“พวกเขาเสียชีวิตหมดแล้ว”
1
จิม แม็กเคย์ (Jim Mckay) เคยเป็นทหารเรือทำหน้าที่กวาดทุ่นระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนไต่เต้ามาเป็นนักข่าวอาชญากรรมของเมืองบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงเริ่มต้นอาชีพนักข่าวโทรทัศน์ และมีชื่อเสียงจนได้บรรยายในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกถึง 2 ครั้งด้วยกัน
วันที่ 5 กันยายน 1972 ขณะที่จิมพาครอบครัวมาพักที่โรงแรมเชอราตัน ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อรายงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โดยกำหนดการในวันดังกล่าว ผู้ประกาศข่าวมากประสบการณ์ได้หยุดพัก หลังต้องไปตามติดกีฬายิมนาสติกมาหลายวัน ช่วงเช้าเขาชวนลูกชายไปว่ายน้ำที่สระ กับเพื่อนร่วมงานของสถานีโทรทัศน์เอบีซี (ABC)
ตอนนั้นจิมอยู่ในกางเกงว่ายน้ำและสวมเสื้อคลุมอาบน้ำ ก็ได้รับข้อความน่าตื่นตระหนกจากโปรดิวเซอร์ของช่อง
“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นที่หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก คุณรีบมาที่ห้องส่งให้เร็วที่สุด”
นั่นทำให้ผู้ประกาศข่าววัย 51 ปีขึ้นจากสระ แล้วพาลูกชายขับรถไปสตูดิโอที่สถานีเช่าไว้เพื่อรายงานมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ใช้เวลา 15 นาทีก็ไปถึง โดยที่จิมยังใส่กางเกงว่ายน้ำ เขาสวมชุดทำงานและสูททับ โดยใช้โต๊ะข่าวบังช่วงล่างของเขาไว้
ลูกชายของจิมจำภาพเหตุการณ์นี้ได้แม่น เพราะระหว่างขับมายังที่ทำงานพ่อ เขาเห็นรถไซเรนวิ่งไปทั่ว เกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว
ทุกอย่างปรากฏพลันที่จิมนั่งลงที่โต๊ะผู้บรรยาย
ไม่มีใครในตอนนั้นรู้เลยว่า ผู้ประกาศข่าวคนนี้จะต้องนั่งโดยไม่ลุกไปไหนนานกว่า 16 ชั่วโมง เพื่อบรรยายโศกนาฏกรรมครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สลดของการแข่งขันนี้
2
โอลิมปิกที่เมืองมิวนิกในปี 1972 เป็นครั้งแรกของเยอรมนีในรอบ 35 ปี ที่ได้จัดมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้พวกเขามีโอกาสจัดโอลิมปิกในปี 1936 ณ กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศ ภายใต้รัฐบาลนาซี โดยเป็นการแข่งขันที่โชว์วิสัยทัศน์และอุดมการณ์ที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ใฝ่ฝัน
หลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่หายนะแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 พอถึงปี 1972 เยอรมนีตะวันตกได้จัดโอลิมปิกอีกครา แต่กรุงเบอร์ลินไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการแบ่งฟากระหว่างเยอรมนีตะวันตกที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย กับเยอรมนีตะวันออกซึ่งใช้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์
