“พี่น่าจะเป็นคนชอบกินขนม โดยเฉพาะเบเกอรี่ ขนมปังกรอบ คุกกี้” ผมทดลองเปลี่ยนอาชีพจาก ‘หมอ’ เฉยๆ มาเป็น ‘หมอดู’ ดูบ้าง แต่พอคนไข้ได้ยินอย่างนี้ก็อมยิ้มแล้วพยักหน้ายอมรับว่า “กินเยอะมาก” แถมยังกินจุบจิบตลอดเวลา

คนไข้เองคงแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่หมอสามารถทายนิสัยของตัวเองได้ถูกต้อง ส่วนผมก็ดีใจไม่แพ้กันที่สามารถเดานิสัยผู้ป่วยได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งผมไม่ได้มีญาณทิพย์หรือจิตสัมผัสอะไร นอกจากผลการตรวจระดับไขมันในเลือดประจำปีของคนไข้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น

นั่นก็เพราะว่าไขมันแต่ละชนิดเกิดจากนิสัยที่แตกต่างกัน

วันนี้ผมจึงจะมาขยายความต่อจากบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดระดับไขมันในเลือดจะต้องทำอย่างไรบ้าง? แน่นอนครับว่าผมอยู่ #ทีมไม่อยากกินยา อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่เวลาแนะนำคนไข้ ถ้าใช้การออกคำสั่ง—สั่งให้เลี่ยงโน่น ลดนี่ เพิ่มนั่น ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเจ้านายสั่งลูกน้อง เป็นเจ้านายต่างหากที่อยากทำ ส่วนลูกน้องกลับไม่ได้มี ‘แพชชั่น’ ต้องการทำแต่อย่างใด

บางคนก็อาจแข็งขืน (อยู่ในใจ) อีกต่างหาก

ผมจึงมักจะเริ่มต้นดึงความสนใจด้วยการทายวิถีชีวิตของคนไข้ก่อน “ดูจากค่าไขมันในเลือดแล้ว คุณน่าจะ…” โดยอาศัยความรู้สมัยเรียนวิชาโภชนาการตอนปี 2 และคำแนะนำของสมาคมแพทย์เฉพาะทางที่ทยอยออกมาในแต่ละปีมาประยุกต์

ภาวะคอเลสเตอรอลรวมสูง

คอเลสเตอรอลรวม (total cholesterol; TC) มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ไม่สามารถบอกนิสัยของเจ้าตัวได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นผลรวมของคอเลสเตอรอลชนิดอื่นๆ ในร่างกาย ตามสูตรที่เคยพูดถึงคือ TC = HDL + LDL + TG/5

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีไขมันดี (HDL) มาก ก็จะทำให้ TC เพิ่มขึ้นได้ ในทางกลับกันถ้ามีไขมันเลว (LDL) เยอะ ก็จะทำให้ TC สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นบรรทัดที่อาจมองข้ามไปได้เลยคือค่าตัวเลขนี้ครับ

ภาวะไขมันเลวสูง

ไขมันเลว (low density lipoprotein: LDL) มากกว่าหรือเท่ากับ 130 มก./ดล. เกิดจาก 3 นิสัยด้วยกัน คือ 1.กินไขมันอิ่มตัวมาก (หมายถึงปริมาณมากเกิน) 2.กินไขมันทรานส์ และ 3.กินผักน้อย ซึ่งผมก็มักจะทายคนไข้ด้วยนิสัยในข้อ 1. เป็นอันดับแรกก่อน เพราะมีโอกาสถูกสูงนั่นเอง

เนื่องจากทุกๆ พลังงานที่ได้รับเพิ่มขึ้น 1% จากไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acids: SFAs) จะทำให้ระดับ LDL เพิ่มขึ้น 1.6 มก./ดล. โดยไขมันชนิดนี้พบมากในสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ดังนั้น ‘หมูสามชั้น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่’ จึงเป็นเมนูที่ถ้าไม่ทาย ‘ถือว่าผิด’ (#รายการครัวคุณต๋อย) รวมถึงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ‘ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง และแคบหมู’

