เผชิญหน้ากับฆาตกรต่อเนื่อง

วันที่ 14 กันยายน 1988 เรนี แทชเนอร์ (Renee Taschner) เดินอยู่บนถนนทางหลวงที่ 40 ในรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งในตอนนั้น โจ ไบเดน (Joe Biden) ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ ถนนสายนี้ยามค่ำคืนค่อนข้างเปลี่ยว มันเป็นถนนทอดยาว แทชเนอร์นุ่งสั้นแต่งตัวยั่วยวนคล้ายหญิงขายบริการ แต่ในตัวของแทชเนอร์นั้นพกปืนและมีไมโครโฟนจิ๋วซ่อนอยู่ เธอไม่ได้เป็นหญิงขายบริการจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้ 4 เดือน เพิ่งเรียนจบโรงเรียนพลตำรวจ ด้วยวัยเพียง 23 ปี ผู้บังคับบัญชาให้เธอปฏิบัติภารกิจพิเศษ ด้วยการปลอมตัวเป็นเหยื่อล่อหย่อนลงไปในถนนสายนี้เพื่อไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่อง

ตำรวจหญิงมือใหม่ถูกสอนให้ทำตัวเหมือนโสเภณี มีเทคนิคหลายอย่างที่แทชเนอร์ต้องจำอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ใครสงสัยว่าเธอคือตำรวจ ขณะที่เดินทอดกายบนถนนสายนี้ มีรถหลายคันชะลอจอดใกล้ๆ ชายที่ขับรถมองเธอด้วยความสงสัย บางคนเปิดประตูคุย บางคนเพียงแค่จอดมอง แต่ส่วนใหญ่มักจะขับผ่านไป อย่างไรก็ดี มีรถแวนยี่ห้อฟอร์ดสีน้ำเงินคันหนึ่งขับผ่านเธอกลับไปกลับมาถึง 7 รอบด้วยกัน จากนั้นรถคันนี้ได้ขับมาจอดริมทางตรงหน้าเธอพอดี

หญิงสาวเริ่มตื่นกลัวและแอบพูดผ่านไมค์ถึงเจ้าหน้าที่บนรถที่คอยคุ้มกันอยู่ว่า หากได้ยินเสียงเธอพูด ขอให้บีบแตรส่งสัญญาณ พวกเขาบีบแตรเป็นสัญญาณตอบ ทำให้เธอโล่งใจและใจกล้าพอจะเดินไปที่รถแวนคันนั้น ประตูข้างรถเปิดออก คนขับรถหันมาจ้องหน้าแทชเนอร์ ตำรวจหญิงมือใหม่บอกว่า ชายคนนี้แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่จอดรถหยุดมองเธอ 

“ดวงตาเขาว่างเปล่า เย็นชาเหมือนคนไร้ชีวิต”

ไหวพริบของแทชเนอร์ยังดี เธอเห็นว่าในรถมีพรมสีน้ำเงินและอุปกรณ์ช่างไม้ทั่วไป ในเสี้ยววินาทีนั้น ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบแอบดึงเส้นใยพรมออกมาเก็บไว้ ขณะที่ชายคนดังกล่าวชวนให้ขึ้นรถ เธอปฏิเสธ เขาถามย้ำ เธอจึงบอกว่าปวดหัว คงเพราะปาร์ตี้หนักและอยากจะนอนเต็มแก่ ชายคนดังกล่าวจ้องหญิงสาวด้วยความสงสัย ก่อนจะขับรถออกไป

หลังจากรถแวนสีน้ำเงินจากไป แทชเนอร์กดไมค์คุยกับตำรวจในรถคันหลัง พวกเขาจดทะเบียนรถไว้แล้วขับมารับเธอด้วยความโล่งอก

จากการตรวจสอบทะเบียนรถคันดังกล่าวพบว่า เจ้าของคือสตีเฟน เพนเนลล์ (Steven Pennell) ช่างไฟฟ้าวัย 31 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม มีครอบครัวดูอบอุ่น แต่ใครจะรู้ว่าอีกด้านหนึ่งชายคนนี้คือคนที่สื่อตั้งฉายาให้ว่า ‘นักฆ่าแห่งทางหลวงที่ 40’ (The Route 40 Killer)

