ในตอนที่ผมเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดทางเหนือของศรีลังกานั้น ผมได้พบกับซากสิ่งก่อสร้างกองหนึ่งตั้งอยู่ข้างร้านไอศกรีมที่ผมไปรับประทาน 

ซากประหลาดนั้นถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ประดับด้วยริ้วธงเหลืองแดง และมีซุ้มวางครอบ ซึ่งตลอดซุ้มและใจกลางซากนั้น มีใบหน้าของชายคนหนึ่งติดอยู่ทั่ว

ซากสิ่งก่อสร้างดังกล่าว

ซากสิ่งก่อสร้างนี้มิได้สวย มิได้อลังการ คนทั่วไปถ้าไม่คิดมากก็จะมองผ่านมันไปโดยง่าย แต่สำหรับเป็นผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ คงรู้สึกตกใจกับการมีอยู่ของซากสิ่งก่อสร้างนี้มาก

เพราะนี่คือคำความหมายของว่า ‘กบฏ’ ที่ปรากฏอยู่ใจกลางเมือง 

มันคือสารที่บ่งบอกว่า ร้านไอศกรีมก็ตาม กองซากสิ่งก่อสร้างนี้ก็ตาม แผ่นดินรอบๆ ก็ตาม ทั้งหมดนั้นมิได้ตั้งอยู่ในประเทศศรีลังกา

หากพวกเขาเชื่อว่าที่นี่คืออีกประเทศหนึ่ง ชื่อว่า ‘อีแลม’

เมื่อ 34 ปีก่อน ณ จุดซึ่งมีซากสิ่งก่อสร้างนี้ ชายในภาพกำลังอดอาหารอยู่

เขาอดอาหารและน้ำโดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 12 วันติดต่อกัน ร่างกายนั้นอ่อนแรงเต็มที คนที่ติดตามเรื่องของเขาอยู่ภายนอก บ้างก็ดูแคลนว่าในที่สุดเขาก็จะทนไม่ไหวกลับมาทานอาหาร บ้างก็เป็นห่วงไม่อยากให้เขาตาย บ้างก็ปลงตกแล้ว

คนเรียกชายผู้นี้ว่า ‘ธิลีพัน’

ถึงในที่สุดเขาจะอดอาหารจนถึงแก่ความตาย แต่เรื่องราวจะไม่จบแค่นั้น เพราะความตายของเขาจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบที่มองเห็นได้อยู่แม้เวลาจะผ่านมาสามสิบปีเศษแล้วก็ตาม

ประเทศศรีลังกามีประชากรสองกลุ่มหลักๆ ได้แก่ ชาวสิงหล ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ (มีประมาณ 74-75%) และชาวทมิฬ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกของเกาะศรีลังกา (มีประมาณ 12-13%) คนทั้งสองกลุ่มนี้เคยตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมายาวนาน ซึ่งในช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมนั้น อังกฤษได้ดำเนินนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยเอาใจชาวทมิฬ และกดขี่ชาวสิงหล ทำให้คนทั้งสองเผ่าเกลียดชังกัน เพื่อให้ปกครองได้ง่าย 

เมื่อประเทศศรีลังกาได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักการเมืองยังมีนโยบายให้คนทั้งสองชาติปรองดองกัน แต่ด้วยเหตุว่าชาวสิงหลจำนวนมากยังมีโกรธแค้นจากการถูกกดขี่มานาน ทำให้พวกเขาเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวทางปกป้องผลประโยชน์ของชาวสิงหลมาปกครอง

กลายเป็นว่ายิ่งนักการเมืองเสนอแนวทางที่รุนแรงเท่าไร ก็ยิ่งได้รับเลือกมากเท่านั้น นานวันเข้าพวกนักการเมืองก็เริ่มเรียนรู้ กลายเป็นว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งนั้นค่อยๆ เป็นฝ่ายที่มีนโยบายสนับสนุนชาวสิงหล และกดขี่ชาวทมิฬมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาวสิงหลเป็นประชากรส่วนใหญ่

ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว รัฐบาลศรีลังกาได้ออกนโยบาย ‘เอาคืน’ ชาวทมิฬในหลายทาง เช่น ตั้งภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ ทำให้ข้าราชการชาวทมิฬหลายคนต้องออกจากงาน เพราะใช้ภาษาสิงหลไม่คล่อง นอกจากนั้นยังมีการตั้งพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ (ชาวสิงหลมักนับถือพุทธ ขณะที่ชาวทมิฬมักนับถือฮินดู) และให้โอกาสทางการศึกษาชาวสิงหลมากกว่าชาวทมิฬ

ความอยุติธรรมเหล่านี้ทำให้บ้านเมืองแตกแยก เมื่อชาวทมิฬพยายามประท้วง รัฐบาลก็ไม่สนใจ เมื่อชาวทมิฬถูกนักเลงสิงหลทำร้าย ตำรวจก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่เมื่อชาวทมิฬมาเอาคืนบ้าง กลับถูกจับกุมเข้มงวด

ชาวทมิฬประท้วงโดยสันติแล้วไม่ได้ผล ไม่อาจทนความอยุติธรรมได้ ในที่สุดจึงมีหลายกลุ่มจับอาวุธลงใต้ดินไปต่อสู้กับรัฐบาลจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง คนเหล่านี้มีเป้าหมายอยากแบ่งแยกดินแดนออกไปตั้งเป็นอีกประเทศหนึ่ง เรียกว่า ‘อีแลม’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกโบราณของดินแดนชาวทมิฬในเกาะศรีลังกา ต่อมาฝ่ายกบฏมีผู้นำสำคัญชื่อ เวฬุพิไล ประภาการัน (Velupillai Prabhakaran) ซึ่งตั้งกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมขึ้น และสามารถรวบรวมกบฏกลุ่มต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันสำเร็จ

ธิลีพัน (Thileepan) มีชื่อจริงว่า ราไซอาห์ ปาธิพัน (Rasaiah Parthipan) มีพื้นฐานเป็นชาวบ้านธรรมดา บิดาทำอาชีพครู เขาเข้าร่วมกบฏพยัคฆ์ทมิฬ และไต่เต้าจนได้เป็นผู้นำฝ่ายการเมือง สำหรับชื่อ ‘ธิลีพัน’ นั้น เป็นฉายาในสงคราม

พวกกบฏพยัคฆ์ทมิฬได้รับการช่วยเหลืออย่างมากจากอินเดีย ซึ่งขณะนั้นมีนโยบายแผ่ขยายอิทธิพลอยู่ 

เชื่อว่ารัฐบาลอินเดียนำโดยนายกรัฐมนตรี ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ได้ให้การสนับสนุนเสบียงอาวุธ และการฝึกทหารกับกลุ่มกบฏ และต่อมาถึงกับส่งกองกำลังรักษาความสงบเข้าไปกุมดินแดนชาวทมิฬทางภาคเหนือของศรีลังกาไว้ โดยที่รัฐบาลศรีลังกาจำต้องโอนอ่อน เพราะเป็นชาติเล็ก

หลังจากอินเดียยึดศรีลังกาเหนือหรืออีแลมได้ไม่นาน พวกกบฏพยัคฆ์ทมิฬก็เริ่มรู้สึกว่า อินเดียไม่มีความจริงใจในการมอบเอกราชแก่พวกเขา เพียงแค่อยากขยายอิทธิพลเป็นสำคัญ 

ในวันที่ 15 กันยายน 1987 ธิลีพันจึงได้ขึ้นปราศรัยที่หน้าเทวาลัยนาลลูร์ กันดาสวามี ซึ่งเป็นเทวาลัยสำคัญของชาวทมิฬในศรีลังกา คำปราศัยของเขามีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกา ดังนี้

1. ปลดปล่อยชาวทมิฬทุกคนที่ถูกจับกุมภายใต้กฎหมายป้องกันการก่อการร้าย

2. หยุดการตั้งถิ่นฐานของชาวสิงหลในแดนอีแลม ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลศรีลังใช้ในการกลืนชาติ

3. หยุดการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาปกครองดินแดนอีแลม

4. หยุดสร้างสถานีตำรวจและค่ายทหารในจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือ 

5. ถอนทหารและตำรวจออกจากโรงเรียนในหมู่บ้านของชาวทมิฬ และอาวุธที่รัฐบาลศรีลังกามอบแก่ ‘อาสาป้องกันชุมชน’ จะต้องถูกปลด โดยมีทหารอินเดียดูแล

