1
“ฆาตกรอาจอาศัยอยู่ข้างห้องคุณได้”
ปี 1940 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังระอุ กองทัพนาซีเยอรมันรุกรานยึดฝรั่งเศส อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำสูงสุดไปเดินเล่นชมหอไอเฟลอย่างอหังการ อังกฤษเพิ่งสร้างปาฏิหาริย์ย้ายกองทัพที่ย่อยยับกลับแผ่นดินเกิดอย่างน่าอดสู
ช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกายังไม่เข้าร่วมสงคราม กองทัพนาซีเยอรมัน เกณฑ์ทหารไปรบในหลายพื้นที่ ผู้ชายหายไปจากเมือง ผู้หญิงต้องพักอุดมการณ์นาซีที่ปลูกฝังให้พวกเธอเป็นแม่บ้านกับมารดาไว้ก่อน แล้วมาเป็นกรรมกรในโรงงานเพื่อผลิตอาวุธ
ปีดังกล่าว เบอร์ลิน เมืองหลวงที่นาซีหวังจะให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 อันรุ่งโรจน์ กลับถูกสั่นสะเทือนสะพรึงขวัญไปด้วยข่าวลือที่แพร่หลายไปในหมู่หญิงสาวที่ต้องนั่งรถไฟกลับบ้านตอนดึกๆ
ถ้อยความที่กระซิบบอกต่ออย่างเบาบางแต่หนักแน่นคือ มีฆาตกรไล่ฆ่าพวกเธออยู่ในเมืองแห่งนี้
ทุกคนหวาดผวา ความกลัวแล่นพล่านไปทั่วเบอร์ลิน ปากต่อปากนำไปสู่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง แต่สื่อไม่สามารถนำเสนอข่าวได้ เพราะไม่มีเสรีภาพให้นำเสนอ นอกจากต้องขออนุญาตจากนาซี ซึ่งพวกมันก็ไม่ต้องการให้ทหารหาญเสียสมาธิจากการทำศึก แล้วมาห่วงใยมิตรสหายครอบครัวแนวหลังว่า ในบ้านเกิด เมืองเบอร์ลินอันสวยงาม มีนักฆ่าสุดหฤโหดไล่ทำร้ายคน โดยเฉพาะผู้หญิงอยู่
นั่นจึงนำไปสู่การปิดข่าว
ด้านตำรวจก็เงียบกริบ พวกเขาเอาเวลาทั้งหมดไปรับใช้นาซี โดยการไล่ล่าจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง
ประเทศนี้ อาชญากรทางความคิด อันตรายกว่าฆาตกรสุดโหด
หน่วยงานทางสังคมทุกอย่างเป็นอัมพาต ไม่มีใครคิดจัดการปัญหานี้ ผู้คนต้องมาเตือนให้ระวังตัวกันเอง
พ่อค้าเนื้อคนหนึ่งรับรู้เรื่องราวข่าวลือนี้อย่างสะพรึง เขาเขียนข้อความเตือนให้ระวังนักฆ่าคนนี้ลงกระดาษ แล้วแปะไว้ที่หน้าต่างห้องพัก เผื่อใครมองเห็นจะได้รับรู้เรื่องราวนี้
ชายคนหนึ่งเห็นข้อความดังกล่าว จึงแวะมาคุยกับพ่อค้าเนื้อ ถามไถ่ว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร
“ฆาตกรอาจอาศัยอยู่ข้างห้องคุณได้”
พ่อค้าเนื้อเตือนชายคนดังกล่าวที่แต่งชุดพนักงานรถไฟ
บันทึกประวัติศาสตร์ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ชายคนนี้พูดอะไรต่อหรือไม่ แต่พ่อค้าเนื้อจะได้รับรู้ในอีก 1 ปีต่อมาว่า
เขากำลังคุยกับฆาตกร ที่ตัวเองได้เขียนเตือนไว้ในกระดาษนั่นเอง
2
วิลเฮล์ม ลุดเกอ (Wilhelm Lüdtke) เป็นนายตำรวจมากประสบการณ์ ของหน่วยปราบปรามอาชญากรร้ายแรงในเมืองเบอร์ลิน อย่างไรก็ดีหน้าที่ของหน่วยนี้ คือการไล่จับคนเห็นต่างพรรคนาซี พวกเขาไม่ได้จับคนร้ายคดีอาญาโทษสูงมากนัก แต่ทำงานตามคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการเสียมากกว่า