เหยื่อหญิงสาวผู้เคราะห์ร้าย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1987 ตำรวจพบศพหญิงสาวบนถนนทางหลวงที่ 40 ในรัฐเดลาแวร์ สภาพถูกทุบตีด้วยค้อน หน้าอกถูกชำแหละ สภาพศพแหลกเละ ที่น่าแปลกใจคือคนตายไม่ได้ถูกข่มขืน ตำรวจพบรอยสักที่ตัวคนตาย จึงนำไปสู่การระบุชื่อผู้เสียชีวิตได้ เธอคือ เชอร์ลีย์ เอลลิส (Shirley Ellis) อายุ 23 ปี กำลังเรียนเป็นพยาบาล 

วันเกิดเหตุ เอลลิสไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ ตัวหญิงสาวมีประวัติเคยทำงานเป็นสาวขายบริการมาก่อน โดยเฉพาะถนนทางหลวงที่ 40 นี้ หลายครั้งจะมีโสเภณีหญิงมายืนทอดน่องเชื้อเชิญชายหนุ่มให้จ่ายเงินใช้บริการอยู่เป็นประจำ เอลลิสกำลังจะกลับบ้านโดยการโบกรถที่ขับผ่านไปมาบนถนนเส้นนี้ เนื่องจากบ้านเธออยู่ไม่ไกลมากนัก หลายครั้งเธอเดินกลับบ้าน แต่บางครั้งเธอก็โบกรถคนที่ขับผ่านไปมา ตำรวจพบสายไฟอยู่ที่ผมของเธอ จึงตามรอยเบาะแสนี้ไป แต่คว้าน้ำเหลว ไม่พบความคืบหน้าหรือผู้ต้องสงสัยใดๆ เลย

ในปีต่อมา วันที่ 29 มิถุนายน 1988 ตำรวจพบศพ แคทเธอรีน เดเมาโร (Catherine DiMauro) วัย 31 ปี สถานที่เกิดเหตุคือถนนทางหลวงที่ 40 ผู้ตายเป็นหญิงขายบริการ สภาพศพถูกชำแหละหน้าอก มีรอยช้ำตามตัว ถูกรัดคอจนตาย และมีเทปพันสายไฟอยู่ที่ผม แต่ตำรวจพบเส้นไฟเบอร์สีน้ำเงินและสีแดงที่ตัวศพ

จุดนี้เองที่ตำรวจชุดสืบสวนสังหรณ์ใจว่าสิ่งที่พวกเขากลัวจะเป็นความจริง นั่นคือมีฆาตกรโหดเหี้ยมกำลังไล่ฆ่าคนอยู่บนถนนสายนี้ เจ้าหน้าที่ไม่รอช้า ตั้งชุดพิเศษขึ้นมาทันที มีอำนาจสามารถเรียกกำลังพลและเฮลิคอปเตอร์สอดส่องถนนเส้นนี้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังติดต่อไปยังสำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ เพื่อขอความรู้ด้านนี้ แม้ผู้ก่อเหตุจะฆ่าคนไปเพียง 2 ศพ ตามหลักสูตรทฤษฎีของเอฟบีไอแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่พิเศษ จอห์น ดักลาส (John Douglas) ซึ่งวิจัยเรื่องฆาตกรต่อเนื่องได้ให้ความช่วยเหลือ (ต่อมาเขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับฆาตกรเหล่านี้ และถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ชื่อว่า Mindhunter)

เอฟบีไอเขียนลักษณะการก่อเหตุของคนร้าย โดยดูจากหลักฐานทุกอย่างที่ชุดสืบสวนนำเสนอ เจ้าหน้าที่ดักลาสสันนิษฐานว่าฆาตกรน่าจะอายุราว 25-35 ปี และมีแนวโน้มจะทรมานเหยื่อมากขึ้นกว่าเดิม คาดว่าอาศัยอยู่ในละแวก 8 กิโลเมตร รอบจุดที่ทิ้งศพ เคยคุกคามรังแกผู้หญิงที่เขาเคยคบด้วย และเขาจะต้องขับรถแวนหรือรถบรรทุก อุปกรณ์การฆ่าทั้งค้อน ขดลวด และสายไฟจะอยู่ในนั้น ถ้าพบอุปกรณ์เหล่านี้ในรถ มีความเป็นไปได้ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ 

