ท้องฟ้าต้นฤดูใบไม้ผลิดูไม่เป็นใจเท่าไรนักในวันที่เราเตรียมสัมภาระเดินทางออกจากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย สู่โรดทริป 2 วัน 1 คืนบนถนนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสมบัติประจำชาติของออสเตรเลียอย่าง ‘Great Ocean Road’

ขณะนั่งรถออกจากตัวเมือง ฝ่ารถติดระดับเหลนกรุงเทพฯ เพียงช่วงโมงเศษบนทางด่วน ฟ้าสว่างก็เผยให้เห็นท้องน้ำสีเขียวอมฟ้าสดใสที่ปลายสายตา เป็นคำกล่าวยินดีต้อนรับว่าเราได้มาถึงถนนริมมหาสมุทรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เราแวะทานมื้อกลางวันที่เมืองลอร์น (Lorne) เมืองขนาดน่ารักที่ประจันหน้ากับแปซิฟิก ส่วนอาหารที่เราเลือกทานคือจานโปรดของชาวออสซี่ ฟิชแอนด์ชิป ที่ใช้อาหารทะลสดๆ ชุบแป้ง แล้วนำไปทอดกรอบในน้ำมันเดือดๆ โรยเกลือเล็กน้อย แล้วเลือกจิ้มกับซอสรสเปรี้ยว หวาน หรือเค็มๆ มันๆ ก็ได้ตามใจฉัน

ประตูโค้งต้อนรับนักเดินทางสู่  ‘Great Ocean Road” ซึ่งตั้งอยู่เคียงกับอนุสาวรีย์ชายหนุ่มสองคนที่เป็นภาพแทนของแรงงานผู้ก่อสร้างถนนสายนี้

ตลอดสองข้างทางมีจุดให้พักยืดเส้นยืดสายสูดไอทะเลเป็นระยะ จุดที่สะดุดตาที่สุดคือประตูโค้งที่แขวนป้ายไม้ว่า ‘Great Ocean Road’ ซึ่งตั้งอยู่เคียงกับอนุสาวรีย์ชายหนุ่มสองคนที่เป็นภาพแทนของแรงงานผู้ก่อสร้างถนนสายนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลออสเตรเลียได้เตรียมแผนก่อสร้างถนนสายดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่วีรชนผู้เสียชีวิตในสงคราม เพิ่มความสะดวกในการเดินทางสู่เมืองริมชายฝั่งที่ห่างไกล รวมถึงสร้างงานแก่ทหารผ่านศึกราว 3,000 ชีวิตที่กลับมาจากสงคราม

แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนที่สวยติดอันดับโลก แต่ถนนสายนี้เช่นกันที่นับว่าเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติค่อนข้างมาก โดยเผชิญกับภัยพิบัติจนทำให้ต้องปิดถนนหลายต่อหลายครั้ง เช่น พายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงหรือน้ำป่าที่ทะลักแบบเฉียบพลันจนทำให้เกิดดินถล่ม ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเรื้อรังจวบจนปัจจุบัน

แม้แต่วันนี้ก็เช่นกัน… ไกลสุดสายตาเราเห็นคิวรถจอดนิ่งยาวเหยียดจนพอจะเดาได้ว่าเกิดเหตุไม่ปกติข้างหน้า

โชคดีที่ปัญหาเกิดจากดินถล่มทำให้เสียช่องทางการจราจรเพียงหนึ่งเลน ทำให้ต้องมีการจัดจราจรโดยหนุ่มสาวในชุดสีส้มแปร๊ด สลับกันปล่อยเหล่าผู้ใช้ถนนทีละฝั่ง (เพราะถนนมีเพียงแค่สองเลนสวนกัน) ผมลงไปบันทึกภาพสองสามแชะกลางแดดเปรี้ยงยามบ่ายและสายลมทะเล ไม่นานก็หลบมานั่งอ้อยอิ่งฟังวิทยุคลื่นท้องถิ่นที่เปิดเพลงฝรั่งทำนองย้อนยุค

นั่งชิลไปเกือบ 20 นาที ก็ถึงตาที่เราจะต้องเดินหน้าไปยังปลายทาง พอร์ต แคมป์เบล (Port Campbell) เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเหล่าโขดหินปูนรูปร่างแปลกตา สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังประจำถนนแห่งนี้