มิวนิกกลายเป็นสถานที่ต้อนรับโอลิมปิก ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกต้องการใช้การแข่งขันนี้ประกาศให้โลกรู้ว่า นี่คือเยอรมนีใหม่ ไม่ใช่เผด็จการนาซีอีกต่อไป โดยพวกเขาใช้สโลแกนว่า ‘เกมแห่งสันติภาพและความชื่นมื่น’
ปัญหาก็คือ เพราะต้องการลบภาพลักษณ์รัฐตำรวจ ที่นาซีเคยใช้ในโอลิมปิกปี 1936 เพื่อปราบปรามชาวยิวและผู้เห็นต่าง ทางผู้จัดจึงลดระดับการรักษาความปลอดภัยอย่างมาก ตำรวจที่ดูแลหมู่บ้านนักกีฬาไม่พกปืน แต่พกวิทยุประจำตัวแทน
นักกีฬาหลายคนผ่อนคลายกับบรรยากาศแบบนี้ เป็นไปตามที่เยอรมนีตะวันตกต้องการ
“ผมยังออกไปข้างนอก เพื่อไปหาแฟนสาวได้อยู่เลย”
แต่แล้วหลังตี 4 ของวันที่ 5 กันยายน ยังไม่ถึงตี 5 ดี กลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 8 ราย แต่งตัวคล้ายนักกีฬา ปีนรั้วหมู่บ้านโอลิมปิก และมุ่งหน้าไปยังที่พักของทีมอิสราเอล
ระหว่างที่กำลังเคลื่อนตัวไปอย่างเงียบๆ มีคนเห็นพวกเขา แต่ต่างคิดว่านี่คือนักกีฬาที่กลับจากการไปเที่ยวกลางคืน
เมื่อถึงที่หมาย 8 บุรุษก็สวมไอ้โม่งสีดำ ควักปืนอาก้าออกมา แล้วบุกเข้าไปในห้องพักนักกีฬาอิสราเอลทันที เกิดการต่อสู้อย่างดุเดือด ทำให้โค้ชมวยปล้ำชายและนักกีฬายกน้ำหนักชายของอิสราเอลถูกสังหารโหด ขณะพยายามป้องกันการบุกเข้ามา แต่ไม่สำเร็จ และต้องสังเวยชีวิต
มีนักกีฬาชาติเดียวกับผู้ตาย 2 คนวิ่งหนีออกไปได้ทัน แต่ผู้ก่อเหตุก็สามารถจับตัวนักกีฬาอิสราเอล 9 คนไว้ในกำมือ
ระหว่างความวุ่นวายนั้น แม่บ้านหญิง 2 คนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จึงเปิดประตูออกมา แล้วเห็นที่บันได เจอคนแต่งตัวปิดบังใบหน้า พร้อมถืออาวุธ พวกเธอจึงรีบไปแจ้งตำรวจทันที
สถานีวิทยุท้องถิ่นของแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) รายงานข่าวร้ายนี้เป็นที่แรกของโลก
ไม่ถึง 7 โมงเช้าดี เจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นาย เข้าประจำหมู่บ้านนักกีฬาทันที เพื่อคลี่คลายสถานการณ์
ด้านนักกีฬาที่พักอยู่รอบๆ เปิดเผยในภายหลังว่า พวกเขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในช่วงเช้ามืด พอตื่นมาก็เห็นว่า ที่รั้วเต็มไปด้วยคนถือปืน แต่พวกเขายังงงกับเรื่องนี้ ขณะที่นักกีฬาบางรายก็เตรียมตัวไปทำการแข่งขัน โดยพกความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นในหมู่บ้าน
ใช่แล้ว แม้จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น มีนักกีฬาโดนฆ่าและถูกจับ แต่โอลิมปิกมิวนิกยังดำเนินต่อไป ต้องรอถึงเวลา 15.50 น. ทางคณะกรรมการถึงประกาศยุติการแข่งขันทุกอย่างชั่วคราว นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์มหกรรมกีฬานี้
อย่างไรก็ดี มีนักกีฬาบางส่วนยังคงไปซ้อมปกติ กว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องรอถึงช่วงเย็น เมื่อพวกเขาเห็นว่า ห่างจากที่พักตัวเองไป 200-300 เมตร มีเจ้าหน้าที่อาวุธครบมือยืนล้อมที่พักของนักกีฬาอิสราเอลไว้
