“ตำรวจไม่เคยบอกผมเรื่องสิทธิเหล่านี้เลยตลอดการสอบปากคำ”

1

วันที่ 13 มีนาคม 1963 แครอลล์ คูลีย์ (Carroll Cooley) นักสืบหนุ่มสังกัดตำรวจของรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เคาะประตูห้องพักในแฟลตแห่งหนึ่ง หญิงสาวออกมาเปิด โดยอุ้มทารกตัวน้อยและมีเด็กอีก 2 คนยืนอยู่ข้างๆ

ทว่าเธอไม่ใช่เป้าหมายของเขา

“มิแรนดาอยู่ไหมครับ”

หญิงสาวพยักหน้า ก่อนเดินไปในห้องนอนเพื่อปลุกสามีให้ตื่น

“มีตำรวจมาหาคุณนะ”

ชายหนุ่มงัวเงียก่อนเดินไปที่ประตูเพื่อพบเจ้าหน้าที่ โดยยังไม่ทันได้ใส่เสื้อ

“มีอะไรครับ คุณนักสืบ” 

“ผมไม่อยากคุยเรื่องนี้ต่อหน้าครอบครัวคุณ เราไปคุยกันที่โรงพักจะดีกว่า สะดวกไหม”

เออร์เนสโต มิแรนดา (Ernesto Miranda) อายุ 23 ปี มึนงง แต่เขาก็ยอมไปกับนักสืบ โดยไม่ได้ถูกใส่กุญแจมือ เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ เจ้าตัวถูกพาตัวเข้าห้องชี้ตัว ร่วมกับชายอีก 3 ราย เขาไม่เห็นและไม่รู้ว่า นอกห้องนั้นมีหญิงสาวอายุเพียง 18 ปี ยืนอยู่กับตำรวจ

“น่าจะเป็นคนนี้นะ” เธอชี้ไปที่มิแรนดา

นี่เพียงพอให้ตำรวจพาตัวชายหนุ่มออกมา

“ผมทำอะไรผิดเหรอ”

“นี่เป็นคำตอบที่ไม่ดีเลย” คูลีย์ นักสืบที่พาตัวเขาเข้าโรงพักส่ายหัว ก่อนพาตัวชายหนุ่มเข้าห้องสอบปากคำทันที กินเวลายาวนาน 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ทั้งกดดัน ทั้งสืบสวนพูดคุย

สุดท้ายมิแรนดายอมเขียนคำรับสารภาพว่า ได้ก่อเหตุอาชญากรรมสุดสะพรึง นั่นก็คือลักพาตัวหญิงสาววัย 18 ปีไปข่มขืน ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ ติดคุก 30 ปีทีเดียว

ชายหนุ่มเรียนจบแค่ชั้น ม.2 ไม่ได้ฉลาด แต่เขาเขียนหนังสือเป็น ในประโยคเริ่มต้นของคำรับสารภาพ เปิดด้วยวลีสุดสะพรึงว่า

“มันเริ่มจากผมเห็นเธอเดินอยู่ที่ถนน”

2

หญิงสาวอายุ 18 ปีเล่าว่า ขณะที่เธอกำลังเดินกลับบ้านจากป้ายรถเมล์ในช่วงกลางดึก หลังเพิ่งเลิกงานที่โรงภาพยนตร์ เจ้าตัวก็ถูกกระชากเข้าไปในรถ ถูกมัดมือไพล่หลัง และถูกสั่งให้นอนคว่ำที่เบาะหลัง

รถยนต์คันนี้ขับไปได้ประมาณ 20 นาที ก็จอดลงที่นอกเมือง ชายคนขับขยับตัวจากเบาะหน้ามาที่เบาะหลัง เพื่อข่มขืนเธอ ก่อนจะเอาเงินสดแล้วสั่งให้หญิงสาวนอนนิ่งที่เบาะหลัง ผู้ก่อเหตุขับรถพาเธอไปส่งยังจุดที่อุ้มมา ก่อนจะหายตัวไป

เหยื่อจำได้ว่า รถที่ถูกพาตัวไปนั้น น่าจะเป็นสีเขียวไม่ก็สีเทา แต่มันไม่แน่ชัด เพราะตอนถูกก่อเหตุเป็นช่วงกลางคืน อย่างไรก็ดีหญิงสาวจำได้ว่า ในรถได้กลิ่นน้ำมันสนอย่างแรง 