เดิมทีลุดเกอ ไม่ได้นิยมนาซีเลย เขาฝักใฝ่พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งถูกรัฐบาลโดยฮิตเลอร์กับพรรคพวกกล่าวหาว่าเป็นของกลุ่มคนยิวและพวกนักวิชาการ ก่อนโดนสั่งยุบพรรคไป ดังนั้นเพื่อความก้าวหน้าและเอาตัวรอดในหน้าที่การงานตำรวจ ลุดเกอจึงต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคนาซี เพื่อแสดงความภักดีต่อรัฐกับฮิตเลอร์
และเพื่อความปลอดภัยของตัวเองด้วย
ในปี 1940 ลุดเกอไม่โดนกวาดล้างอุ้มฆ่า ยังทำงานสืบสวนคดีต่อ ตอนนั้นเองเขาได้ข้อมูลว่า กรุงเบอร์ลินมีฆาตกรคนหนึ่งไล่ทำร้าย ข่มขืนผู้หญิง บางรายถูกทุบตีระหว่างนั่งรถไฟชั้น 2 อย่างทารุณ แล้วโดนโยนออกจากรถขณะวิ่งอยู่
บางรายถูกข่มขืน คุกคามทางเพศ ทางตำรวจท้องที่คิดว่าหญิงสาวเมาแล้วแต่งเรื่อง ไม่งั้นก็โดนสามีซ้อม แล้วโกหกเจ้าหน้าที่ จึงไม่ได้สืบคดีต่อ คาดกันว่ามีเหยื่อถูกกระทำแบบนั้นหลายสิบรายด้วยกัน แต่ตัวเลขไม่แน่ชัด โดยระหว่างนั้นก็มีหญิงสาวถูกฆ่า อยู่ตามรางรถไฟหลายคนด้วยกัน
ทีแรกพรรคนาซีสั่งย้ำห้ามสื่อนำเสนอข่าวนี้ และเชื่อว่าคนร้ายในคดีนี้ คือพวกยิว หรือไม่ก็แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลเผด็จการของฮิตเลอร์เกลียดชังมากๆ จึงใส่ร้ายไปโดยไม่มีหลักฐาน เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนเยอรมันชาติอารยันผู้ยิ่งใหญ่ ไม่น่าจะมาก่อเหตุโสมมแบบนี้ได้
แม้รัฐบาลจะสั่งปิดข่าว แต่เมื่อมีเหยื่อผู้หญิงถูกก่อเหตุมากขึ้น รัฐบาลก็ไม่อาจนิ่งเฉยได้ พวกเขาต้องการให้สังคมสงบราบคาบ เพื่อให้การทำสงครามรุกรานเป็นไปได้ด้วยดี ช่วงเวลานั้นฮิตเลอร์และพลพรรคกำลังวางแผนการสำคัญในการบุกสหภาพโซเวียต จึงต้องเร่งดำเนินการเกณฑ์ไพร่พลเตรียมพร้อมให้ดีเยี่ยม
นี่เองจึงมีคำสั่งให้หน่วยปราบปรามอาชญากรร้ายแรงเร่งจับกุมคนร้ายรายนี้ให้ได้ ถ้าเจอก็รวบมาได้เลย โดยไม่ต้องมีการขอหมายศาล ใช้อาญาเถื่อนจัดการได้โดยพลัน
และนั่นทำให้ลุดเกอต้องเข้ามาสืบคดีนี้ ทีแรกเขาสั่งการให้ตำรวจท้องที่รายงานคดีที่พบตามรางรถไฟมาทั้งหมด แล้วใช้ทีมงานนั่งแยกแยะว่าคดีไหนคือฝีมือนักฆ่ารายนี้
ถึงจุดนี้ นายตำรวจฝีมือดีเชื่อว่าคนร้ายอาจจะเป็นพนักงานรถไฟ ซึ่งในกรุงเบอร์ลินมีจำนวนกว่า 5 พันคน ทางการเริ่มด้วยการไล่สอบปากคำทั้งหมด เพื่อตัดคนไม่เกี่ยวข้องออกไป
อีกทางหนึ่ง พวกเขาไล่ดูคดีที่เกิดขึ้นรอบรางรถไฟในเมืองหลวงทั้งหมด จนแยกแยะออกมาได้ว่า นักฆ่าคนนี้จะใช้อาวุธเป็นสายเคเบิล ฟาดเหยื่อผู้หญิงอย่างรุนแรง ก่อนจะลงมือข่มขืนแล้วฆ่า โดยการโยนลงจากรถ