นักข่าวของสำนักข่าวเอพี (Associated Press News: AP) ซึ่งเคยทำข่าวสงครามมาอย่างโชกโชน และเดินทางมารายงานในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ถูกปลุกลุกจากเตียงตอนตี 5 เมื่อเพื่อนบอกว่า “ผู้ก่อการร้ายอาหรับยึดห้องพักนักกีฬาอิสราเอล”
พลันที่เขามองออกจากหน้าต่างของที่พักสำนักข่าว เพียง 200 เมตร พวกเขาก็เห็นคนใส่ไอ้โม่งพร้อมปืนไรเฟิล
นี่ทำให้สื่อมวลชนตาลีตาเหลือกลุกมาเขียนข่าวทันที
3
กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ก่อเรื่องนี้เรียกตัวเองว่า ‘กันยาทมิฬ’ (Black September) และทุกอย่างเริ่มที่ประเทศจอร์แดนในปี 1971 เมื่อฝ่ายหัวรุนแรงรวมตัวติดอาวุธ ตั้งชื่อตัวเองตามเหตุการณ์ปะทะกันของคนปาเลสไตน์ ซึ่งถูกฆ่าและโดนขับไล่ออกจากพื้นที่ในเดือนกันยายน จึงเป็นที่มาของชื่อองค์กรนี้
เป้าประสงค์แรกของกันยาทมิฬ มีขึ้นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลจอร์แดน ซึ่งต้องขอความช่วยเหลือไปยังชาติตะวันตก จนเกิดการต่อสู้อย่างดุเดือด แม้กลุ่มติดอาวุธจะพ่ายแพ้ แต่พวกเขาไม่ยอมจำนน เงินทุนจากผู้สนับสนุนชาวตะวันออกกลางจำนวนหนึ่งหลั่งไหลเข้ามา
แม้องค์กรจะมีอายุถึงแค่ปี 1974 แต่พวกเขาก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งหายนะของประวัติศาสตร์การก่อการร้ายระดับโลก เพราะพวกเขาวางแผนและได้บุกเข้าไปจับนักกีฬาอิสราเอลเป็นตัวประกัน ในโอลิมปิกที่มิวนิกปี 1972 นี่เอง
ข้อเรียกร้องของผู้ก่อเหตุคือ แจ้งชื่อองค์กรตัวเอง พร้อมข้อเรียกร้องให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสติเนียนจำนวน 234 คนออกจากคุก พร้อมกับขอเครื่องบินเพื่อพาตัวประกันไปลงที่อียิปต์
ขณะที่ทางการเยอรมนีอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองอยู่นั้น ทางนักข่าวเห็นคนสวมไอ้โม่ง หนึ่งในสมาชิกกันยาทมิฬ เดินออกมาที่ระเบียงตรงจุดจับตัวประกัน เพื่อดูความเรียบร้อยและความปลอดภัย โดยสื่อมวลชนที่มาทำข่าวโอลิมปิกจับภาพไว้ได้ นับเป็นครั้งแรกที่ทั้งโลกได้เห็นการถ่ายทอดสดการก่อการร้าย และมีคนถึง 900 ล้านคนรับชมเหตุระทึกขวัญนี้
เจ้าหน้าที่เยอรมันทำอะไรไม่ถูก พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์รับมือกับเรื่องนี้ แม้ทางการอิสราเอลจะขอส่งทีมปฏิบัติการพิเศษไปช่วยตัวประกัน แต่เจ้าภาพโอลิมปิกไม่อนุญาต พวกเขาจะจัดการเรื่องนี้เอง ระหว่างการเจรจากินเวลาไปเรื่อยๆ พร้อมคำขู่จะฆ่านักกีฬาอิสราเอลที่โดนจับอยู่ให้หมด ในที่สุดรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกก็ตัดสินใจยินยอมทำตามคำขอของกันยาทมิฬ
แม้รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธปล่อยนักโทษ แต่เจ้าภาพโอลิมปิกแจ้งแก่ทางผู้ก่อการร้ายว่า พวกเขาจะยินยอมพาทุกคนทั้งผู้ก่อเหตุและตัวประกันไปขึ้นเครื่องบินเพื่อไปอียิปต์ โดยนัดจุดกันที่กองทัพอากาศ
