1.
“อย่าให้ผู้ก่อการร้ายรอดชีวิต”
วันพุธที่ 30 เมษายน 1980 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่เทรเวอร์ ล็อก (Trevor Lock) สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล กำลังวางแผนจะเซอร์ไพรส์ภรรยาสุดที่รัก โดยการแวะซื้อน้ำหอมจากห้างแฮร์รอดส์เป็นของขวัญให้คู่ชีวิต โดยจะมอบตอนพาไปกินอาหารเย็น หากคนรักถามว่า “นี่ไม่ใช่วันครบรอบแต่งงานหรือวันเกิดฉันสักหน่อย คุณให้ทำไมล่ะ”
ทางเทรเวอร์คิดคำตอบสุดโรแมนติกไว้รอแล้ว ด้วยประโยคที่ว่า “เพราะคุณคู่ควรกับของขวัญชิ้นนี้”
ก่อนเวลา 11.30 น. ทางเจ้าหน้าที่หนุ่มซึ่งได้รับมอบหมาย ให้ไปยืนคุ้มกันสถานทูตอิหร่าน ที่อยู่ย่านเคนซิงตัน (Kensington) ขณะนั้น เขาแวะเข้ามาดื่มกาแฟกับเจ้าหน้าที่สถานทูตอยู่ภายในอาคาร
“ตอนนั้นผมคิดแค่ว่า ดื่มให้หมดแก้ว แล้วจะไปยืนข้างนอก คอยตรวจตราความเรียบร้อยตามงานที่ได้รับมอบหมาย”
แต่แล้ว นาทีนั้น มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในตึก ทีแรกเทรเวอร์คิดว่าอีกฝ่ายเป็นนักศึกษา ชั่วพริบตา ชายคนนี้ก็สร้างความตื่นตกใจด้วยการควักปืนกลออกมา แล้วสาดกระสุนขู่ให้คนสยบ ตำรวจถูกเศษแก้วที่ร่วงจากการยิง ตกใส่หน้าและตาจนเลือดอาบ
“ทีแรกผมคิดว่าโดนยิงแล้ว”
กินเวลาไม่ถึงนาที กลุ่มชายฉกรรจ์ 6 ราย พร้อมปืนกล ระเบิด อาวุธครบมือ ได้บุกเข้ายึดสถานทูต จับคนในอาคารจำนวน 26 ราย ไว้เป็นตัวประกันทันที
เทรเวอร์เป็นหนึ่งในผู้โดนคุมตัวไว้ด้วย
แผนที่วางไว้ว่า เลิกงานจะไปพบภรรยา เป็นอันล่มไปทันที เพราะตำรวจหนุ่มจะติดอยู่ในปฏิบัติการช็อกโลก เหตุการณ์สุดระทึกนานถึง 6 วันเลยทีเดียว
2.
เมื่อทางการอังกฤษทราบข่าว ก็สั่งปิดล้อมบริเวณถนนหน้าสถานทูตทั้งหมด สื่อถูกกันให้อยู่ห่างออกไป กำลังตำรวจระดมเข้าไป ทางเจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายเหตุวิกฤตตัวประกันถูกพาตัวเข้ามา และตั้งทีมอยู่ใกล้ๆ กับจุดเกิดเหตุ เพื่อจะสอบถามว่า คนร้ายกลุ่มนี้ต้องการอะไรกันแน่
โดยหัวหน้าชุดเจรจาของอังกฤษ ซึ่งมีความชำนาญต่อสถานการณ์นี้มาก ได้โทรศัพท์เข้าไปในสถานทูต และขอคุยกับหัวโจก ก่อนจะได้รับแจ้งว่า ให้ทางอังกฤษส่งคำร้องขอนี้ไปยังรัฐบาลอิหร่าน ให้ปล่อย 91 นักโทษ ในพื้นที่ฆูเซสถาน (Khuzestan) ของอิหร่าน ซึ่งถูกรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามจับกุมตัวไป
“ตอนเราฟังครั้งแรก ถึงกับงงเลย นี่มันเรื่องอะไรกันวะ”
กลุ่มผู้ก่อการร้ายร่ายยาวว่า พวกเขาเป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล และร้องขอให้มีการปล่อยผู้ถูกคุมขังทางการเมืองในจังหวัดดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน และมีการลุกฮือต่อต้านการปกครองของรัฐบาล จนบางส่วนโดนล้อมปราบ และบางรายโดนจับไปทรมานในคุก
