1. ฝันร้ายที่เพิ่งเริ่มต้น
ณ ขณะนี้ คาดกันว่ามีตัวประกันที่ถูกจับกุมโดยกลุ่มติดอาวุธฮามาสเฉียด 200 คน หลังพวกเขาก่อเหตุช็อก บุกเข้าไปในอิสราเอล แล้วสังหารโหด จับกุมตัวประกันนำไปซ่อนไว้ ชนิดสร้างความตื่นตะลึงไปทั้งโลก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
ตัวประกันเหล่านี้ หลายคนเป็นชาวอิสราเอล แต่ก็มีคนจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศไทยที่โดนคุมตัวไปด้วย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฉนวนกาซาซึ่งอิสราเอลได้ปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีอย่างหนักหน่วง เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก
สิ่งที่ทุกคนเรียกร้องก็คือสันติภาพ หาใช่สงคราม แน่นอนว่าการกระทำของกลุ่มฮามาสนั้นไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน แต่การรุกรานเข้าไปในฉนวนกาซาของอิสราเอล ก็ไม่มีความชอบธรรมเช่นกัน เพราะจะทำให้พลเรือนบริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตาย
การเจรจาในขณะนี้ มุ่งเน้นให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันทั้งหมด แต่เป็นที่รู้กันว่านี่คือสงคราม ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาด ความเลือดเย็น โหดเหี้ยม และการเพิกเฉย
โลกจะระส่ำอย่างหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
เราได้แต่หวังว่าตัวประกันที่ถูกจับกุมตัวไปจะยังมีชีวิตรอด จะยังมีลมหายใจอยู่ พวกเขาหลายคนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งในดินแดนแห่งนี้ พวกเขามีคนรัก มีคนที่รอคอย
วินาทีแห่งการเป็นตัวประกันนั้นเป็นสิ่งที่ทรมานอย่างมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่า สภาพการณ์แห่งการถูกจับกุมตัวนี้จะยุติลงเมื่อใด นั่นทำให้พวกเขาต้องอยู่ในม่านหมอกแห่งความสะพรึงและความเจ็บปวด โดยไม่รู้ว่ามันจะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน เพราะยิ่งยาวนาน ความหวังที่จะได้กลับไปสู่อ้อมกอดแห่งเสรีภาพ ก็จะยิ่งหม่นหมองลงไปอีก
มันคือฝันร้ายในชีวิตจริง ที่ไม่รู้ว่าจะต้องตื่นหรือหลับต่อดี
2. เรื่องจริงของตัวประกัน
โอลิเวียร์ ดูบัวส์ (Olivier Dubois) เป็นนักข่าวสัญชาติฝรั่งเศส ในวันที่ 4 เมษายน ปี 2021 เขาเดินทางไปยังประเทศมาลี ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา จุดประสงค์ของเขาคือไปสัมภาษณ์กลุ่มผู้ก่อการร้าย
แต่ปรากฏว่าทุกอย่างผิดแผนไปหมด พลันที่เจอกับนักรบคลั่งศาสนา เขาก็โดนจับขณะนั่งอยู่ในรถที่ผู้ก่อการร้ายอ้างว่าจะพาเขาไปสัมภาษณ์
หลังจากนั้นนักข่าวหนุ่มจึงเข้าใจว่าถูกหักหลัง เมื่อถูกมัดมือ ผู้ก่อเหตุก็บอกเขาว่า “ถ้าครอบครัวเอ็งร่วมมือกับเรา แกก็จะได้กลับบ้าน”
นั่นทำให้เขารู้ว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของการลักพาตัวไปแล้ว
หลังไปถึงที่กักขัง ดูบัวส์ก็ถูกมัดให้นอนข้างต้นไม้ มีหมอนเล็กๆ ใบหนึ่ง ถ้าฝนตก โคลนก็จะเปื้อนไปทั่ว
คนลักพาตัวไม่แยแสจะเอาเขาไปขังไว้ในห้องที่มิดชิดเลย เพราะมั่นใจว่าหากดูบัวส์ปลดพันธนาการหนีไปได้ ก็คงจะไม่รอดในดินแดนแห้งแล้งแห่งนี้แน่นอน