นักท่องเที่ยวเดินออกมายืดเส้นยืดสายเพราะต้องรอคิวผ่านทางข้างหน้าซึ่งเกิดอุบัติเหตุดินถล่มทำให้เหลือช่องทางเดินรถเพียงช่องเดียว

กลุ่มหิน 12 สาวก สะพานลอนดอน และชายฝั่งปูนประหลาด

ใกล้เย็นย่ำแต่ฟ้ายังไม่มืด เราฝ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเป็นคันรถเพื่อเข้าชมชายฝั่งปูนประหลาดนามว่า 12 สาวก (12 Apostles) ซึ่งนับว่าเป็นไฮไลท์บนถนนสายนี้

กลุ่มหินดังกล่าวเกิดจากการกร่อนตัวอย่างแช่มช้าของหน้าผาหินปูนที่ถูกกัดเซาะโดยลมและคลื่นเป็นเวลานับล้านปี เหลือเป็นแท่งหินโดดเดี่ยวกลางทะเล 12 แท่ง ซึ่งบางแท่งก็ล้มหายตายจากไปเหลือแต่ตอก็มี นี่คือความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติผสานกับเวลาที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์ดูเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนโลกใบนี้

เราชื่นชมความงามตรงหน้าสักพักก็ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินผ่าน แม้จะได้ฟังจากเพื่อนมาว่าช่วงเวลาสั้นๆ เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกจะเป็นห้วงที่น่าจดจำ แต่ก็อดทำใจไม่ได้ที่ต้องเสียเงินครึ่งหมื่นเพื่อแลกกับเวลาเพียง 15 นาทีบนท้องฟ้า

แต่หลังจากได้เห็นภาพชายฝั่งกับตา การตัดสินใจก็ดูจะง่ายขึ้นมากเพราะไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ก็ไปให้สุดละกัน!

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แม้จะกลัวๆ อยู่บ้างขณะที่พื้นดินลอยห่างจนฝูงแกะกลายเป็นจุดสีขาวเล็กจิ๋ว แต่เมื่อได้เห็นชายฝั่งจากมุมสูงลิ่ว ถนนที่มีรถขนาดเล็กราวกับของเล่น และชายฝั่งที่เต็มไปด้วยหมู่หินตระหง่านตัดกับทะเลสีฟ้าเขียว ความกลัวก็กลายเป็นความตื่นเต้นผสมกับความสุข

พี่นักบินพาเราทะยานไปตามชายฝั่ง ชี้ชวนให้เห็นหมู่หินที่นอกจาก 12 สาวกแล้ว ก็ยังมีช่องเขาล็อคอาร์ด (Loch Ard Gorge) ซึ่งตั้งชื่อจากโศกนาฎกรรมเรือล็อคอาร์ดที่ล่ม โดยมีผู้โดยสารรอดชีวิตเพียง 2 คนจากทั้งหมด 54 คนตั้งแต่ พ.ศ. 2421 และสะพานลอนดอน (London Bridge) ซึ่งเป็นทางหินโค้งเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ ในอดีตนักท่องเที่ยวสามารถเดินไปชมได้ แต่ทางเชื่อมดังกล่าวพังทลายลงเมื่อ พ.ศ. 2533 และทิ้งให้นักท่องเที่ยวสองคนติดอยู่กลางทะเลเพื่อรอความช่วยเหลือ

แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับผมคือหินที่เป็นเครื่องหมายอะไรเอ่ย (?) ซึ่งหากมองจากพื้นดินคงเห็นไม่ต่างจากกำแพงหินทั่วไป แต่หากมองจากมุมสูงจะเห็นเป็นเครื่องหมายคำถามอย่างชัดเจน

ภาพมุมสูงของกลุ่มหิน 12 สาวก (12 Apostles) และชายฝั่งหินปูนที่ถูกกัดเซาะด้วยลม ฝน และกระแสน้ำทะเล

หลังจากชมทางอากาศ เราก็เลาะเลียบไปตามถนนเพื่อชมกลุ่มหินในภาคพื้นดิน แล้วจึงแวะพักกินอาหารในร้านอิตาเลียนชิลๆ ใจกลางเมืองขนาดจิ๋วพอร์ตแคมป์เบลล์ (Port Campbell) แต่ค่ำคืนนี้ยังไม่จบ เพราะเรามีนัดกับพระจันทร์ที่สะพาน (ขาด) ลอนดอน