วันที่ 22 สิงหาคม 1988 โสเภณีชื่อว่า มาร์กาเร็ต ลินน์ ฟินเนอร์ (Margaret Lynn Finner) หายตัวไปจากถนนทางหลวงที่ 13 มีพยานเห็นเธอขึ้นรถแวนยี่ห้อฟอร์ดสีน้ำเงิน คนขับเป็นชายผิวขาว จากนั้น 3 เดือนต่อมา เจ้าหน้าที่จึงพบศพฟินเนอร์ในท่อน้ำทิ้ง ข้อมูลการหายตัวไปของฟินเนอร์กับรถแวนสีน้ำเงิน ทำให้ชุดสืบสวนเรียกตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงแทชเนอร์มาเป็นเหยื่อล่อคนร้าย เมื่อเธอพบอุปกรณ์ค้อนและสายไฟพร้อมไฟเบอร์บนพรมในรถแวนสีน้ำเงินของสตีเฟน เพนเนลล์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเขาคือผู้ต้องสงสัยในคดีนี้

ว่ากันว่าเหตุการณ์ที่ถนนทางหลวงที่ 13 นั้นเกิดขึ้นเพราะสื่อมวลชนนำเสนอข่าวนักฆ่าบนถนนทางหลวงสายที่ 40 ทำให้คนร้ายเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมไปสังหารคนบนถนนสายอื่นแทน 

3 วันหลังจากเจ้าหน้าที่แทชเนอร์เผชิญหน้ากับฆาตกรต่อเนื่อง โสเภณีที่ชื่อว่า มิเชล กอร์ดอน (Michelle Gordon) อายุ 22 ปี ก็ถูกพบเป็นศพอีกครั้งบนถนนทางหลวงที่ 40 หลักฐานทุกอย่างชี้ชัดว่าคือผลงานของนักฆ่าที่ตำรวจกำลังตามหาอยู่ จากการตรวจสอบสภาพศพพบว่าหญิงสาวเสียชีวิตขณะถูกทรมานอยู่ แตกต่างจากศพอื่นๆ ที่จะถูกเฉือนทุบตีเมื่อตายไปแล้ว 

หลังจากพบศพกอร์ดอน อีก 3 วันต่อมา ตำรวจรับแจ้งว่า แคทลีน ไมเยอร์ (Kathleen Meyer) อายุ 26 ปี อาชีพเกษตรกร ได้หายตัวไป หลังจากเธอขึ้นไปบนรถแวนสีน้ำเงิน ตำรวจนายหนึ่งที่เพิ่งออกเวรได้สังเกตเห็นและจดทะเบียนรถคันนั้นไว้ เมื่อได้รับแจ้งว่าไมเยอร์หายตัวไป เขาได้ส่งต่อข้อมูลให้กับชุดเฉพาะกิจ ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวเป็นของสตีเฟน เพนเนลล์ ชุดเฉพาะกิจจึงเกาะติดชายคนนี้ทันที

เรื่องราวของไมเยอร์นั้นแตกต่างจากคนอื่น นั่นก็คือ ไม่มีใครเห็นหรือพบศพเธออีกเลย

ความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายเพื่อจับฆาตกรรายนี้ให้ได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง เรนี แทชเนอร์ ได้รับคำสั่งให้ไปเกาะติดสอดแนม สตีเฟน เพนเนลล์ อีกครั้ง เธอไปดูคอนเสิร์ตร่วมกับเขาโดยนั่งห่างกันไม่มาก แต่เขากลับจำเธอไม่ได้ ระหว่างนั้น ลูกสาวของเพนเนลล์ได้เดินมาขอบริจาคจากเธอเพื่อหาทุนให้กับโรงเรียนด้วย 

การสอดแนมเพนเนลล์ดำเนินไปทุกฝีก้าว แม้กระทั่ง แคทลีน เจนนิงส์ (Kathleen Jennings) อัยการหญิงรัฐเดลาแวร์ก็ร่วมสืบสวนคดีด้วย โดยตำรวจเคยเรียกรถแวนของเพนเนลล์หยุดจอดข้างทาง หลังพบว่าฝ่าฝืนกฎจราจร ตามหลักแล้วคนขับจะต้องไปจ่ายค่าปรับที่ศาล แต่อำนาจของกฎหมายให้ตำรวจสามารถค้นรถได้ เจ้าหน้าที่พบอุปกรณ์หลายอย่าง ทั้งสายไฟ ค้อน และพรม ซึ่งใกล้เคียงกับหลักฐานที่พบในตัวเหยื่อมาก นอกจากนี้ยังพบคีม เข็มฉีดยา มีด กุญแจมือ ซึ่งพวกเขาเรียกสิ่งที่พบว่าอุปกรณ์ใช้ในการทรมาน

