เรือแพดเดิลบอร์ดนับสิบลำลำเลียงตัวลงสู่ผิวน้ำ ถังขยะหนึ่งใบถูกนำมาติดตั้งอยู่ส่วนหน้าของเรือ คนกลุ่มหนึ่งสวมเสื้อสีเหลือง สกรีนด้านหน้าว่า Trash Hero แสดงตัวกับผู้พบเห็นทั่วไปว่าพวกเขาคือนักเก็บขยะ และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พวกเขามีภารกิจประจำเดือน ในการพิชิตขยะที่คลองบางลำพู
“ขยะนี่เก็บยังไงก็ไม่หมด” เจ้าหน้าที่สำนักงานการระบายน้ำกรุงเทพมหานครเล่าให้ฟัง หน้าที่ปกติของพวกเขาคือนั่งอยู่ในเรือท้องแบนไปกลับอยู่ในลำคลองสายที่รับผิดชอบวันละ 4 เที่ยว อุปกรณ์ง่ายๆ ที่ดัดแปลงขึ้นเองเพื่อเป็นเครื่องมือเก็บขยะในน้ำ คือตะแกรงหลังของพัดลมมัดติดกับไม้ด้ามยาว ขยะที่เป็นชิ้นใหญ่ติดขึ้นมาบนตะแกรง ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นถุงพลาสติก บางวันพิเศษหน่อยก็เจอเข้ากับที่นอน โซฟา ซากศพ ฯลฯ และเคยพบกระทั่งระเบิด ขยะชิ้นใหญ่ไม่รอดพ้นมือของคนเก็บ แต่ชิ้นเล็กๆ อย่างหลอดพลาสติก ก้นบุหรี่ ไม้เสียบลูกชิ้น ลอยลอดตะแกรงและต่อชีวิตอยู่ในสายน้ำอย่างยากจะกำจัดให้หมด
นอกจากเรือเก็บขยะของสำนักงานการระบายน้ำ วันนี้ในคลองบางลำพูคึกคักเป็นพิเศษด้วยนักเก็บขยะกลุ่ม Trash Hero ที่ไม่เพียงช่วยเจ้าหน้าที่เก็บขยะในคลองอย่างแข็งขัน แต่ยังมีนักล่าขยะตัวน้อยในนาม ‘เมล็ดพันธุ์พิทักษ์โลก’ ที่ขอใช้เวลาในวันหยุดมาเรียนรู้และเก็บประสบการณ์บนลำเรือกลับบ้าน
“ในน้ำมีทุกอย่างเลย เศษขยะ สัตว์ตาย วันนี้ผมเจอกับข้าวถุงพร้อมกับข้าวในกล่องพลาสติกแบบพร้อมกินเลย” เจมส์ มาร์ก เกรย์ หนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียนวัย 20 เล่า บนเรือแพดเดิลบอร์ด เขาทรงตัวอย่างมั่นคง และคุกเข่าลงเมื่อเจอขยะเป้าหมาย ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ นอกจากมือเปล่าที่สวมถุงมือเอาไว้หนึ่งข้าง เขาว่ามันคล่องตัวกว่า
“ขยะพลาสติกมีผลกระทบกับสัตว์น้ำ ผมเคยเจอปลาหมอซึ่งเป็นปลาที่ทนและตายยากที่สุด แต่ก็ยังตายในคลองเพราะน้ำเป็นแบบนี้ ขยะที่ทิ้งลงไปมันไม่ใช่แค่ทำให้ปลาตาย น้ำเสีย แต่มันจะลามมาถึงสิ่งที่อยู่บนบกคือมนุษย์ด้วย”
เจมส์เข้ามาเป็นอาสาสมัคร Trash Hero เมื่อปีที่แล้ว จากการได้เห็นกลุ่ม Trash Hero ออกเก็บขยะในท้องสนามหลวงช่วงพระราชพิธี เมื่อมีเวลาว่างตรงกับกิจกรรมของกลุ่ม เขาจะมาร่วมด้วยทุกครั้ง “ผมว่าเราเปลี่ยนปัจจุบันเพื่ออนาคตได้ มันคงอยู่ที่ความคิดของคน ถ้าเขาแคร์สิ่งรอบตัว เขาจะยอมทิ้งขยะให้เป็นที่ เรื่องขยะจะดีขึ้นได้ คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเป็น selfless มากกว่า selfish เปลี่ยนที่พฤติกรรมตัวเอง ถ้าไม่เจอถังขยะ หรือเจอถังขยะ แต่มันล้นกอง ยอมเดินไปอีกหน่อย เดี๋ยวก็เจอถังขยะที่ว่างจนได้ หรือถ้าไม่เจอก็เอาติดตัวไปทิ้งที่บ้าน ที่มาเก็บขยะกัน เราไม่ได้อะไรเลย แต่เราได้ความสุข และรู้สึกดีมากเมื่อมีคนเห็นเราแล้วเกิดการทำตามกัน มันเป็นการจุดไฟให้คนอื่นด้วย”
