กรุงเทพมหานคร ปี 2018 สักช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถนนราชดำเนินทั้งเส้นลากยาวไปจนถึงสนามหลวง แน่นไปด้วยผู้คนแต่งชุดไทยโบราณเดินกันขวักไขว่ ใกล้กันมีรถยนตร์ทันสมัยและหลอดไฟของยุคนี้ บางคนยังมีร่มกระดาษโบราณถือเป็นพร็อพ ส่วนในมืออีกข้างก็ใช้ไอโฟนเอ็กซ์เซลฟี่ไปด้วย การไปอยู่ตรงนั้นจึงไม่ได้ให้ความรู้สึกย้อนยุคแบบหลุดไปในอดีตอย่างหมดจด แต่เหมือนกับว่าเวลาในช่วงอดีตกลับมาโผล่ที่ปัจจุบันอีกครั้งในรูปแบบใหม่เสียมากกว่า
สิ่งนี้เองที่เข้าทำนองของความเป็น Hauntology
มันปรากฏอยู่ในงานของครั้งนี้รัฐอย่างไม่ตั้งใจ แต่ในวงการศิลปะและดนตรี เราสามารถพบเห็น Hauntology ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายครั้งเป็นความตั้งใจของศิลปินที่จะหยิบเอาช่วงเวลาอื่นมาปรุงใหม่ในงานของตน อย่างเช่นซาวด์ดนตรีแบบยุค 80s ที่กลับมาในเพลงป๊อปทั้งในและนอกกระแส เสียงตัดปะย้วยยานของเพลงเก่าในดนตรีเวเปอร์เวฟ (Vaporwave) หนังไซไฟสุดล้ำแต่ก็ดูแสนจะเชยในเวลาเดียวกันเพราะตั้งใจให้พ้องกับหนังไซไฟยุค 70s-80s ที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่น ฯลฯ บางครั้งก็ชวนให้รู้สึกว่างานชิ้นนี้ดำรงอยู่ในปีไหนกันแน่ 2018 หรือเก่ากว่านั้น หรือใหม่กว่านั้น
คำว่า Hauntology ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยนักปรัชญาเจ้าของทฤษฎีรื้อสร้าง ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ในหนังสือปี 1993 ของเขาที่ชื่อ Specters of Marx แดร์ริดานิยาม Hauntology ไว้ว่า คือสภาวะที่ปัจจุบันถูกช่วงเวลาที่ไม่เป็นปัจจุบันกลับมาเยือนอีกครั้งในรูปแบบคล้ายผีหลอกหลอน (haunted) ซึ่งในที่นี้ เขาหมายถึงกรณีที่ลัทธิมาร์กซิสม์และคอมมิวนิสม์ซึ่งตายไปแล้ว กลับมาหลอนโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ทั้งในรูปแบบของบาดแผล ความทรงจำ หรือร่องรอยแนวคิดที่ตกค้างอยู่ ตามชื่อหนังสือ Specters of Marx (ผีแห่งมากซ์)
แดร์ริดานิยาม ‘ช่วงเวลาที่ไม่เป็นปัจจุบัน’ นั้นมีรูปแบบเหมือนผีเนื่องจากมันไม่ได้เป็นปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หายไป (neither present, nor absent) ทั้งเหมือนไม่ได้ตายแต่กระนั้นก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ (neither dead, nor alive)
คงคล้ายกับการแต่งกายด้วยชุดไทย ที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว มันกลับมาสู่ปัจจุบันด้วยเงื่อนไขและรูปแบบใหม่ แต่ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในยุคนี้ได้อย่างถาวร จึงทำให้แต่งกายนี้ไม่ได้อยู่ทั้งในอดีตและไม่ใช่ปัจจุบัน หรืออนาคต เป็นช่วงเวลาที่ถูกนำมาตัดแปะ ไม่ว่าจะโดยกลมกลืนหรือชวนตะขิดตะขวงก็ตาม