นอกจากนี้ ทางคนร้ายยังขอรถตู้ ให้มารับทุกคนรวมถึงตัวประกันด้วย เพื่อมุ่งหน้าไปยังสนามบิน ขึ้นเครื่องแล้วไปสักประเทศ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะไปประเทศไหนดี
เมื่อทีมเจรจารับทราบข้อเสนอ ก็นำทุกอย่างไปแจ้งยังรัฐบาล ก่อนจะส่งข้อความต่อไปหาอิหร่าน
พลันที่รัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามทราบข้อเรียกร้อง ก็แจ้งข้อความสั้นๆ ไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า พวกเขาไม่มีนโยบายเจรจากับผู้ก่อการร้าย และขอปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของชายทั้ง 6 นี้
“หากมีตัวประกันเป็นอะไร เราจะประหารนักโทษในฆูเซสถานเป็นการตอบโต้”
เมื่อทางคนร้ายย้ำว่า หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้องก็จะระเบิดสถานทูตแห่งนี้ทิ้ง รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านตอบทางการอังกฤษมาสั้นๆ ว่า
“ก็ปล่อยให้พวกมันทำไปสิ”
เป็นอันว่ารัฐบาลอิหร่านไม่ยอมเจรจา และไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย ทางรัฐบาลอังกฤษจึงต้องลุยเอง ในฐานะประเทศเกิดเหตุ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้จะอยู่คนละฝ่ายกับอิหร่าน แต่ทางนายกรัฐมนตรี นางสิงห์เหล็ก มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) กลับเห็นด้วยกับเจ้าของสถานทูต จึงส่งคำสั่งแบบปากเปล่า เพื่อป้องกันว่าจะมีหลักฐานในรูปแบบเอกสาร
โดยมันถูกกระจายมายังคณะทำงานแก้ปัญหาวิกฤตตัวประกันนี้แบบได้ใจความว่า ทางการจะต้องแก้ปัญหานี้ โดยห้ามล้มเหลว และตัวประกันจะต้องได้รับการป้องกันอย่างสูงสุด ทางนายกฯ ไม่อยากให้เกิดปัญหาต่อเนื่องมาถึงด้านนอกของสถานทูต ซึ่งหมายความว่า พวกผู้ก่อเหตุจะต้องไม่มีโอกาสออกมาในสภาพแบบมีลมหายใจ
หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ก่อการร้ายจะต้องตายทั้งหมดนั่นเอง
เมื่อทุกฝ่ายตกลงกันได้แบบพร้อมเพรียง สิ่งที่น่าหวาดหวั่นก็เกิดขึ้น เพราะตอนแรกทางการอังกฤษไม่รู้เลยว่า ผู้ก่อการร้ายมีกี่รายกันแน่ แบบแปลนในตึกนั้นเป็นอย่างไรบ้าง หากจะบุกเข้าไปต้องทำอย่างไร และควรจะใช้หน่วยใดเข้าลุยนี้ ซึ่งเป็นภาระอันใหญ่ยิ่ง เพราะงานนี้ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด
หลังจากพูดคุย ครุ่นคิดและปรึกษากันอยู่สักพัก สุดท้ายทางชุดทำงานก็ออกคำสั่งไปยังหน่วยทหาร ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ประมาณ 217 กิโลเมตร ให้เข้ามารับภารกิจสุดยากเย็นนี้ทันที
กินเวลาไม่นาน ทหารจากหน่วยรบปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ (Special Air Service) หรือ SAS ก็ได้รับคำสั่งที่ถ่ายทอดมาจากนายกฯ อีกที เก็บพวกผู้ก่อการร้ายให้เรียบ อย่าให้เหลือ เมื่อฟังดังนั้น หัวหน้าชุดก็พูดออกมาว่า
“เดี๋ยวจัดให้ครับ”
3.