4 ปี 400,000 กิโลกรัม คือขยะที่ผ่านมือชาว Trash Hero
Trash Hero เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ โรแมน ปีเตอร์ (Roman Peter) หนุ่มสวิตเซอร์แลนด์ กับเพื่อนชาวไทยและต่างชาติ เมื่อปลายปี 2013 โดยพากันออกเก็บขยะตามชายหาดเกาะหลีเป๊ะ และมี ‘หมึก-ศักดาเดช สุดแสวง’ เข้าร่วมด้วยหลังจากที่เริ่มก่อตั้งได้ราวห้าเดือน จำนวนคนเพียงสิบกว่าคนในช่วงแรกเริ่ม ขยายตัวมาเป็นทีมย่อย 20 ทีมในไทย กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี ชายหาดและเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมี Trash Hero Thailand เป็นศูนย์กลาง และอีกราว 20 กลุ่มในต่างประเทศ อาทิ นิวยอร์ก ปราก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก พวกเขาล้วนเป็นคนมีดีเอ็นเอเดียวกัน
“เราเกิดมาในยุค ‘ตาวิเศษ’ ถ้าทิ้งขยะแล้วมีคนเห็นนี่อาย เป็นโมเดลที่ดีมากๆ ในตอนนั้น ซึ่งมันหายและขาดช่วงไปแล้ว แต่ Trash Hero ไม่ได้ทำแบบนั้น เราสร้างการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ‘No sign up, Just show up’ ลงมือทำให้คนอื่นเห็น ให้ความรู้กับคนรอบข้าง ไม่วิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่มาช่วย ไม่ต่อว่าใคร เป็นการทำงานด้วยทัศนคติด้านบวก เก็บขยะอย่างไรให้สนุก ทำด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีหน้าบูดหน้าบึ้ง ไม่มีใครบังคับเรามา เรามาด้วยใจล้วนๆ นี่เป็นกฎข้อหนึ่งของ Trash Hero”
เกือบ 400,000 กิโลกรัม คือจำนวนขยะที่ Trash Hero ทุกกลุ่มในประเทศไทยเก็บกันมาตั้งแต่ก่อตั้ง ขยะที่เก็บได้จะผ่านการคัดแยกเพื่อเข้าสู่การรีไซเคิลและกระบวนการกำจัดทิ้ง ส่วนหนึ่งของขยะที่เคยเกลื่อนอยู่ตามท้องทะเล เปลี่ยนรูปมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ รองเท้าแตะรีไซเคิลแบรนด์ทะเลจร ภายใต้การสร้างสรรค์ของ ดร.ณัฐพงษ์ นิธิอุทัย อาสาสมัคร Trash Hero จังหวัดปัตตานี
“ทุกกลุ่มต้องมีการแยกขยะตอนทำกิจกรรม Trash Hero ไม่ได้แยกขยะแล้วส่งต่อให้หน่วยงานเทศบาลเอาขยะไปแล้วจบ การให้อาสาสมัครคัดแยกคือการให้ความรู้ทางตรง ทำให้เห็นว่าขยะแต่ละชนิด มีอะไรบ้างที่คุณไม่คาดคิดว่าจะเจอเยอะขนาดนี้ ทั้งในทะเลและในลำคลอง อาสาสมัครจะถูกสอนถึงผลกระทบของขยะชนิดต่างๆ เช่น ขยะชนิดนี้กี่ปีถึงจะย่อยสลาย แน่นอน ในขณะที่เราให้ความรู้ เขาจะเกิดความตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการลดขยะในชีวิตประจำวันของเขาเอง นั่นคือสิ่งที่พวกเราทำ”
