1
วันที่ 22 พฤษภาคม 1981 ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ขณะนั้นประเทศเพิ่งผ่านช่วงวิกฤตกับการรัฐประหารที่ล้มเหลวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ หลังนายทหารบุกยึดรัฐสภาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย เป็นโชคดีของคนสเปนที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ประเทศยังอยู่ในความบอบช้ำและตกตะลึง ชัยชนะของประชาชนยังคงน่าจับตามองว่าจะไปรอดหรือไม่ ท่ามกลางความหวั่นใจ เช้าวันที่ 22 พฤษภาคม คนร้ายจำนวน 11 ราย ใส่หน้ากาก พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในธนาคารกลางบาร์เซโลนา เพื่อก่อเหตุปล้นและจับตัวประกันหลายสิบคนไว้ พร้อมยื่นข้อเสนออันน่าสะพรึง
นั่นก็คือ พวกเขาต้องการให้ทางการเตรียมเครื่องบินไว้ให้หลบหนีไปต่างประเทศ รวมถึงต้องปล่อยตัวหัวหน้าคณะรัฐประหารในทันที มิฉะนั้นจะยิงตัวประกันตายทุกชั่วโมง จนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุผล
การรัฐประหารที่สั่นคลอนสังคมสเปนผ่านไปไม่ถึง 3 เดือน ก็เกิดเหตุให้ต้องย้อนรำลึกอีกครา แผลยังคงสดใหม่ เรื่องราวยังไม่ได้รับการชำระ คำถามมากมายยังวนเวียนในสังคม บัดนี้มีโจรปล้นธนาคารขุดประวัติศาสตร์อัปยศขึ้นอีกครั้ง
ทำไมต้องเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกกบฏด้วย
อาชญากรที่อยู่ในธนาคารบาร์เซโลนาเป็นใคร พวกเขายื่นเงื่อนไขนี้มาเพื่อสิ่งใดกันแน่
ทุกอย่างย้อนกลับไปในเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1981 อีกครั้ง
2
ในเวลา 18.23 น. ของวันดังกล่าว ที่รัฐสภา นายทหารพร้อมลูกน้องจำนวน 200 นาย สังกัดกองกำลังพิทักษ์พลเรือนซึ่งเป็นหน่วยพลร่ม ถืออาวุธเข้ามาขัดขวางการประชุม ส.ส.แล้วจับตัวนักการเมือง 350 คนไว้เป็นตัวประกัน
เสียงปืนดังสนั่น โทรทัศน์ถ่ายทอดสดนาทีอื้อฉาว ช่างภาพรัวชัตเตอร์
คนทั้งสเปน ไม่ใช่สิ! ทั่วโลกได้เห็นภาพ พันโท อันโตนิโอ เทเฮโร (Antonio Tejero) ควักปืนออกมา ยืนตรงแท่นประชุม ก่อนกล่าววาทะอันโด่งดังว่า “ทุกคน อย่าขยับ”
ความวุ่นวายเกิดขึ้น สเปนในเวลานั้นเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หลังการสิ้นสุดชีวิตของ จอมพล ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ที่ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการมายาวนานตั้งแต่ปี 1939-1975 อันเป็นปีที่เขาตายคาอำนาจ
ก่อนฟรังโกตาย เขารื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ พลันที่จากโลกเหล่าลูกน้องของท่านผู้นำยอมเปลี่ยนผ่านพาประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือน แต่ยังควบคุมอำนาจแบบเข้มงวด ไม่เปลี่ยนผ่าน หรือยกประเทศให้พวกฝ่ายซ้าย ซึ่งฟรังโกเกลียดชังและเคยบดขยี้จนราบคาบมาตลอดชีวิต
