดออกมาลงมือแก้ไขหรือวางแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมเลย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนไปพิจารณาผลตรวจสอบของ Thai-PAN โดยละเอียดก็จะพบว่า มีผักไฮโดรโปนิกส์ 8 ตัวอย่างที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมากถึง 20 ตัวอย่าง (กวางตุ้งจีนและผักสลัดเกือบทั้งหมด) ที่มีปริมาณไนเตรตสะสมไม่เกินค่ามาตรฐาน เรื่องนี้สะท้อนว่า การปลูกผักด้วยน้ำผสมปุ๋ยเคมีที่กลุ่มผู้ปลูกนิยมเรียกว่า สาร A สาร B ซึ่งแม้หลักปฏิบัติจะไม่ห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก็ยังพอจะจัดการให้ผลผลิตปลอดภัยสำหรับการบริโภคได้อยู่

แต่ภาวะไร้ข้อกำหนดควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและค่ามาตรฐานการตกค้างของไนเตรตนี่เองที่ทำให้ผู้บริโภคต้องกินผักแบบวัดดวงกันต่อไป

ข้อเสนอของ Thai-PAN จึงเป็นสิ่งควรรับฟังอย่างยิ่ง

Tags: , , ,