กูเกิลที่เคยถอนตัวจากจีนเมื่อ 8 ปีก่อนเพื่อประท้วงการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีนและการแฮ็ก ตอนนี้กำลังพัฒนาเสิร์ชเอนจินที่เอาไว้ใช้สำหรับประเทศจีนโดยเฉพาะ โดยจะยอมสร้างระบบการค้นหาที่กรองเว็บไซต์ที่ทางการจีนขึ้นบัญชีดำไว้

เกือบทศวรรษที่ผ่านมา การตัดสินใจของกูเกิลที่เลือกประโยชน์ของสังคมเหนือผลกำไรทางเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องเล่าในตำนานของชุมชนซิลิคอน แวลลีย์ โดยแสดงให้เห็นว่า บริษัทไอทีสามารถสร้างประชาธิปไตย (democratize) ให้กับโลกได้

แต่ตลาดจีนที่ใหญ่มากก็เย้ายวนใจไม่น้อย จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 772 ล้านคน มีหลายร้อยล้านคนที่ไม่ยังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

สำนักข่าว The Intercept  รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนว่า กูเกิลมีทีมวิศวกรที่กำลังทำแอปพลิเคชั่นค้นหาที่จำกัดเนื้อหาที่ถูกแบนโดยทางการจีน โครงการนี้ใช้รหัสเรียกว่า Dragonfly ดำเนินการมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว และเร่งให้เร็วขึ้นในเดือนธันวาคม 2017 ระหว่างการพบกันของ ซันเดอร์ พิชาย ซีอีโอ ของกูเกิลกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีน จากเอกสารภายในของกูเกิล และคนในกูเกิลก็คุ้นเคยกับแผนนี้

ในเอกสารที่เปิดเผยโดย The Intercept  ระบุว่า กูเกิลจะกรองเว็บไซต์ที่ถูกทางการจีนบล็อคโดยอัตโนมัติ เว็บไซต์ที่ถูกแบนจะถูกถอดออกจากหน้าแรกของผลการค้นหา ซึ่งจะเขียนว่า “บางผลลัพธ์ถูกถอดออกไปจากหน้าแรกของการค้นหาโดยเป็นไปตามกฎหมาย” ตัวอย่างเว็บไซต์ที่จะถูกเซนเซอร์ที่ระบุไว้ในเอกสารก็คือ วิกิพีเดียและบีบีซี การเซ็นเซอร์ยังรวมถึงการค้นหาภาพ การเช็คตัวสะกด และผลการค้นหาที่แนะนำ

ทีมโปรแกรมเมอร์และวิศวกรได้สร้างแอปพลิเคชั่นในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2 เวอร์ชั่น ที่มีชื่อว่า “Maotai” และ “Longfei” มีการนำเสนอให้กับรัฐบาลจีนดูแล้ว เวอร์ชั่นสุดท้ายจะปล่อยออกมาภายใน 6-9 เดือนที่จะถึงนี้ เพื่อรอการอนุมัติจากทางการจีน

แต่แหล่งข่าวรายนี้ก็เตือนว่า การที่กูเกิลมีโครงการนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า กูเกิลจะกลับไปเปิดให้บริการในจีนอีก เพราะกูเกิลก็มักจะสร้างและทดสอบบริการต่างๆ ซึ่งไม่ได้เปิดให้สาธารณะใช้งานอยู่เป็นประจำ

แอปค้นหานี้จะเป็นไปตามนโยบายเซ็นเซอร์อย่างเข้มข้นของพรรคคอมมิวนิสต์ในด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและศาสนา

การคืนคำของกูเกิลเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทสัญชาติอเมริกันพยายามปรับแต่งผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ แม้มันจะกดทับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊กที่พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อปิดกั้นบางโพสต์ไม่ให้ปรากฏขึ้น แม้ว่าทางการจีนจะไม่ได้เสนอก็ตาม

สิ่งที่กูเกิลกำลังทำอยู่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนไม่พอใจอย่างรุนแรง หลายคนกังวลว่าบริษัทจะบล็อคเว็บไซต์ต่างๆ รวมทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นิวยอร์กไทมส์ และการค้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเหตุปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน 1989 รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของผู้นำจีน

“นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าผิดหวังอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจะใช้กูเกิลเป็นเครื่องมือในการชวนเชื่อและกูเกิลยอมให้ตัวเองถูกใช้” เอวา กัลเพริน (Eva Galperin) ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานรณรงค์ด้านสิทธิพลเมืองดิจิทัล หรือ EFF กล่าว

ส่วนแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “นี่จะเป็นวันมืดมิดของเสรีภาพเน็ต” และจะสร้าง “การโจมตีเสรีภาพข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่” หากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ยอมรับการเซ็นเซอร์ของจีน

โฆษกของกูเกิลให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร WIRED ว่า ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นในจีนมากมาย เช่น กูเกิลทรานสเลตและไฟล์โก แต่ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนการณ์ในอนาคต

กูเกิลไม่ได้ออกไปจากตลาดจีนเต็มตัว บริษัทมีสำนักงานสามแห่งและมีพนักงานกว่า 700 คน เดือนที่แล้วเพิ่งปล่อยเกมลองในแอปวีแชต

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Aly Song

ที่มา:

Tags: , , , ,