ส่วนในพืชที่มี SFAs มากคือ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ซึ่งนิยมใช้ในการทอดอาหาร เช่น ‘ลูกชิ้นทอด (ข้าวเหนียว)หมูทอด กล้วยทอด’ และที่ขาดครัวไม่ได้เลยคือ กะทิ เช่น ‘หลน แกงพะแนง แกงเขียวหวาน’ ของหวานก็หนักกะทิไม่แพ้กันอย่าง ‘ขนมหม้อแกง กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ’

ของโปรดทั้งหมดเลยใช่ไหมครับ จึงไม่แปลกที่ระดับไขมันเลวในเลือดจึงควบคุมได้ยากมาก

ต่อมาเป็นไขมันทรานส์ (trans fat) พบในเบเกอรีที่ใช้เนยขาวและมาร์การีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ‘คุกกี้ เค้ก’ และต้องไม่ลืม ‘โรตี’ ของอร่อยตอนหัวค่ำ แต่น่าจะอุ่นใจได้ระดับหนึ่งเพราะเมื่อปีที่แล้วกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามขายไขมันทรานส์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับสูตรขนมตามมา

อย่างสุดท้ายผักและผลไม้ที่มีเส้นใยสูงเป็นตัวช่วยดูดซึมไขมันและน้ำดีออกไปทางอุจจาระ โดยเฉพาะเส้นใยที่ละลายน้ำ เช่น เพกติน (พบมากในแอปเปิลและฝรั่ง) หากกินน้อยก็จะทำให้เหลือไขมันค้างอยู่ในลำไส้ให้ร่างกายดูดกลับเข้าร่างกาย แต่ถ้ากินเยอะก็จะทำให้ร่างกายนำไขมันที่เก็บไว้มาสร้างเป็นน้ำดีใหม่

สำหรับปริมาณที่แนะนำคือ ผัก 4-6 ทัพพี (เคยดูโฆษณา “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง” กันรึเปล่าครับ) และผลไม้ 3-5 ส่วนต่อวัน

ภาวะไขมันดีต่ำ

ไขมันดี (high density lipoprotein: HDL) น้อยกว่า 40 และ 50 มก./ดล. ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ สามารถทายได้ว่ามีนิสัยไม่ค่อยออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน สามารถเพิ่มระดับ HDL ได้ 3-6 มก./ดล.

รวมถึงการลดน้ำหนักด้วย โดยพบว่าทุกน้ำหนักที่ลดลง 1 กิโลกรัม จะเพิ่ม HDL 0.4 มก./ดล. จนกระทั่งน้ำหนักคงที่

และอีกนิสัยที่ส่งผลทำให้ HDL ต่ำ คือการกินไขมันทรานส์ ซึ่งพูดถึงไปแล้วด้านบน ในขณะที่การกินไขมันชนิดอื่นๆ จะเพิ่ม HDL ทั้งสิ้น (แต่ต้องระวัง LDL ขึ้นตามด้วย!) นอกจากนี้ยังพบว่าการอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากก็ส่งผลให้ระดับ HDL ลดลงเช่นกัน

ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง

ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride: TG) ควรต่ำกว่า 150 มก./ดล. แต่ถ้าสูงเกินคือตั้งแต่ 500 ขึ้นไปจะต้องเริ่มกินยาลด TG สาเหตุที่ผมเก็บไขมันชนิดนี้มาไว้พูดลำดับสุดท้ายก็เพราะว่า TG ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการกินไขมันเหมือนกับชนิดอื่นๆ

หากแต่สูงขึ้นจากการกินอาหารประเภทข้าว-แป้ง-น้ำตาลเป็นหลัก!

