ในโลกของดนตรีประกอบภาพยนตร์ ชื่อของ ฮานส์ ซิมเมอร์ เขาแซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง และเขาคือผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ลุกขึ้นมาจัดคอนเสิร์ตดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยตัวของเขาเอง คอนเสิร์ตแต่ละครั้ง มีนักร้องและนักดนตรีรวม 22 คน และจ้างวงออเคสตราและนักดนตรีในเมืองต่างๆ ที่ไปแสดงอีกราว 40 คน

ฮานส์ ซิมเมอร์ ในวัยเด็ก

ฮานส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer) เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1957 ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี พ่อของเขาซึ่งมีอาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์เสียชีวิตจากไปตั้งแต่ซิมเมอร์อายุเพียง 6 ขวบ แม่ซึ่งเคยมีอาชีพเป็นนักดนตรีและพ่อของเขาที่ก็สามารถเล่นคลาริเน็ต ได้ซื้อเปียโนหลังหนึ่งไว้ให้กับซิมเมอร์ และจ้างครูดนตรีมาสอนให้

เพลงส่วนใหญ่ที่เขาเรียนคือดนตรีคลาสสิกในแบบของบาคและโมซาร์ต ซึ่งซิมเมอร์ก็ไม่ค่อยชอบสักเท่าไร และเลิกเรียนกับครูดนตรีไปในที่สุด

ซิมเมอร์ถูกไล่ออกจากโรงเรียนที่บ้านเกิด แม่ (ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวยิว ครอบครัวของเธอลี้ภัยมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงคุ้นเคยกับประเทศอังกฤษเป็นอย่างดี) จึงส่งซิมเมอร์มาเรียนโรงเรียนประจำ Hurtwood House ที่เมืองเซอร์เรย์ สหราชอาณาจักร ที่นี่เอง ที่ซิมเมอร์เริ่มมีใจรักและฝึกฝนวิชาดนตรีจนชำนาญ

หลังจากจบชั้นมัธยม ซิมเมอร์ย้ายมาอยู่ที่ลอนดอน และเริ่มต้นอาชีพนักดนตรีรับจ้างอย่างเต็มตัว โดยออกแสดงไปกับวงเล็กๆ ทั่วประเทศ มีร็อกสตาร์อย่าง เดวิด โบวี่ และ วงเดอะ โรลลิงสโตนส์ เป็นนักดนตรีคนโปรด

ในปี 1977 ซิมเมอร์เข้าร่วมสมทบกับ เทรวอร์ ฮอร์น (Trevor Horn 1949-) และ จ๊อฟ ดาวนส์ (Geoff Downes 1952-) ในวงดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ร็อกชื่อดัง The Buggles โดยมีมิวสิควีดิโอเพลง ‘Video Killed The Radio Star’ (1979) (ชมคลิปเพลงได้ที่นี่) อันเป็นเพลงยอดนิยมเพลงหนึ่งในยุคนั้น ในคลิปภาพจะเห็นหนุ่มผอมสูงในชุดหนังสีดำ ห้อมล้อมไปด้วยเครื่องซินธิไซเซอร์ขนาดใหญ่โตเรียงรายอยู่ด้านหลังซึ่งก็คือ ฮานส์ ซิมเมอร์ ในวัยหนุ่มนั่นเอง ซึ่งความชำนาญในการใช้เครื่องซินธิไซเซอร์ยุคต้นๆ ที่มีขนาดใหญ่โตและสลับซับซ้อนอย่างมากนี้เอง ได้กลายมาเป็นคุณสมับติเด่นในตัวซิมเมอร์ที่เป็นใบเบิกทางเข้าสู่วงการดนตรีมืออาชีพในเวลาต่อมา

