ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงบทบาทของสื่อมืออาชีพว่าควรยกระดับการทำงานของตัวเอง ในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะประชาชนปลดแอก ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน–ร่างรัฐธรรมนูญ–ยุบสภา ภายใต้ 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝัน คือการอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ได้เสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศ ดังเห็นได้จากการจัดการชุมนุมสนับสนุนข้อเรียกร้องแทบทุกจังหวัด แต่ละเวทีมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ทุกคนจะตีความรูปธรรมของ ‘1 ความฝัน’ แตกต่างกัน (เช่น ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยทุกข้อกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ จากเวที #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563) คนที่เข้าร่วมก็ดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องธรรมดาที่เราควรทำได้ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ และจริงๆ ก็ควรทำได้มานานแล้ว
อย่างไรก็ดี คนอีกจำนวนมากในสังคมที่คุ้นชินกับการที่สถาบันกษัตริย์เป็นหัวข้อ ‘ต้องห้าม’ (taboo) ในสังคมไทยมาเนิ่นนานก็มองว่า นักศึกษาและอีกหลายคนที่พูดเรื่องนี้กำลัง ‘จาบจ้วง’ สถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมาย ‘จัดการ’ ให้ถึงที่สุด
ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้เห็นการใช้ถ้อยคำรุนแรงที่โจมตีสร้างความเกลียดชังต่อใครคนใดคนหนึ่งเพียงเพราะเขาคิดไม่เหมือนกันกับเรา หรือที่เรียกว่า hate speech (เฮทสปีช) มากขึ้น บางคนที่ถูกโจมตีบอกว่าเขากำลังถูกรุมกลั่นแกล้งรังแกหรือ bully (บุลลี่) ผ่านโซเชียลมีเดีย และอีกหลายคนก็พูดทำนองว่า ฉันมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับแก แกมีสิทธิอะไรมาบังคับให้ฉันเห็นด้วย
ผู้เขียนเห็นว่า ก่อนอื่นเราควรตัดเรื่อง ‘บังคับ’ ออกไปได้เลย เพราะข้อเท็จจริงก็คือต่างคนต่างมีอิสรภาพทางความคิด (แต่จะถูกครอบงำหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง) ไม่มีทางที่ใครจะ ‘บังคับ’ ให้คนอื่นเปลี่ยนความคิดได้ การเปลี่ยนความคิดเกิดจากการตรึกตรองและตัดสินใจด้วยตนเองเองเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่บางคนใช้คำว่าบังคับ เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงการถกเถียงธรรมดาๆ เพียงแต่คนที่ใช้คำคำนี้อาจไม่เคยชินกับการที่คนอื่นแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับเขาหรือเธอ
…
อีกสามคำที่เหลือ คือ ‘จาบจ้วง’ ‘เฮทสปีช’ และ ‘บุลลี่’ เป็นคำเจ้าปัญหามากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะวันนี้มีความเข้าใจผิดอย่างแพร่หลายว่าคำเหล่านี้แปลว่าอะไรกันแน่
ลองมาเริ่มกันจากบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ย่อว่า ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในปี พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2540
การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอยู่ในข้อ 19 (Article 19) ของ ICCPR ว่า
1.บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือ
3.การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย และจำเป็นต่อ
(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน
จากบทบัญญัติในข้อ 19 จะเห็นว่ากติการะหว่างประเทศก็เปิดช่องให้รัฐบาลต่างๆ ออก “ข้อจำกัด” การใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกได้ แต่ประเด็นที่สำคัญคือข้อจำกัดนั้นต้องถูกบัญญัติเป็น “กฎหมาย” และชัดเจนว่า “จำเป็น” ต่อการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงคนอื่น การรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย สาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดี
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยว่า เขียนข้อจำกัดแบบนี้เท่ากับเปิดช่องให้รัฐออกกฎหมายแย่ๆ หรือตีความกฎหมายแบบบิดเบือนมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ในเมื่อ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ‘ความสงบเรียบร้อย’ และ ‘ศีลธรรมอันดี’ ล้วนถูกตีความเหวี่ยงแหได้กว้างขวางในรัฐอำนาจนิยม (ในประเทศไทยยุคเผด็จการทหาร คสช. แม้แต่คนที่ถ่ายรูปอวดขันสีแดงที่มีข้อความอวยพรสงกรานต์จากอดีตนายกฯ คู่ปรับรัฐบาลทหาร ก็ถูกจับในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” มาแล้ว)
เพื่อขจัดความสงสัยและสร้างความกระจ่าง สร้างมาตรฐานการตีความ Article 19 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจึงออกเอกสารชี้แจง UN Human Rights Committee: General Comment No. 34 ในปี 2011 ซึ่งนับเป็นการตีความ Article 19 อย่างเป็นทางการ มีผลผูกพันทุกประเทศที่ให้สัตยาบันใน ICCPR รวมทั้งไทยด้วย