แม้จะแยกแยะได้ แต่ก็ไม่อาจจับกุมคนร้ายได้ทันที แม้จะตั้งรางวัลนำจับ แต่ก็ไม่มีเบาะแสเป็นประโยชน์เข้ามาเลย แม้ตำรวจจะส่งสายสืบ แฝงตัวในขบวนรถไฟ เพื่อคุ้มครองหญิงสาวที่ส่วนใหญ่จะเลิกกะจากโรงงานผลิตอาวุธกลับบ้าน แต่ก็ไม่อาจจับนักฆ่าคนนี้ได้
มิหนำซ้ำ ยังมีเหยื่อถูกทำร้ายและฆ่าอย่างต่อเนื่อง
ลุดเกอเริ่มปักหมุด จุดที่พบเหยื่อและพบศพ ระหว่างนั้นเขาปล่อยข่าวในหมู่พนักงานรถไฟว่า การสอบปากคำเสร็จสิ้นแล้ว และไม่พบว่าใครเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งความจริงตำรวจยังคงไล่สอบปากคำ ตรวจประวัติอยู่ แต่ที่ต้องปล่อยข่าวเท็จ เพราะในช่วงที่กำลังสอบปากคำพนักงานรถไฟนั้น ฆาตกรรายนี้หยุดฆ่าไปเสียดื้อๆ คาดว่าน่าจะกลัวโดนจับได้
ทางการจึงเชื่อว่าหากปล่อยข่าวลวงไปแบบนี้ ฆาตกรน่าจะกลับมาก่อเหตุ และถูกจับในที่สุด อย่างไรก็ดี ตำรวจไม่อาจจับใครได้ และมีหญิงสาวถูกฆ่ามากขึ้น
ลุดเกอยอมรับว่า การตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้เขามือเปื้อนเลือดไปด้วย
จากวันเป็นอาทิตย์ จากเดือนสู่อีกเดือน ล่วงเลยเป็นปี คราวนี้สื่อหนังสือพิมพ์เริ่มนำเสนอข่าวเพื่อกดดันตำรวจ โดยการขออนุญาตจากนาซี พวกเขาเรียกขานฆาตกรคนนี้ว่า นักฆ่าแห่งเอส บาห์น อันเป็นชื่อแนวรถไฟในกรุงเบอร์ลินสายหนึ่ง ที่พบศพผู้หญิงโดนฆาตกรรม
แรงกดดันถาโถม ตำรวจทำงานกันอย่างหนัก ลุดเกอตรวจหลักฐานทุกอย่าง มันยากเย็นยิ่งนัก แต่ในที่สุดความพยายามก็ทำให้เห็นเค้าลางที่น่าสนใจ
เพราะภาครัฐระดมกำลังสืบสวนคดีนี้ โดยไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น นั่นทำให้การสอบสวนพนักงานรถไฟ เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น เมื่อลุดเกอสอบปากคำพยานคนหนึ่งด้วยคำถามที่ว่า
“เพื่อนร่วมงานคุณคนไหน มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้บ้างไหม”
ทางพยานคนนี้ได้ตอบว่า มี
3
ในที่สุดทุกอย่างก็มีความคืบหน้า จากการสอบปากคำพบว่า ช่วงก่อนพบศพหญิงสาว มีพนักงานรถไฟคนหนึ่งปีนรั้วกั้นรางรถไฟออกไป หลายชั่วโมง ก่อนจะปีนกลับข้ามมา จากนั้นก็มีคนพบศพที่ถูกฆ่าโดยนักฆ่าแห่งเอส บาห์น
ลุดเกอไม่รอช้า เขาขอประวัติพนักงานคนนี้ แล้วไล่ดูหลักฐานทุกอย่าง ตำรวจพบว่าชายคนนี้จะทำงานในช่วงที่พบศพเป็นประจำ เมื่อมีหลักฐานชัดขนาดนี้ พวกเขาทำการสอดแนม และหากเป็นโลกอารยะ คงต้องมีการขออำนาจศาลออกหมายค้นหรือหมายจับ แต่นี่คือยุคนาซีเผด็จการครองเมือง
ดังนั้น ในวันที่ 12 กรกฏาคม 1941 ตำรวจจึงไปรวบตัวอุ้มชายคนนี้มาสอบปากคำทันที แม้ทีแรกเขาจะอ้างว่าไปหาชู้ ไปหาเมียบ้าง แต่เมื่อสอบปากคำกันอย่างยาวนาน และตำรวจพบคราบเลือดในเสื้อผ้าของชายคนนี้ มันมีลักษณะเหมือนเจ้าของเลือดโดนทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้เหยื่อที่รอดชีวิตก็ชี้ถูกตัวว่า ชายคนนี้ คือบุคคลที่ทำร้ายพวกเธอนั่นเอง