และเมื่อเข้าสู่ปี 2000s ทฤษฎีการกลับมาอันย้อนแย้งของอดีตนี้ ก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องแนวคิดทางการเมืองอีกต่อไป มาร์ก ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) นักเขียนและนักทฤษฎีทางวัฒนธรรม ต่อยอดเรื่องนี้ไปอีกในหนังสือของเขาที่ชื่อ Ghosts of My Life: Writings on Depression, Hauntology and Lost Futures โดยเขานำเอาแนวคิดของ Hauntology มาพูดถึงศิลปะ กระแสทางดนตรี รวมถึงวัฒนธรรมป๊อปในศตวรรษที่ 21 และได้เสนอเพิ่มเติมว่า ‘ช่วงเวลาที่ไม่เป็นปัจจุบัน’ ใน Hauntology สามารถแบ่งได้เป็น ช่วงที่ไม่มีอีกแล้ว (no longer) กับ ช่วงที่ยังไม่เกิดขึ้น (not yet) ด้วย
นั่นหมายความว่ามันอาจจะไม่ใช่ผีแห่งอดีตเพียงอย่างเดียวที่กลับมาหลอกหลอนเรา แต่ยังเป็นช่วงเวลาในอนาคตได้ด้วย ซึ่งฟิชเชอร์นิยามว่ามันคือ อนาคตที่หายไป (Lost Futures) และบอกว่า “อนาคตนั้นไม่ใช่แค่ยังมาไม่ถึง แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป” (not only has the future not arrived, it no longer seems possible) พูดได้อีกอย่างว่า Lost Futures เป็นรูปแบบของโลกอนาคตที่คนในอดีตอาจจะเคยจินตนาการถึง พยายามสร้าง แต่ได้ถูกยกเลิกให้หายไปแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยสิ่งต่างๆ จากโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม แนวคิดโพสต์โมเดิร์น หรืออื่นๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนและออกมาสนุกมากๆ ก็เช่นโปรเจคต์ที่เรน แฮง (Ren Hang) ทำร่วมกับแบรนด์ Yat Pit เมื่อปี 2016 ภายใต้แนวคิดที่ว่า “หากประเทศจีนไม่เคยปฏิวัติวัฒนธรรม แฟชั่นในยุคใหม่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร” ซึ่งนี่คือการลองจินตนาการถึง ‘อนาคต’ ที่น่าจะเกิดขึ้น หากในปี 1966 เหมา เจ๋อ ตุง ไม่ได้ทำการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน และบังคับให้ชาวจีนแต่งตัวเรียบทื่อเหมือนกันหมดในชุด Mao Suit อยู่เป็นทศวรรษ และเมื่อประธานเหมาตายลงในปี 1976 วัยรุ่นจีนก็กระโจนเข้าหาวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา แฟชั่นจีนแบบที่ควรจะเป็นในอนาคต (ซึ่งหมายถึงช่วงปี 2000s) จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นแทน
อย่างไรก็ตามคอนเซ็ปต์ของ Hauntology เป็นสิ่งไม่ตายตัว แล้วแต่มุมมองและสามารถนำไปจับกับเรื่องได้หลายหมวด ซึ่งบทความนี้อยากเน้นไปที่เรื่องดนตรีและศิลปะเป็นหลัก ลองมาดูว่าการหลอกหลอนนี้ได้ให้ผลผลิตอะไรกับเราบ้าง
เวเปอร์เวฟ
เวเปอร์เวฟ คือกระแสทางดนตรีรวมไปถึงศิลปะที่เกิดในช่วงปี 2010s ในทางดนตรีมันคือการเอาเพลงจากยุค 80s-90s มากระทำชำเราทางเสียง ทั้งตัดปะ ลูปเสียงวนไปวนมา ทำให้ช้าลง รวมถึงประกอบมันเข้ากับเสียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพลง ทั้งสปอตโฆษณา จิงเกิ้ลรายการข่าว หรือเสียงบรรยากาศต่างๆ ส่วนในแง่ของสุนทรียะด้านอื่นนอกจากเสียงก็คล้ายๆ กัน อย่างเช่นวิชวลที่ประกอบเพลงเวเปอร์เวฟก็มักจะเอาฟุตเทจโฆษณาเก่าหรือหนังเก่าจากม้วนวิดีโอ VSH มาตัดต่อใหม่ บางครั้งผสมดีไซน์จากเทคโนโลยีที่ดูเชยตกยุคอย่างหน้าจอของ Microsoft Window ยุค 90s หรือ ภาพ 3D ที่สร้างโดยโปรแกรมล้าสมัย