“คุณเป็นนักโทษแล้ว ต่อให้นอนใต้ผืนกว้าง แต่เอ็งก็ยังอยู่ในคุกอยู่ดี”
สิ่งที่ดูบัวส์ทำคือ เขาไม่เคยละทิ้งหน้าที่นักข่าว พยายามสังเกต พยายามพูดคุยกับคนที่จับกุมเขา พยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งในจิตใจและร่างกายตัวเอง โดยทุกเช้ามืด เขาจะรำมวยจีนเสมอ
ไม่เพียงเท่านั้นดูบัวส์ยังศึกษาคัมภีร์ศาสนา เพื่อจะได้เข้าใจกลุ่มคนที่จับตัวเขามาให้ถ่องแท้กว่าเดิมด้วย ครั้งหนึ่งนักข่าวหนุ่มได้ถามผู้คุมว่า ทำไมต้องจับตัวเขามาด้วย ทางผู้ลักพาตัวเรียกตอบมาว่า “ขณะนี้เราทำสงครามกับฝรั่งเศสอยู่ ดังนั้นคนฝรั่งเศสก็ถือเป็นศัตรูด้วย”
นั่นเป็นเหตุผลที่ดูบัวส์เข้าใจตรรกะตรงนี้ได้
ช่วงเวลานั้น ไม่ใช่ว่าดูบัวส์ไม่ลองหลบหนี ครั้งแรกเขาปลดเชือกที่มัดตัวได้สำเร็จ ก่อนทะยานออกจากคุกแห่งนั้น แต่ปรากฏว่ารองเท้าแตะเขามันใกล้ขาดแล้ว หากต้องเดินเป็นระยะทางไกลๆ คงจะไม่รอด นักข่าวหนุ่มจึงลอบกลับที่พักก่อนที่ผู้คุมจะตื่น
คราที่สอง เขาไปผิดทาง และโดนจับตัวกลับมา ครั้งที่สาม เขาเจอถนน โบกมือเรียกรถบรรทุก ซึ่งพูดฝรั่งเศสไม่ได้ แต่เมื่อได้ยินดูบัวส์พูดถึงชื่อองค์กรก่อการร้าย พวกเขาก็ขับหนีไป แล้วจากนั้นพวกผู้คุมก็ตามรอยเขาจากรองเท้าแตะ ก่อนจะลากชายคนนี้กลับไปเป็นนักโทษดังเดิม
ตลอดเวลาแห่งความเจ็บปวด ดูบัวส์ได้จดหมายจากครอบครัวและองค์กรระหว่างประเทศ ขั้นตอนเจรจาเกิดขึ้นยาวนานมากกว่า 2 ปีกว่าทางกลุ่มผู้ก่อเหตุจึงบอกว่าดูบัวส์จะได้รับอิสรภาพแล้ว
แต่นักข่าวหนุ่มไม่เชื่อ เพราะเขาเคยคุยกับคนที่โดนจับแบบนี้ หลายครั้งผู้คุมมักจะหลอกให้นักโทษตายใจ เชื่อว่าจะได้รับการปล่อยตัว แต่สุดท้ายทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก
แล้วความหวังก็จะหดหายไปในชีวิต
ดังนั้นความแน่ใจจะเกิดขึ้น เมื่อดูบัวส์กับเพื่อนอเมริกันที่โดนกลุ่มผู้ก่อการร้ายอุ้มถึงในบ้านพัก ถูกพาตัวออกจากคุก รอนแรมหลายวัน จนไปเจอกับทหารฝรั่งเศส
นั่นแหละ พวกเขาถึงจะเชื่อว่า ตัวเองได้รับอิสรภาพแล้วจริงๆ
แต่ภายในใจของพวกเขาหลายคน ไม่เคยรู้สึกแบบนั้น มันยังดูเหมือนติดคุกอยู่ เหยื่อแทบทุกคนเป็นเหมือนกัน นั่นก็คือต้องใช้เวลาอย่างมากในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตปกติ แม้จะทำกิจกรรมดังที่คนทั่วไปทำ
แต่มันก็เป็นอีกชั่วระยะหนึ่ง กว่าทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย
“เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ ที่จะกลับมาเป็นคนปกติอีกครั้ง”
3. ความคลุมเครือจากความจริง
หาใช่เหยื่อที่โดนอุ้มไปเท่านั้นที่จะต้องเผชิญความบอบช้ำ แต่ครอบครัวตัวประกันที่โดนฮามาสจับตัวไปก็ต้องเจ็บปวดอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าคนที่เรารักจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ดังเช่นครอบครัวคนไทยหลายคนที่พยายามวิงวอนรัฐบาลให้การช่วยเหลือปลดปล่อยคนรัก และดังที่รู้กันว่า การปล่อยตัวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วพริบตา แต่มันมีระยะเวลายาวนาน โดยที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบลงที่ตอนไหน ดังนั้นมันจึงสร้างความร้าวรานให้กับคนที่รอคอยอย่างยิ่ง
