วันที่ 30 มิถุนายน 2023 ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ยกเลิก ‘นโยบายยืนยันสิทธิเชิงบวก (Affirmative Action)’ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในระบบการศึกษาอเมริกัน 

Affirmative Action คือนโยบายรับนักศึกษาเข้าเรียนโดยคำนึงถึงเชื้อชาติ เพื่อให้โครงสร้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีความหลากหลาย และเป็นการช่วยเหลือกลุ่มที่ถูกระบบกดทับมาช้านาน อาทิ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน และชาวลาติน ให้ได้รับโอกาสทัดเทียมคนขาว

เมื่อปี 2003 ศาลสูงสุดเคยตัดสินให้ Affirmative Action ในมหาวิทยาลัยดำรงอยู่ต่อไปได้ โดยมองว่าเป็นนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียม มาจนถึงปัจจุบันซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกยกเลิก จึงเกิดข้อถกเถียงมากมาย ชาวอเมริกันฝั่งเสรีนิยมหลายคนมองว่าเป็น 20 ปีที่ประเทศกำลังเดินถอยหลัง ในขณะเดียวกัน ฝั่งอนุรักษนิยมเห็นว่าการตัดสินใหม่ของศาลสูงสุดครั้งนี้ถูกต้องแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ควรใช้เชื้อชาติมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์รับนักศึกษาอีกต่อไป เพราะคนขาวกับคนเอเชียนมักเสียประโยชน์

The Momentum ขอพาผู้อ่านย้อนไทม์ไลน์นโยบาย Affirmative Action และทำความเข้าใจเสียงวิพากษ์ร้อนระอุจากทั้ง 2 ฝั่ง

1997-2003: Grutter v. Bollinger

เมื่อปี 1997 หญิงสาวคนขาวชื่อ บาร์บารา กรัตเตอร์ (Barbara Grutter) ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนนิติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) แม้จะยื่นสมัครด้วยเกรดกับคะแนนสอบที่ดีมาก เธอรู้สึกกังขากับผลตัดสินนี้ จึงยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยข้อหาเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ 

กรัตเตอร์เชื่อว่าทางมหาวิทยาลัยใช้เชื้อชาติเป็น ‘ปัจจัยสำคัญ’ ในการเลือกนักศึกษา และเธอไม่ถูกเลือกเพราะเป็นคนขาว ซึ่งเธอนับสิ่งนี้เป็นการละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อที่ 14

จำเลยของคดีนี้คือ ลี บอลินเจอร์ (Lee Bollinger) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมิชิแกน ฝั่งจำเลยอธิบายว่า การใช้เชื้อชาติเป็นหนึ่งในเกณฑ์รับนักศึกษาก็เพื่อให้โครงสร้างนักศึกษามีความหลากหลาย อีกทั้งยังยกข้อมูลต่างๆ มาเป็นหลักฐานสนับสนุนว่า ความหลากหลายทางเชื้อชาติในรั้วมหาวิทยาลัยส่งผลประโยชน์ต่อนักศึกษาทุกคนจริง

ลี บอลินเจอร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมิชิแกน ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ที่มา: Columbia News)

สุดท้าย ปี 2003 ศาลสูงสุดมีผลตัดสิน 5 ต่อ 4 ว่า การใช้เชื้อชาติเป็นหนึ่งในเกณฑ์รับนักศึกษา เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและมอบโอกาสให้กลุ่มคนที่ถูกกดทับนั้น ไม่ผิดหลักรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ตัวแทนเสียงข้างมากของศาลกำชับว่า แม้ Affirmative Action จะยังจำเป็น ณ ช่วงเวลานั้น แต่ไม่ใช่นโยบายที่ควรดำรงอยู่ตลอดไป

“การรับนักศึกษาเข้าเรียนโดยคำนึงถึงเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ต้องจำกัดระยะเวลา ศาลคาดหวังว่า 25 ปีต่อจากนี้ เราจะไม่จำเป็นต้องให้สิทธิพิเศษแก่เชื้อชาติใดอีกต่อไป” ศาลสูงสุดระบุ

กล่าวคือ ในอนาคต เมื่อทุกเชื้อชาติมีโอกาสทางการเงิน และสังคมอย่างเท่าเทียมจนไม่มีใครต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอีก ก็ควรยกเลิกนโยบายดังกล่าว

แต่อนาคตอันสมบูรณ์แบบที่ว่าจะมาถึงภายใน 25 ปีจริงหรือ เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้

2014-2022: ฮาร์วาร์ดขึ้นศาล

ปี 2014 ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียบางส่วนที่โดนปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) รวมตัวกันในนามกลุ่ม Students for Fair Admissions หรือ SSFA และยื่นฟ้องฮาร์วาร์ดข้อหาเลือกปฎิบัติต่อชาวเอเชีย 

การประท้วงของกลุ่ม SSFA (ที่มา: Vox)

ฮาร์วาร์ดมีเกณฑ์การพิจารณารับนักศึกษาหลายข้อ นอกเหนือจากเกรด คะแนนสอบ กิจกรรมเสริม และเรียงความแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังพิจารณานิสัยของผู้สมัครในแง่ต่างๆ ด้วย เช่น ความใจดี ความกล้าหาญ เป็นต้น โดยหลังจากตรวจสอบบันทึกข้อมูลนักศึกษากว่า 160,000 คน พบว่าชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมักจะได้คะแนนนิสัยน้อยกว่าชาติอื่น ในขณะที่คะแนนด้านอื่นๆ สูงหมด หลักฐานนี้ทำให้กลุ่ม SSFA เชื่อว่าฮาร์วาร์ดเลือกปฏิบัติและตัดสินใจฟ้อง