หน่วยรบ SAS ก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายทหารนอกคอกคนหนึ่ง ที่เห็นเล็งเห็นว่า การรบกับนาซีเยอรมันนั้น จะต้องมีกลุ่มผู้ปฏิบัติการจำนวนไม่มาก คอยก่อกวน และทำการสู้รบอย่างเฉียบขาดรุนแรง เพื่อตัดกำลังศัตรูฝ่ายอักษะ เขาจึงนำแนวคิดนี้ไปเสนอกับผู้บังคับบัญชา โดยมีสมรภูมิรบในแอฟริกาเหนือเป็นเดิมพัน
แม้ทางนายพลจะส่ายหน้ากับไอเดียนี้ แต่ก็ยอมให้ทำ มันจึงนำไปสู่การรวบรวมทหารที่มีความสามารถพิเศษ และมีความกบฏ ไม่ค่อยสนใจวินัยกองทัพ หน่วยนี้ไม่จำเป็นต้องเคารพในยศฐาบรรดาศักดิ์มาก ขอแค่ใช้อาวุธได้ดี นั่นจึงนำไปสู่การตั้งทีมเล็กๆ และเป้าหมายแรก คือ การบุกเข้าทำลายสนามบินเยอรมันกลางทะเลทราย
ผลของมันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนหลังแนวรบ จนมีส่วนสำคัญให้เยอรมันต้องพ่ายแพ้ในยุทธศึกในทะเลทรายแอฟริกาเหนือ และนำไปสู่ความพินาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของพวกนาซีด้วย
เกียรติประวัติของหน่วยรบ SAS จึงเลื่องชื่ออย่างยิ่ง เพราะสอนให้ทหารคิดเป็น และฝึกหนัก เพื่อจัดการปัญหาที่ใครก็คิดว่าแก้ไขไม่ได้
เมื่อเกิดวิกฤตจับตัวประกันด้วย นักการเมือง ตำรวจและข้าราชการฝ่ายความมั่นคงของอังกฤษ มีมติเอกฉันท์ พึ่งหน่วยรบที่มีคำขวัญอันลือลั่นว่า คนกล้าเท่านั้นถึงจะชนะ (Who Dares Wins) ทันที
ในเช้าวันนั้น หน่วยรบต่อต้านการก่อการร้ายของ SAS มีภารกิจต้องฝึกซ้อมประจำสัปดาห์ ซึ่งสมาชิกทุกคนต่างเซ็ง เพราะหวังจะได้ไปพักผ่อนกัน เมื่อมีคำสั่งให้พวกเขายุติการฝึก จึงทำให้นักรบพิเศษเฮลั่น เพราะคิดว่าจะได้ออกไปเที่ยวแล้ว แต่หัวหน้าทีมได้เดินเข้ามาบอกสั้นๆ ว่า
“ที่ยกเลิกการซ้อม เพราะเรามีสถานการณ์จริงๆ เกิดขึ้น”
พลันที่คนในทีมได้ยิน แทนที่พวกเขาจะหวาดหวั่น กลับดีใจลิงโลด เพราะจะได้ออกศึกหลังฝึกซ้อมมายาวนาน ครั้งนี้จะได้ปะฉะดะกับผู้ก่อการร้ายตัวจริงเสียที
เมื่อรับคำสั่ง สมาชิกในทีมก็เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ ลอบเข้าไปข้างตึกของสถานทูต ทุกคนพร้อมมาก เพราะผ่านการฝึกวันแล้ววันเล่ามาเป็นปีแล้ว
“ปกติตำรวจจะยิงปืนเฉลี่ยปีละ 100 นัด พวกเราใช้เวลาช่วงเช้าเดียว ซัดไป 400 นัดแล้ว”
หน่วยต่อต้านการก่อร้ายถูกฝึกให้ถือปืนสอดส่องในความมืด และถูกสั่งให้ยิงที่หัวผู้ก่อเหตุ 2 นัดเสมอในระยะใกล้แค่ 4 นิ้ว และปฏิบัติการนี้ ทีม SAS นำปืน MP5 ที่ยิงได้นาทีละ 1.2 พันนัด เป็นอาวุธสังหาร พร้อมพกแม็กกาซีนไปอีกกว่า 30 ซอง
โดยทุกคนในทีมต่างภาวนาอย่างเดียว ขอให้การเจรจาประสบความล้มเหลว และนั่นจึงจะเป็นทีของพวกเขาที่จะได้เข้าไปลุย
“เราเหมือนมีดที่ถูกลับอย่างยาวนาน จนพร้อมจะลงมือแล้ว”
4.
