รู้หรือยังว่า ตอนนี้ประเทศไทยเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์’ (Aged Society) แล้ว หลังจากประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มากเกิน 20% ตั้งแต่ปี 2566 และตัวเลขนี้นับวันก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
และรู้กันหรือไม่ว่า เมื่อเราแก่ตัวลงรัฐจะช่วย ‘ดูแล’ อะไรเราบ้าง หลังจากทำงานเหน็ดเหนื่อยและเสียภาษีให้กับรัฐมาทั้งชีวิต
The Momentum อยากชวนทุกคนไปสำรวจ ‘สวัสดิการ’ ที่ผู้สูงอายุควรได้รับ พร้อมกับหาคำตอบไปพร้อมกันว่า สิ่งที่รัฐให้ ‘ดีพอไหม’ กับคนวัยเกษียณ
เป็นคนแก่ในไทย รัฐดูแลอะไรบ้าง
สำหรับสวัสดิการที่รัฐให้กับผู้สูงอายุไทย สามารถจัดได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. ผู้สูงอายุทั่วไป และ 2. ผู้สูงอายุที่เคยเป็นข้าราชการหรือทำงานในรัฐวิสาหกิจ
ผู้สูงอายุทั่วไป (อายุเกิน 60 ปี) ที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะได้รับ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุคือ
– อายุ 60 – 69 ปี เดือนละ 600 บาท
– อายุ 70 – 79 ปี เดือนละ 700 บาท
– อายุ 80 – 89 ปี เดือนละ 800 บาท
– อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,000 บาท
หากผู้สูงอายุคนดังกล่าวเคยอยู่ในระบบประกันสังคม พร้อมส่งเงินสมทบถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้เงิน ‘บำเหน็จ-บำนาญชราภาพ’ ตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมด้วย
ในส่วนผู้สูงอายุที่เคยเป็นข้าราชการ นอกจากจะได้รับเงินบำเหน็จ-บำนาญตามขั้นเงินเดือนและระยะเวลาทำงาน ยังได้รับสวัสดิการอื่นเพิ่มเติม เช่น สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล การนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงิน หากเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าทำศพ ฯลฯ
ทั้งนี้หากมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจะได้รับการช่วยเหลืออื่น เช่น
– ลดหย่อนค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ทั้ง MRT-BTS-Airport Link ฯลฯ
– ลดหย่อนการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะกิจกรรมของผู้สูงอายุ เช่น สวนสุขภาพ สนามกีฬา ศูนย์กีฬาในร่ม ฯลฯ
– ฟรีเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯลฯ
– สนับสนุนเงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพสูงสุด 3 หมื่นบาทต่อคน หรือ 1 แสนบาทต่อกลุ่มคน(ไม่น้อยกว่า 5 คน)
– หากยากจนหรือเผชิญภาวะยากลำบากจะมีค่าปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ค่าช่วยเหลือด้านอาหารเครื่องนุ่งห่ม หรือการจัดหาที่พักอาศัยให้ ไปจนถึงค่าทำศพ
สวัสดิการต่างๆ ข้างต้นที่ให้กับผู้สูงอายุ มีการตั้งงบประมาณไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นเงินกว่า 94,095 ล้านบาท โดยแยกย่อยออกเป็น 5 รายการ
– เบี้ยผู้สูงอายุ จำนวน 93,215 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99% ของทั้งหมด
– เงินอุดหนุนปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน จำนวน 440 ล้านบาท
– เงินอุดหนุนการจัดการศพผู้สูงอายุ จำนวน 345 ล้านบาท
– กองทุนผู้สูงอายุ จำนวน 57 ล้านบาท
– เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก จำนวน 37 ล้านบาท
จากข้อมูลที่ไล่เลียงมาทำให้พอจะมองเห็นภาพได้ว่า รัฐจัดสรรสวัสดิการและบริหารงบประมาณอะไรให้ประชาชนไทยในวันที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในประเทศไทยบ้าง
ทว่าคำถามสำคัญคือสวัสดิการเหล่านั้นเพียงพอแล้วหรือยัง และดีพอแล้วหรือไม่ต่อการดำรงชีวิต
How to เพิ่มสวัสดิการ
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตอบโดยสรุปว่า สวัสดิการที่รัฐให้กับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรือที่ไม่ใช่ตัวเงิน “ยังมีช่องว่างให้พัฒนาอยู่มาก ผู้สูงอายุยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ”
เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรจะอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่ใช่สูงสุดแค่ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเกินกว่าเส้นความยากจนพื้นฐาน เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในวัยเกษียณ
เขามองว่า ไทยยัง ‘ขาดความพร้อมในการรับมือสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ต้น’ เห็นได้จากการเปรียบเทียบสวัสดิการผู้สูงอายุของไทยกับชาติอื่นที่โดดเด่นในการดูแลผู้สูงอายุ เช่น ญี่ปุ่นที่คนวัยทำงานมีรายได้เพียงพอและมีการเก็บออมสูง, สหรัฐอเมริกาที่มีผลิตภัณฑ์ในการสะสมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในวัยเกษียณ หรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงถึง 40-50% เพื่อนำเงินส่วนนั้นไปบริหารและจัดสรรเป็นสวัสดิการที่เหมาะสม