ตำรวจรับแจ้ง คูลีย์ดำเนินการสอบสวน 1 สัปดาห์ผ่านไป หญิงสาวแจ้งมาว่า ญาติของเธอเห็นรถคันหนึ่งคล้ายกับคันที่ก่อเหตุขับผ่านไป โดยจดทะเบียนรถไว้ด้วย เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบข้อมูลในระบบ ก่อนจะพบว่าเจ้าของคือมิแรนดา ซึ่งเคยติดคุกในคดีปล้นมาก่อนด้วย

นั่นทำให้เจ้าหน้าที่บุกไปหาที่บ้าน และพาตัวเขาเข้าห้องสอบปากคำทันที กินเวลาไม่นาน ชายหนุ่มก็รับสารภาพว่า เป็นผู้ลงมือข่มขืนหญิงสาววัยเพียง 18 ปี

ขณะที่ตำรวจคุยกับมิแรนดา พวกเขาก็พาผู้เสียหายเข้ามาในห้อง คูลีย์ถามชายหนุ่มวัย 23 ปีว่า “นี่คือผู้หญิงคนที่นายข่มขืนใช่หรือไม่”

“ใช่ครับ”

นี่คือจุดสิ้นสุดของการสอบสวน คำรับสารภาพออกมาอย่างง่ายดาย คดีถูกไขอย่างหมดจดสมบูรณ์ ตำรวจโล่งใจ คนเลวหมดไปจากสังคมอีก 1 ตัว

แต่ใครเลยจะกล้าคิดว่า มิแรนดา ชายหนุ่มคนนี้กับคดีของเขาจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในโลกใบนี้

ทุกอย่างเกิดขึ้น เมื่อทนายของมิแรนดาถูกพาตัวให้มาว่าความในคดีนี้ เมื่อเขาอ่านสำนวนทั้งหมด เจ้าตัวก็พบช่องโหว่ในเรื่องนี้ และมันถึงขั้นอาจทำให้ลูกความพ้นผิดในสิ่งที่เขาก่อเหตุด้วย

“นี่คือการจงใจละเว้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ”

มิแรนดาฟังทนายเล่าแนวทางการสู้คดีจนจบ ก็ร้องลั่น “ผมไม่เคยรู้มาก่อน ตำรวจไม่เคยบอกผมเรื่องสิทธิเหล่านี้เลย ตลอดการสอบปากคำ”

ทนายฟังแล้วก็พูดออกมาอย่างมั่นใจว่า “นั่นก็เพราะตำรวจทำผิดกฎหมายเสียเองไงล่ะ”

3

ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่มีการแก้ไขครั้งที่ 5 มีบทบัญญัติแจ้งว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญานั้นจะต้องไม่ถูกบังคับให้กล่าวโทษตนเองในการกระทำผิด และจะต้องไม่ถูกจำกัดเสรีภาพ โดยปราศจากกระบวนการกฎหมายที่ชอบธรรม

ฟังดูแล้วเป็นภาษากฎหมาย แต่ทนายของมิแรนดาชี้ให้เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจะแสดงถึงความบกพร่องของตำรวจในคดีนี้ นั่นก็คือเจ้าหน้าที่ไม่เคยแจ้งให้ชายหนุ่มรู้เลยว่า เขากำลังจะถูกจับ แถมยังพาตัวเขาเข้าห้องสอบปากคำโดยไม่มีทนาย อันผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขครั้งที่ 6 ด้วย 

คดีของมิแรนดาจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะดำเนินคดีได้เลย เพราะบ่งชี้หลายจุดว่า ตำรวจทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด

ข้อความที่บัญญัติไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ชัดว่า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะเรียกร้องขอให้มีทนายความได้ และการพาตัวไปสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความที่ตำรวจต้องจัดหาให้ จึงเป็นขั้นตอนที่ไม่ชอบธรรมแบบชัดเจนแจ่มแจ้ง

ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงไม่มีสิทธิใช้หลักฐานที่ได้มา ปรักปรำชายหนุ่มในชั้นศาลโดยเด็ดขาด และเมื่อมันเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่ชี้ว่า มิแรนด้าทำผิด เท่ากับว่าตำรวจไม่มีอะไรอื่นเลยที่จะบอกว่า ชายหนุ่มคือผู้ก่อเหตุในคดีนี้ จึงต้องยกฟ้องและปล่อยตัวทันที