เราฝ่าความมืดไปตามท้องถนนเพื่อเจอกับลานจอดรถว่างเปล่า ท่ามกลางแสงจันทร์ เราทานลมหนาวได้ไม่นานเพื่อเก็บภาพสะพานลอนดอนในยามค่ำคืน ก่อนที่จะตัดใจกลับที่พัก เพราะพระจันทร์สว่างเกินกว่าจะมองเห็นแสงดาว

ระหว่างทาง เรากลับเจอนางเอกที่ไม่คาดฝันคือกลุ่มจิงโจ้แม่ลูกอ่อนที่ออกมาหากินในยามค่ำคืน แถมยังยืนขวางราวกับเป็นเจ้าถนน จิงโจ้ป่าสำหรับคนออสซี่พบเห็นได้ไม่ยากพอๆ กับสุนัขข้างถนนในกรุงเทพฯ แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตเกินกว่าค่อนกลางแยกอโศก การมาเจอจิงโจ้ป่าตัวเป็นๆ แถมยกมาทั้งครอบครัว ก็เป็นเรื่องตื่นเต้นไม่น้อย

หลังจากสำรวจเจ้าสัตว์แปลกตาหน้ารถยนต์สักพัก ผมก็หันมาหาภรรยาพร้อมกับปรึกษาว่า “เอายังไงดี?” เพราะจ้าวถนนนอกจากจะดูไม่กลัวแสงไฟหน้ารถแล้ว ยังหันมามองแบบค่อนข้างเอาเรื่องใช้ได้ ภรรยาผมซึ่งเคยเรียนที่ออสเตรเลียมาร่วม 10 ปี จึงให้กำลังใจว่า “ระวังนะ เคยมีข่าวว่าจิงโจ้เตะกระจกรถกระจุยจนคนบาดเจ็บต้องนอนโรงพยาบาลเลย”

ครับ… สบายใจขึ้นเยอะเลย

ภาพมุมสูงที่มองเห็นชายฝั่งหน้าตาแปลกแปร่ง ในภาพเป็นหินรูปเครื่องหมายคำถามแปลกตา

สุดท้าย เราก็ตัดสินใจบีบแตรอย่างสุภาพ เพื่อส่งสัญญาณว่าขอทางหน่อยนะจ้ะ โชคดีที่เจ้าจิงโจ้พอจะรู้สัญญาณจราจรอยู่บ้าง จึงเริ่มกระโดดนำหน้าไป สักพักเราก็ขับตีคู่กับครอบครัวจิงโจ้น้อย ก่อนจะเร่งเครื่องหนีเพราะกลัวสองขาอันทรงพลังจะมาสัมผัสกับกระจกรถ

เป็นอันว่าคืนนี้เรานอนหลับได้สนิท เพราะนอกจากจะเหนื่อยมากทั้งวัน ยังมีประสบการณ์เจ๋งๆ ไว้ไปโม้ให้เพื่อนที่ไทยฟังด้วยอีกว่า มาออสเตรเลียครั้งนี้ เราได้ขับรถแข่งกับจิงโจ้ป่า

สะพานลอนดอน ในอดีตเราสามารถเดินข้ามสะพานไปยังกลุ่มหินกลางทะเลได้ แต่ปัจจุบันสะพานดังกล่าวได้พังทลายลงไปแล้ว

ชิมชีสจากทุ่งหญ้า เดินใกล้ฟ้าในป่าฝนโบราณ

หลายคนอาจเข้าใจว่า Great Ocean Road จะมีแต่ท้องฟ้าแตะพื้นน้ำเป็นฉากหลัง แต่ความเป็นจริงแล้ว ถนนสายนี้หลบเข้ามาในป่าและทุ่งหญ้าตั้งแต่บรรจบกับอุทยานแห่งชาติเกรตอ็อตเวย์ (Great Otway National Park) มหาสมุทรสีฟ้าจะถูกทดแทนด้วยทุ่งหญ้าสีเขียวอร่ามสุดตา สลับกับป่าเฟิร์นโบราณและต้นบีชสูงท่วมหัว