เมื่อหลักฐานชัดขนาดนี้ ในที่สุดชายคนนี้ก็รับสารภาพ ว่าเขาเป็นนักฆ่าแห่งเอส บาห์นเอง
ชื่อจริงของชายคนนี้ คือ พอล โอกอร์ซอฟ (Paul Ogorzow) พนักงานรถไฟแห่งเบอร์ลิน
และสมาชิกพรรคนาซี ลำดับที่ 8,015,159
4
โอกอร์ซอฟ เกิดเมื่อปี 1912 โดยไม่รู้ว่าพ่อแท้ๆ คือใคร เขาถูกส่งอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์และไม่ได้เรียนหนังสือ โตมาก็ทำงานในโรงงานเหล็ก แล้วไปทำงานเป็นพนักงานรถไฟ โดยในปี 1931 หรือราว 2 ปีก่อนฮิตเลอร์จะขึ้นครองอำนาจ โอกอร์ซอฟก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคนาซี โดยอยู่ในหน่วยพายุ หรือกลุ่มชุดน้ำตาล ที่เป็นกองกำลังช่วยฮิตเลอร์ขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งอำนาจ ก่อนจะโดนยุบไป ทางโอกอร์ซอฟ โชคดีไม่โดนกวาดล้างในพรรค แล้วไปทำงานเป็นพนักงานรถไฟกะดึก
วิธีการฆ่าของเขาคือ จะไปพูดคุยกับเหยื่อหญิงสาวที่ขึ้นรถไฟคนเดียว โดยเขาจะเสนอให้ไปนั่งชั้น 2 แทนชั้น 3 โดยที่นั่งจะดีกว่า แต่ปลอดคน โอกอร์ซอฟจะไปนั่งคุยสนทนา ในความมืด เพราะตอนนั้นเบอร์ลินต้องพรางไฟ เพื่อระวังการทิ้งระเบิดจากชาติสัมพันธมิตร
ด้วยความที่ใส่เครื่องแบบพนักงานรถไฟ ทำให้สาวๆ หลงเชื่อ พอสบโอกาส เขาจะเอาสายเคเบิลฟาดจนเหยื่อสลบ แล้วจึงลงมือข่มขืน จากนั้นก็ยกระดับเป็นการฆ่า บีบคอ แล้วโยนลงรถไฟ
เหยื่อบางคนรอด คาดกันว่าโอกอร์ซอฟน่าจะสังหารเหยื่อไป 8 รายด้วยกัน และพยายามฆ่าอีก 6 คดี โดยเขาน่าจะข่มขืนทำร้ายผู้หญิงกว่า 30 คน ผลงานนี้ทำให้เขากลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องสุดโหดของยุคนาซีครองเมืองในบัดดล
ตอนโดนจับกุมตำรวจก็กลัวโอกอร์ซอฟ เพราะเขาเป็นสมาชิกพรรคนาซี ซึ่งหากไปจับมั่วซั่วก็อาจมีภัยถึงตัวได้ อย่างไรก็ดีเมื่อรัฐบาลเผด็จการฮิตเลอร์รู้ข่าว จึงสั่งให้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวว่า จับนักฆ่าเอส บาห์นได้แล้ว พร้อมสั่งขับโอกอร์ซอฟออกจากสมาชิกพรรคนาซี แต่ไม่บอกในข่าว ไม่ป่าวประกาศ กลับทำกันเงียบๆ แทน
ชายสุดโหดรายนี้ มีครอบครัว มีลูก แต่แฝงความสะพรึงภายใน โดยเขาบอกตำรวจว่า ตัวเองติดเหล้า และแค้นหมอยิว ที่รักษาโรคหนองในเขาไม่ดี จนกามตายด้าน เลยต้องออกโรงไล่ฆ่าคนแบบนี้
เหยื่อของเขาจำนวนหนึ่งเป็นผู้หญิงท้อง บางคนเป็นหญิงวัยกลางคน บางรายเป็นแค่วัยรุ่นผู้หญิง แต่ทุกคนออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพในโรงงาน เพราะมันคือยุคลำเข็ญแห่งสงคราม พวกเธอเป็นที่รักของทหารเยอรมันที่ไปรบต่างแดน แต่กลับจบชีวิตลงอย่างสลดแบบนี้