เมื่อมิแรนดาฟังแนวทางการสู้คดีแล้ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การในชั้นศาลทันที อย่างไรก็ดีฝ่ายคูลีย์และอัยการแย้งว่า มิแรนดานั้นเขียนคำรับสารภาพด้วยความเต็มใจ ไม่ได้ถูกบังคับ และยังรู้ว่าสิ่งที่เขียนลงไปจะถูกนำไปใช้ดำเนินคดีเขาด้วย

“แล้วตำรวจหรือเจ้าหน้าที่คนไหน ได้บอกให้เขารับรู้สิ่งนี้บ้างล่ะ” ทนายโต้แย้ง

“มิแรนดาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เขาเขียนหรือพูดไปจะทำให้เขาติดคุกได้ ไม่มีใครบอกให้รู้ความเสี่ยงนี้เลยนะ”

สิ่งที่ทนายย้ำต่อลูกขุนก็คือ มิแรนดาไม่ได้ฉลาดหลักแหลม เขาก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป ที่รู้ไม่ทันเหลี่ยมของตำรวจ ที่ต้องการรีดคำรับสารภาพออกมา

เพราะมิแรนดาเป็นเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เขาหยุดเรียนตอน ม.2 แล้วไปก่อเหตุอาชญากรรม ลักขโมย พยายามข่มขืน ก่อนจะสมัครเป็นทหาร แต่ก็ถูกปลดออก แล้วก็ไปก่อเหตุอาชญากรรมมากมาย จนเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น

แม้จากประวัติถือว่าเขาเป็นอาชญากรตัวอันตรายทีเดียว แต่กระนั้นการที่เจ้าตัวถูกตำรวจใช้อุบายหลอกให้รับสารภาพก็ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเราถือหลักการว่า ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ดังนั้นโจร อาชญากรก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะรู้และปกป้องตัวเองจากเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน

“เขาถึงต้องมีทนายมาให้คำปรึกษาไงเล่า”

อย่างไรก็ดีการต่อสู้ในศาลชั้นต้นจบลงที่มิแรนดาแพ้ ลูกขุนตัดสินจากคำรับสารภาพที่เขาเขียนว่าเป็นความผิด จึงต้องโทษติดคุกถึง 30 ปี

กระนั้นทนายของมิแรนดาไม่ยอมแพ้ ขออุทธรณ์ โดยชี้ให้เห็นความบกพร่องของตำรวจในการจับกุมและสอบปากคำเขา

ช่วงเวลานั้นกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่า คดีนี้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ใช้ต่อสู้ เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้นกว่าเดิม สังคมจะต้องตระหนักในสิทธิของผู้ถูกจับกุม และอำนาจของตำรวจต้องถูกจำกัดตรวจสอบ 

กลุ่มนักกฎหมายจึงเข้ามาช่วยมิแรนดา และลากคดีนี้ขึ้นไปถึงศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในปี 1966 จนนำไปสู่คำตัดสินแบบเฉียดฉิว โดยคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดลงมติ 5-4 พลิกคำตัดสินในศาลรัฐแอริโซนา โดยเน้นว่า มิแรนดาถูกกระทำโดยมิถูกต้องตามกฎหมายจากตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่แจ้งว่า ชายหนุ่มกำลังจะถูกจับ ทั้งไม่บอกว่า สิ่งที่เขาพูดเขาเขียนไป จะถูกใช้เล่นงานเขาในชั้นศาลได้

ทางศาลสูงสุดได้เน้นย้ำว่า ตำรวจจะต้องแจ้งให้ผู้ต้องหารับทราบสิทธิของตัวเอง ตั้งแต่ตอนถูกจับกุมและตอนถูกสอบปากคำเสมอ

และที่สำคัญ ทางการต้องแจ้งกับผู้ต้องหาไว้ก่อนว่า เจ้าตัวมีสิทธิที่จะไม่พูดอะไรที่เป็นโทษกับตัวเองด้วย นี่คือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย

พลันที่คำตัดสินนี้ออกมา มันได้เปลี่ยนรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปทั่วโลกทันที

ทางการต้องปรับตัว ก่อนจะนำไปสู่คำพูดที่เราจะพบได้ในภาพยนตร์ นั่นก็คือ เมื่อตำรวจจับกุมใครสักคน เจ้าหน้าที่จะต้องพูดว่า

“นายมีสิทธิที่จะไม่พูด เพราะทุกสิ่งที่พูด จะถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานภายหลังได้ นายมีสิทธิที่จะมีทนาย ถ้าไม่มี เราจะจัดหาให้ นายเข้าใจสิทธิทั้งหมดแล้วใช่ไหม