เอกสารชิ้นนี้เป็นผลจากการปรึกษาหารือ ถกเถียงอภิปรายอย่างเข้มข้นระหว่างคณะกรรมการฯ กับรัฐบาลประเทศสมาชิก องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับชาติ นักวิชาการ และเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก (ข้อย่อย 3 ใน Article 19) ว่า ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ทำให้สิทธิเสรีภาพนั้นตกอยู่ในอันตราย สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป (jeopardized) และข้อจำกัดนั้นจะสอดคล้องกับ Article 19 ก็ต่อเมื่อผ่านเกณฑ์หลักๆ สามประการที่วันนี้นิยมว่า Three-part Test ได้แก่
1.ข้อจำกัดนั้นต้องถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย
ยกตัวอย่าง คำว่า ‘จาบจ้วง’ ไม่มีในสารบบกฎหมายไทย มาตรา 112 ในกฎหมายอาญาระบุเพียง “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เท่านั้น ดังนั้น ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ และการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วๆ ไปที่ไม่เข้าข่ายนี้ จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
คนที่หาว่านักศึกษา ‘จาบจ้วง’ จึงสมควรมองเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ ‘ไม่ถูกใจ แต่ไม่ผิดกฎหมาย’ เมื่อไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนเป็นกฎหมายก็แปลว่าไม่อาจอ้างเป็นข้อจำกัดสิทธิได้
แต่ต่อให้ระบุข้อจำกัดสิทธิอย่างชัดเจนเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการจำกัดสิทธินั้นจะเป็นไปตามกับ Article 19 โดยอัตโนมัติ ต้องทดสอบต่ออีกสองข้อ –
2.การจำกัดสิทธินั้นต้องมีความจำเป็น (necessary) และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (legitimate)
รัฐบาลของประเทศสมาชิกมีหน้าที่ชี้แจงให้ชัดว่า การจำกัดสิทธินั้นจำเป็นอย่างไร เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1993 ชาวแคว้นควีเบ็คสามคนจากประเทศแคนาดา ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าการที่กฎหมายควีเบ็คห้ามใช้ภาษาอังกฤษในการโฆษณาบริการของบริษัทพวกเขา (อยากใช้ภาษาอังกฤษเพราะอยากได้ลูกค้าที่พูดภาษาอังกฤษ) นั้น เป็นการละเมิด Article 19 กรณีนี้คณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับผู้ร้อง มีความเห็นว่ากฎหมายควีเบ็คขัดต่อ Article 19 เพราะการที่รัฐบาลอ้างว่าห้ามโฆษณาในภาษาอังกฤษเพื่อ “ปกป้องภาษาฝรั่งเศสที่ใช้ในชุมชนควีเบ็ค” นั้น เป็นข้อจำกัดที่ ‘ไม่จำเป็น’ เพราะรัฐบาลสามารถปกป้องและส่งเสริมการใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ในหลายหลายวิธีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนที่อยากใช้ภาษาอังกฤษ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ศาลหลายประเทศอธิบายว่า ต้องมีกฎหมายดูหมิ่นศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล (มีความจำเป็น) เพราะความสงบเรียบร้อยในศาลสำคัญต่อการพิจารณาคดี (เป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม) เป็นต้น
3.การจำกัดสิทธินั้นต้องได้สัดส่วน (proportionality) และต้องไม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง
วิธีการจำกัดสิทธิจะต้อง ‘ได้สัดส่วน’ กับอันตรายที่ทำให้รัฐอ้างว่าต้องออกข้อจำกัดสิทธิ เช่น ถ้าเราถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่น ศาลตัดสินให้แพ้ สั่งจำคุกเรา 20 ปี การโดนโทษที่รุนแรงขนาดนี้ก็ชัดเจนว่า ‘ไม่ได้ส่วน’ กับการกระทำความผิด (หมิ่นประมาทด้วยวาจา) – กรณีนี้เป็นตัวอย่างสมมติเท่านั้น ในความเป็นจริงความผิดฐานหมิ่นประมาทของไทยมีโทษสูงสุดคือปรับสองหมื่นบาทหรือจำคุกหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่างการจำกัดสิทธิที่ ‘ไม่ได้ส่วน’ ก็คือมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญาของไทยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีโทษจำคุก 3-15 ปี และใครๆ ก็ฟ้องคนอื่นในข้อหานี้ได้ ก่อให้เกิดการใช้ข้อหานี้ฟ้องกลั่นแกล้งปิดปากมากมาย ส่งผลให้ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายต่อหลายคนท้วงติงรัฐบาลตลอดมาหลายปีว่า มาตรา 112 ไม่เป็นไปตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยลงนาม และย้ำหลายครั้งว่า “บุคคลสาธารณะอาจตกเป็นเป้าของการวิจารณ์ และลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าการแสดงออกบางอย่างอาจถูกมองว่าเป็นการดูถูกหรือโจมตีบุคคลสาธารณะนั้นๆ ไม่เพียงพอที่จะอ้างว่ามอบความชอบธรรมให้กับการจำกัดสิทธิหรือลงโทษ”
…