11 ชั่วโมงหลังเจรจากัน ในเวลา 4 ทุ่ม ข้อตกลงเป็นอันยุติ กันยาทมิฬพาตัวนักกีฬาอิสราเอลขึ้นรถไปยังเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเดินทางไปยังกองทัพอากาศ จุดนั้นเองทีมสไนเปอร์เยอรมันซุ่มรออยู่
เมื่อเฮลิคอปเตอร์ขับลงไปแล้วไม่เห็นเครื่องบินตามคำมั่นของรัฐบาลเยอรมนี เสียงปืนก็ดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว พร้อมกับกัมปนาทแห่งฤทธิ์ระเบิด
กินเวลาประมาณเที่ยงคืน ล่วงเข้าสู่วันที่ 6 กันยายน โฆษกรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกแจ้งว่า “ปฏิบัติการช่วยตัวประกันประสบความสำเร็จและทุกคนปลอดภัยดี”
กลายเป็นความโล่งอกของทั้งโลก รวมถึงครอบครัวผู้โดนจับด้วย อย่างไรก็ดีสื่อจากเอเอฟพี (Agence France-Presse: AFP) ของฝรั่งเศสที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ ได้โทร.หาบรรณาธิการเพื่อเล่าว่าได้ยินเสียงการยิงต่อสู้แบบดุเดือดเลือดพล่าน ระหว่างที่ตำรวจแจ้งว่าจะมีการแถลงข่าว นักข่าวรายนี้เกิดสงสัยและไม่ยอมไปร่วมฟังด้วย แต่ปักหลักที่จุดเกิดเหตุพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 ราย
และแล้วเขาก็ได้เห็น คนใส่สุดผูกเนกไทวิ่งเข้ามาที่สนามบินพร้อมน้ำตาอาบหน้า เท่านี้นักข่าวหนุ่มก็รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น
ความเลวร้ายยิ่งรุนแรงไปอีก เพราะวิทยุข่าวรายงานว่า มีคนอิสราเอลส่งเสียงดีใจชื่นมื่น เพราะคิดว่าตัวประกันปลอดภัย
ด้านนักข่าวของเอพีซึ่งส่งข่าวไปตอนแรกว่า ตัวประกันปลอดภัย แต่ทางบรรณาธิการสั่งให้เช็กข้อมูลเพิ่ม กินเวลาเกือบชั่วโมง ความสับสนมึนงงพุ่งสูงเข้าไปใหญ่ รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกบอกตัวประกันปลอดภัย แต่นักข่าวในพื้นที่บอกว่าทุกคนไม่รอด มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
เมื่อนักข่าวภาคสนามยืนยันเข้ามา ในที่สุดเจ้าภาพโอลิมปิกซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมง จึงออกโรงแถลงเปลี่ยนข้อเท็จจริงในช่วงเกือบตี 3 กว่า
แม็กเคย์นั่งรายงานเหตุการณ์นี้มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเขาได้ยินข้อความยืนยันจากโปรดิวเซอร์แจ้งข้อมูลทั้งหมด
นาทีนั้นลูกชายของจิมบอกว่า สีหน้าของพ่อที่แฝงแววอิดโรย พอได้ยินประโยคจากโปรดิวเซอร์ ความเศร้าก็ปกคลุมทั้งหน้าทันที ต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่จิมจะรวบรวมสติและพยายามสื่อสารข้อความเพื่อแจ้งข่าวร้ายให้ทั้งโลกได้ยินว่า
“ตอนผมเป็นเด็ก พ่อเคยพูดไว้ว่า ความหวังที่ดีสุดและความกลัวสูงสุดไม่เคยเป็นจริง คืนนี้ความกลัวที่เลวร้ายสุดเกิดขึ้นแล้ว”
มีรายงานข่าวแจ้งเข้ามาว่า ตัวประกันที่โดนจับกุมตัวไป 11 ราย มี 2 รายถูกฆ่าที่ห้องตอนช่วงเช้าเมื่อวานนี้ อีก 9 รายถูกสังหารที่สนามบินคืนนี้
“พวกเขาเสียชีวิตหมดแล้ว”
4
