ถือว่าเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันตั้งแต่ช่วงสายของวันนี้ (26 ธันวาคม 2565) เมื่อผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ประกาศการตั้งฉายา ‘รัฐบาล’ และ ‘รัฐมนตรี’ ประจำปี ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อันเป็นสัญญาณว่าลมหนาวสิ้นปีได้หวนมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หลังการเข้ายึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปีพ.ศ. 2557-2561 ธรรมเนียมดังกล่าวได้ถูกเว้นวรรคไป ตามความเห็นของสื่อมวลชนที่หวั่นเกิดความขัดแย้งจากกระแสเห็นต่างทางการเมือง ก่อนจะกลับมาอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่พลเอกประยุทธ์และ ครม. ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฟากผู้สื่อข่าวต่างก็พร้อมใจตั้งฉายาสนองถึงพริกถึงขิง แต่จะมีอะไรบ้าง เราขอชวนคุณผู้อ่านนั่งไทม์แมชชีนย้อนความไปพร้อมกัน

ปี 2562

ฉายารัฐบาล: ‘รัฐเชียงกง’

เมื่อพูดถึงเชียงกง ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาคือภาพของเศษซากอะไหล่ยนต์มือสอง ที่เกรอะกรังไปด้วยสนิมและคราบน้ำมันเครื่อง ทว่ายังสามารถนำมาประกอบกับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ให้แล่นต่อไปได้อีกระยะ 

เช่นเดียวกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เกิดจากการประกอบร่างของพรรคใหญ่ 3 พรรค (พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย) รวมเข้ากับพรรคเล็กอีก 11 พรรค (อาทิ พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชานิยม, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคประชาชนปฏิรูป, พรรคพลเมืองไทย ฯลฯ) มิหนำซ้ำสมาชิกแต่ละรายยังเป็นกลุ่มนักการเมืองหน้าเก่าที่สิ้นสภาพจากแวดวงการเมือง ทำให้ภาพลักษณ์ที่ออกสู่สายตาประชาชนไม่สู้ดี และเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่าประเทศจะเดินไปในทิศทางใดต่อ

ฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม: ‘อิเหนาเมาหมัด’

‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ คือสำนวนไทยคุ้นหูที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนเข้าใจ และสำหรับการเข้ามาของพลเอกประยุทธ์ได้ประกาศจุดประสงค์ชัดเจนว่า เป็นการเข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสองสีเสื้อ รวมถึงล้างไพ่อำนาจเก่าที่มีมาตั้งแต่ยุคนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร 

อย่างไรก็ดี คำพูดและการปฏิบัติของ ‘บิ๊กตู่’ กลับสวนทางกันอย่างชัดเจน เมื่อลงมือดึงอดีตสมาชิกจากกลุ่ม กปปส. เพื่อนร่วมรุ่นทหาร ก๊วน ‘3ป.’ ไปจนถึงญาติพี่น้องเข้ามาอยู่ร่วมครม. และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่สำคัญยังพลิกลิ้นจากที่ก่อนหน้าว่าจะไม่เล่นการเมือง กลายเป็น ‘นักการเมืองที่เคยเป็นทหาร’ เสียอย่างนั้น

 

ปี 2563

ฉายารัฐบาล: ‘Very กู้’

ที่มาของฉายานี้เกิดขึ้นเพราะการมาของวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนัก ดังนั้นคำว่า ‘Very กู้’ จึงมาจากการกู้หนี้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข เยียวยาบางอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ผลปรากฏเป็นตัวเลขเงินกู้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ราว 1 ล้านล้านบาท ตามข้อมูลชี้แจงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ท่ามกลางเสียงก่นด่าจากลูกจ้างนายจ้างที่ได้เงินชดเชยไม่พอเยียวยาปากท้อง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 กลุ่ม จะได้รับเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) พร้อมจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีกรายละ 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท

นายจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 กลุ่มดังกล่าว รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน

ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท

ฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม: ‘ตู่ไม่รู้ล้ม’

เป็นการล้อคำมาจากชื่อเครื่องดื่มยาดอง ‘โด่ไม่รู้ลม’ ที่มีสรรพคุณเพิ่มกำลังวังชาให้ท่านชายฟิตปึ๋งปั๋ง เมื่อนำมาเปรียบกับการทำงานของพลเอกประยุทธ์ ที่ถูกสารพัดปัญหาถาโถมอย่างหนักแต่ยังสู้ไม่ถอย โดยเฉพาะนอกสภาที่ถูกกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือที่ถูกนิยามว่าเป็นพวก ‘สามกีบ’ ลุกขึ้นมาต่อต้านไล่ลงจากตำแหน่ง

