วันที่ 21 เมษายน 1934 ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ผู้อำนวยการการรถไฟกรุงโตเกียว และนายกเทศมนตรีเขตเมืองชิบุยะพร้อมชาวเมืองนับพันคนมารวมตัวกันที่สถานีรถไฟชิบุยะ เพื่อร่วมสดุดีสุนัขยอดกตัญญู ฮาชิโกะ (Hachiko) มีการถ่ายทอดสดพิธีการทางวิทยุ ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์และสดุดีเสร็จสิ้น ประธานในพิธีได้พาเด็กหญิงวัย 10 ขวบคนหนึ่งเดินผ่านฝูงชนไปยังฐานหินแกรนิตที่มีผ้าคลุมอยู่
เมื่อไปถึง เด็กหญิงค่อยๆ ดึงผืนผ้าลงมา มีเสียงไชโยโห่ร้องของฝูงชนดังขึ้น เมื่อได้เห็นรูปปั้นฮาชิโกะ ซึ่งออกแบบปั้นโดยเทรุ อันโดะ (Teru Ando) ขนาดเท่าตัวจริง เด่นสง่าอยู่บนฐานที่ตั้ง ในขณะที่ฮาชิโกะตัวจริงยังนั่งนัยน์ตาเศร้าสร้อยอยู่ในบริเวณงาน ไม่ได้แสดงความประทับใจอะไรกับภาพงานพิธีที่ถูกจัดขึ้น เมื่อสิ้นสุดพิธีการ แขกเหรื่อที่มาร่วมงานสามารถซื้อของที่ระลึกมากมายภายในร้านค้าบริเวณใกล้เคียง ซึ่งได้แก่ แสตมป์ฮาชิโกะ ขนมฮาชิโกะ และอาหารหลากชนิดที่มีชื่อตามสุนัขผู้จงรักภักดี อย่างน้อยที่สุดฮาชิโกะก็เป็นสุนัขที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นสุนัขที่เหงาเศร้าที่สุดด้วยเช่นกัน
ฮาชิโกะ แต่เดิมชื่อ ฮาชิ ลืมตาดูโลกไล่เลี่ยกับพี่น้องอีกสามตัวในเดือนพฤศจิกายน 1923 ที่โรงนาแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของราชอาณาจักรญี่ปุ่น มันเป็นพันธุ์อากิตะ (Akita) พันธุ์สุนัขดั้งเดิมของญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม 1924 ฮาชิถูกจับใส่ลังขนส่งขึ้นรถไฟมุ่งหน้าไปทิศทางใต้ ทุกอย่างถูกจัดการอย่างเร่งรีบ เนื่องจากสุนัขพันธุ์อากิตะ ปกติแล้วจะต้องทำความรู้จักและคุ้นเคยกับเจ้าของใหม่ให้ได้ภายในระยะเวลาสองเดือน เพื่อความผูกพันจะได้กระชับแน่นยิ่งขึ้น
เจ้าของคนใหม่ชื่อ ฮิเดะซะบุโระ อุเอโนะ (Hidesaburo Ueno) เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาการเกษตรกรรมของมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ไม่มีลูก จึงมีเวลาเลี้ยงดูฮาชิ พูดคุยกับมัน เล่นกับมัน และป้อนอาหารให้มัน ฮาชิเติบโตเป็นอากิตะตัวล่ำสัน ความสูงราว 60 เซนติเมตร น้ำหนักตัวกว่า 40 กิโลกรัม ขนดกสีขาวครีมแซมสีเหลืองอ่อน หางห้อย และหูตั้ง ทุกเช้าฮาชิมักเดินตามอุเอโนะเพื่อส่งเขาไปทำงาน จากบ้านซึ่งไม่ไกลจากสถานีชิบุยะมากนัก และจะมาคอยรับเขาในตอนเย็นอีกครั้ง ไม่ว่าวันนั้นจะมีพายุฝนหรือแดดออก