เนื่องจากในภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดเกินความจำเป็น ตับจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดไขมันและ TG เพื่อนำไปเก็บสะสมตามส่วนต่างๆ (กลายเป็นพุงของเราในที่สุด) ไว้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง

ดังนั้นคนที่มี TG สูงจึงมีนิสัยชอบกินข้าวเยอะ ถ้าหุงข้าวกินเองก็จะตักพูนจาน แต่ถ้ากินข้าวราดแกงหรืออาหารตามสั่งก็จะกินข้าวที่แม่ค้าตักให้จนหมด รวมถึง ‘กาแฟหวานมัน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง’ แน่นอนว่าอย่างนี้ถ้าไม่พูดถึง ‘ชาไข่มุก’ ก็คงไม่ได้

วิธีการปรับคืออาจลดปริมาณลงให้เหลือไม่เกิน 2-3 ทัพพี/มื้อ หรือเปลี่ยนเป็นข้าวกล้อง ซึ่งจะมีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า เท่ากับว่ามีการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง

น้ำตาลฟรุกโตสและซูโครสในผลไม้ก็ส่งผลต่อระดับ TG อย่างมาก โดยพลังงานจากฟรุกโตสที่มากกว่าวันละ 15-20% จะเพิ่ม TG 30-40% เลยทีเดียว

‘ส้ม มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด ขนุน’ เรียงตามฤดูกาลตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี ขึ้นกับว่าคนไข้จะมาตรวจในช่วงไหน ก็ทายผลไม้ชนิดนั้น

นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากกว่า 1-2 ดื่มมาตรฐาน/วัน ‘เหล้าเกินวันละ 2 เป๊ก เบียร์เกินวันละ 2 กระป๋อง’ ก็ส่งผลทำให้ TG เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มี TG สูงอยู่ก่อนแล้ว

000

“เอ… ก็ไม่นี่คะ” คนไข้หลายคนก็บอกว่าผมทายนิสัยไม่ถูก หรือคนไข้บางคนที่กลับไปควบคุมอาหารมาแล้ว ระดับไขมันในเลือดก็ยังไม่ลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ ผมก็จะมีข้ออ้าง (ไม่ยอมรับผิดแต่อย่างใด) ว่าในปัจจุบันพบว่า ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่เป็นผลมาจากอาหารการกินมีเพียง 20% เท่านั้น

ส่วนอีก 80% ที่เหลือเกิดจากการสร้างขึ้นมาเองของร่างกาย หรือพูดอีกอย่างก็คือคนไข้มีพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับภาวะไขมันในเลือดสูงติดตัวมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นการกินยาลดไขมันก็เป็นการรักษาที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้

ขณะเดียวกันการศึกษาในระยะหลังก็พบว่าคอเลสเตอรอลในอาหารกลับไม่มีผลต่อระดับ LDL ในเลือดและอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารสำหรับคนอเมริกาฉบับล่าสุด (ปี 2015-2020) จึงตัดคำแนะนำเดิมที่ให้ “จำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลน้อยกว่า 300 มก./วัน” ออกไป แต่ให้ “กินน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” แทน

ดังนั้น ‘ไข่แดง กุ้ง ปลาหมึก หอย’ จำเลยซึ่งขึ้นชื่อว่ามีคอเลสเตอรอลสูง แต่มีกรดไขมันอิ่มตัวน้อยก็สามารถกินได้ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณอีกต่อไป

*สุดท้ายผมขอดอกจันทิ้งไว้ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารและระดับไขมันเลือดยังไม่นิ่ง—อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต อย่างที่หลายคนอาจเกิดความสับสนเวลามีข่าวความก้าวหน้าทางการแพทย์ว่า “ตกลงแล้วเรากินไข่ได้วันละกี่ฟอง” “ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงต้องงดกินไข่หรือไม่” (ผมตอบไปแล้วนะครับ)

หากมีงานวิจัยหรือการค้นพบใหม่เพิ่มเติม คำทำนายทายทักในบทความนี้ย่อมต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างแน่นอน

 

เอกสารอ้างอิง

  • กรภัทร มยุระสาคร การดูแลรักษาระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วยโภชนบำบัด. ใน พจมานพิศาลประภาและคณะ บรรณาธิการ กลยุทธ์การบริบาลผู้ป่วยนอก (Ambulatory Medicine Case-based Practice in Modern Medicine). กรุงเทพฯ: เทพเพ็ญวานิสย์, 2561. หน้า 181-200.
  • 2015–2020 Dietary Guidelines for Americans
  • 2016 ESC/EAS Guidelines for the Management of Dyslipidaemias
Tags: , , , , , ,