 

ปี 2564

ฉายารัฐบาล: ‘ยื้อยุทธ์’

ท่ามกลางกระแสการขับไล่พลเอกประยุทธ์ที่ยกระดับความรุนแรงมากขึ่นเรื่อยๆ มาจากปีก่อน ดังนั้นหน้าที่ของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นการ ‘ยื้อ’ ให้ผู้นำสูงสุดของประเทศรายนี้ได้นั่งสืบทอดต่อบนเก้าอี้ โดยมิฟังเสียงจากประชาชนหรือข้อเสนอแนะจากฝ่ายค้าน ที่เอือมระอาต่อการบริหารประเทศอันเอื่อยเฉื่อย ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่มีภาพคนตายข้างถนนจนชินชา และการใช้กำลังปราบปราบประชาชนผู้เห็นต่าง

ฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม: ‘ชำรุดยุทธ์โทรม’

ปี 2564 บิ๊กตู่ถูกตราหน้าว่าล้มเหลวการบริหารจัดการแผ่นดินทุกๆ ด้าน ขณะเดียวกันยังถูกซักฟอกอย่างหนักจากคดี ‘เหมืองทองอัครา’ และถูกอดีตคนสนิทอย่าง ‘ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า’ โจมตีหลังยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สีหน้าที่ทรุดโทรมผนวกกับแววตาที่อ่อนล้าของพลเอกประยุทธ์ คงจะเป็นคำตอบต่อฉายานี้ได้กระจ่างแจ้ง

 

ปี 2565

ฉายารัฐบาล: หน้ากากคนดี

แม้จะมีประกาศจากทาง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้ประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจในที่สาธารณะ แต่ฟากฝั่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และองคาพยพยังคงสมัครใจเลือกสวม ‘หน้ากาก’ ที่อวดอ้างว่าตนเป็น ‘คนดี’ ไว้ตลอด เพื่อสร้างภาพลักษณ์สวยหรู ทว่านโยบายต่างๆ ที่ออกมากลับสวนทางกัน อาทิ นโยบายกัญชาเสรี ที่กลายเป็นไฟลามทุ่งในหมู่เยาวชน นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 ที่ถึงขวบปีที่ 4 ก็ยังไร้วี่แวว ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอัตราละ 4-6 บาทต่อหน่วย (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทพลังงานเจ้าสัว 

ด้านนโยบายตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน ทั้ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เป็นดั่งความหวังใหม่ก็ถูกปัดตกด้วยเหตุผลกำกวม เมื่อรัฐบาลกระทำการสวนคำว่าคนดี จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะเกิดความเคลือบแคลงใจสงสัยภายใต้หน้ากากนั้น

ฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม: ‘แปดเปื้อน’

พลเอกประยุทธ์กลายเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 38 วัน จากปมวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เมื่อ 30 กันยายน 2565 เพื่ออ่านคำวินิจฉัย โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องเริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่

ถึงกระนั้น ในสายตาของประชาชนส่วนมากกลับมองว่า ตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ได้เริ่มต้นตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ การกระทำทั้งปวงกลายเป็นกระจกสะท้อนพลเอกประยุทธ์ ที่ในอดีตยืนยันว่ามิได้ยึดติดกับอำนาจ ทำทุกอย่างเพื่อบ้านเมือง แต่ปัจจุบันกลับทำทุกวิถีทางเพื่อคงอำนาจ ปูทางผลประโยชน์แก่พวกพ้อง มิเช่นนั้นคงไม่ประกาศสวมหัวโขนยกตนเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ จริงหรือไม่ขึ้นอยู่ที่วิจารญาณ

ทั้งนี้ ประกาศการตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรี ประจำปี 2565 ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญกับวาทะแห่งปี ที่มีใจความว่า “เกลียดหรือไม่เกลียดก็ช่างคุณเถอะ เพราะผมไม่รู้”

วาทะดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างที่พลเอกประยุทธ์เดินทางไปเป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในหัวข้อ บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ท่ามกลางกระแสแตกหักรุนแรงในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล และก๊วน 3 ป. 

ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ได้แสดงความคิดเห็นสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวขณะกำลังเดินทางกลับจากการเป็นประธานการประชุมองค์การทหารผ่านศึก ถึงการตั้งฉายารัฐบาลหน้ากากคนดีและฉายานายกแปดเปื้อนว่า “ไม่สนใจ, ประเพณีบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ไม่มี” พลางโบกมือด้วยสีหน้าและแววตาบึ้งตึง

 

ภาพ: Reuters

Tags: , ,