ทางการเยอรมนีโดนด่ายับ พวกเขาใช้งานสไนเปอร์ที่อุปกรณ์ไม่พร้อม และไม่เคยผ่านการฝึกมาก่อน ช่วงเกิดเหตุพวกเขายิงใส่ผู้ก่อการร้ายกันยาทมิฬได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะหยุดให้หนึ่งในนั้น ขว้างระเบิดใส่ตัวประกันแล้วกระหน่ำยิงทิ้ง กลายเป็นความผิดพลาดที่สังเวยด้วยชีวิตนักกีฬาอิสราเอลทั้ง 9 รายจากโลกไป
โกลดา แมร์ (Golda Meir) นายกรัฐมนตรีหญิงอิสราเอล ติดตามข่าวนี้อย่างเข้มข้น ทีแรกเธอไม่เชื่อข่าวว่าตัวประกันปลอดภัย จนกระทั่งหัวหน้าหน่วยสายลับมอสสาด (Mossad) โทร.หาเธอจากเยอรมนี ตามเวลาท้องถิ่นคือตี 3 ว่า “ผมเห็นกับตา ไม่มีใครรอดชีวิต”
ไม่กี่วันหลังจากนั้น แมร์สั่งอนุมัติปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธ ตั้งทีมสายลับล่าสังหารผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มกันยาทมิฬให้สิ้นซาก ให้คุ้มกับที่พวกมันทำกับลูกหลานชาวยิว
นักกีฬาอิสราเอลเดินทางกลับประเทศทันที เสียงร้องไห้คร่ำครวญดังลั่น ภรรยาของหนึ่งในนักกีฬาที่ถูกสังหารเดินทางไปที่ห้องพักเกิดเหตุ เธอเห็นเลือดมากมายในนั้น หยดน้ำตาและเสียงร่ำไห้ปริออกมา
“เราเพิ่งแต่งงานกันได้ 1 ปีกับ 3 เดือน เราสองคนยังอายุไม่มาก และรักลูกน้อยมาก ตอนนั้นเหมือนเป็นจุดสูงสุดในชีวิตเลย” พลันที่หญิงสาวเห็นโศกนาฏกรรมทุกอย่าง เจ้าตัวก็บอกว่า “ฉันบอกกับตัวเองว่า ถ้าพวกมันสามารถทำแบบนี้ได้ ฉันจะไม่มีวันหุบปาก จะไม่มีวันหยุดพูดเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลเดียว สิ่งนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป”
ทุกวันนี้รัฐบาลเยอรมนียินยอมชดใช้ค่าเสียหาย แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนเงินสูงถึง 28 ล้านยูโร หลังจากต่อสู้เรียกร้องกันมาหลายปี พร้อมยอมรับความผิดพลาดในการช่วยตัวประกัน
โอลิมปิกมรณะที่มิวนิก 1972 เปลี่ยนโฉมหน้าโลกใบนี้อย่างแท้จริง เพราะหลังจากนั้น มันเปิดศักราชแห่งการจี้เครื่องบิน จับตัวประกันของกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีมาบ้าง แต่หลังการสังหารโหดนักกีฬาอิสราเอล ผู้ก่อการร้ายเหิมเกริมขึ้นกว่าเดิม ราวกับว่าเสียงของพวกเขาได้รับการได้ยินผ่านการถ่ายทอดสดของสื่อ
ในเวลาต่อมาสำนักข่าวหลายแห่งมีนโยบายไม่ถ่ายทอดสด หรือให้ค่ากับผู้ก่อการร้ายขณะก่อเหตุ เพราะไม่อยากเพิ่มแสงให้พวกเขาเหล่านี้
ทั้งนี้ โอลิมปิกยุคหลังต่างยกระดับการรักษาความปลอดภัยแบบเข้มงวด เจ้าหน้าที่มีการซักซ้อมภัยทุกรูปแบบ เพื่อหวังไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
นอกจากนี้การฆ่ากันไปมาระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการยิงถูกตัว ฆ่าผิดคน ระเบิดสังหาร ผู้บริสุทธิ์ถูกสังเวยให้กับสัตว์สงคราม และคนปาเลสติเนียนถูกขับไล่ออกจากบ้านตัวเอง ดินแดนที่อยู่กันมา ถูกปราบปราม คนอิสราเอลชอกช้ำ ความขัดแย้งไม่เคยจบสิ้นจนถึงปัจจุบัน