รวมทั้งวันที่ 21 พฤษภาคม 1925 ด้วย วันนั้นเป็นวันฟ้าครึ้ม อากาศขมุกขมัว ฮาชิ-ขณะอายุ 18 เดือน-เฝ้ารอการกลับมาของอุเอโนะอย่างใจจดใจจ่อ แต่ทว่าในเย็นวันนั้นศาสตราจารย์ไม่ได้ขึ้นรถไฟกลับบ้าน ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกทำให้เขาเสียชีวิตเสียก่อน
ไม่ช้าบรรดาผู้โดยสารประจำสถานีชิบุยะก็คุ้นเคยกับภาพที่ไม่ชินตา สุนัขตัวสูงใหญ่มานั่งแกร่วอยู่บริเวณประตูทางเข้าชานชาลาในทุกเย็น มันนั่งตามลำพัง สงบนิ่ง ไม่ยอมลุกเดินไปไหน เพื่อรอคอยชายผู้เป็นเจ้าของที่ไม่มีวันกลับมา
ช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากศาสตราจารย์อุเอโนะเสียชีวิตไปแล้ว ฮาชิตกไปอยู่ในความดูแลของญาติฝ่ายภรรยาของศาสตราจารย์ แต่พอตกเย็นมันมักจะวิ่งหนีกลับมาเฝ้ารอเจ้าของคนที่มันคุ้นเคยทุกวัน สุดท้ายฮาชิต้องถูกนำไปฝากไว้กับคนสวนของครอบครัวอุเอโนะ ซึ่งพักอาศัยอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟชิบุยะ
ความจริงแล้วฮาชิไม่ได้เป็นที่รักใคร่ของทุกคนในสถานีรถไฟ บ่อยครั้งผู้โดยสารมักบ่นเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ แม้แต่พนักงานสถานีรถไฟเองก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อมันดีนัก บางครั้งฮาชิโดนเตะตี บางครั้งก็มีคนเอาสีไปป้ายทาตามตัว แต่ฮาชิไม่เคยแสดงท่าทีดุดันแข็งขืน มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ดีและจัดหาอาหารให้มัน
ปี 1932 ผู้คนเริ่มเปลี่ยนทัศนคติ และหันมาปฏิบัติดีต่อฮาชิ เมื่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง โตเกียว อะซะฮิ-ชิมบุน ลงบทความ ‘เรื่องราวของสุนัขที่เศร้าสร้อย’ เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ฮาชิกลายเป็นสุนัขที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซาอิโตะ ฮิโรกิชิ (Saito Hirokichi) คือชายคนที่ทำให้สื่อมวลชนหันมาสนใจชะตากรรมที่น่าเศร้าของฮาชิ
ฮิโรกิชิพบเห็นสุนัขตัวนี้บนท้องถนนมาตลอดสามปีหลังจากศาสตราจารย์อุเอโนะเสียชีวิต เขามีความสนใจฮาชิเป็นพิเศษ เนื่องจากเขาเพิ่งก่อตั้งสมาคมอนุรักษ์สุนัขพันธุ์พื้นเมืองญี่ปุ่น สุนัขอากิตะเป็นหนึ่งในจำนวนพันธุ์สุนัขหายากในช่วงเวลานั้น เขาจึงสืบจากการถามไถ่จนรับรู้เรื่องราวน่าเศร้าเกี่ยวกับฮาชิและเจ้าของมัน
นับแต่นั้น คนจำนวนนับพันนับหมื่นพากันเดินมายังสถานีชิบุยะ เพื่อมาดูสุนัขที่กตัญญูที่สุดของโลกด้วยตาตนเอง เด็กนักเรียนลูบหัวฮาชิอย่างรักใคร่ สัตวแพทย์อาสามาช่วยตรวจสุขภาพให้มัน ส่วนคนทั่วไปมีดอกไม้และอาหารติดมือมาฝากมัน แม้กระทั่งจักรพรรดินียังทรงตรัสเสียพระทัยกับชะตากรรมที่น่าเศร้าของฮาชิ