ส่วนในสถานทูต ทางกลุ่มคนร้ายให้ตัวประกันนั่งแยกกระจายกันแต่ละห้อง ทางเจ้าหน้าที่เทรเวอร์มีแผลฉกรรจ์จากเศษแก้วที่โดนยิงใส่ จนร่วงใส่หน้า แต่แม้จะเจ็บขนาดนี้ เขายังไม่ร้องขอความช่วยเหลือ และนั่งอย่างสงบ พร้อมครุ่นคิดถึงวิธีการที่จะหลบหนีออกไป
กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ เทรเวอร์พบว่า หากเขาทำอะไรส่งเดช มีสิทธิ์ที่ผู้ก่อการร้ายจะสังหารตัวประกันทั้งหมด และนอกจากเจ้าหน้าที่สถานทูตชาวอิหร่านแล้ว ยังมีตากล้องของสำนักข่าวบีบีซี ที่มาทำวีซ่าเตรียมจะเดินทางไปทำข่าวที่อิหร่านอีกด้วย
ดังนั้นตำรวจหนุ่มจึงสำรวม ก่อนจะพบความจริงสุดช็อกว่า วายร้ายทั้ง 6 คน ไม่ได้ค้นตัวเขา นั่นทำให้ตัวเองยังมีปืนพกอยู่ที่ตัวด้วย
มันนำไปสู่การตัดสินใจว่าเขาควรจะควักมันออกมาสู้ดีไหม เทรเวอร์ครุ่นคิด ก่อนยับยั้งตั้งหลักได้ทัน ที่จะไม่เอาปืนออกมา เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายมีอาวุธครบมือกว่า แถมมีอยู่ 2 คน ซึ่งถือระเบิดไว้ในมือ พร้อมแกะสลักออก หากเทรเวอร์สู้ เขาอาจจัดการได้ไม่กี่คน และอาจโดนยิงตาย หรือโดนบึ้มดับกันทั้งตึก
ดังนั้นคงต้องรอให้สถานการณ์สุกงอมกว่านี้ก่อน จึงค่อยใช้
แต่เพื่อจะเก็บปืนไว้กับตัว เทรเวอร์จึงต้องยอมอดอาหารจนกว่าวิกฤตนี้จะแล้วเสร็จ เพราะถ้าเขากินอะไร แล้วหากต้องไปเข้าห้องน้ำ พอถอดชุด ดึงกางเกงลง คนร้ายจะเห็นปืนเขา
เมื่อกลุ่มคนก่อเหตุเจรจากับทางการอังกฤษในคืนแรก พวกเขาตัดสินใจปล่อยตัวประกันเพิ่ม โดยเป็นหญิงสาวที่สุขภาพย่ำแย่ และตากล้องบีบีซี เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับข้อเรียกร้องนี้ ส่วนเทรเวอร์นั้น ยังไม่ถูกปล่อยออกมา
ทางตัวประกันที่ถูกพาออกเข้าให้ข้อมูลทั้งหมดในสถานทูต จนชุดปฏิบัติการรับรู้ทุกอย่างแน่ชัด และนำไปสู่การวางแผนอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น
ผ่านไปหลายวัน แม้ในสถานทูต เทรเวอร์จะพยายามคุยด้วยดีและหาทางคุ้นเคยกับผู้ก่อการร้าย แต่สถานการณ์ที่ยืดเยื้อ กลับทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะข้อเสนอของ 6 ชายฉกรรจ์ที่ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้แต่รถมารับตัว อังกฤษก็ไม่จัดให้ ในที่สุดหัวโจกของกลุ่มจึงตัดสินใจยกระดับความรุนแรงขึ้น
นั่นก็คือการยิงตัวประกันทิ้ง
และผู้โชคร้ายก็เป็นเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสาร เขาถูกลากตัวออกมา เจ้าตัวได้กล่าวสรรเสริญผู้นำอิหร่าน ก่อนหันมาสบตากับชาวอังกฤษที่โดนจับอยู่ด้วยกัน
“ไม่ต้องกังวลครับ คุณเทรเวอร์ ผมไม่กลัวตายหรอก”
วินาทีนั้น ตำรวจคิดว่าควรจะควักปืนออกมาช่วยดีไหม แต่เขาไม่ได้ทำอะไร จากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น 3 นัด อันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบในวิกฤตครั้งนี้
เพราะเมื่อมีตัวประกันตาย มันจึงเป็นไฟเขียว ให้หน่วย SAS ได้ลงมือ
5.