ใบเบิกทางสู่วงการเพลงประกอบภาพยนตร์

ในช่วงยุค ’80s ฮานส์ ซิมเมอร์ เปลี่ยนงานจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลง เริ่มจากเป็นผู้ช่วยให้กับ สแตนลีย์ ไมเยอร์ส (1930–1993) นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์คนสำคัญของวงการภาพยนตร์อังกฤษ  โดยทำหน้าที่ช่วยเหลือไมเยอร์สในด้านดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องซินธิไซเซอร์ และอุปกรณ์บันทึกเสียงสมัยใหม่สำหรับสตูดิโอบันทึกเสียงที่ชื่อ ‘Lillie Yard Studios’ ซึ่งเป็นบริษัทของไมเยอร์สเองที่รับงานแต่งดนตรีประกอบทั้งภาพยนตร์เรื่องยาวและรายการโทรทัศน์ต่างๆ สแตนลีย์ ไมเยอร์ส จึงเป็นเสมือนครูให้กับซิมเมอร์เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานอันหลากหลาย ทั้งเพลงประกอบโฆษณา ไตเติลรายการทีวี ดนตรีประกอบสารคดี ภาพยนตร์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องยาวหลายสิบเรื่อง

ในปี 1987 นับว่าโชคดีทีเดียวที่ซิมเมอร์ได้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่างอังกฤษกับซิมบับเว ในเรื่อง A World Apart (1988) อันเป็นเรื่องราวการต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกา เอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกอย่างที่สำคัญ คือการที่ซิมเมอร์ชื่นชอบแนวดนตรีชนเผ่าหลากวัฒนธรรมที่เราเรียกกันว่า เวิลด์มิวสิก (World music) เป็นพิเศษ แล้วก็สามารถแต่งดนตรีในลักษณะนี้ผ่านเครื่องดนตรีสมัยใหม่อย่างซินธิไซเซอร์และดิจิตอลแซมเปลอร์ (digital sampler-คือเครื่องดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ที่สามารถบันทึกเสียงต่างๆ อาทิเช่น เสียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองหรือเสียงที่เป็น sound design สามารถบรรเลงผ่านคีย์บอร์ดหรือพ่วงกับซินธิไซเซอร์เครื่องอื่นๆ) ได้เป็นอย่างดี

ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง A World Apart ที่ผสมผสานจังหวะแบบแอฟริกากับการร้องประสานเสียงแบบวงไควร์ (Choir) ของชาวคริสต์ เป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดในสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาพยนตร์เรื่องต่อมาคือ The Last Emperor (1987) และ Rain Man (1988) ที่ซิมเมอร์ได้สร้างสรรค์ดนตรีประกอบให้ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์

หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าสไตล์การผสมผสานทั้งเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ จังหวะดนตรีพื้นเมือง ดนตรีป็อป-ร็อก-เฮฟวีเมทัล รวมถึงดนตรีแบบซิมโฟนีออร์เคสตราของซิมเมอร์จะกลายเป็น ‘เสียง’ ที่ติดตลาด ผู้สร้างภาพยนตร์มากมายต่างเข้าคิวรอให้ซิมเมอร์แต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของตน จนกระทั่งซิมเมอร์ระดมทีมจากบรรดาเพื่อนๆ เช่น เจย์ ริฟกิน (Jay Rifkin) หุ้นส่วนคนสำคัญผู้เป็นทั้งเพื่อน นักดนตรี วิศวกรเสียง และนักธุรกิจ นิก เกล็นนี-สมิธ (Nick Glennie-Smith) เพื่อนสนิทและนักประพันธ์ดนตรี อลัน เมเยอร์สัน (Alan Meyerson) ผู้ทำหน้าที่เป็นวิศวกรเสียง แฮร์รี เกร็กสัน วิลเลียมส์ (Harry Gregson-Williams) นักประพันธ์ดนตรี จอห์น พาวเวล (John Powell) นักประพันธ์ดนตรี ฯลฯ ร่วมกันตั้งบริษัท Media Ventures ขึ้นเพื่อรับผลิตดนตรีประกอบทั้ง ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เพลงประกอบโฆษณา ดนตรีประกอบเกมส์คอมพิวเตอร์ เกมส์คอนโซล ฯลฯ