เราเลือกแวะที่ร้านริมฟาร์มขนาดย่อม Apostle Whey Cheese ที่นอกจากจะเสิร์ฟชีสหลากชนิดแล้ว ยังมีนมและไอศกรีมให้ทานกันแบบสดจากฟาร์มอีกด้วย สำหรับคนรักชีสอย่างเรา หลังจากชิมชีสร่วม 20 ชนิด ก็ได้เลือกชีส 4 ประเภทมาร่วมวงกับแครกเกอร์ และผลไม้ต่างๆ เป็นอาหารยามสาย ชีสที่เราเลือกไล่ระดับตั้งแต่อ่อนบางเบาระดับบรี (Brie) ไปจนถึงกลิ่นแรงเร่าของบลูชีส (Blue Cheese) ทุกๆ คำที่ผ่านเข้าปาก เราจะได้สัมผัสแง่มุมใหม่ของชีสที่เรากำลังรับประทานเมื่อจับคู่กับเครื่องเคียงต่างชนิด

ทัศนียภาพพุ่มเตี้ยซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปสองข้างทางของถนน Great Ocean Road

สิ่งที่เราทำให้ประหลาดใจคือแยมสีแดงม่วงเข้ม จากการสอบถามมันคือแยมควินซ์ (Quince) ผลไม้สีทองปลั่งที่ไม่พบเห็นมากนักในประเทศไทย รสชาติคล้ายแพร์ เมื่อมาทำแยมก็ให้ความรู้สึกหวานหนักๆ แต่ไม่ใช่หวานจัด เมื่อจับคู่กับผลไม้หรือชีสก็สามารถดึงเอารสชาติแฝงออกมาได้อย่างเด่นชัด

หลังจากหนังท้องตึง ก็ได้เวลาออกกำลังกาย เพราะเป้าหมายต่อไปของเราอยู่ที่อ็อตเวย์ฟลาย (Otway Fly) ทางเดินสูงเสียดฟ้าความยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร ให้เราได้เดินท่ามกลางป่าฝนโบราณไม่กี่แห่งในออสเตรเลีย เพื่อชมความงามในระดับสายตานก ณ ระดับความสูง 25 เมตร โดยมีจุดที่สูงที่สุดเป็นหอคอย 47 เมตร

เราเดินอ้อยอิ่งอาบป่าโดยใช้เวลาร่วมชั่วโมง แม้จะแทบไม่มีสัตว์ป่าโผล่มาให้เห็น แต่เราก็ยังได้ยินเสียงนกสลับกับต้นไม้ที่เสียดสีไปมา ทัศนียภาพด้านบนนั้นน่าตื่นตา และสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นพอๆ กันคือความพยายามในการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่โดยยังคงความเป็นธรรมชาติที่งดงามเอาไว้เช่นเดิม

ชีส 4 ชนิดจาก Apostle Way Cheese เสิร์ฟพร้อมองุ่น แอปเปิล แครกเกอร์ และแยมควินซ์

เรายิ้มให้กับป่าฝนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะตีรถกลับไปหาความเจริญในเมืองจีลอง (Geelong)

สองวันสั้นๆ บนถนนสายนี้เรียกว่าครบรสและครบเครื่อง ทั้งทัศนียภาพ อาหาร และบรรยากาศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถนนที่ดูเผินๆ ก็แค่เส้นทางริมมหาสมุทร กลับดึงดูดนักท่องเที่ยวนานาชาติให้มาเยี่ยมเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า

ทางเดินสูงเสียดฟ้าในป่าโบราณ อ็อตเวย์ ฟลาย (Otway Fly) 

ขอบคุณ ธิษณา กูลโฆษะ

Did you Know?

สำหรับผู้ที่ไม่ถนัดใจกับยานพาหนะสองล้อหรือสี่ล้อ เส้นทางสายนี้ก็มีทางเลือกเพื่อคนที่รักการเดินเท้าคือเส้นทาง Great Ocean Walk ระยะทางราว 100 กิโลเมตรเริ่มจากอ่าวอพอลโล (Apollo Bay) ไปสิ้นสุดที่กิ๊บสันสเต็ป (Gibson Steps) ซึ่งมีออปชันทั้งเดินสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง หรือจะวางแผนลุยแบบสุดตัวด้วยระยะเวลารวมทั้งสิ้น 8 วัน โดยนักท่องเที่ยวสามารถแวะพักได้ตามจุดตั้งแคมป์ที่มีอยู่รายทาง หากใครสนใจก็สามารถอ่านรายละเอียดและวางแผนการเดินทางได้ที่นี่

เอกสารประกอบการเขียน

Guide to The Great Ocean Road

Great Ocean Road: How to tackle Australia’s epic road trip

Tags: , ,