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแห่งผลลัพธ์จะได้คนรักกลับมาในสภาพใด มีลมหายใจ หรือกลายเป็นศพไปแล้ว
ตัวประกันหลายคนที่โดนฮามาสจับตัวไป บางคนพยายามเรียกร้องสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ ดังเช่นกรณีของ วิเวียน ซิลเวอร์ (Vivian Silver) หญิงชราผู้เดินทางมายังอิสราเอลเมื่อ 50 ปีก่อน หลังสิ้นสุดสงครามยมคิปปูร์ ซึ่งตอนนั้นอิสราเอลก็ถูกโจมตีสายฟ้าแลบ จนเกือบสิ้นชาติเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี สงครามครั้งนั้นแตกต่างจากการโจมตีครั้งนี้ เพราะเมื่อ 50 ปีก่อน อิสราเอลโดนโจมตีโดยประเทศอียิปต์ ซีเรีย แต่ครั้งนี้มันคือการก่อเหตุโดยกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
สำหรับซิลเวอร์นั้น เธออุทิศชีวิตเรียกร้องให้ยกเลิกการยึดครองแบบผิดกฎหมายของอิสราเอล ประเทศที่เธอเป็นพลเมืองด้วย และพยายามยุติความขัดแย้งระหว่างคนปาเลสไตน์กับคนอิสราเอล เธอก่อตั้งสถาบันเพื่อสันติภาพและการพัฒนา มุ่งหวังให้คนอาหรับกับคนยิวทำงานร่วมกัน และสร้างสังคมหลากหลายขึ้นมา โดยเข้าใจในตัวตนและวัฒนธรรมของตัวเอง และเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา
อย่างไรก็ดี ลูกชายเธอไม่รู้เลยว่า ตอนนี้แม่โดนลักพาตัวไป หรือเสียชีวิตไปแล้ว สถานการณ์ยังคงคลุมเครือ แต่ก็ยังหวังว่าเธอจะยังอยู่ในโลกใบนี้ และจะได้รับการปล่อยตัวกลับมาที่บ้านอีกครั้ง
4. อย่าสูญสิ้นความเป็นคน
ขณะนี้ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วทั้งโลก ผู้คนต่างเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกัน หลายคนถือภาพตัวประกันเพื่อย้ำเตือนความจริง และกระตุ้นให้โลกรู้ว่า ทุกคนมุ่งหวังให้สถานการณ์เลวร้ายนี้ยุติลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้มีการแปะใบปลิว ซึ่งมีรูปคนโดนจับเป็นตัวประกันแปะตามสถานที่สาธารณะ เพื่อบอกเล่าว่าพวกเขาไม่ได้ถูกลืม และทุกฝ่ายพยายามหาทางช่วยแก้ไขปัญหานี้อยู่
ศิลปินบางคนช่วยประสานข้อมูลจากครอบครัวเหยื่อ แล้วจัดแสดงภาพตัวประกันเหล่านี้ โดยเขาย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในกาซานั้นเป็นเรื่องเลวร้ายมาก
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องแยกความขัดแย้งที่มีมานมนานระหว่างดินแดนให้ออก และการกระทำของฮามาสเป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างมาก การสังหารผู้บริสุทธิ์ การลักพาตัวประกัน เช่นเดียวกันการตอบโต้ของอิสราเอล ที่ทำให้คนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมหาศาล สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน
เหตุการณ์นี้เราไม่ควรมองแบบขาวกับดำ แต่เราในฐานะมนุษย์ที่รักในสันติภาพ ควรจะมีสิทธิ์ตะโกนประณามความไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน และเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้ง มุ่งหวังในการแก้ปัญหาโดยเร็ว
ดังที่ นิโคลัส คริสตอฟ (Nicholas Kristof) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งเดินทางไปยังฉนวนกาซาเพื่อทำข่าวหลายครั้ง และได้สัมภาษณ์คลุกคลีกับผู้คน รับรู้ความเกลียดชังอิสราเอลจากคนปาเลสไตน์ และเข้าใจความเจ็บปวดของคนในฉนวนกาซา
อย่างไรก็ดีเขาย้ำว่า ช่วงเวลาขัดแย้งนี้ เมื่อคุณแคร์แค่คนบางกลุ่ม และละเว้นอีกฝ่าย เราก็จะสูญเสียความเป็นมนุษย์ในทันที
เพราะหาใช่ทุกคนในปาเลสไตน์ที่จะคิดแบบฮามาส และหาใช่คนในอิสราเอลที่จะเห็นชอบการรุกรานกาซาอย่างรุนแรงนี้
ความเกลียดชังถูกเพาะบ่มมาอย่างยาวนาน ยากจะแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ถ้าไม่ทำในวินาทีนี้ ก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้
แถมยิ่งกินเวลานานเท่าใด ฝันร้ายของเหล่าตัวประกันก็จะแจ่มชัดและเจ็บปวดยิ่งกว่าเดิมด้วย
ตัวประกันชาวอเมริกันคนหนึ่งที่โดนจับตัวไปในช่วงไล่เลี่ยกับดูบัวส์บอกว่า เขาถูกซ้อมถูกรุมกระทืบ แม้จะพยายามบอกให้หยุด อย่าทำ แต่เสียงอ้อนวอนนี้ก็ไปไม่ถึงหูผู้ก่อการร้าย
ในเสี้ยววินาทีนั้น ตัวประกันบอกว่า อยากให้เฮลิคอปเตอร์โผล่มาแล้วทิ้งระเบิดใส่ตรงนี้เลย
“เพราะผมไม่อยากตกเป็นตัวประกัน”
ยิ่งอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น มนุษย์ที่ต่อให้เข้มแข็งแค่ไหน ก็ต้องสั่นคลอนกันบ้าง เพราะทุกนาทีที่ถูกกักกัน ความหวังก็จะถูกทำลาย ยิ่งโดนทรมานทั้งทางกาย ทั้งทางจิตใจด้วยแล้ว มันทำให้เหล่าตัวประกันเหมือนตายทั้งเป็นเลยด้วย
“เขาเกลียดที่ผมเป็นอเมริกัน”
ความเกลียดเพียงเพราะอีกฝ่ายเป็นคนของประเทศหนึ่ง เกลียดเพราะเขาไม่เหมือนเรา เกลียดเพราะเราแตกต่างจากเขา เป็นความรุนแรงที่เราต้องเรียกร้องให้ยุติโดยเร็ว
5. บทสรุป
ตัวประกันที่เคยโดนจับกุมตัวไปย้ำว่า ความพยายามที่จะใช้ชีวิตปกติได้นั้นยากเย็นเป็นอย่างยิ่ง กว่าจะเข้าที่เข้าทาง ก็ต้องใช้เวลาสักพัก ทุกอย่างต้องฟื้นฟูทั้งจากร่างกายและจิตใจ
“เราค่อยๆ เรียนรู้ที่จะกลับคืนสู่ความเป็นคนอีกครั้ง”
นี่คือคำพูดของตัวประกันที่บอกกับสื่อ ถึงความรู้สึกหลังตื่นจากฝันร้ายในชีวิตจริงได้แล้ว
สุดท้ายนี้ผู้เขียนมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพในดินแดนแห่งนี้และจากทั่วทั้งโลก สงครามหาใช่สิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาไม่ สิ่งสำคัญที่สุด อยากให้ตัวประกันทุกคนปลอดภัย คนปาเลสไตน์ในกาซาปลอดภัย คนในอิสราเอลปลอดภัย แม้จะฟังดูเป็นนามธรรม และฝันเพ้อๆ แต่ก็อยากให้มันเป็นความจริงเสียเหลือเกิน
ทุกวันนี้ แทบจะไม่มีอะไรที่แก้ปัญหาได้ด้วยสงครามและความรุนแรง บางอย่างก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย และความร่วมมือจากคนทั้งโลกก็มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดสันติภาพฝังรากแน่นในแผ่นดินนี้
“สุดท้ายนี้หวังว่าตัวประกันทุกคนจะได้กลับบ้าน ได้กลับไปหาคนที่เขารัก และสงครามความขัดแย้งครั้งนี้ จงยุติลงโดยเร็ว”
Tags: ฮามาส, อิสราเอล, Haunted History