ข้อเรียกร้องทั้งห้านี้คล้ายจะเรียกร้องต่อรัฐบาลศรีลังกา แต่แท้จริงแล้วเป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลอินเดีย ซึ่งมีอำนาจจริงในการกดดันรัฐบาลศรีลังกาให้ทำตาม

จากนั้นธิลีพันก็เริ่มอดอาหาร

มันเป็นการอดที่รุนแรงมาก คือไม่ยอมรับอาหารและน้ำใดๆ เข้าสู่ร่างกายเลย เป็นความทรมานที่คนปกติยากจะทานทนได้ และง่ายต่อการถึงแก่ความตายในไม่กี่วัน 

ชาวทมิฬจำนวนมากให้ความสนใจกับการอดอาหารประท้วงนี้ พวกเขาหลั่งไหลเข้ามาห้อมล้อม เพื่อให้กำลังใจธิลีพัน หลายคนร่วมยังอดอาหารด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไรนัก แม้อินเดียจะมีนโยบายขยายอิทธิพล แต่ก็ไม่อยากเสียชื่อต่อประชาคมโลกว่าเป็นชาติใหญ่ที่มาข่มเหงชาติเล็กอย่างศรีลังกา การกระทำต่างๆ จึงต้องมีลำดับขั้นตอน จะแสดงตนว่าเข้าข้างพวกพยัคฆ์ทมิฬมากเกินไปก็ไม่ได้

ดังนั้นจึงไม่มีใครมาสนใจธิลีพัน แอบหวังกันลึกๆ ว่าเมื่อธิลีพันอดอาหารจนทนไม่ไหวก็จะเลิกไปเอง แต่การอดอาหารของธิลีพันก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

เวลาผ่านไป สามวัน สี่วัน ห้าวัน

กระทั่งธิลีพันอดอาหารถึงวันที่แปด อินเดียจึงส่งข้าหลวงใหญ่ชื่อ เจ.เอ็น. ดิสิต (J.N. Dixit) มาสังเกตการณ์ 

ตอนนั้น ประภาการัน ผู้นำกบฏ ได้เข้าอ้อนวอนต่อดิสิต บอกว่าร่างกายของธิลีพันมีสภาพแย่มาก เห็นได้ชัดว่าเขากำลังจะตาย ประภาการันขอร้องให้ดิสิตเข้าเยี่ยมธิลีพัน โดยให้พูดเพียงว่าอินเดียกำลังพยายามดำเนินตามข้อเรียกร้องของธิลีพันอยู่ ไม่ต้องให้รายละเอียด ประภาการันเชื่อว่า เพียงแค่นั้นก็จะเกลี้ยกล่อมให้ธิลีพันเลิกอดอาหารได้แล้ว

ดิสิตกล่าวว่า เขาจะเข้าเยี่ยมก็ได้ แต่ไม่สามารถสัญญาสิ่งใด เพราะนั่นอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา และเขาต้องการหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรจากธิลีพันว่า หากมีการเข้าเยี่ยมเพื่อฟังข้อเรียกร้องแล้วจะเลิกอดอาหารทันที มิเช่นนั้นแล้วเขาก็จะไม่เยี่ยม

แน่นอนว่าธิลีพันรับข้อเรียกร้องของดิสิตไม่ได้ การเยี่ยมจึงไม่เคยเกิดขึ้น 

อีกสี่วันต่อมา หรือในวันที่ 26 กันยายน 1987 ร่างกายของธิลีพันก็ไม่อาจทนทานความอดอยากและความเจ็บปวดได้อีกต่อไป 

ธิลีพันจึงถึงแก่ความตายด้วยความทรมาน 

ประภาการัน (ขวา) เข้าเยี่ยมธิลีพัน (ซ้าย) ขณะทำการอดอาหารประท้วง

การตายของธิลีพันยังความโศกเศร้าให้กับชาวทมิฬเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามกลางเมืองศรีลังกา เป็นจุดที่ทำให้ชาวทมิฬศรีลังกาไม่เชื่อถือความช่วยเหลือจากอินเดียอีกต่อไป และเริ่มดำเนินการต่อต้านอินเดียทั้งทางการเมืองและทางอาวุธ