ในช่วงสิบปีแรกของการดำเนินงาน Media Ventures ถือได้ว่าเป็นบริษัทสร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์และสื่อต่างๆที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในฮอลลีวูด ปัจจุบัน Media Ventures มีข้อขัดแย้งทางธุรกิจจากการฟ้องร้องกันเองระหว่าง ฮานส์ ซิมเมอร์ กับ เจย์ ริฟกิน ซิมเมอร์หันมาเปิดบริษัทใหม่ในนาม Remote Control Productions โดยรวมเอาบรรดาผู้ประพันธ์ดนตรีรุ่นใหม่ๆ เข้ามาจำนวนมาก ตลอดจนขยายงานออกไปได้มากกว่าเดิมจนสามารถครองตลาดธุรกิจดนตรีประกอบภาพยนตร์ในฮอลลีวูดไว้ในกำมือตราบจนทุกวันนี้

แม้จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างล้นพ้น แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องในการจ้างนักประพันธ์ดนตรีรุ่นใหม่ๆ ให้เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีในนามของตัวเองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นักวิจารณ์หลายๆ คนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ที่ภาพยนตร์เรื่องที่ซิมเมอร์รับงานมานี้จะใช้ผู้ประพันธ์ดนตรีช่วยกันแต่งถึง 3-4 คน ซึ่งอาจจะขัดกันกับมาตรฐานของคอมโพสเซอร์หลักๆ ของฮอลลีวูดอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ ที่จะแต่งดนตรีทั้งเรื่องด้วยตัวคนเดียว (แต่ก็ยังต้องมีผู้ช่วยในการเรียบเรียงเสียงประสานที่เรียกกันว่า ‘Orchestrator’ ช่วยอยู่อีกหลายคนด้วยเช่นกัน)

เดินสายเล่นคอนเสิร์ตดนตรีประกอบภาพยนตร์

กระโดดข้ามมาปัจจุบัน นับแต่ปี 2015-2017 เป็นต้นมา ซิมเมอร์เริ่มวางงานประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์อันรัดตัวและแสนจะยุ่งเหยิงไว้สักพัก และหันมาทำวงดนตรีเพื่อจะออกทัวร์คอนเสิร์ตแทน

ดูเหมือนซิมเมอร์เองก็รู้ดีว่า โครงสร้างของดนตรีที่ตัวเองประพันธ์ไว้จะมาจากดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และป็อปร็อกเสียมาก ทีมนักดนตรีหลักของวงที่จะออกทัวร์จึงประกอบไปด้วยนักร้องนักดนตรีทั้งสิ้น 22 คน (รวมตัวซิมเมอร์เองด้วย)

นอกจากตัวซิมเมอร์เองที่เล่นคีย์บอร์ดและกีต้าร์ด้วยเองแล้ว ยังมีสมาชิกคนสำคัญซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกันมาตลอด คือ นิก เกล็นนี-สมิธ เป็นผู้กำกับดนตรีและเล่นคีย์บอร์ด ริชาร์ด ฮาร์วีย์ (Richard Harvey) ผู้บรรเลงเครื่องเป่าและเครื่องดนตรีพิ้นเมืองต่างๆ (ปัจจุบัน ริชาร์ด ฮาร์วีย์ ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยและเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เรื่อง สุริโยไท และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วยเช่นกัน)  เลโบ เอ็ม. (Lebo M.) นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวโซเวโตที่ร่วมแต่งดนตรีสำเนียงแอฟริกันร่วมกับซิมเมอร์ในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องมาอย่างยาวนาน

นักดนตรีที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ เช่น จอห์นนี มาร์ (Johnny Marr) อดีตมือกีต้าร์วง The Smiths ไมค์ ไอนไซเจอร์ (Mike Einziger) มือกีต้าร์จากวง Incubus แอน แมรี่ ซิมสัน (Ann Marie Simpson) นักไวโอลินหญิงที่บันทึกเสียงในสตูดิโอให้กับซิมเมอร์และเป็นสมาชิกของวงดนตรีของนักดนตรีนิวเอจอย่าง Yanni ทีน่า กัว (Tina Guo) นักเชลโล่สาวสวยมากฝีมือเจ้าของโซโลอัลบัมมากมาย

การบริหารวงในการเดินสายสี่ทวีป (ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชียประเทศเดียว คือเกาหลี) คือการใช้นักร้อง-นักดนตรีหลัก 22 คนนี้ร่วมไปกับทัวร์ จากนั้น จะจ้างวงออร์เครสตราและนักร้องประสานเสียงจากเมืองต่างๆ ที่ไปแสดงอีกประมาณ 40 คน รวมกันเป็นวงดนตรีวงใหญ่ขนาดกว่า 60 ชิ้น จัดแสดงทุกๆ โชว์ให้เหมือนกัน