ฮาร์วาร์ดอธิบายว่า ฮาร์วาร์ดใช้ Affirmative Action จริง เพื่อให้โครงสร้างนักศึกษามีความหลากหลายทางเชื้อชาติและครอบคลุม ซึ่งนี่เป็นนโยบายที่ศาลสูงสุดรับรองแล้วเมื่อปี 2003 แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่เคยจำกัด ‘โควตา’ สำหรับแต่ละเชื้อชาติตามที่โดนกล่าวหา 

กลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีก (Ivy League) และมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ อีก 9 แห่ง รวมทั้งหมด 16 มหาวิทยาลัย ยื่นหนังสือถึงศาลเพื่อสนับสนุนฮาร์วาร์ดในคดีนี้

การพิจารณาคดีหยุดไประยะหนึ่ง กระทั่งปี 2019 ศาลตัดสินว่าฮาร์วาร์ดไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย กลุ่ม SSFA อุทธรณ์ในปี 2020 แต่ศาลก็ยังตัดสินให้ฮาร์วาร์ดไม่มีความผิดเช่นเดิม กระทั่งปี 2022 กลุ่ม SSFA ส่งคำร้องถึงศาลสูงสุดให้พิจารณาคำตัดสินทั้ง 2 ครั้งนี้ใหม่

เป็นที่รู้กันว่า ปัจจุบันศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีสมาชิกอนุรักษนิยมมากถึง 6 คน และสมาชิกเสรีนิยม 3 คน สังคมจึงจับตามองการตัดสินคดี Affirmative Action ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2023 อย่างมาก

สมาชิกศาลสูงสุดสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน (ที่มา: The New York Times)

2023: จุดจบของ Affirmative Action 

ล่าสุด ในวันที่ 30 มิถุนายน 2023 ศาลสูงสุดมีผลตัดสิน 6 ต่อ 3 ให้ยกเลิก Affirmative Action ในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

ผู้พิพากษาคลาเรนซ์ โทมัส (Clarence Thomas) 1 ใน 6 เสียงที่โหวตยกเลิก Affirmative Action กล่าวว่านโยบายดังกล่าวถือเป็น “การให้สิทธิพิเศษทางเชื้อชาติที่ไร้ทิศทางชัดเจน” 

การตัดสินของโทมัสเรียกเสียงวิจารณ์ถล่มทลาย เนื่องจากตัวเขาเองก็เข้าเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ได้ด้วย Affirmative Action จากนั้นจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกศาลสูงสุดเชื้อสายแอฟริกันคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ หลายคนติว่าโทมัสย้อนแย้ง และตัดโอกาสผู้อื่นหลังจากตนเองได้รับโอกาสไปแล้ว

ในความเป็นจริง ชาวแอฟริกันกับลาตินในสหรัฐฯ จำนวนมากยังไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ไม่ได้รับพื้นที่ในสังคมหรือที่ทำงานมากเท่าคนขาว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการกดขี่ แบ่งแยก และค้าทาสของคนขาวนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้สนับสนุน Affirmative Action มองว่า การยกเลิกนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลด้อยโอกาส รังแต่จะทำให้มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาคนขาวและอีลีทมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้นำไปสู่การแข่งขันที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง

อนาคตของระบบการศึกษาอเมริกัน

หลังจากผลตัดสินซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) แถลงว่าตน “ไม่เห็นด้วยกับผลตัดสินของศาลอย่างรุนแรง” ทั้งยังขอให้บรรดามหาวิทยาลัยพยายามส่งเสริมความหลากหลายทางเชื้อชาติต่อไป 

“เราจะเดินถอยหลังไม่ได้” ไบเดนกล่าว “เราต้องอย่าลืมว่าความหลากหลายคือจุดแข็งของเรา”

โจ ไบเดนแถลงเกี่ยวกับการยกเลิก Affirmative Action (ที่มา: The New York Times)

แม้ว่า Affirmative Action จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่นโยบาย Legacy Admissions หรือนโยบายรับนักศึกษาที่ครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยยังคงมีอยู่ กล่าวคือ หากผู้สมัครมีบุคคลในครอบครัวเคยเรียนมหาวิทยาลัยนั้นๆ หรือเคยบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ชาวอเมริกันหลายคนกังวลเกี่ยวกับอนาคตการศึกษาของประเทศ รวมถึงตั้งคำถามว่า Legacy Admissions เป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมยิ่งกว่า Affirmative Action แต่เหตุใดจึงยังดำรงอยู่ต่อไปได้ 

ขณะเดียวกัน อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) โพสต์ว่า “นี่เป็นวันที่ยอดเยี่ยมสำหรับอเมริกา”

อ้างอิง

https://www.aclu.org/cases/grutter-v-bollinger 

https://www.law.cornell.edu/supremecourt/text/02-241 

https://ballotpedia.org/Grutter_v._Bollinger#:~:text=Bollinger%2C%20a%20case%20decided%20by,admissions%20to%20promote%20student%20diversity

https://www.nytimes.com/2018/10/15/us/harvard-affirmative-action-asian-americans.html 

https://www.nytimes.com/2018/06/15/us/harvard-asian-enrollment-applicants.html 

https://www.nytimes.com/2020/11/12/us/harvard-affirmative-action.html 

https://www.columbiaspectator.com/news/2022/11/01/bollinger-defended-affirmative-action-to-scotus-nearly-two-decades-ago-today-his-precedent-is-at-risk/ 

https://edition.cnn.com/2023/01/18/politics/supreme-court-conservative-politics-analysis/index.html 

https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2023/06/29/remarks-by-president-biden-on-the-supreme-courts-decision-on-affirmative-action/ 

https://www.reuters.com/world/us/great-day-america-trump-republicans-hail-affirmative-action-ruling-2023-06-29/

Tags: , , , , ,