และนับแต่นั้น ฮาชิได้รับอนุญาตให้เดินเข้าออกภายในสถานีได้อย่างอิสระ มีพนักงานสถานีอาสาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลมัน และมีการจัดที่หลับที่นอนให้กับคนสวนของศาสตราจารย์ที่ป่วยออดๆ แอดๆ และฮาชิภายในห้องเก็บพัสดุอีกด้วย
ชื่อฮาชิได้รับการเรียกขานใหม่เป็น ‘ฮาชิ-โกะ’ นับแต่นั้นเช่นกัน คำว่า ‘โกะ’ ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ‘เจ้าชาย’ หรือ ‘นายน้อย’ ต่อแต่นั้นก็เริ่มมีเพลงฮาชิโกะ มีบทกวีที่เขียนถึงสุนัขยอดกตัญญู ร้านค้าบริเวณรอบสถานีเริ่มมีสินค้าเกี่ยวกับสุนัขวางขาย ไม่ว่าช็อกโกแลตฮาชิโกะ เค้กฮาชิโกะ หรือตุ๊กตาสำหรับสุนัขล้วนมียอดขายเป็นลำดับต้นๆ
ความโด่งดังของฮาชิโกะมาถึงจุดสูงสุดครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1934 เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอนุสรณ์สถานฮาชิโกะขึ้น มีการระดมเงินบริจาค ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเด็กนักเรียนจนถึงคนสูงวัย และชาวญี่ปุ่นทั้งในและนอกประเทศ หลายคนมีความจำนงที่จะให้แบ่งเงินบริจาคส่วนหนึ่งไว้ซื้ออาหารที่ฮาชิโกะชอบ อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสร้างรูปปั้นทองสัมฤทธิ์
ฮาชิโกะเองไม่ได้รู้สึกรู้สมอะไรกับสังคมที่กำลังแตกตื่น มันยังคงเฝ้ารอการกลับมาของนายต่อไปเรื่อยๆ ผ่านวันเวลาไปเกือบสิบปี สุขภาพร่างกายของมันเริ่มถดถอย หลังจากป่วยหนักในปี 1929 อาการหูข้างซ้ายของมันไม่ค่อยสู้ดี กระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม 1935 มีคนพบฮาชิโกะนอนตายอยู่บนถนนแคบๆ สายหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นมันไปสัญจร เรื่องเล่าขานต่างๆ นานาจึงปรากฏขึ้น…
เจ้าของร้านเหล้าคนหนึ่งบอกว่า ฮาชิโกะน่าจะอยากเดินไปยังสุสานที่ฝังศพของศาสตราจารย์อุเอโนะ ส่วนคนอื่นๆ คิดว่ามันคงอยากจะสิ้นใจตายแต่ตามลำพัง
วันที่ 9 มีนาคม 1935 ผู้คนจำนวนนับพันแห่แหนกันมายังสถานีชิบุยะอีกครั้ง เพื่อนำดอกไม้มาวางประดับ มีพระมาสวดส่งวิญญาณให้กับฮาชิโกะ
ร่างของฮาชิโกะได้รับการถนอมไว้ด้วยวิธีการสตัฟฟ์ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว มีป้ายอนุสรณ์ของฮาชิโกะตั้งอยู่ในสุสานอะโอะยะมะ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของศาสตราจารย์อุเอโนะ และยังมีอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์อยู่ที่หน้าสถานีรถไฟชิบุยะ บริเวณที่ฮาชิโกะเคยนั่งรอนาย
ตราบถึงทุกวันนี้ ฮาชิโกะยังถือเป็นตัวอย่างของความกตัญญูและจงรักภักดีที่สังคมชาวญี่ปุ่นให้การยกย่อง
อ้างอิง:
- Spiegel Online
- www.tierschutz4all.de