การจ้างวงออร์เคสตราและนักร้องประสานเสียง สามารถทำได้โดยจัดส่งโน้ตดนตรีของทุกๆ เพลงไปให้วงในแต่ละประเทศได้จัดซ้อมล่วงหน้าเตรียมการเอาไว้ก่อน อาจจะฝึกบรรเลงและร้องกับแบ็กกิงแทร็กจนชำนาญ เมื่อใกล้วันแสดงก็จัดซ้อมกับคณะทัวร์ของฮานส์ ซิมเมอร์ อีกซักครั้ง

ข้อแตกต่างจากคอนเสิร์ตดนตรีประกอบภาพยนตร์อื่นๆ คือ เพลงจากการแต่งของซิมเมอร์ได้รับการปรับปรุงให้เป็นดนตรีร็อกที่หนักแน่นยิ่งขึ้น มีวงออร์เคสตราและการประสานเสียงร้องเข้าช่วยเพิ่มความยิ่งใหญ่อลังการของบทเพลง เช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้คอนดักเตอร์หรือผู้อำนวยเพลงมาควบคุมจังหวะของการบรรเลงดนตรี ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สลับซับซ้อน การความคุมจังหวะทั้งหมดก็ใช้ระบบดนตรีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยควบคุมแทนคน (ดังจะเห็นได้จากการมีจอมอร์นิเตอร์นับจังหวะเป็นตัวเลขอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ บนเวทีด้วย)

พลังเสียงที่แปลกใหม่ของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ผนวกกับความยิ่งใหญ่ของออร์เคสตรา ทำให้การแสดงคอนเสิร์ตทัวร์ของ ฮานส์ ซิมเมอร์ ในแต่ละครั้งเปี่ยมด้วยอรรถรสของดนตรีจากความหลากหลายสไตล์ หลากหลายรูปแบบ แต่สามารถรวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างยิ่งใหญ่ คงต้องยอมรับแล้วว่า โลกของดนตรีประกอบภาพยนตร์ในปัจจุบัน ชื่อของ ฮานส์ ซิมเมอร์ แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ทุกคนแล้วจริงๆ

จากที่ได้ตามชมคลิปเบื้องหลังการซ้อมและการแสดงในแต่ละโชว์ก็พบว่า ในแต่ละประเทศก็จะมีแขกรับเชิญพิเศษที่ไม่เหมือนกันด้วย ในโชว์ที่สหรัฐอเมริกา ฮานส์ ซิมเมอร์ ได้ชวนเพื่อนนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์อีกคนคือ เจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด (James Newton Howard) ที่ทั้งคู่มีผลงานแต่งดนตรีร่วมกันในภาพยนตร์ Batman Begins (2005) และ The Dark Knight (2008) เจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด ได้รับเชิญในบทเพลงที่ชื่อ ‘Aurora’ อันเป็นท่อนแทรกในดนตรีชุด The Dark Knight Trilogy เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การกราดยิงในโรงภาพยนตร์ ณ เมืองออโรรา ขณะที่กำลังฉายภาพยนตร์ The Dark Knight Rises (เมื่อปี 2012) (ชมคลิปการซ้อมร่วมของ เจมส์ นิวตัน ฮาวเวิร์ด กับวงดนตรีได้ที่นี่) ในการแสดงฝั่งประเทศทางยุโรป ซิมเมอร์ได้เชิญ เทรวอร์ ฮอร์น เพื่อนเก่าจากวง The Buggles มาร่วมร้องเพลงดัง ‘Video Killed The Radio Star’ แบบขำๆ ฮาๆ ด้วยเช่นกัน