ปี 1991 กบฏพยัคฆ์ทมิฬได้ส่งเด็กสาวคนหนึ่งชื่อดนู ไปทำการระเบิดฆ่าตัวตายพร้อมกับราจีฟ คานธี ซึ่งทางหนึ่งนับว่าเป็นเพื่อแก้แค้นต่อการตายของธิลีพัน

ราจีฟ คานธี ออกหาเสียง ก่อนถูกเด็กสาวชื่อดนูซึ่งปลอมตัวมาระเบิดตัวเองจนตายตกตามกัน

การตายของ ราจีฟ คานธี เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสองอย่าง คือ

1. ทำให้อินเดียตัดสินใจถอนทหารจากศรีลังกาเหนือ เพราะคิดว่า ‘ไม่คุ้ม’ อีกต่อไป

2. เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของขบวนการก่อการร้ายในโลก คือทำให้เห็นว่าวิธีระเบิดฆ่าตัวตายนั้น สามารถทำให้ชาติใหญ่เปลี่ยนการตัดสินใจได้ด้วยต้นทุนต่ำ คือใช้เด็กเพียงหนึ่งคนคาดเข็มขัดระเบิดเท่านั้น

หลังจากนั้นทุกอย่างก็จมดิ่งสู่ความบ้าคลั่ง

กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬยังก่อการร้ายอย่างรุนแรงอีกหลายครั้ง จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก กระทั่งกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ร่วมทั้งกลุ่มอัลเคดาในตะวันออกกลางต้องมาเรียนวิธีการก่อการร้ายจากพวกเขา

สงครามกลางเมืองศรีลังกายังคงดำเนินต่อไปอย่างร้อนระอุ ทุกอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และชั่วช้าขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลได้เอาชนะพวกกบฏในปี 2009 ท่ามกลางความตายของชาวทมิฬนับแสนคน

สำหรับธิลีพันนั้น เขาตาย แต่เขามิได้ตาย

ตรงกันข้าม เขาได้กลายเป็นอมตะ

ชาวทมิฬได้ช่วยกันสร้างอนุสาวรีย์ให้ธิลีพันในปี 1988 ณ จุดที่เขาทำการอดอาหาร ต่อมาทัพรัฐบาลตีเมืองที่มีอนุสาวรีย์นี้แตก ก็ทำลายมันลงเสียจนกลายเป็นกองหิน

ในปี 2003 ชาวทมิฬได้พยายามสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง ระหว่างที่มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกบฏ ปี 2007 มีกลุ่มชายฉกรรจ์ลึกลับมาทำลายอนุสาวรีย์นี้อีก และในปี 2010 ซากอนุสาวรีย์ก็ถูกทำลายมากกว่าเดิมโดยทหารศรีลังกา จนเหลือเป็นสภาพปรักหักพังที่ผมพบ

ในหมู่ชาวทมิฬยังมีการใช้ชื่อธิลีพันในการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เป็นประจำ เช่น งานกีฬาธิลีพัน งานแสดงวัฒนธรรมธิลีพัน 

การสร้างและทำลายอนุสาวรีย์ดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่คุกรุ่นอยู่ในใจชาวทมิฬศรีลังกาจวบจนปัจจุบัน

อนุสาวรีย์ของธิลีพันที่ต่อมากลายเป็น ‘ซากสิ่งก่อสร้าง’ ที่ผมพบเห็น ธิลีพันต่อสู้จนตายในแนวทางสันติ แต่น่าเศร้าที่การตายของเขาเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการล่มสลายของการต่อสู้โดยสันติ ผู้คนรักธิลีพัน แต่ผู้คนคับแค้นต่อการตายของเขายิ่งกว่า กระทั่งมิได้เชื่อในการต่อสู้ตามแนวทางของเขา

หลังจากการตายของธิลีพัน การต่อสู้จะป่าเถื่อนยิ่งขึ้นอีก ซึ่งสุดท้ายแล้วจบลงด้วยความวอดวายของทั้งสองฝ่าย

 

อ้างอิง 

พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ (2014). พยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์

ภาพส่วนใหญ่ถ่ายเอง และนำมาจากเว็บไซต์ซึ่งสนับสนุนกลุ่มกบฏชื่อเว็บ tamil.net ซึ่งอนุญาตให้ใช้ภาพเหล่านี้ได้

Tags: , ,