วันที่ 6 ของวิกฤตตัวประกัน เมื่อเวลาเดินมาถึง 19.23 น. หน่วย SAS ก็ตะลุยบุกเข้าไปในสถานทูตอย่างรวดเร็วเฉียบขาด ท่ามกลางสื่อมวลชนที่จับภาพไว้ได้ มันกลายเป็นรายการสดที่ทำให้คนอังกฤษทั้งประเทศได้เห็นประสิทธิภาพทรงพลังของหน่วยรบนี้
ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่เทรเวอร์ รู้แล้วว่าการบุกเกิดขึ้น เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว มีการยิงตอบโต้กันไปมา เสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตาย ตำรวจหนุ่มควักปืนที่ซ่อนไว้นานกว่า 6 วัน จ่อที่หน้าของหัวโจกผู้ก่อการร้าย ก่อนตะโกนไปว่า
“กูจะบอกอะไรให้มึงสักอย่าง ทุกอย่างเป็นความผิดของแกนั่นแหละ ไอ้… แม่ง”
ทางหัวหน้าคนร้ายถึงกับช็อก เพราะไม่คิดว่าอีกฝ่ายจะมีปืน ส่วนเทรเวอร์ก็พยายามคุมสติ ไม่อยากลั่นไกใส่อีกฝ่ายด้วยความโมโห
“เทรเวอร์ หลบไปเดี๋ยวนี้”
ตำรวจหนุ่มได้ยินเสียงคนเรียกชื่อ ด้วยสำเนียงแบบอังกฤษ เขาจึงรีบทำตาม ทางเจ้าหน้าที่ SAS พุ่งเข้ามาแล้วเหนี่ยวไกใส่หัวหน้าวายร้าย สาดกระสุนจนพรุนทั้งร่าง
“ไม่มีเลือดแม้แต่หยดเดียว มีแต่รูกระสุนเข้า”
ชายหนุ่มจากอิหร่านตายตั้งแต่ยังไม่ล้มจูบพื้น
หน่วยรบพิเศษเหนี่ยวไกปืน MP5 อย่างชำนาญ พวกเขาพาตัวประกันออกมาได้หมด ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่สถานทูตชี้ว่า ชายที่วิ่งตามมาด้วยเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะกำลังจะปลดสลักระเบิด เลยโดนลูกตะกั่วจาก SAS ปลิดชีพทันที
ทางเจ้าหน้าที่พาตัวประกันทั้งหมด มากองกันที่สนามหญ้าของสถานทูต แล้วมีใครสักคนชี้ว่า ชายที่นอนคว่ำตรงนั้น เป็นคนร่วมก่อเหตุด้วย
ทางนักรบเข้าไปลากตัวอีกฝ่าย พาเข้าไปในสถานทูต แต่หลังจากปรึกษากัน พวกเขารู้ว่า ตอนนี้นักข่าวถ่ายภาพปฏิบัติการนี้เต็มไปหมด คงจะไม่ดี หากจะวิสามัญผู้ก่อการร้าย
“แม้จะขัดคำสั่ง แต่ถ้าขืนยิงทิ้ง คงจะเป็นความคิดที่โง่มาก”
พวกเขาจึงคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้แทน และเมื่อสำรวจทั้งตึกอย่างละเอียด ก็แจ้งข่าวดีไปยังรัฐบาล วิกฤตตัวประกันที่กินเวลานาน 6 วัน ถูกหน่วยรบ SAS ใช้เวลาแค่ 11 นาที ก็ยุติสถานการณ์ได้ โดยไม่มีชุดปฏิบัติการหรือตัวประกันเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว
เหตุการณ์นี้ทำให้หน่วยรบปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ โด่งดังไปทั้งประเทศ ยกระดับเป็นหน่วยรบชั้นยอดที่ได้รับการยอมรับจากทั้งโลกในฉับพลัน
6.