สมุนเหล่านี้เป็นรัฐซ้อนอยู่ในรัฐประชาธิปไตยของสเปน เรียกว่า ‘รัฐเร้นลึก’ (Deep State) จับตาดูความเป็นไปของประเทศแบบใกล้ชิด พยายามสานต่อมรดกฟรังโก ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากอดีต
อย่างไรก็ดีปัจจุบันและอนาคตเป็นสายลมพัดโหมกระหน่ำสเปน ความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรม มันทำให้รัฐเร้นลึกหวาดผวา จนต้องพยายามโจมตีระบอบประชาธิปไตยว่า ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดการคอร์รัปชัน จนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ได้ฤกษ์ดี ปลุกทหารถือปืนรวมตัว ลงมือรัฐประหาร บุกยึดรัฐสภาแบบอุกอาจ เป็นข่าวใหญ่ไปทั้งโลก
แต่ช่วงเวลานั้น สังคมสเปนเปลี่ยนไปมาก คนไม่ยอมจำนน สื่อมวลชนที่ทราบข่าว ต่างรีบนำเสนอ โดยไม่ต้องประชุม ฉันทมติของนักข่าวเกิดขึ้น
“เราต้องต่อต้านรัฐประหารนี้”
ฝูงชนออกมารวมตัว หนังสือพิมพ์ถูกตีพิมพ์เป็นวาระพิเศษย้ำเตือนสังคมว่า ไม่เอาอำนาจเถื่อนของทหาร พอกันทีกับระบบเผด็จการ
มวลชนออกมาเป็นเกราะกำบังให้กับระบอบประชาธิปไตยสเปนที่กำลังตั้งไข่ ทุกพรรคการเมือง แม้จะต่างความคิด แต่ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เคารพเสียงของราษฎร ยิ่งสื่อตอกย้ำนำเสนอไม่เอาการรัฐประหาร
ประวัติศาสตร์ใหม่ก็ก่อกำเนิดขึ้น
เวลา 01.15 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1981 กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส (Juan Carlos I) ทรงชุดทหารเต็มยศ แล้วออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พร้อมเผยแพร่พระราชดำรัสว่า “ไม่อาจทนต่อการกระทำใดๆ ที่แทรกแซงรัฐธรรมนูญ อันได้รับความเห็นชอบจากประชาชนสเปนได้”
นี่คือวาทะสำคัญ พลันที่พระองค์แสดงบทบาทนี้เป็นอันว่า การรัฐประหารก็บ้อท่า คณะนายพลเดินทางไปพบเหล่ากบฏ เน้นย้ำให้วางอาวุธมอบตัว แล้วคืนสภาให้กับนักการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน
พันโทเทเฮโรน้อมรับความพ่ายแพ้ เมื่อองคาพยพทางสังคมทุกภาคส่วน ไม่เห็นด้วยการกระทำของเขา ก็ได้เวลาล้มเลิกความตั้งใจ 19 นายทหารทั้งจากทัพบก ทัพเรือ และหน่วยพิทักษ์พลเรือนถูกจับ
พันโทเทเฮโรปฏิเสธข้อเสนอที่จะถูกพาตัวออกนอกประเทศ แต่ขอร้องให้รัฐบาลละเว้นการลงโทษทหารชั้นประทวน ทางผู้พันบอกกับลูกน้องก่อนถูกคุมตัวว่า “พวกแกไปกันได้แล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก แต่ข้านะคงจะติดคุกยาว 30-40 ปีแน่”
การรอมชอมแบบชนชั้นนำสเปนเกิดขึ้น แม้จะมีความพยายามเรียกร้องให้เปิดการสอบสวน หาว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่
แต่ทุกอย่างเงียบกริบ เลิกแล้วต่อกัน นายทหารที่ก่อกบฏ พันโทเทเฮโรพร้อมพวกรวมกันไม่กี่รายโดนคุมตัวเข้าคุก ไม่ถูกประหารชีวิต
