มหกรรมช็อปปิ้งของอาลีบาบา ที่ยึดเอาวันที่11 เดือน 11 มาเป็นวันสำคัญของคนรักการช็อปปิ้ง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ปีนั้นทำยอดขายไปได้เพียง 52 ล้านหยวน (หรือ 10 ล้านบาท) แต่จากนั้นมา แต่ละปี อาลีบาบาก็สร้างสถิติก้าวกระโดดมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2560 ทำยอดขายมูลค้าสินค้ารวม 168,200 ล้านหยวน (8 แสนล้านบาท) กลายเป็นมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ 24 ชั่วโมงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในแง่มูลค่ารวมสินค้าที่มีการซื้อขาย หรือ GMV
มาปีนี้ก็ทำยอดขายตอนสิ้นสุดวันที่ 11.11 อยู่ที่ 213,550 ล้านหยวน หรือราวๆ หนึ่งล้านล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 27%
หลังการนับถอยหลังเข้าสู่วันที่ 11.11 ยอดธุรกรรมที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ก็เคลื่อนไหวบนหน้าจออย่างรวดเร็ว ประกอบกับกราฟิกที่วาดไปบนแผนที่ทางภูมิศาสตร์ว่าเงินไหลจากที่ไหนไปไหน และกราฟแท่งแสดงภาพธงของประเทศทั่วโลกและวงกลมสีที่กระพริบตามแท่งต่างๆ เปรียบเสมือน “เปียโนที่บรรเลงโดยอาลีบาบาเน็ตเวิร์ก” ผู้ดำเนินรายการกล่าว
ภายในสองนาทีก็ทะลุพันล้าน จนกระทั่งเวลา 15:49 น. ตามเวลาที่เซี่ยงไฮ้ ก็ทำลายสถิติของปีที่แล้ว และเมื่อสิ้นสุดวันที่ 11.11 ได้มีการสรุปสถิติต่างๆ ดังนี้
- ยอดสุทธิมูลค่าสินค้าที่ซื้อขายในห้างร้านต่างๆ ของอาลีบาบาในจีน บวกกับอาลีเอ็กซ์เพรส และลาซาดา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ตามเวลาปักกิ่ง ยอด GMV อ้างอิงจากอาลีเพย์ = 213,550,497,011 ล้านหยวน (1,014,845 ล้านบาท)
- ประเทศที่มีธุรกรรมจำหน่ายสินค้ามาจีนมากที่สุด : 1. ญี่ปุ่น 2. สหรัฐอเมริกา 3. เกาหลีใต้ 4. ออสเตรเลีย 5. เยอรมนี 6. สหราชอาณาจักร 7. ฝรั่งเศส 8. สเปน 9. นิวซีแลนด์ 10. อิตาลี
- จำนวนแบรนด์ที่ทำยอดขายได้เกิน 100 ล้านหยวน : 237 แบรนด์ ซึ่งรวมถึงแบรนด์ระดับโลกอย่าง Apple, Dyson, Kindle, Estée Lauder, L’Oréal, Nestle, Gap, Nike และ Adidas
- ผลิตภัณฑ์นำเข้ายอดนิยมของผู้ซื้อชาวจีน : 1. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2. นมผง 3. มาสก์หน้า 4. ผ้าอ้อม 5. เซรัม 6. ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กและทารก 7. อีมัลชัน (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น โลชัน ครีม) 8. ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า 9. ผลิตภัณฑ์ลบเครื่องสำอาง 10. โทเนอร์
(กำลังติดตามอัปเดตสถิติอื่นๆ)
ปีนี้ ธุรกิจภายในอาลีบาบาอีโคซิสเท็มได้เข้ามาร่วมมหกรรมนี้ด้วย เราจึงได้เห็นโลโกของแอปฯ ต่างๆ เปลี่ยนหน้าตาไปเพื่อให้มีเลข 11.11 เป็นองค์ประกอบ อย่างแอปฯ เถาเป่า อาลีเพย์ ไช่เหนียว หรือแม้แต่ลาซาด้า ที่เพิ่งเข้าร่วมปีนี้เป็นปีแรก แต่ละแอปฯ เสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ที่กระตุ้นยอดขายกันและกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตามกลยุทธ์ New Retail ที่อาลีบาบายกทัพธุรกิจต่างๆ ของตนเข้ามา โดยไม่ได้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับค้าปลีกออฟไลน์ แต่ดึงเอาผู้ค้าผู้ซื้อออฟไลน์ให้เข้ามามีประสบการณ์ทางออนไลน์มากขึ้น โดยกล่าวว่า แม้ค้าปลีกออนไลน์จะคึกคักแค่ไหน แต่การค้าออฟไลน์ยังเป็นตลาด 80% ของค้าปลีกทั้งหมดในจีน นี่จึงเป็นกลุ่มสำคัญที่จะดึงเข้ามาในโลกดิจิทัลให้ได้ภายในโมเดล New Retail
แดเนียล จาง ซีอีโอของอาลีบาบากล่าวว่า 11.11 แต่ละปี ยอดรวมมูลค้าสินค้าที่ซื้อขาย หรือ GMV ที่ประกาศออกมานั้น เป็นแค่ผลลัพธ์ สิ่งสำคัญกว่าคือ แต่ละปีอาลีบาบาสร้างความแตกต่างอย่างไร ซึ่ง New Retail ไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อ 11.11 วันเดียว แต่ 11.11 ถือเป็นวันยิ่งใหญ่ที่จะสะท้อนให้เห็นการทำงานของโมเดลนี้ออกมาได้ชัดเจน นั่นคือการทำให้ห้างร้านเข้าสู่โลกออนไลน์ และการทำให้พื้นที่ขายของออฟไลน์และออนไลน์ไปด้วยกัน เปลี่ยนห้างร้านให้กลายเป็นโกดังเก็บสินค้าสำหรับส่งออนไลน์ไปในตัว รวมทั้งทำโปรโมชันทั้งสองทาง
“นี่คือรูปแบบการค้าปลีกแบบใหม่ที่เราสร้างขึ้น”
ยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงก่อนมหกรรม 11.11 อาลีบาบาได้สร้างกิจกรรมตามห้างร้านต่างๆ เช่น การเล่นเกมที่หน้าร้านเหอหม่า (FRESHIPPO) ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครืออาลีบาบาเพื่อนำสิทธิที่ได้มาใช้ช็อปออนไลน์กันต่อ และในวันนี้ บรรยากาศที่ร้าน RT Mart ไฮเปอร์มาร์ตเครืออาลีบาบา ก็มีผู้นำสิทธิที่ได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์มาจับจ่ายกันในห้าง เป็นไปได้มากที่ว่ากลยุทธ์เหล่านี้ และแพลตฟอร์มที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยปั่นยอดให้สูงขึ้นมาถึงสถิติในปีปัจจุบัน
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับมหกรรมช็อปปิ้งของอาลีบาบาได้ ‘ช็อปปิงวันคนโสด 11.11 กระตุ้นพลังบริโภคนิยม ย้อนดู 10 ปี ที่อีคอมเมิร์ซจีนพาโลกให้หมุนไป’
Tags: Alibaba, online shopping, อาลีบาบา, โปรโมชั่น, แจ็ก หม่า