การแสดงในทัวร์นี้ ได้รับการบันทึกภาพและเสียง จำหน่ายเป็นแผ่นดีวีดีและบลูเรย์ในชื่อชุด Hans Zimmer Live in Prague (2017) จากการแสดงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2017 ณ O2 Arena กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก บทเพลงที่นำมาแสดงล้วนแต่มาจากภาพยนตร์เรื่องดังๆ ของโลก เช่น Driving Miss Daisy (1989)  The Lion King (1994)  Crimson Tide (1995) Gladiator (2000)  The Da Vinci Code (2006)  Angles and Demons (2009)  เมดเล่ย์จาก Pirates of the Caribbean และจาก The Dark Knight Trilogy รวมทั้ง Inception (2010) และ Interstellar (2014) ฯลฯ สามารถลองชมคลิปการฝึกซ้อมความยาว 1 ชั่วโมงครึ่งได้ที่นี่ และ ชมคลิปเบื้องหลังการแสดงและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ของทีมนักดนตรีได้ที่นี่

ดนตรีประกอบภาพยนตร์ของฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งๆ ถูกผลิตขึ้นด้วยงบประมาณที่มหาศาล (ถ้าจะเทียบกับวงการภาพยนตร์ไทย) ดังนั้นตัวของมันเองจึงมีสถานะเป็น ‘สินค้า’ ด้วยเช่นกัน  ในต่างประเทศ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ถือเป็นงานศิลป์ที่สามารถขายได้ทั้งในรูปแบบของซีดีเพลงและไฟล์เอ็มพีสามแบบออนไลน์  มากไปกว่านั้น ดนตรีประกอบภาพยนตร์เองก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นดนตรีซิมโฟนีแห่งยุคสมัย ผลงานของนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์แนวหน้าของโลกอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ ถูกนำมาบรรเลงตามคอนเสิร์ตฮอลล์ทั่วทั้งโลกอยู่เป็นประจำ (อย่างเช่นเรื่อง Star Wars ที่ผ่านมาแล้วกว่า 40 ปี ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน)  ขณะที่เราเองกลับรู้จักดนตรีประกอบภาพยนตร์ไทยน้อยเต็มทน

สิ่งที่ฮาน ซิมเมอร์ นำเสนอมานี้ก็น่าจะถือเป็นการขยายขอบเขตของศิลปะทางคีตศิลป์ให้ออกมายืนอยู่แถวหน้าๆ ให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จัก ได้เรียนรู้ ได้ชื่นชม และได้ซาบซึ้ง เมื่อเราชื่นชอบดนตรี ก็จะพลอยให้เราใส่ใจกับการชมภาพยนตร์มากขึ้น หรือเมื่อเราชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องไหนๆ เราก็อาจจะต้องใส่ใจรับฟังรายละเอียดของดนตรีจากเรื่องนั้นๆ ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

Fact Box:

วงดนตรีของ ฮานส์ ซิมเมอร์ ประกอบไปด้วยนักดนตรีในตำแหน่งเครื่องดนตรีต่างๆ คือ

  • เปียโน 1 คน คือ Hans Zimmer
  • คีย์บอร์ด-ซินธิไซเซอร์ 4 คน คือ Nick Glennie-Smith , Andrew Kawczynski , Steve Mazzaro และ Mel Wesson
  • กีต้าร์ 3 คน คือ Johnny Marr , Mike Einziger และ Guthrie Govan
  • เบสไฟฟ้า 1 คน คือ Yolanda Charles
  • กลองชุด 1 คน คือ Satnam Ramgotra
  • กลองและเครื่องเคาะอื่นๆ 3 คน คือ Gary Kettel , Lucy Landymore และ Holly Madge
  • ระนาดไฟฟ้า 1 คน คือ Nathan Stornetta
  • ไวโอลิน 2 คน คือ Rusanda Panfili และ Ann Marie Simpson
  • เชลโล่ไฟฟ้า 1 คน คือ Tina Guo
  • ดับเบิ้ลเบส 1 คน คือ Andy Pask
  • เครื่องเป่าลมไม้-เครื่องดนตรีพื้นเมือง 1 คน คือ Richard Harvey
  • ระฆังท่อ (และคีย์บอร์ด กีต้าร์และร่วมร้องนำ) 1 คน (เล่นหลายเครื่องดนตรี) คือ Czarina Russell
  • ร้องนำหญิง 1 คน คือ Buyi Zama
  • ร้องนำชาย 1 คน คือ Lebo M.
Tags: , , , ,