เพราะจัดการกันอย่างลวกๆ จึงเกิดมีเสียงร่ำลือว่า มีผู้กองรายหนึ่งที่ร่วมก่อรัฐประหารเดินทางออกจากสภาหลังได้กลิ่นความพ่ายแพ้ ก่อนนำเอกสารปริศนาติดมือไปเก็บไว้ในตู้เซฟธนาคารเมืองบาร์เซโลนา แล้วหนีออกนอกประเทศไป
ผ่านไปหลายเดือน ธนาคารแห่งนี้ถูกปล้นโดยกลุ่มคนร้าย ที่ยื่นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้พันเทเฮโรนั่นเอง
3
ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ปล้นธนาคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่พิจารณาว่า ผู้ก่อเหตุชุดนี้เป็นพวกเดียวกับคณะรัฐประหาร หรือแค่ต้องการเล่นใหญ่ เบี่ยงเบนประเด็นแรงจูงใจจริงๆ หลังจากถกเถียงกันสักพัก ทุกคนก็สรุปว่า
หากอยากรู้คำตอบที่แท้จริง ก็ต้องติดต่อไปยังผู้พันเทเฮโรที่ติดคุกอยู่ในเรือนจำ
หัวหน้ากบฏได้รับแจ้งข่าวโจรปล้นธนาคาร ยื่นข้อเสนอให้ปล่อยตัวเขา ทำเอาอดีตพันโทมึนงง ก่อนปฏิเสธ ไม่ขอออกไปจากคุกโดยเด็ดขาด เพราะไม่รู้จักหรือรู้เรื่องว่าจะมีการก่อเหตุลักษณะนี้
พลันที่ได้รับคำตอบนี้ ทางการก็โล่งอก คนร้ายไม่ใช่พวกขวาจัด แค่โจรปล้นธนาคารเท่านั้น หลังจากประเมินทุกอย่างกินเวลา 37 ชั่วโมง หน่วยปฏิบัติการพิเศษก็ตัดสินใจบุกเข้าอาคารของธนาคาร กระสุนเป่าโจรตายบนหลังคาไป 1 ศพ กินเวลาไม่นานก็รวบตัวผู้ก่อเหตุได้เกือบทั้งหมด (ต่อมาพบว่า มีอาชญากรหนีไปได้ 1 ราย)
ผลงานครั้งนี้เกินคาด ไม่มีตัวประกันได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สถานการณ์คลี่คลาย หัวโจกก่อเหตุ โดนจับกุมตัวไว้ได้ นามของเขาคือ โฮเซ ฮวน มาร์ติเนซ (Jose Juan Martinez) โจรปล้นทรัพย์ที่มีความหมกมุ่นในลัทธิอนาธิปไตย
สังคมโล่งใจ นี่ไม่ใช่การกระทำของพวกขวาจัด หรือซากเดนสาวกท่านผู้นำฟรังโก
เป็นแค่โจรกระจอกเท่านั้น
แต่ทุกอย่างเป็นความจริงดังที่เห็นหรือ
4
มาร์ติเนซเป็นโจรตั้งแต่เด็กหนุ่ม เขาปล้นร้านขายอัญมณี 2 ครั้ง โดนจับติดคุกทหาร ในยุคฟรังโกครองเมือง อาชญากรต้องถูกดัดสันดานนิสัย ภายใต้การฝึกของกองทัพแบบเข้มงวด ตามประวัติเขาโดนดึงเข้าร่วมหน่วยพิเศษ มีหน้าที่จัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง ใครต้านท่านผู้นำต้องโดนกำราบเรียบ จนถูกสั่งให้ยุบสลายตัวไปในที่สุด
นี่ทำให้มาร์ติเนซตกงานและกลับสู่สันดานเดิม ออกปล้นไปทั่วจนโดนจับกุมติดคุก ก่อนสนใจประวัติศาสตร์พวกอนาธิปไตย เมื่อพ้นโทษก็ไปอยู่กับกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่างแดน ก่อเหตุอลหม่านนับไม่ถ้วนจนโดนจับติดคุก
พอออกคุก ก็ยังไม่ละนิสัยเดิม และเขาคือผู้รวบรวมสมาชิกสหายทั้งหลาย ก่อเหตุปล้นธนาคาร
ตอนถูกคุมตัว สื่อและตำรวจสเปนโหมกระหน่ำข่าวยืนยันว่า ชายคนนี้ก่อเหตุเพราะแรงจูงใจทางการเงิน อยากได้เงินนับร้อยล้านจะได้สุขสบาย แต่แล้วทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เขายื่นข้อเสนอเรียกร้องปล่อยตัวกบฏ เพราะต้องการประวิงเวลา ขุดกำแพงแบงก์ให้ทะลุไปยังท่อระบายน้ำ จะได้หนีอย่างสบายๆ แต่เจาะไม่สำเร็จ