34 ชั่วโมงหลังจับตัวประกัน คณะกรรมการโอลิมปิกพิจารณาแล้วตัดสินใจให้การแข่งขันกลับมาแข่งต่อ ด้วยแนวคิดว่า ‘เกมต้องดำเนินต่อไป’
แม้นักกีฬาหลายคนต่างเตรียมตัวกลับบ้านกันแล้ว แต่เมื่อทุกอย่างให้แข่งต่อ พวกเขาก็ทำหน้าที่ของมัน คนที่ได้เหรียญรางวัลต่างเชื่อว่า
“ตัวประกันที่ถูกสังหารก็อยากให้เกมดำเนินต่อไป”
5
แม็กคีย์เสร็จสิ้นการรายงานข่าวโศกนาฏกรรมนี้ในช่วงเกือบสว่างของวันที่ 6 กันยายน เขาออกจากสตูดิโอพร้อมลูกชาย จิมแต่งตัวในชุดครึ่งท่อน สภาพหมดแรง ระหว่างทางพวกเขาเห็นหมู่บ้านนักกีฬาในสภาพยับเยิน เห็นประตูรั้วที่ผู้ก่อการร้ายปีนรั้ว ทุกอย่างเจ็บปวดอย่างยิ่ง
พลันที่ถึงห้อง เจ้าหน้าที่โรงแรมแจ้งเขาว่า วอลเตอร์ ครอนไคต์ (Walter Cronkite) คนข่าวผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกัน บุรุษที่ได้รับการขนานนามว่า ชายที่น่าเชื่อถือสุดในประเทศ และเป็นไอดอลของจิม ได้ส่งข้อความมาชื่นชมการทำหน้าที่ของเขา
แม็กคีย์เก็บกระดาษนี้ไว้จนถึงวันตาย ผลงานการรายงานเหตุก่อการร้ายกลายเป็นสัญลักษณ์และมาตรฐานการทำงานของสื่อที่เขาสร้างมันขึ้นมา ทั้งการบรรยาย การรายงานข้อเท็จจริง และการใช้ประโยคที่ปลอบประโลมผู้ชม
อย่างไรก็ดี สำหรับชายคนนี้ แม้จะเป็นงานข่าวชิ้นเยี่ยมที่เขารายงาน แม้จะได้รับเสียงชื่นชม แต่เจ้าตัวไม่เคยยินดีด้วย เพราะรู้ดีว่ามันคือความเลวร้ายที่โลกไม่ควรประสบพบเจอ และกีฬาโอลิมปิกไม่ควรต้องมาด่างพร้อยอย่างนี้
ความเจ็บปวดของเขาได้รับการบันทึกไว้ก่อนเสียชีวิตไปในปี 2008 ด้วยวัย 86 ปี มันคือถ้อยคำที่ลูกเล่าว่า พอมีคนแปลกหน้ามายินดีกับการรายงานข่าวในวันนั้นว่า
“คุณทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมมาก”
พ่อของเขา ตำนานผู้ประกาศข่าว จะพูดออกไปเรียบๆ เพื่อย้ำเตือนให้เห็นความจริงของบทสรุปเรื่องนี้
“คุณต้องอย่าลืมนะว่า ในวันนั้นมีผู้บริสุทธิ์ถึง 11 รายที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร”
ข้อมูลอ้างอิง
- https://usopm.org/jim-mckay/
- https://www.hollywoodreporter.com/tv/tv-news/my-dad-me-munich-massacre-352894/
- https://www.cbc.ca/documentarychannel/features/terrorism-at-the-munich-olympic-games-how-an-event-four-decades-ago-has-a-l
- https://www.timesofisrael.com/the-1972-munich-massacre-through-the-eyes-of-the-athletes-in-the-olympic-village/
- https://www.espn.com/gen/s/2002/0903/1426778.html
- https://sfi.usc.edu/news/2024/03/36216-olympic-race-walker-shaul-ladany-survived-bergen-belsen-and-munich-massacre
- https://www.reuters.com/world/germany-agrees-28-mln-compensation-families-munich-olympics-victims-2022-09-02/
- https://time.com/archive/6675662/the-myths-and-reality-of-munich/
- https://www.timesofisrael.com/the-hostages-are-dead-how-munich-olympics-massacre-was-reported-50-years-ago/