“เอาละ ฟังแล้ว ยังอยากจะคุยกับเจ้าหน้าที่ต่อไหม”

คำพูดประโยคยาวๆ นี้ถูกเรียกสั้นๆ เป็นเกียรติให้กับอาชญากรในคดีนี้ ว่า 

‘สิทธิมิแรนดา’

4

เวลาต่อมาตำรวจทั่วทั้งโลกปฏิบัติรับเอาสิทธิมิแรนดาไปใช้ พวกเขาจะแจ้งให้ผู้ถูกจับกุมรับทราบว่า เจ้าตัวมีสิทธิร้องขอทนาย และจะไม่พูดกับตำรวจเลยก็ได้ แต่หากพูดจงรับรู้ว่า สิ่งที่พ่นออกจากปาก มีสิทธินำไปสู่การติดคุกได้

สิทธิมิแรนดาถูกยกระดับยิ่งขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ริเริ่มอัดเสียงการสอบปากคำ การถ่ายวิดีโอ เพราะเมื่อแจ้งให้ผู้ต้องหารู้สิทธิตัวเองแล้ว ก็สามารถเก็บหลักฐานอย่างละเอียดได้หมด 

แต่หากคนร้ายไม่ประสงค์ ไม่ยินยอม ร้องขอทนาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับฟังและปฏิบัติตาม มีประชาชนที่ถูกจับกุมอย่างมิชอบ รอดคุกเป็นจำนวนหลายราย สิทธิพลเมืองได้รับการเชิดชู สังคมได้พัฒนา ตำรวจก็มีแนวทางการทำงานที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ดูเหมือนทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ทั้งหมด

ยกเว้นเพียงคนเดียว

นั่นก็คือ มิแรนดานั่นเอง

5

เมื่อศาลสูงสุดตัดสินว่า คดีของมิแรนดาไม่ชอบตามกฎหมาย นั่นทำให้คำรับสารภาพที่เจ้าตัวเขียนถือว่า เป็นหลักฐานที่ได้มามิชอบ จึงไม่อาจถูกใช้ในชั้นศาลได้

อย่างไรก็ดีในปี 1967 หลังชนะคดีในศาลสูงสุดเพียงปีเดียว เจ้าหน้าที่ก็ได้รวบรวมหลักฐานใหม่ และก็เป็นคูลีย์ที่ได้รับโอกาสแก้ตัวจับกุมมิแรนดาใหม่อีกครั้ง 

ในเมื่อไม่อาจใช้คำรับสารภาพเดิมได้ นักสืบคูลีย์ก็มาเหนือเมฆไว้ลายตำรวจ โดยการพบหลักฐานใหม่ และนำตัวอดีตภรรยาของชายหนุ่มไปขึ้นให้การ โดยหญิงสาวบอกว่า ช่วงเวลาที่ติดคุกนั้น

“มิแรนดารับสารภาพกับฉันเองว่า เขาเป็นคนข่มขืนเด็กผู้หญิงคนนั้น”

แค่นั้นก็เพียงพอให้ชายหนุ่มต้องกลับเข้าสู่คุกอีกครั้ง 

ขณะเป็นนักโทษ มิแรนดามีความประพฤติที่ดีเยี่ยม จนได้รับทัณฑ์บนให้พ้นโทษในปี 1972 หลังจากติดคุกไปเพียง 5 ปีเท่านั้น เมื่อออกมาเจ้าตัวกลายเป็นคนดังมีชื่อเสียง และชายหนุ่มได้ทำการขายบัตรสิทธิมิแรนดาให้กับประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ดีสันดานของมิแรนดาเป็นอาชญากรอย่างแน่แท้ ไม่นานเขาก็ฝ่าฝืนทัณฑ์บนจนต้องกลับไปสวมชุดนักโทษอีกครั้ง ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาในปี 1975

หลังได้รับอิสรภาพ มิแรนดารีบตรงดิ่งไปที่ร้านเหล้าใกล้บ้านน้องชาย เพื่อดื่มกินและโชว์ตัวในฐานะคนดัง และแล้วในวันที่ 31 มกราคม 1976 จุดจบเขาก็มาถึง

พยานเผยว่า ช่วงก่อนเกิดเหตุ มิแรนดานั่งเล่นไพ่อยู่กับชาย 2 คน จากนั้นก็มีปากเสียงนำไปสู่การทะเลาะวิวาท 