ในที่สุดเจนนิงส์ก็ขออำนาจศาลอนุมัติออกหมายจับสตีเฟน เพนเนลล์ หลังพบว่าไฟเบอร์ที่แทชเนอร์ฉวยหยิบมาจากรถแวนในวันดังกล่าว ตรงกับไฟเบอร์ที่พบในตัวศพเดอเมาโร เหยื่อรายที่ 2 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 1988 ครบรอบ 1 ปี ของการพบเหยื่อรายแรก ตำรวจบุกจู่โจมบ้านของเพนเนลล์อย่างไม่ทันตั้งตัว พร้อมใส่กุญแจมือพาเขาไปสอบปากคำ เพนเนลล์นั้นลักษณะเหมือนคนทั่วไป มองเผินๆ ไม่มีใครคิดว่าเขาจะเป็นนักฆ่าแห่งทางหลวงที่ 40 ได้เลย เพื่อนบ้านต่างตกใจว่าชายร่างใหญ่ใจดีคนนี้จะเป็นฆาตกรต่อเนื่องไปได้อย่างไร 

“เขาแต่งตัวเป็นซานตาคลอสให้กับเด็กๆ มีภรรยาและลูก 3 คน ครอบครัวอบอุ่น เพนเนลล์บอกว่าเขาเป็นโรคนอนไม่หลับและมักจะออกไปขับรถที่ถนนทางหลวงที่ 40 ตอนกลางคืนเสมอ เขาพยายามสมัครเป็นตำรวจ แต่ร่างกายไม่ให้ จึงลงเอยเป็นช่างไฟฟ้าแทน”

เพนเนลล์ใช้สิทธิ์ไม่ขอให้ปากคำใดๆ ทั้งสิ้น แต่ชุดเฉพาะกิจมั่นใจในหลักฐานอย่างมาก อัยการเจนนิงส์แจ้งข้อหาและนำตัวขึ้นศาล ทนายจำเลยโต้แย้งว่าหลักฐานที่ตำรวจหยิบฉวยไฟเบอร์จากในรถแวนของเพนเนลล์นั้น ไม่ควรจะถูกใช้พิจารณาคดี เพราะเป็นการได้หลักฐานมาโดยมิชอบ อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ถูกผู้พิพากษาตีตกไป เพราะถือว่าตัวเพนเนลล์เองต่างหากที่เปิดประตูรถเชื้อเชิญตำรวจหญิงที่ปลอมตัวให้ขึ้นรถไปจึงไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์แต่อย่างใด

เจนนิงส์เองได้เบิกหลักฐานที่เป็นวิทยาการใหม่มากในตอนนั้น ซึ่งก็คือดีเอ็นเอ นับเป็นคดีแรกในสหรัฐอเมริกาที่พิจารณาโดยใช้เครื่องมือนี้ และดีเอ็นเอนนี้เอง ที่มัดตัวเพนเนลล์เอาไว้ได้ เนื่องจากทิ้งร่องรอยไว้บนรถแวน ทั้งเลือดและเส้นผมปรากฏดีเอ็นเอของคนตายอยู่เต็มหลังรถไปหมด จนยากที่จะปฏิเสธ เมื่อหลักฐานดีเอ็นเอชัดแจ้งเช่นนี้ ลูกขุนจึงมีคำตัดสินว่าเพนเนลล์ผิดจริง 

ในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น เพนเนลล์ไม่เคยยอมรับข้อกล่าวหา ทั้งยังยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เมื่อลูกขุนมีคำตัดสินว่าผิด เขากลับแจ้งว่าให้ประหารชีวิตเขาเสีย สร้างความแปลกใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก 

“ในเมื่อศาลแห่งนี้ตัดสินว่าผมผิด ก็ขอให้ประหารผมเสีย ในนามแห่งกฎหมายรัฐและในนามของพระเจ้า ผมขอพูดเพียงเท่านี้แหละครับ”