การทำงานของชาว Trash Hero ไม่ใช่การเห็นขยะแล้วรวมกลุ่มกันไปเก็บ เช่น กลุ่ม Trash Hero Bangkok ใช้วิธีคุยกับชุมชนเพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อต่อยอดภารกิจให้ได้มากกว่าคลองสะอาด
“มีข้อแม้ว่าชุมชนต้องออกมาช่วยกันกับกลุ่ม Trash Hero อันนี้หมายถึง Trash Hero Bangkok นะ ตอนนี้เรามีกิจกรรมเก็บขยะทุกวันพฤหัสบดีที่บึงตะโก้ ทั้งในน้ำและบนบก ถ้ามีชุมชนติดต่อเข้ามา ผมต้องประชุมกับเขาก่อนว่าเราไม่เอาแบบทีเดียวเลิกนะ ไม่อย่างนั้นต่อไปใครๆ ก็เรียกพวกเราไปเก็บขยะ สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน อย่างชุมชนบางลำพู เขาเห็นคนนอกชุมชนมาช่วยพวกเขาเก็บขยะ มันทำให้เขากลับมารักชุมชนของเขาเอง ช่วยกันดูแล และชุมชนอื่นก็มาดูงานที่นี่”
ไม่มีเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งใด ชาว Trash Hero ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวและแรงกายในการทำอย่างจริงใจ และพื้นฐานที่เริ่มมาด้วยความจริงใจนี้เองที่ทำให้ Trash Hero แข็งแรงขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง
“Trash Hero ไม่มีหลักในการทำงานมาก ผมว่ามันน่าจะเป็นจุดเด่นหนึ่งที่ทำให้ใครก็อยากเป็น บางคนบอกอินดี้ บางคนบอกไฮโซมาเก็บขยะ แต่เราไม่สนใจ เราเก็บกันมา เราเหนื่อยกันมา ไม่ค่อยสนใจที่คนมาวิพากษ์วิจารณ์ เราแค่เอาเวลาว่างมาทำให้สังคมดีขึ้น มีคนบอกว่าหมึกเปิดบัญชี Trash Hero Thailand หน่อย จะมีบริษัทขอบริจาค ผมไม่เอาด้วย ผมไม่อยากยุ่งเรื่องเงิน มันอันตราย เราไม่อยากมีกิเลสตรงนี้ เราอยาก zero อยู่ในบัญชี”
We Clean, We Educate, We Change คือสามสิ่งที่ Trash Hero กลุ่มเก็บขยะอินดี้ตามที่ศักดาเดชนิยาม วางไว้เป็นเป้าหมาย ที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงในหน่วยย่อยๆ ก่อน เมื่อเขาเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกในทีม เปลี่ยนคนรอบข้างได้ เมื่อนั้นสังคมก็จะเปลี่ยน
“กว่าคนจะรู้จัก Trash Hero มันนานนะ ผมพยายามให้กำลังใจทุกคนเสมอ โดยให้ดู Trash Hero จากจุดเริ่มต้นเมื่อสี่ปีก่อน เราพูดน้อย จริงใจ และลงมือทำ ลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หลายคนที่เข้ามาเป็น Trash Hero จะถูกเปลี่ยนโดยไม่รู้ตัว จริงๆ ผมไม่ค่อยชอบใช้คำว่า ‘จิตสำนึก’ เพราะมักจะชอบเอาไปใช้ในการเขียนเป็นจุดประสงค์หาประโยชน์ในงานอีเวนต์กัน ผมจึงไม่รับงานอีเวนต์แบบฉาบฉวย จิตสำนึกไม่มีทางเกิด ถ้าพวกเราไม่ลงมือทำด้วยความจริงใจให้คนอื่นเห็นอย่างต่อเนื่อง”
เมื่อขยะกลายเป็นก้อนอิฐ และโมเดลการกำจัดแบบอินดี้