เมื่อจับกุมได้ ในวันที่ 22 กรกฏาคม 1941 เขาก็ถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษที่นาซีตั้งขึ้น แล้วมีคำพิพากษาสั่งประหารชีวิตโอกอร์ซอฟทันที จากนั้น 6 โมงเช้า ของวันที่ 23 กรกฏาคม โอกอร์ซอฟถูกบั่นหัวด้วยกิโยติน โดยทางรัฐบาลเผด็จการได้ส่งค่าบำรุงดูแลเครื่องประหารนี้ให้ครอบครัวของโอกอร์ซอฟจ่ายชดเชยด้วย
แม้จะปิดฉากฆาตกรสุดโหดไปได้ แต่ฝันร้ายของชาวเบอร์ลินไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ เพราะหลังจากนั้นลมแห่งสงครามตีกลับ จากชัยชนะของเยอรมัน มันกลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ระเบิดถล่มลงเมือง ผู้คนตายจาก
จนในที่สุดเมื่อสงครามโลกสิ้นสุด นาซีล่มสลาย คนเบอร์ลินเป็นจำนวนมากก็สูญสิ้นชีวิตให้กับความบ้าคลั่งของเหล่าเผด็จการพวกนี้ไปแบบไม่มีวันกลับอย่างน่าเศร้าสร้อยอย่างมาก
5
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ลุดเกอโดนจับข้อหาเป็นนาซี เพราะหลักฐานการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค แต่ทางชาติสัมพันธมิตรดูแลเขาไว้ เพราะเป็นตำรวจมีผลงานจับกุมพวกค้าของเถื่อนส่งกาแฟเข้าไปในเยอรมันตะวันออก นั่นทำให้ซีไอเอจ้างเขาทำงานเพื่อแลกกับความลับนั่นเอง
ด้านเรื่องราวของโอกอร์ซอฟนั้น ถูกบดบังด้วยความโหดร้ายกว่าของนาซี ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิวนับล้าน การก่อสงครามจนมีคนบาดเจ็บล้มตายเกือบทั้งโลก จนโดนประณามด่าเกลียดชังสาปแช่งไปชั่วกาลปวสาน
ส่วนนักฆ่ารายนี้ แม้จะมีคนพยายามศึกษาข้อมูล แต่สังคมก็ตระหนักรับรู้เรื่องราวของเขาน้อยมาก เรียกได้ว่าลืมไปแล้วว่าชายคนนี้เคยก่อความหวาดผวาให้กับเยอรมันขนาดไหน และที่เขาลอยนวลมาได้ ก็เพราะส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกพรรคนาซี ทำให้มีอภิสิทธิ์ กว่าตำรวจจะหาตัวพบ ก็กินเวลาอยู่นานทีเดียว
ทางนักข่าวชาวเยอรมันคนหนึ่งได้สรุปเรื่องราวของโอกอร์ซอฟไว้สั้นๆ แต่น่าสนใจไว้ว่า ชายคนนี้ไม่คู่ควรกับการรำลึกถึง หรือน่าจดจำแม้แต่น้อยเลย ที่อยู่ของเขาในหน้าประวัติศาสตร์ของโลก ทั้งจากอดีต ปัจจุบันและอนาคตก็คือ
“ซอกหลืบเงามืด ซึ่งเขาเลือกเหยื่อไปฆ่านั่นแหละ คือสถานที่เหมาะสมกับเขาสุดแล้ว”
อ้างอิง
https://www.berlinexperiences.com/s-bahn-murderer-a-serial-killer-in-nazi-berlin
https://www.thedailybeast.com/a-serial-killer-on-the-loose-in-nazi-berlin
https://www.ranker.com/list/paul-ogorzow-facts/cat-mcauliffe
https://www.offthefence.com/Content/images/3003/stf-nsk-pitch-deck-pdf.pdf
Tags: นักฆ่า, นาซี, สงครามโลกครั้งที่สอง, Haunted History