ย้อนไปในช่วงปี 80s การวาดฝันถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกรวมถึงสร้างโลกในอุดมคติ ได้เริ่มเผยด้านมืด เมื่อโลกทุนนิยมที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เทคโนโลยีมีราคาที่ต้องจ่าย คนจ่ายไหวเท่านั้นถึงได้ครอบครองความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี สิ่งนี้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีผลกับงานเขียนรวมถึงหนัง ไซไฟหลายเรื่องในยุคนั้น เรียกว่าไซเบอร์พังค์ (cyberpunk) อธิบายคอนเซ็ปต์ง่ายๆก็คือ ชีวิตบัดซบในโลกไฮเทค (low life and high tech) โลกอนาคตแบบไซเบอร์พังค์ได้ถูกทำให้ดาร์กและมืดหม่น
และหากจะพูดในเชิง Hauntology แล้วเวเปอร์เวฟก็คือการหยิบเอา ‘ความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยี’ ของยุค 80s มาเล่นอีกครั้ง แต่ในรูปแบบใหม่ มีสีชมพูสดใสเป็นธีมหลัก บางครั้งเล่นกับเอเลเมนต์ของการ์ตูนญี่ปุ่นใสๆ หยิบเอาเทคโนโลยีเชยๆ มาใช้แบบเฟติช (fetish)
เรโทรฟิวเจอริสติก (Retrofuturistic)
‘โลกอนาคตที่ย้อนยุค’ แค่ความหมายแปลตรงตัว ก็สุดจะย้อนแย้งแล้ว โดยงานสไตล์เรโทรฟิวเจอริสติก มักจะเป็นการจินตนาการถึงเทคโนโลยีล้ำยุคแต่กลับอยู่ในอดีต มันจึงมีลักษณะผิดที่ผิดทาง ทั้งล้ำทั้งเชยในเวลาเดียวกัน เช่นหนังคาวบอยที่มีหุ่นยนต์ หรือหนังไซไฟจากยุค 70s – 80s ก็เป็นภาพที่ชัดเจน แต่การมองหนังเหล่านั้นเป็นเรโทรฟิวเจอริสติกนั้นเพราะเราอยู่ในยุคที่ใหม่กว่า (หากมองด้วยสายตาของยุคนั้นมันก็คือหนังฟิวเจอริสต์นั่นล่ะ)
ด้วยเสน่ห์แปลกๆ หนังสไตล์เรโทรฟิวเจอริสติกจึงถูกนำมาทำใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งจงใจสร้างวิชวลของเทคโนโลยีเชยๆ เหล่านั้นขึ้นมาใหม่อีกทีด้วยมุมมองของยุคนี้ ตัวอย่างที่เห็นภาพมากคือหนังสั้น KUNG FURY ปี 2015 ที่พาเราย้อนไปสู่ไมอามี่ปี 1985 ในฉากเปิด
ไม่ใช่แค่การเป็นหนังย้อนยุค แต่หนังเรื่องนี้ยังนับเป็น Hauntology ในหลายมิติมาก ด้วยความตั้งใจทริบิวท์กลิ่นอายของหนังยุค 80s ที่เอามายำใหม่ให้สะใจแบบไม่ยั้งมือ ความไซไฟหลายอย่างในหนังตั้งใจออกแบบให้มันเชย (ที่โดดเด่นเลยคือไทม์แมชชีนรูปร่างเป็น คอมตู้เก่าๆ หน้าจอ 8 bit) แต่เมื่อผสมคอมพิวเตอร์กราฟิกยุคมิลลิเนี่ยม เลยทำให้ความหมกหมุ่นกับอดีตของหนังออกมาดูล้ำจนสร้างรสชาติแปลกใหม่
เทคโนโลยีทางภาพของปี 2015 ได้ปลุกผีของจริตหนัง 80s ที่ตายไปแล้วกลับมาสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ หรืออาจจะมองได้อีกอย่างว่าหนังเรื่องนี้ก็เป็น Lost Futures ของหนังไซไฟยุค 80s ได้ด้วยเหมือนกัน
Alternate timeline that never happened