ใครจะคิดว่าขยะจะกลายเป็นก้อนอิฐได้ แต่คนที่เห็นคุณค่าของขยะกำลังจะทำโมเดลนี้ให้เห็น ก้อนอิฐจากขยะ หรือ Ecobrick เกิดขึ้นจากแนวคิดของกลุ่ม Ecobricks ในอินโดนีเซีย และสำหรับในเมืองไทย ตอนนี้ Ecobricks มีโครงการขอรับบริจาคขวดน้ำพลาสติกที่บรรจุขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยซึ่งรีไซเคิลหรือย่อยสลายไม่ได้จนอัดแน่น เพื่อนำไปเป็นโครงสร้างอาคารของ Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่ที่ ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โดยมีกำหนดก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่ง Trash Hero Thailand ทุกกลุ่มในจังหวัดต่างๆ จะร่วมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับบริจาค
“วิธีใช้งานก็คือเอาอีโคบริกไปเชื่อมกับซีเมนต์แทนอิฐ ผมมีเพื่อนที่เป็น Ecobricks อินโดนีเซีย เอาอีโคบริกไปทำโต๊ะ เก้าอี้ ทำได้หลายอย่าง และตอนนี้ผมกำลังมีงานใหญ่ที่ทำร่วมกับทีวีบูรพา โดยผมคิดโมเดลจัดการขยะในกิจกรรมปลูกป่าของคนกว่า 500 คน แล้วจะนำขยะตรงนั้นไปทำอีโคบริกด้วย”
โครงการที่เขากล่าวถึงคือ ‘โครงการเพื่อผู้พิทักษ์’ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12-13 สิงหาคม โดยทีวีบูรพาร่วมกับอาสาสมัคร 500 คน จะทำกิจกรรมปลูกป่าที่ทับลาน 10,000 ต้น และ Trash Hero วางโมเดลจัดการขยะที่แสนง่ายอย่างที่หลายคนมองข้ามไปเพราะนึกไม่ถึง
“ไม่ใช่กินแล้วทิ้งให้ Trash Hero เก็บนะ แบบนั้นตายเลย (หัวเราะ) โมเดลคือทุกคนมีขยะส่วนตัวอยู่แล้ว บางคนมีกระติกน้ำส่วนตัว บางคนกินน้ำจากขวดพลาสติกของผู้สนับสนุนโครงการ บางคนพกลูกอม บางคนมีขนม บางคนสูบบุหรี่ ทุกคนมีขยะทั้งนั้น เราจะแจกถุงขยะใบเล็กให้เป็นส่วนตัวกับทุกคน” ทุกคนจะรับผิดชอบนำขยะของตัวเองทุกชิ้นออกมา ไม่ให้มีแม้แต่ชิ้นเดียวที่ถูกทิ้งไว้ในอุทยาน ก่อนนอนวันนั้น ทุกคนจะนำขยะมาทำอีโคบริกเพื่อเอาไปสร้างโรงเรียนไม้ไผ่ ซึ่งโมเดลแบบนี้ หมึก-ศักดาเดช เห็นว่าสามารถใช้ได้กับทุกกิจกรรม แทนที่จะมีคนคอยลากถุงดำตามเก็บขยะแบบที่ทำกันอยู่
“เรื่องขยะในเมืองไทยมันน่าจัดการนะ ผมเห็นหลายหน่วยงานมีข้อมูลดีๆ ที่ไปถ่ายทำกันถึงต่างประเทศ ถ้าเขาเห็นของดีแบบนั้นแล้วแบ่งงบมาทำเรื่องขยะบ้างคงจะดี ประเทศที่เจริญ ไม่ใช่ประเทศที่มีตึกมีทางด่วน แต่ต้องเป็นประเทศที่มีคุณภาพ ผมยังหวังว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเสียที”
FACT BOX:
Trash Hero มีภารกิจสร้างสรรค์เพื่อจัดการขยะอยู่ต่อเนื่องเป็นประจำ สามารถเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร หรือติดตามรายละเอียดได้ที่แฟนเพจ Trash Hero Thailand
Tags: Roman Peter, ศักดาเดช สุดแสวง, Trash Hero Thailand, ทะเลจร, ณัฐพงษ์ นิธิอุทัย, Trash Hero Bangkok, Ecobrick, Bamboo School, โครงการเพื่อผู้พิทักษ์, Trash Hero