และเมื่อทางการไม่หลงเชื่อทำตามเงื่อนไข การหลอกว่าเป็นฝ่ายขวาจัดล้มเหลว ในที่สุดเลยโดนจับกุมตัว เงินก็ไม่ได้ เพื่อนก็ตาย คุกก็ติด
เป็นโจรกระจอกยิ่งนัก
อย่างไรก็ดีช่วงแรกของการจับกุม มาร์ติเนซอ้างว่า เขาไม่ได้จะก่อเหตุปล้นเอาเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีคนรู้จักในช่วงรับงานผิดกฎหมายให้กับรัฐ ได้ร้องขอให้ชายหนุ่มรวบรวมสมัครพรรคพวก เข้าปล้นธนาคาร เพื่อเอาเอกสารชิ้นหนึ่งที่อยู่ในตู้เซฟออกมา
ค่าจ้างงดงามเพราะเงินในแบงก์มีถึง 600 กว่าล้านเปเซตาสเปน หากก่อเหตุสำเร็จก็แทบอยู่สบายไปชั่วชีวิต ดังนั้นโจรหนุ่มจึงรับทำ
เมื่อเขาส่งมอบเอกสารให้บุรุษรายหนึ่งเสร็จ ก็เตรียมจะขนเงินหนี ก่อนจะพบว่าตัวเองถูกหักหลัง เพราะแผนผังของตึกที่บอกให้เจาะผนังทะลุลงท่อระบายน้ำไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเจาะไม่ได้ ซึ่งแผนผังที่เขาได้มาให้ข้อมูลผิด และมันถูกส่งมอบจากชายที่จ้างเขาให้ไปเอาเอกสารดังกล่าวมา
นี่ทำให้เหล่าอาชญากร ไม่อาจหนีออกจากธนาคารได้เลย และพวกเขาอาจโดนฆ่าปิดปากโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อไม่ให้ใครสาวไปถึงจุดประสงค์แรกของการมาที่แบงก์แห่งนี้ นั่นก็คือการมาเอาเอกสารบางอย่าง โดยใช้การปล้นบังหน้า
โชคดีที่สื่อเกาะติดเหตุการณ์แบบเข้มข้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าวิสามัญมั่วๆ เพราะกลัวตัวประกันตาย ทำให้อาชญากรยังมีชีวิตรอด
ออกมาแฉเรื่องทั้งหมดได้
5
อย่างไรก็ดีคำให้การของมาร์ติเนซไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่พยายามทำให้เรื่องเงียบ สื่อไม่สนใจ คิดว่าเขาโกหก เพราะตลอดชีวิตโจรรายนี้ เป็นอาชญากรโดยสันดาน เขาต้องการเบี่ยงประเด็น ให้คนหลงเชื่อว่าเขาถูกหลอก ไม่ได้ตั้งใจมาปล้น
หากพิจารณาทฤษฎีของเขาอย่างละเอียดก็พบความน่าสงสัย ทำไมผู้กองที่ร่วมก่อเหตุรัฐประหาร จะต้องเดินทางออกจากรัฐสภามายังบาร์เซโลนา แล้วเอาเอกสารไปเก็บไว้ที่นี่ แทนที่จะทำลายทิ้งหรือนำติดตัวออกไปต่างแดน
ที่สำคัญมาร์ติเนซเป็นมิจฉาชีพขนานแท้ เพราะหลังพ้นโทษคดีปล้น เจ้าตัวยังวกกลับที่ธนาคารแห่งนี้ เพื่อไปเอาเงินสดที่ซ่อนไว้ในแบงก์ดังกล่าวด้วย
ดังนั้นข้อมูลที่เขาบอกว่า รับงานมาก่อเหตุ ไม่น่าจะเป็นความจริง
กระนั้นสังคมก็ยังสงสัย เอกสารที่อยู่ในตู้เซฟคืออะไร
มาร์ติเนซยอมรับว่า ได้เปิดอ่านเอกสารนั้น แล้วยืนยันว่า มันเป็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร
นั่นหมายความว่า การก่อเหตุเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1981 ไม่ใช่การกระทำของนายทหารระดับผู้พัน หรือทำกันแค่กลุ่มเล็กๆ