เมื่อสอบสวนผู้ก่อการร้ายที่รอดตายมาได้ มันจึงทำให้ทั้งโลกได้รู้ว่า พวกเขาทั้ง 6 คนนั้น ได้รับการฝึกมาจากอิรัก ที่มีซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ครองอำนาจอยู่นั่นเอง
เมื่อทางอิหร่านทราบเรื่อง มันจึงเกิดเป็นความตึงเครียดครั้งใหญ่ และสุดท้ายสงครามระหว่างสองประเทศก็ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1980 หรือไม่กี่เดือนจากเหตุการณ์นี้
โดยมีชนวนเริ่มต้นจากวิกฤตตัวประกันนี้เอง
ฟากฝั่งอังกฤษ รัฐบาลต่างดีใจที่ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จแบบล้นหลาม ทางเจ้าหน้าที่ SAS ได้รับการยกย่องในวีรกรรม หลายคนได้รับเหรียญกล้าหาญ เช่นเดียวกับเทรเวอร์ที่ถูกยกย่องเป็นฮีโร่เช่นกัน แม้เจ้าตัวจะไม่อยากได้ เพราะสิ่งที่อยากทำแรกสุด ก็คือรีบไปห้างเพื่อซื้อน้ำหอมและพาภรรยาไปร้านอาหารดีๆ สักที หลังผิดแผนไปนานกว่า 6 วัน
ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนเป็นกรณีศึกษาของหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายในหลายประเทศเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีลับหลังแบบไม่เป็นทางการ ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษกลับไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่นัก พอดูเหมือนหน่วย SAS จะปล่อยให้มีคนร้ายมีชีวิตอยู่ 1 ราย
“คุณฝ่าฝืนคำสั่ง ที่ปล่อยไอ้พวกนี้รอดได้ 1 ตัว”
ทางหัวหน้าทีมยอมรับไปว่า “โอเคครับ ผมพลาดเรื่องนั้น” แต่ก็รู้ดีว่าหากลั่นไกลงไป ภาพลักษณ์ของหน่วยรบสุดยิ่งใหญ่จะถูกประณามจากทั้งโลกแน่นอน
กระนั้นแม้ทางรัฐบาลอังกฤษ จะแอบฉะทีมปฏิบัติการลับหลังแค่ไหน แต่ต่อหน้า พวกเขาก็ได้พูดกับคนทั้งโลกอีกอย่างว่า
“ทางรัฐบาลอังกฤษเสียใจ ที่ต้องใช้กำลังแบบนี้ แต่นั่นก็เพราะ เราไม่มีทางเลือกจริงๆ”
ผ่านไปหลายปี เริ่มมีคนอยากรู้ความรู้สึกของหน่วย SAS ที่ก่อเหตุในวันนั้น ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เฉียบขาดมาก ๆ แต่ก็มีทั้งคนยกย่อง และคนด่าว่าเป็นฆาตกร ซึ่งทางอดีตหน่วยรบพิเศษซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว มาเล่าถึงวิกฤตครั้งนั้นอย่างกระชับว่า
“ก็อีกฝ่าย มันมีปืน ก็ต้องยิงทิ้งสิ การฆ่าไม่ใช่เรื่องยาก ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น จบแค่นี้เอง และพวกเราไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้นต่อการลงมือในวันนั้นหรอก
“เพราะนี่เป็นประสบการณ์ที่เรียบง่ายสุด ในชีวิตผมเลยล่ะ”
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.businessinsider.com/operation-nimrod-iranian-embassay-raid-raised-sas-profile-2021-5
https://www.theguardian.com/theguardian/2010/jun/06/archive-praise-hostage-police-1980
https://www.bbc.com/news/in-pictures-52460013
https://www.bbc.com/news/uk-england-hereford-worcester-65960831
https://www.theguardian.com/uk/2002/jul/24/military.features11
https://www.theguardian.com/world/2020/may/01/threat-to-blow-up-besieged-iran-embassy-archive-1980
https://www.theguardian.com/uk/2010/dec/30/iranian-embassy-siege-sas-policy