หากใครมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ อาจได้พบกับหุ่นยนต์ที่หน้าตาเหมือนเครื่องดูดฝุ่น รูปร่างทรงสูงราว 1-1.5 เมตร ด้านบนมีหน้าจอขนาดเท่ากระดาษเอสี่ พร้อมกล้องและไมโครโฟนขนาดเล็กติดตัว เจ้าหุ่นยนต์เหล่านี้อาจเคลื่อนไหวไปมาทั่วพิพิธภัณฑ์พร้อมทักษะการชะลอหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างแม่นยำ นี่คือหุ่นยนต์ช่วยนำชมที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์สำหรับโลกอนาคต (ที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้)
การทดลองใช้หุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์นั้นมีมาตั้งแต่ช่วงยุค 90’s เพียงแต่ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ การใช้หุ่นยนต์ในพิพิธภัณฑ์นั้นได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมการทำงานจากผู้เชี่ยวชาญจากพื้นที่ห่างไกลได้ บทบาทของหุ่นยนต์ในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นเรื่องของการก้าวข้ามข้อจำกัดในการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดเรื่องการเดินทางหรือข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น กลุ่มคนพิการ ประเด็นสำคัญของหุ่นยนต์ประเภทนี้คือการสร้างประชาธิปไตยในการชื่นชมศิลปะให้เป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นถิ่น Quai Branly ในปารีส ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Persona Strangely Human มีการจัดแสดงหุ่นยนต์ใส่หมวกมีปีก ผูกผ้าพันคอ และมีดวงตาที่กลอกไปมาได้ ทำหน้าที่บันทึกปฏิกิริยาของผู้เข้าชมงานศิลปะผ่านกล้องที่ดวงตาด้านขวา เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปพัฒนาการแสดงออกทางรสนิยมศิลปะของหุ่นยนต์เอง โดยหุ่นยนต์จะเลือกสีเขียวสำหรับผลงานที่สร้างความประทับใจได้ และสีแดงสำหรับความรู้สึกไม่ชื่นชอบ
เมื่อสองปีก่อน หอศิลป์เททบริเตน (Tate Britain) จับกลุ่มหุ่นยนต์ 4 ตัว ทำหน้าที่เป็นผู้นำชมให้ผู้เข้าชมจากทั่วโลกเข้าดูแกลเลอรีในช่วงกลางคืน ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มจนถึงตี 3 ระหว่างที่ผลงานศิลปะทุกชิ้นกำลังหลับใหลผ่านทางเว็บไซต์ หรือการที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (American Museum of Natural History: NMNH) ในนิวยอร์กและพิพิธภัณฑ์ไฮดาไกว (Haida Gwaii Museum) ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ร่วมมือกันสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เข้าชม โดยใช้ Telepresence Robots ชื่อ BeamPro SPS เพื่อนำทัวร์ห้องจัดแสดงผลงานที่มีวัตถุจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไฮดาไกว โดยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ไฮดาไกวจะเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวผ่านหุ่นยนต์แก่ผู้เข้าชมที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาได้ฟัง
การคาดการณ์จากบริษัทวิจัย Wintergreen กล่าวว่า ตลาดของหุ่นยนต์ช่วยปรากฏตัวทางไกลนี้มีมูลค่าการเติบโตจาก 825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 เพิ่มขึ้นสู่ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 โดยหุ่นยนต์จะได้รับการพัฒนาทั้งในเชิงซอฟต์แวร์ เซนเซอร์ ไปจนถึงหน้าตาให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้น
เมื่อหุ่นยนต์มีบทบาทในการสื่อสารสิ่งที่ซับซ้อนอย่างศิลปะ และในวันนี้ที่การใช้งานหุ่นยนต์ในพิพิธภัณฑ์ยังคงอยู่ในช่วงของการทดลองและค้นพบผลการทดลองในด้านต่างๆ ในฐานะผู้เข้าชมก็ต้องติดตามดูว่า บทบาทของหุ่นยนต์ในโลกอนาคตข้างหน้าจะเชื่อมต่อกับมนุษย์อย่างเราๆ ได้ซับซ้อนถึงขนาดไหน เมื่อถึงเวลาเราอาจได้คำตอบว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในทุกๆ ด้านอย่างในภาพยนตร์ไซไฟได้จริงหรือเปล่า
FACT BOX:
Telepresence Robots หรือหุ่นยนต์ช่วยปรากฏตัวทางไกล
ลองนึกถึงนายแพทย์ที่ต้องให้คำปรึกษาในการช่วยผ่าตัดกับโรงพยาบาลในอีกฝั่งโลก หรือคุณครูที่ช่วยสอนนักเรียนในโรงเรียนห่างไกล หุ่นยนต์ประเภทนี้มาพร้อมกับหน้าจอแสดงผลขนาดเท่า iPad พร้อมฐานติดล้อที่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ โดยมีผู้ควบคุมที่สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้จากแอพพลิเคชันในระยะไกล
Tags: Meseum, Robots, TelepresenceRobots