ซึ่งทั้ง 3 แนวทางที่ว่ามายังไม่ถูกนำมาใช้ในไทยเลย แม้แต่แนวทางเดียว
“เราไม่มีแนวทางในการพัฒนา ไม่มีการเตรียมความพร้อม จริงๆ เราจะเลือกทางไหนก็ได้ ขอให้มีสักทางหนึ่งก่อน มันก็จะทําให้ผู้สูงอายุสามารถเตรียมความพร้อมได้ แต่ตอนนี้เราไม่มี มันเลยเกิดเป็นปัญหาพัวพันในที่สุดว่า พอเราไม่ได้เตรียมความพร้อมแล้ว เราสามารถที่จะจ่ายเงินได้มากแค่ไหน” ดร.นณริฏกล่าว
เมื่อถามถึงแนวทางในการยกระดับสวัสดิการผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน ดร.นณริฏตอบว่า สถานการณ์คลัง ณ ตอนนี้ที่เก็บภาษีได้แค่ 13% ของ GDP ทำให้ความเป็นไปได้ว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะสามารถเพิ่มได้มากที่สุดอยู่ที่ 1,000-1,650 บาทแบบถ้วนหน้าเท่านั้น หากต้องการให้ถึง 3,000 บาท รัฐต้องใช้กลไกอื่นเข้าช่วยด้วย
“ผมเสนอว่าถ้าใช้กลไกอื่นเช่นกลไกตลาด ก็คือการเก็บภาษี เช่น VAT เพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้เราเก็บ VAT ต่ำมาก แค่ 7% บางประเทศเก็บถึง 20% ดังนั้นถ้าเราเพิ่มภาษีตรงนี้ขึ้นมา มันสามารถเอามาเพิ่มเข้าไปในกองทุนเพื่อดูแลผู้สูงอายุได้เลย อันนี้ก็เป็นการช่วยด้านการเงินอีกตัวหนึ่งที่สามารถทําให้เม็ดเงินจากภาษีตรงไปสู่ผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องเสี่ยงเรื่องของคอร์รัปชัน”
อีกข้อเสนอในการรับมือกับสังคมสูงวัยคือ การ ‘ปลดล็อกศักยภาพผู้สูงอายุ’ โดยนักวิชาการ TDRI ขยายความเพิ่มว่า สังคมไทยมักโยนความรับผิดชอบชีวิตผู้สูงอายุให้กับรัฐเพียงอย่างเดียว ทั้งที่รัฐเองก็ยังไม่มีความพร้อม ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่ช่วยได้คือการที่คนวัยทำงานเตรียมตัวเองก่อนจะเข้าสู่วัยเกษียณ
“อย่าไปหวังพึ่งรัฐว่าเขาจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาว หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่พอเข้ามาแล้ว มันสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในโลกเลย”
โดยการปลดล็อกศักยภาพผู้สูงอายุ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายหลักคือ บุคคลอายุ 45-60 ปี ซึ่งต้องเตรียมตัวในหลายด้าน ได้แก่
1. การลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การลดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การพนันออนไลน์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพและความมั่นคงทางอาชีพ
2. การออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในอนาคต
3. การวางแผนทางการเงิน เพื่อสร้างรายได้และเงินออมสำหรับวัยเกษียณ โดยมีข้อเสนอให้ปฏิรูปตลาดทุน
4. การปรับปรุงที่อยู่อาศัยก่อนวัยเกษียณ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเช่นการลื่นล้ม ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุเสียความสามารถในการใช้ชีวิตปกติ
5. การแก้ปัญหาการออกจากงานก่อนวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถหารายได้และเก็บออมเพิ่มขึ้น
“ศักยภาพของภาครัฐมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น ทรัพยากรของภาครัฐก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะฉะนั้นทางออกเดียวที่ทําได้คือ ต้องให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงปัญหาตรงนี้ ภาครัฐก็ต้องตระหนักรู้และร่วมกันหาทางออกว่า เราจะเดินกันต่อไปยังไงในสภาวะที่เราคงไม่สามารถที่จะแจกเงินอะไรได้ทั้งหมด แต่ต้องให้ทุกคนมาร่วมด้วยช่วยกัน เตรียมความพร้อมทางด้านเกษียณอายุมากขึ้น มันก็จะทําให้ประเทศเราไปต่อได้” ดร.นณริฏกล่าว
สุดท้ายแล้วคำถามว่า สวัสดิการเหล่านั้นเพียงพอและดีพอแล้วหรือยัง บางคนอาจบอกว่าขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน แต่จะดีกว่าไหม หากรัฐจะรับฟังความต้องการของประชาชน และออกแบบสวัสดิการที่ ‘คนส่วนใหญ่’ พึงพอใจ และคิดว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่เพียงพอในการดำรงชีพเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ (เหมือนอย่างที่บอร์ดประกันสังคมเพิ่งปรับเกณฑ์คำนวณบำนาญชราภาพไป)
ในขณะที่ประชาชนในสังคมไทยก็พากัน ‘แก่ตัว’ ขึ้น ในทุกๆ วัน
ที่มา
https://saraban.ldd.go.th/archive/openAttachFileServlet
https://bbstore.bb.go.th/cms/1703778524_6353.pdf
https://www.hrm.chula.ac.th/newhrm/กองทุนประกันสังคม/
Tags: Elderly Welfare, Aging Society, สังคมผู้สูงอายุ, คนแก่, รัฐบาลไทย, GrayScale, สวัสดิการผู้สูงอายุ