แต่มันเป็นขบวนการใหญ่ มีผู้อยู่เบื้องหลัง มีการวางแผน จัดตั้งรัฐบาลโดยมิชอบธรรม ซึ่งมีรัฐเร้นลึกร่วมหนุนหลัง เพราะรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้น หากรัฐประหารสำเร็จ มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย บางคนเป็นนายพลอยู่ในตำแหน่งข้าราชการระดับสูง เกี่ยวกับกองทัพ เกี่ยวพันท่านผู้นำฟรังโกด้วย
หากเอกสารดังกล่าวเผยแพร่ออกไปสะเทือนกันหลายคนแน่
บางทีพวกกบฏต้องการเก็บเอกสารนี้ไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ถูกจำคุกสถานเบา ไม่โดนเช็กบิลอย่างรุนแรง เพราะไม่อย่างนั้นจะแฉว่า ใครอยู่เบื้องหลังกันบ้าง
กระดาษชุดนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ร่วมก่อเหตุซึ่งไม่เผยตัว อยากได้มันมากจะได้ทำลาย แล้วทำให้พวกเขารอดพ้นมลทินนี้ แล้วทำตัวรุ่งโรจน์ต่อไปในระบอบประชาธิปไตยสเปนใหม่
อย่างไรก็ดีผู้กองที่ถูกกล่าวหาว่า เก็บเอกสารไว้ในตู้ ยืนยันหลังผ่านการรัฐประหารที่ล้มเหลว หลายปีผันผ่าน เจ้าตัวหนีไปต่างประเทศ ก่อนกลับมาสเปน และกล่าวอย่างมั่นใจต่อนักข่าวว่า ไม่มีเอกสารดังกล่าว
แต่ทุกอย่างเป็นความจริงหรือ
เพราะดูเหมือนในช่วงแรกแห่งการก่อรัฐประหาร ชนชั้นนำสเปนจะมีเอี่ยวกันหมด แต่ใช้ผู้พันเทเฮโรลงมือเป็นฉากหน้า ทว่าพลันที่กระแสสังคมต่อต้าน สื่อคัดค้าน ประชาชนไม่เอาด้วย
จึงเกิดการเปลี่ยนข้าง
หักหลังกันอย่างฉับพลัน
ข้อสงสัยนี้ได้รับการยืนยันในอีกหลายปีผันผ่าน จากปากคำของพันโทเทเฮโรซึ่งติดคุกอยู่แค่ 15 ปี จากโทษ 30 ปี และยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน
แม้จะแก่เฒ่า แต่เขายังคงจำทุกอย่างได้ดี เจ้าตัวให้สัมภาษณ์กับนักข่าวส่อนัยบางอย่างที่น่าสนใจถึงเรื่องราวในวันนั้นว่า “ผมลงมือในฐานะคนสเปนที่รักชาติ แต่กลับต้องชดใช้ในสิ่งที่ไม่ควรต้องโดน”
นักข่าวยิงคำถามต่อถึงสาเหตุที่รัฐประหารในวันนั้นจบลงที่ความล้มเหลว พันโทเทเฮโรในวัยชรากล่าวอย่างเรียบง่ายว่า “มีบางคนทรยศเรา”
ส่วนจะเป็นใครนั้น
อดีตกบฏไม่ได้พูดชื่อออกมาตรงๆ บอกเพียงแต่ว่า
“ประวัติศาสตร์จะเป็นคนตัดสินเรื่องราวนี้เอง”
ข้อมูลอ้างอิง
https://english.elpais.com/elpais/2016/02/22/inenglish/1456156342_983508.html
https://english.elpais.com/elpais/2014/03/24/inenglish/1395679762_954776.html
https://www.theguardian.com/world/1981/feb/23/spain.fromthearchive
https://www.nytimes.com/2006/02/23/world/europe/spain-takes-a-proud-look-back-at-failed-coup.html
https://dmtalkies.com/bank-under-siege-true-story-netflix-2024/
https://dmtalkies.com/real-life-jose-juan-martinez-gomez-bank-under-siege-2024/
https://english.elpais.com/elpais/2011/02/24/inenglish/1298528443_850210.html
สามารถติดตามเรื่องราวของโจรปล้นธนาคารได้ทางภาพยนตร์ Bank Under Siege ใน NetFlix
Fact Box
สามารถติดตามเรื่องราวของโจรปล้นธนาคารได้ทางภาพยนตร์ Bank Under Siege ใน Netflix