บทสรุป

สี่ปีหลังจากจับกุมตัวได้ วันที่ 14 มีนาคม 1992 การประหารเพนเนลล์ก็เกิดขึ้น นับเป็นการประหารชีวิตคนของรัฐเดลาแวร์ในรอบ 46 ปี ทีมเฉพาะกิจที่เคยไล่ล่าจับกุมได้มาเป็นสักขีพยานในการประหารครั้งนี้ ทุกคนหวังว่าก่อนตายเพนเนลล์จะบอกจุดที่นำศพของไมเยอร์ไปทิ้ง แต่ก็ไม่มีคำสารภาพนั้นเผยออกมา เรนี แทชเนอร์ ตำรวจหญิงที่เผชิญหน้ากับเพนเนลล์บนถนนทางหลวงที่ 40 ได้ย้อนความหลังขณะไปเป็นพยานการประหารชีวิตว่า

“ฉันมองเขาด้วยความเสียใจอย่างยิ่งว่ามนุษย์เราจะเหี้ยมโหดได้ถึงขนาดนี้เลยหรือ ฉันจึงสวดมนต์ถึงวิญญาณของเขาไม่ใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง”

มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าความคิดการฆ่าของเพนเนลล์ได้เริ่มขึ้นตอนอ้างว่าเป็นโรคนอนไม่หลับแล้วขับรถเล่นบนถนนสายที่ 40 เขาคงมีภาพแฟนตาซีเกี่ยวกับทรมานเหยื่อ ก่อนจะเลือกหญิงขายบริการเป็นส่วนหนึ่งในการฆ่าของเขา แน่นอนว่าเซ็กซ์ไม่ใช่แรงขับเคลื่อนหลักของฆาตกรรายนี้ การได้ทรมานคนต่างหากคือสิ่งที่เขาต้องการ อย่างไรก็ดี เพนเนลล์ไม่เคยบอกเล่าสาเหตุการฆ่าหรือภูมิหลังชีวิตเลย ได้แต่ปล่อยมันเป็นความลับตายไปกับตัวเขา แม้ทางเอฟบีไอจะไปสัมภาษณ์ เขาก็ยังปิดปากเงียบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

สำหรับทีมสอบสวนคดีนี้มีด้วยกัน 60 คน พวกเขาทำงานอย่างไม่ลดละ ทุ่มเทจนสามารถจับกุมคนร้ายได้ โดยเริ่มจากการใส่ใจตั้งแต่พบศพครั้งแรก แม้ว่าผู้ตายหลายคนจะเป็นเพียงหญิงขายบริการ แต่เจ้าหน้าที่ก็มุ่งมั่นจนสามารถปิดคดีได้ รวมถึงความกล้าของเจ้าหน้าที่หญิงทั้งแทชเนอร์ที่ยอมปลอมตัวสืบคดีและความก้าวหน้าของเจนนิงส์ที่ใช้ดีเอ็นเอเป็นหลักฐานนำสืบจนทำให้ความยุติธรรมของเหยื่อหญิงสาวที่ถูกฆ่าได้บังเกิดขึ้น 

หลังจากที่นักฆ่าแห่งทางหลวงที่ 40 ถูกประหารชีวิตไป มีช่อดอกไม้พร้อมการ์ดอวยพรส่งมาที่โต๊ะทำงานของอัยการเจนนิงส์ เป็นข้อความขอบคุณทีมเฉพาะกิจทุกคน เขียนโดยบุคคลนิรนามว่า

“จากเหล่าผู้หญิงบนถนนทางหลวงที่ 13 และทางหลวงที่ 40 คุณได้ปฏิบัติและดูแลพวกเราด้วยความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน”

 

ที่มา

https://www.oxygen.com/mark-of-a-serial-killer/crime-news/route-40-killer-steven-brian-pennell-murders-woman-off-delaware

https://whyy.org/articles/steven-pennell-a-mystery-man-25-years-later/

https://medium.com/the-true-crime-edition/the-route-40-killer-and-the-rookie-female-cop-who-caught-him-6ba93b1869aa

https://delawaretoday.com/life-style/route-40-delaware-serial-killer/

Tags: , , , ,