“เอาเงินของแกไปซะ” ใครสักคนในวงไพ่ตะโกนขึ้นมา

“ไม่ ทำแบบนี้มันไม่ถูก” มิแรนดาพูดประโยคสุดท้ายในชีวิต

จากนั้นใครสักคนในวงพนันได้ใช้มีดแทงเข้าที่ตัวของเจ้าของชื่อสิทธิอันโด่งดัง ทำให้มิแรนดาเสียชีวิตทันที เจ้าหน้าที่จับกุมชาย 2 คนที่เล่นไพ่อยู่กับผู้ตาย โดยก่อนใส่กุญแจมือ ตำรวจได้อ่านสิทธิมิแรนดาให้ฟังด้วย แล้วพาตัวไปโรงพัก

อย่างไรก็ดีไม่มีใครถูกดำเนินคดี ตำรวจไม่เคยจับกุมมือมีดที่ปลิดชีพมิแรนดาได้เลย มันกลายเป็นคดีปริศนาที่ชวนน่าตกใจไม่ใช่น้อย เพราะดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยากในการหาคนร้าย แต่ทางการก็ไม่อาจหาตัวฆาตกรในคดีนี้ได้จนถึงปัจจุบัน

ทางเหล่าตำรวจที่เคยจับกุมเขา เมื่อได้รับทราบข่าว ต่างตื่นตกใจ ทางคูลีย์เองก็เช่นกัน เจ้าตัวได้บอกกับนักข่าวว่า แม้เจ้าตัวจะกลายเป็นชื่อของสิทธิที่ตำรวจต้องปฏิบัติตาม แต่ชีวิตจริงมิแรนดากลับต้องมานอนตายบนพื้นสกปรกในร้านเหล้า

มิแรนดาเป็นอาชญากรโดยกำเนิด ช้าหรือเร็ว เขาก็ต้องทำผิดและต้องติดคุกอีกครั้ง

คูลีย์ นักสืบที่เคยสอบปากคำมิแรนดาพูดไว้ว่า “สังคมกล่าวหาว่าผมพยายามบังคับให้เขาเขียนคำรับสารภาพ แม่งโคตรไร้สาระที่สุดเลย”

เพราะชายหนุ่มก็รับสารภาพเองว่า ได้ก่อเหตุข่มขืนเด็กหญิงวัย 18 ปีเอง แต่เพราะเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกขั้นตอนจึงถูกยกฟ้อง แต่สุดท้ายเขาก็ต้องชดใช้ในสิ่งที่ก่อเหตุในเวลาต่อมา จากความปากพล่อยของตัวเอง และตำรวจก็หาพยานเชิงประจักษ์มายืนยันว่า เขาทำผิดกฎหมายเองด้วย ซึ่งผลงานของคูลีย์นี้เอง ทำให้เจ้าตัวได้รับการยกย่องจากผู้บังคับใช้กฎหมาย ในฐานะนักสืบที่กัดไม่ปล่อย ไม่ยอมให้อาชญากรลอยนวลจนถึงปัจจุบัน

คูลีย์บอกกับนักข่าวว่า “มีเจ้าหน้าที่หลายคนนะ รีบโทร.มาหาผม บอกไอ้มิแรนดามันพบกับจุดจบที่เหมาะสมแล้วล่ะ

“แต่ผมไม่ดีใจแม้แต่น้อยเลย” 

เพราะในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อความสงบสุขของสังคมแล้ว

“ผมไม่เคยมีความสุข ที่ได้เห็นเขาถูกฆ่าตายแบบนั้น”

“และหากผมได้ทำคดีนี้ ผมจะล่าตัวฆาตกรที่ก่อเหตุกับเขา มาดำเนินคดีอย่างแน่นอน”

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.history.com/articles/miranda-rights#The-Miranda-Warning

https://www.azcentral.com/story/news/local/arizona/2025/03/17/where-did-miranda-rights-come-from-arizona-case/80960072007/

https://www.azcentral.com/story/news/local/phoenix/2016/06/11/miranda-and-right-remain-silent-phoenix-story/85206416/

https://www.azcentral.com/picture-gallery/news/local/arizona/2024/11/25/ernesto-miranda-rights/74189703007/

https://www.police1.com/history/articles/the-story-of-ernesto-miranda-bTPZF4RTVn3zBgNz/

https://time.com/archive/6890141/the-law-catching-up-with-miranda/

https://guides.loc.gov/miranda-v-arizona/timeline

https://www.nytimes.com/1976/02/01/archives/miranda-slain-main-figure-in-landmark-suspects-rights-case.html

Tags: , , , ,