ยูทูบเบอร์แอนโทนี แฟนทาโน (Anthony Fantano) นักวิจารณ์ดนตรีเจ้าของแชแนล theneedledrop เคยพูดถึงแอเรียล พิงค์ (Ariel Pink) หนึ่งในศิลปินหัวหอกของดนตรีแนว Hypnagogic pop ว่างานของเขาเหมือนเพลงป๊อปจากยุคที่ไม่เคยเกิดขึ้น (alternate pop timeline that never happened) ดนตรีของแอเรียล พิงค์ มีความ lo-fi เหมือนอัดเสียงเองที่บ้าน และมักจะใช้เครื่องมือบันทึกเสียงแบบเก่าๆ รวมถึงสไตล์คล้ายกับเพลงยุคเก่าที่ถูกเอามายำรวมกันอย่างแปลกประหลาด
ซึ่งคำว่า hypnagogic หมายถึง ภาวะช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น ก็ดูจะเชื่อมโยงกับ hauntology ในแง่ที่มันเป็นช่วงเวลาที่ระบุแน่ชัดไม่ได้เหมือนๆ กัน
และในหนังสือ Ghosts of My Life: Writings on Depression, Hauntology and Lost Futures ฟิชเชอร์ยังเพิ่มเติมว่าศิลปินในหมวด Hauntology มักจะหมกหมุ่นกับเทคโนโลยีในฐานะอุปกรณ์ที่ทำให้ความทรงจำเป็นรูปร่าง รวมถึงโรแมนติไซส์ความพังทลายของเทคโนโลยีเหล่านั้นออกมา เช่น ศิลปินไทย อย่าง Polycat อัลบั้ม 80 Kisses ที่เพลงถูกทำให้เหมือนเกิดขึ้นในยุค 80s ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ยิ่งเล่นกับฟอร์แมทอย่างการออกเทปคาสเซ็ทและแผ่นเสียงไวนิล ซึ่งเป็นเหมือนเทคโนโลยีที่เป็นตัวแทนความทรงจำของยุคก่อน
หรือศิลปินอิเล็กทรอนิกส์อย่างวันโอทริกซ์ พอยนท์ เนฟเวอร์ (Oneohtrix Point Never) ที่ในอัลบั้มแรกๆ ก็ใช้ซาวด์จากเครื่องดนตรีซินธิไซเซอร์ยุค 80s มาทำเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีนิว เอจ (New Age) และแอมเบียนท์ หรืออย่างเบเรียล (Burial) ศิลปินที่เอากลิ่นอายของดนตรีเรฟ (Rave) ยุค 80s – 90s กลับมาใหม่ บิดมันจนกลายเป็นดนตรีเต้นรำมืดหม่นแสนเศร้าเหมือนเปิดในผับร้างให้ผีเต้น และก็มักจะได้ยินความร่องรอยยุคของเทคโนยีในงานของพวกเขาด้วย เช่นเสียงนอยส์จากอุปกรณ์เก่าๆ หรือ เสียงแผ่นไวนิลสะดุด (Vinyl Crackle)
ศิลปินเหล่านี้ทำให้รู้สึกเหมือนว่าในโลกคู่ขนานที่เวลาเดินไปในอีกทิศทาง มียุคที่เสียงดนตรีเหล่านี้มีชีวิตโลดแล่น ทั้งที่ในความเป็นจริงช่วงเวลาเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีวันจะเกิดขึ้น ผลพวงอีกอย่างของงาน Hauntology จึงเป็นการสร้างตัวตนลางๆ ให้ ‘ช่วงเวลาอันไม่เป็นปัจจุบัน’ ราวกับว่ามันเคยเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่จริงๆ แต่เปล่าเลย
อ้างอิง
หนังสือ (ibook): Ghosts of My Life: Writings on Depression, Hauntology and Lost Futures and lost futures เขียนโดย Mark Fisher
คอลัมน์ Anywear นิตยสาร giraffe ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 โดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
https://www.youtube.com/watch?v=nsWk9y-nKOc
https://www.fungjaizine.com/article/guru/vaporwave
https://en.wikipedia.org/wiki/Cyberpunk
https://en.wikipedia.org/wiki/Hauntology
https://en.wikipedia.org/wiki/Specters_of_Marx
https://www.youtube.com/watch?v=Hlx4ONMtRFY
https://www.youtube.com/watch?v=Bxz6jShW-3E
Tags: Music, pop culture, hauntology, retrofuturistic