กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณอายุ ลาออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้ครอบครัวในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต
ปัจจุบันบริษัทเอกชนรวมถึงรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ส่วนมาก มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เสมือนเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่หน่วยงานมีให้กับพนักงานของตน โดยในปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยรวมมีจำนวนสมาชิกกว่า 3 ล้านคน จากนายจ้างเกือบ 18,000 บริษัท
มีการสำรวจข้อมูลและพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกที่เกษียณอายุ ได้รับเงินก้อนวันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท นั่นหมายความว่า หากเขาหรือเธอไม่มีรายได้จากแหล่งอื่นและคาดว่าจะมีอายุหลังเกษียณไปอีก 20 ปี เขาผู้นั้นจะมีเงินใช้ไม่ถึงปีละ 50,000 บาท คิดเป็นต่อเดือนจะไม่ถึงเดือนละ 4,200 บาท คิดเป็นต่อวันจะไม่ถึง 140 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เนื่องจากในวัยเกษียณอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่าสมัยวัยทำงานมาก เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพเป็นต้น
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นแหล่งรายได้ยามเกษียณที่สำคัญสำหรับผู้ที่ไม่อาจมีรายได้จากแหล่งอื่นมากนัก และการสร้างเงินเพื่อการเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อที่จะได้จำนวนเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายในการใช้เงินในวัยเกษียณ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีจะต้องร่วมกันสร้างจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งการประเมินว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีหรือไม่อย่างไรนั้น มีวิธีพิจารณาเบื้องต้นดังนี้ (3 ดี)
1. ดีด้วยนายจ้าง
ไม่ใช่นายจ้างทุกรายที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีนายจ้าง 18,000 บริษัท ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัททั้งหมดในประเทศไทย และในบรรดาบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เงินสมทบ (ส่วนที่นายจ้างที่จ่าย) ก็มีอัตราต่างๆกันไปตั้งแต่ 2-15% ดังนั้น ในบริษัทที่มีสวัสดิการและค่าตอบแทนอื่นๆ ใกล้เคียงกัน บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานและมีอัตราเงินสมทบในระดับสูงกว่า ก็จะมีโอกาสให้เราสามามารถสร้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีเพื่อการเกษียณได้
นอกจากนี้บางบริษัทจะมีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการทำงานว่า ต้องทำงานกับบริษัทไม่น้อยกว่ากี่ปี ถึงจะมีสิทธิได้รับเงินสะสมจากส่วนของนายจ้างเต็มจำนวน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่ควรจะนานเกินไป จนทำให้สมาชิกไม่มีโอกาสได้เงินสะสมจากนายจ้าง
2.ดีด้วยคณะกรรมการกองทุน
คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีบทบาทสำคัญมากในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกฎหมายกำหนดให้มีกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเพื่อหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถสร้างกองทุนสำลองเลี้ยงชีพที่ดีได้หลายวิธี เช่น
- จัดให้มีแบบแผนการลงทุนของกองทุนที่หลากหลายและเหมาะสมให้เลือก เช่น แผนแบบเสี่ยงสูง (และมีผลตอบแทนที่คาดหวังสูง), แบบเสี่ยงปานกลาง (และมีผลตอบแทนที่คาดหวังปานกลาง), แบบเสี่ยงต่ำ (และมีผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำ), แบบมีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ เป็นต้น เนื่องจากพนักงานในองค์กรมีความหลากหลาย การมีแผนการลงทุนที่หลากหลาย (Employee’s choices) มีโอกาสที่จะให้เราสามามารถสร้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีเพื่อการเกษียณได้
- จัดให้มีทางเลือกแบบ Life path หรือ Target date fund สำหรับสมาชิกบางรายที่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน บริษัทจัดการจะทำหน้าที่เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงตามช่วงอายุและระยะเวลาการลงทุนของสมาชิกแต่ละราย โดยที่สมาชิกไม่ต้องตัดสินใจเอง
- มีการวัดและประเมินผลผู้จัดการกองทุนตามสมควร เช่น มีการติดตามผลงานดำเนินงานของกองทุนเป็นระยะ และวัดผลการตอบแทนของกองทุนกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ที่มีความเหมาะสม เช่น ดัชนี้ชี้วัดของกองทุนที่มีการลงทุนในหุ้น ต้องใช้ดัชนีหลักทรัพย์ที่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล (Total return index) เป็นที่จะใช้ดัชนีที่ใช้การเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว (Price index) เป็นต้น
- มีการสื่อสารกับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมาชิกทราบข้อมูลที่สำคัญ และอาจมีการเชิญตัวแทนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมาบรรยายให้ความรู้กับสมาชิกเป็นครั้งคราว ถึงเรื่องความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณและวิธีการเลือกการลงทุนให้เหมาะสม เป็นต้น
3. ดีด้วยตนเอง
แน่นอนว่าการที่จะสร้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีเพื่อการเกษียณได้นั้น ตัวเองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด สิ่งพื้นฐานที่สุดในฐานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะทำได้นั้นคือเลือกการหักเงินทุกๆเดือนเพื่อสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งตามกฎหมายใหม่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถที่จะเลือกสะสมได้ถึง 15%
การหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้นอกจากจะทำให้มีเงินมากพอที่จะใช้ในยามเกษียณแล้ว ยังสามารถนำเงินที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนดได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ เมื่อลาออกจากงานยังไม่ควรนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาใช้ (แม้ว่าจะมีสิทธินำออกมาได้) นอกจากจะต้องนำเงินส่วนเงินสมทบมาเสียภาษีแล้ว หากนำเงินก้อนที่ได้ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจทำให้เงินออมเพื่อการเกษียณนั้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
และที่สำคัญ เราในฐานะที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรหมั่นหาความรู้และทำความเข้าใจการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณตามสมควร เพื่อจะได้สามารถกำหนดอัตราเงินสะสมและเลือกแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม
เพราะสุดท้ายแล้วเงินเรา ชีวิตเรา เราต้องใส่ใจ จัดการเองจะดีที่สุดครับ
Tags: เงินออม, จ้างแรงงาน, การใช้ชีวิตหลังเกษียณ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, วัยเกษียณ