เกณฑ์ทดสอบสามประการ หรือ Three-part Test ที่สรุปมาข้างต้นนั้น ช่วยให้เราพอมองออกว่า แต่ละกรณีที่รัฐชอบอ้าง ‘กฎหมาย’ มาจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชนนั้น เป็นไปตามกติกาสากลหรือ Article 19 หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ตำรวจชอบอ้างข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามมาตรา 116 กฎหมายอาญา มาจับคนที่ปราศรัยต่อต้านรัฐบาล ถ้าเราใช้เกณฑ์ทดสอบข้างต้นจะเห็นว่า ตกเกณฑ์ตั้งแต่ข้อแรก เพราะกฎหมายมาตรา 116 เต็มไปด้วยความคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 116 (2) ที่กำหนดให้การกระทำด้วยวิธีใดๆ “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร”
คุณณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตในบทความ “มาตรา 116 กับการตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง” ว่า “คำว่า ‘ความปั่นป่วน’ ‘กระด้างกระเดื่อง’ หรือ ‘ก่อความไม่สงบ’ ล้วนเป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยหรือขึ้นกับผู้ตีความ หรืออีกนัยหนึ่งคือ กฎหมายนี้ยกอำนาจให้รัฐเป็น “ผู้ตีความ” การกระทำของประชาชนว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 116 จึงเปิดช่องให้รัฐใช้ตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองได้ …จากสถิติการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 116 ตั้งแต่หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 20 สิงหาคม 2563 จะพบว่า มีการนำข้อหายุยงปลุกปั่นมาใช้จัดการกับกลุ่มที่แสดงออกในเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างน้อย 89 ราย ยกตัวอย่างเช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง คดีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร หรือ คดีล่าสุดอย่างคดีกลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน เปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ และขอให้รัฐบาลประกาศยุบสภา”
…
แล้ว เฮทสปีช กับ บุลลี่ อยู่ตรงไหน?
ICCPR ระบุในข้อ 20(2) ว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย” ในขณะที่ ‘เฮทสปีช’ (hate speech) ตามความหมายที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้หมายถึงข้อความที่มุ่งสร้างความเกลียดชังแก่ตัวบุคคล เพียงเพราะเขาสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (คนผิวสีใดสีหนึ่ง ชนกลุ่มน้อย ศาสนา ฯลฯ) บางองค์กรรวมทั้งองค์การสหประชาชาติมองว่า ข้อความที่เข้าข่ายนี้ แม้อาจไม่ถึงขั้น “ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง” ก็จัดเป็นเฮทสปีชได้
พูดอีกอย่างคือ เฮทสปีชจำนวนมากทุกวันนี้ยังไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายรวมทั้งองค์การสหประชาชาติคิดว่าควรต้องหาวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ เนื่องจากบั่นทอนบรรยากาศการถกเถียงในสังคม เหยียดคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม ตอกตรึงอคติและการเลือกปฏิบัติที่เลวร้าย สุดท้ายอาจนำไปสู่ความรุนแรง ที่ผ่านมาเราจะเห็นมาตรการทางสังคมมากมายหลายรูปแบบ เช่น แคมเปญ #StopHateForProfit เรียกร้องให้บริษัทใหญ่ๆ ระงับโฆษณาในเฟซบุ๊กตลอดเดือนกรกฎาคม 2020 เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านเฮทสปีช เพราะมองว่าเฟซบุ๊กไม่จริงจังและจริงใจในการจัดการกับข้อความเฮทสปีชทั้งหลายโดยเฉพาะของฝ่ายขวาจัด แคมเปญนี้มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 900 บริษัท
ส่วนการบุลลี่ (bully) มีความหมายที่แคบกว่านั้นมาก โดยหมายถึงรูปแบบความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีสถิติการบุลลี่ในโรงเรียนสูงมาก นิยาม “บุลลี่” ว่า หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวต่อเด็กและเยาวชนที่ผู้ถูกกระทำไม่ต้องการ กระทำโดยเด็กและเยาวชนด้วยกันที่ไม่ใช่พี่น้องหรือคนที่ออกเดทกันอยู่ พฤติกรรมนี้เกี่ยวโยงกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และกระทำซ้ำๆ หรือมีโอกาสสูงมากที่จะกระทำซ้ำ การบุลลี่อาจก่อความเจ็บปวดหลายรูปแบบให้กับผู้ที่ตกเป็นเป้า ทั้งความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ
ดังนั้นจากนิยามนี้จะเห็นว่า การบุลลี่ต้องมีครบองค์ประกอบสามส่วน คือ 1) เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวต่อเด็กหรือเยาวชน 2) เกี่ยวโยงกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และ 3) กระทำซ้ำๆ หรือมีโอกาสสูงมากที่จะกระทำซ้ำ
พฤติกรรมอื่นๆ ที่เราอาจมองว่าก้าวร้าว เช่น การพิมพ์เถียงกันออนไลน์ การเหยียดกันเองระหว่างผู้ใหญ่ หรือการนัดต่อยเคลียร์กันหลังโรงเรียนเลิกครั้งเดียวจบ ทั้งหมดนี้ไม่เข้าข่าย ‘บุลลี่’ แต่อย่างใด
Tags: Hate Speech, bully, Citizen 2.0, taboo