House of Lucie แกลเลอรีเปิดใหม่จัดนิทรรศการภาพถ่าย ‘A Lifetime of Work’ ที่รวบรวม ผลงานของ สตีฟ แม็กเคอร์รี (Steve McCurry) ช่างภาพข่าวระดับโลก ตลอดระยะเวลา 30 ปีในอาชีพช่างภาพของเขา ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของเขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
สตีฟ แม็กเคอร์รี คือช่างภาพเจ้าของผลงานภาพถ่ายเด็กสาวชาวอัฟกานิสถานดวงตาสีเขียว หรือ Afghan Girl หน้าปกนิตยสาร National Geographic ในปี 1985 ที่หลายคนคงคุ้นตา แต่นิทรรศการนี้จะพาคุณไปเห็นผลงานอีกมากมายที่เขาใช้เวลากว่า 30 ปีในการลัดเลาะไปในที่ต่างๆ รอบโลก เพื่อถ่ายภาพในสถานที่ที่อาจจะมีน้อยคนได้ไป ไม่ว่าจะในพื้นที่สงคราม หรือค่ายผู้ลี้ภัย
นิทรรศการ Steve McCurry: A Lifetime of Work จัดจนถึงปลายเดือนมีนาคม ปี 2560 ที่ House of Lucie แกลเลอรีที่ตั้งอยู่ต้นซอยเอกมัย 8
สัญชาตญาณช่างภาพข่าวตะลุยพื้นที่สงคราม
ท่ามกลางภาพถ่ายที่มีสีสันสะดุดตา ซึ่งเป็นลายเซ็นการถ่ายภาพของ สตีฟ แม็กเคอร์รี ชุดภาพถ่ายขาวดำของกลุ่มนักรบอัฟกานิสถานมูจาฮีดีน เป็นอีกผลงานของแม็กเคอร์รี ในช่วงปี 1980 ที่สะดุดตา แต่อาจไม่ค่อยมีใครพูดถึง
ภาพถ่ายชุดนี้เป็นภาพถ่ายที่เก่าที่สุดของเขาที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ และเป็นผลงานที่แม็กเคอร์รีเริ่มเอาตัวเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยอาวุธและความขัดแย้ง เพราะในขณะนั้นคือช่วงสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน และรัสเซียได้สั่งห้ามไม่ให้นักข่าวจากชาติตะวันตกเข้าประเทศ แต่ด้วยสัญชาตญาณช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ได้ทำให้เขายอมพรางตัวเองไปกับกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนอยู่หลายเดือน โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มนักรบให้ข้ามพรมแดนจากปากีสถานมายังอัฟกานิสถาน จนสามารถบันทึกภาพด้วยฟิล์มที่เขาเย็บซ่อนไว้ภายใต้ชุดนักรบ และต่อมาภาพชุดนี้คือหลักฐานชิ้นแรกๆ ของโลก ที่สะท้อนความโหดร้ายของสงครามในสมัยนั้น
ภาพพอร์ตเทรตที่มีเรื่องราว
ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของ สตีฟ แม็กเคอร์รี อีกอย่างคือ ภาพคน ในนิทรรศการนี้เราจะได้เห็นภาพคนจากพื้นที่ที่อาจไม่ได้เห็นบ่อยนัก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต ปากีสถาน หรือ อัฟกานิสถาน ที่เราจะได้เห็นวัฒนธรรมของคนเหล่านี้ผ่านเครื่องแต่งกายท้องถิ่น มากไปกว่านั้นคือเรื่องราวที่พวกเขาประสบพบเจอผ่านแววตาที่สะท้อนออกมาในรูปภาพ
อย่างเรื่องราวของชาวอัฟกานิสถานในค่ายผู้อพยพ ในเปชวาร์ของปากีสถาน ที่วันหนึ่ง แม็กเคอร์รีได้เจอกับกลุ่มเด็กผู้หญิงในค่ายผู้อพยพ และสะดุดตากับผู้หญิงดวงตาสีเขียวคนหนึ่ง จนเป็นที่มาของภาพบนหน้าปกนิตยสาร National Geographic ในปี 1985 ที่สุดท้ายเป็นภาพถ่ายที่โด่งดังไปทั่วโลก
สตีฟ แม็กเคอร์รี ได้เล่าให้ The Momentum ฟังว่า “ผมสะดุดตาเด็กผู้หญิงคนนี้ เพราะเธอสวย แต่มีบางอย่างในแววตาของเธอที่ดูดุดัน และผมรู้ทันทีเลยว่าภาพถ่ายของเธอจะกลายเป็นภาพที่สวยมาก” ซึ่งในนิทรรศการนี้เราจะได้เห็นภาพคนที่สื่อความหมายจากทั่วทุกมุมโลกอีกมากกว่า 10 รูป
ผลงานภาพถ่ายทั่วโลกที่ใช้เวลา 30 ปี
เส้นทางอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน คือเส้นทางการถ่ายภาพที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา แต่ในนิทรรศการนี้เราจะได้ชมภาพถ่ายจากอีกหลากหลายมุมทั่วโลกที่เน้นสีสันสะดุดตา อย่างภาพชาวประมงในศรีลังกา และภาพพระในเมียนมาร์และทิเบต หรือภาพถ่ายที่สะท้อนวัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างภาพถ่ายชาวอเมริกันในนิวยอร์ก หรือภาพของสาวชาวบราซิลในสีสันฉูดฉาด ซึ่งภาพถ่ายทั้งหมดใช้เวลากว่า 30 ปี ในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ จากทั่วโลก ตั้งแต่สมัยช่วงยุค 1980 ที่โลกยังใช้กล้องฟิล์ม จนถึงปัจจุบันที่โลกมีกล้องดิจิทัล และถูกฝังอยู่ในโทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่น The Momentum จึงถามแม็กเคอร์รีว่า ในตอนนี้ที่ทุกคนก็สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้ แล้วการเป็นช่างภาพที่ดีคืออะไร เขาหันมาตอบด้วยรอยยิ้มว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำที่ตอนนี้ใครก็ถ่ายภาพสวยๆ ได้ เพราะไม่ว่าจะมีตัวช่วยอะไร สุดท้ายการฝึกฝนที่ดีจะแสดงออกมาผ่านผลงานเอง”
นี่คือเหตุผลที่คุณไม่ควรพลาดนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของเขา… ที่ใช้เวลาฝึกฝนกว่า 30 ปี!
How to visit:
House of Lucie
Open: 11.00-18.00 น.
Place: ต้นซอยเอกมัย 8
Map: