“ฉันชอบที่จะคิด
(ขอตอนนี้เลยเถอะนะ)
ถึงป่าไซเบอร์เนติกส์
เต็มไปด้วยต้นสนและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
ที่ๆ กวางก้าวเดินอย่างสงบสุข
ผ่านเหล่าคอมพิวเตอร์
ราวกับว่าพวกมันคือดอกไม้
ที่กำลังผลิบานออก”
นี่คือภาพของโลกคู่ขนานที่แวบเข้ามาในความคิดระหว่างที่เรานั่งรถกลับบ้าน หลังจากเดินดูงานที่ Bangkok City City Gallery และแกลเลอรี N22 ในวันเปิดงานซีรีย์การแสดงผลงานวิดีโอและศิลปะการแสดง Ghost:2561 บทกลอนที่แวบขึ้นมาในหัวนี้ มาจาก ‘เหล่าเครื่องจักรแห่งความเมตตาที่เฝ้ามองสรรพสิ่ง’ หรือ All Watched Over by Machines of Loving Grace โดย ริชาร์ด บราว์ทิเกน (Richard Brautigan) เมื่อปี ค.ศ. 1967
Ghost: 2561 เป็นพื้นที่จัดแสดงที่พาเราไปเดินเฉียดไปใกล้กับโลกคู่ขนานของ ‘ฉัน’ ที่อยู่ในบทกลอนด้านบน ซึ่งเป็นท่อนกลางจากบทกลอนทั้งหมดสามบท ที่แต่ละบท ต่างก็มีบาทแรกขึ้นต้นเหมือนกันว่า “ฉันชอบที่จะคิด…”
โลกของ Ghost:2561 เป็น ‘ชุมชนแห่งโลก’ ที่ดึงเอาสรรพสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเราเข้ามาในการคิด ไม่ว่ามันจะมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต ไม่ว่ามันจะมองเห็นได้ หรือมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ก็ตาม ทั้งหมดต่างก็มีสิทธิ์อย่างเท่าเทียมที่จะดำรงอยู่กันบนโลกใบนี้ ตรงนี้เองที่บทบาทของรูปแบบของการเล่าเรื่องแบบใหม่เขยิบเข้ามาเบื้องหน้า เพื่อเปิดเวทีให้กับสิ่งที่พูดออกมาไม่ได้
รูปแบบของการเล่าเรื่องแบบใหม่ในที่นี้ เป็นเรื่องของการพลิกมุมมอง เปลี่ยนวิธีให้ความหมายกับสิ่งรอบตัว จนความสัมพันธ์แบบใหม่ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
มิติของชุมชนแห่งโลกที่ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ภัณฑารักษ์ของงาน ตั้งใจให้คนดูเข้าไปมีประสบการณ์กับมุมมองที่พยายามมองหาเส้นทางใหม่ ที่ไม่หยุดวนอยู่ตรงกลางแรงผลักของสองขั้วระหว่าง สภาวะทางจิตวิญญาณแบบตะวันออก หรือ (Eastern) spirituality กับเทคโนโลยีแบบตะวันตก หรือ (Western) technology
Come To Me, Paradise (2016)
“ภายในเทคโนโลยีเมืองและสังคม ผู้คนจะปรับแต่งรูปร่างของสภาพแวดล้อม เพื่อจำลองความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน จากการไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นได้อย่างไร”—สเตฟานี โกมิเลง
ในพื้นที่จัดแสดงขนาดกระทัดรัดของ คาร์เทล อาร์ตสเปซ (CARTEL Artspace) มีเสียงของชีวิตผู้คนที่เราแทบไม่เคยได้ยิน อย่างในงานสารคดีไซ-ไฟ Lumapit Sa Akin, Paradiso (Come To Me, Paradise) (2016) ของสเตฟานี โกมิเลง (Stephanie Comilang) ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ งานชิ้นนี้ได้เชื่อมต่อความนึกคิดตระหนักรู้ของเรา เข้ากับชีวิตประจำวันของสาวรับใช้ชาวฟิลิปปินส์สามคนในฮ่องกง ได้แก่ ไอริช เมย์ ซาลินาส (Irish May Salinas), ไลรา อันเชต้า ตอร์เบลา (Lyra Ancheta Torbela) และโรมิลิน เพรสโต้ ซัมปากา (Romylyn Presto Sampaga)
เรื่องราวชีวิตประจำวันของทั้งสามสาวที่ดำเนินไปในวันอาทิตย์หนึ่ง เพื่อรอการมาถึงของวันอาทิตย์ถัดไป มันไม่ใช่วันอาทิตย์ที่เรารู้จักกัน แต่เป็นวันสำคัญสำหรับจิตวิญญาณที่ล่องลอยกระจัดกระจายออกไประหว่างสัปดาห์ เพื่อฝ่าฟันกับการใช้ชีวิตห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน และครอบครัวอันเป็นที่รัก ก่อนที่พวกเธอจะเคลื่อนตัวมารวมตัวกันกับสาวฟิลิปปินส์คนอื่นๆ (flocking คือคำที่โกมิเลงใช้อธิบายความคิดใน Ghost:2561 Talk series 01)
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การเฝ้ามองของ ‘พาราไดซ์’ (Paradise) กวีผู้เล่าเรื่องราวในร่างของโดรน ผ่านเสียงพูดของแม่ของผู้กำกับ ที่เป็นชาวฟิลิปปินส์ที่ย้ายถิ่นไปอยู่แคนาดาในยุคทศวรรษ 70s ผู้กำกับถ่ายทอดเรื่องเล่าถึงความหมายของชีวิต ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ การเคลื่อนไหวของคนย้ายถิ่นจากจากหลากหลายมุม ของชาวฟิลิปปินส์ที่มาอยู่ตามบ้านนายจ้างในย่านต่าง ๆ ของฮ่องกง ผ่านความเป็นสารคดีไซไฟ ที่ผสมเรื่องจริงกับแฟนตาซีเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ
โกมิเลงถักทอองค์ประกอบของเรื่องเล่าเข้าด้วยกัน จนเรารู้สึกได้ว่า มนุษย์ อมนุษย์ (non-human) เทคโนโลยี และความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ ได้รับการจัดเรียงอยู่บนระนาบเดียวกันของเรื่องเล่า ไม่ต่างกับกลุ่มดาวต่างๆ ในระบบจักรวาล
มาร์แชล แมคลูฮัน (Marshall McLuhan) นักปรัชญาชาวแคนาเดียน ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง วิวัฒนาการของมนุษย์เรา กับวิถีทางในการใช้เทคโนโลยีในแต่ละยุค นับจากยุคหินใหม่มาจนถึงยุคอิเลคทรอนิกส์ ที่เปลี่ยนจากการจัดการประสบการณ์แบบเส้นตรง มาสู่แพทเทิร์นของการส่งฟีดแบ็กกับกระแสวงจร และการมีส่วนร่วม
“ระหว่างช่วงหลายศตวรรษของเทคโนโลยีแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้น คนเราได้สั่งสมนิสัยของการมีระยะห่างและความเมินเฉยต่อผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากเทคโนโลยีเฉพาะทางใหม่ๆ ของพวกเขา ในยุคของกระแสวงจร ผลของการกระทำใดๆ ต่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับการกระทำนั้นเอง”
ความหมายของ ‘บ้าน’ ในงานนี้ จึงไหลไปมาระหว่างสถานที่ ฮ่องกง-ฟิลิปปินส์ และร่างกายของเหล่าสาวฟิลิปปินส์ที่กระจัดกระจายไปบนเกาะฮ่องกง บ้านที่เป็นเพียงสภาวะแบบหนึ่ง ที่ไปไกลกว่าความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น เพราะท่ามกลางกระแสการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของโลกเราในตอนนี้ การยอมรับว่า การเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่หนึ่งเป็นทางออกเดียวสำหรับพวกเธอ มันมีแต่จะพาพวกเธอเดินกลับเข้าไปในวังวนของเรื่องเล่าแบบเดิมๆ ของถอดหรือกดทับตัวตนดั้งเดิมของคนย้ายถิ่น เพียงเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่พวกเธอเข้าไปใช้ชีวิตอยู่
บ้านที่ว่าจึงไม่ได้อยู่ที่นี่หรือที่ไหน ไม่ได้นั่งอยู่ในใจเรา หรือใจใคร แต่เกิดขึ้นและหายไปในระบบของกระแสวงจรของข้อมูลที่ไหลผ่านสรรพสิ่งในธรรมชาติ
Emissary Sunsets the Self (2017)
“ในขณะที่ผมใช้ปัญญาประดิษฐ์ในงาน ผมคิดถึงโมเดลที่แตกต่างกันไปของจิตใจ ผมสนใจมากกับความคิดเรื่องสังคมของจิตใจ (a society of mind) มันเป็นความคิดที่ว่า แม้แต่ข้างในพวกเรานั้น ก็มีผู้คนอีกมากมายอยู่ในตัวเราเอง” —เอียน เฉิง
Emissary Sunsets the Self (2017) ที่นำมาจัดแสดงที่ Bangkok City City Gallery เป็นงานชิ้นที่สามในงานไตรภาค ‘Emissaries’ (2015-2017) ของ เอียน เฉิง (Ian Cheng) ตัวงานมีลักษณะของ ‘วีดิโอเกมที่เล่นได้ด้วยตัวมันเอง’
ตัวศิลปินสร้างระบบนิเวศน์จำลองที่ตัวละครต่างๆ ในเรื่องเล่า ถูกกำกับไว้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนอะไรนักเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางตัวละครมากมายที่ต่างก็เป็นผู้กระทำในเรื่องเล่า (narrative agent) และพยายามดำรงอยู่ต่อไปตามแนวทางของมัน ภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เป็นอีกโลกหนึ่ง จะมีก็แต่เพียงตัว Emissary ซึ่งเป็น ‘แอ่งสสารปัญญาประดิษฐ์’ เท่านั้น ที่มากับ A.I. ที่แตกต่างออกไปจาก A.I. ของตัวละครอื่นๆ และมีเป้าหมายที่เธอต้องบรรลุในเรื่องเล่า (narrative goals) ท่ามกลางภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย
เฉิงเขียนถึงบทบาทของ Emissaries ไว้ในงานจัดแสดงครั้งนี้ว่า “Emissaries ได้เปิดบทบาทใหม่ให้กับการจำลอง (simulation) นั่นคือเป็นที่อยู่อาศัยของเรื่องราวต่าง ๆ (a habitat for stories)” ระบบจำลองที่เขาสร้างขึ้น ไม่มีตัวเอกของเรื่อง มันสร้างเรื่องราวที่ไม่มีทั้งจุดเริ่มต้น และจุดจบ ไม่แน่นอน และจำเจ เป็นสิ่งที่ตัวศิลปินเรียกมันว่า “ศิลปะที่มีระบบประสาท (art with a nervous system)”
ศิลปินจำลองระบบนิเวศน์ กำหนดแรงกระตุ้นตั้งต้น วาง life script ของคาแรคเตอร์แต่ละแบบ จากนั้นก็ปล่อยให้พวกมันใช้ชีวิต ตอบโต้ต่อกัน โดยพยายามคงสภาพแนวทางการดำรงอยู่ของตัวมันเอง ฉะนั้นงานของเฉิง จึงเป็นเรื่องของการเซตระบบ และวางแนวทางบางอย่างเอาไว้ แต่ไม่ได้ควบคุมทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์ ในงานของเขา เราจะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการโต้ตอบกันระหว่างคาแรกเตอร์ต่างๆ โดยมีแค่ ‘แอ่งสสารปัญญาประดิษฐ์’ เท่านั้น ที่ถูกเขียนบทและโปรแกรมให้ต้องพยายามคงอยู่ไปต่อให้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์นั้นมันจะยากแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้ มันก็ยังมีตัวช่วย ถ้าหากมันเหนื่อยล้าจากการเล่นบทบาทเป็นเหมือนพระเจ้าผู้สร้าง มันก็จะเริ่มเข้าสู่โหมดของการกลายพันธุ์แบบสุดขั้ว เพื่อค้นหาความตายที่เพิ่มจำนวนขึ้นได้ด้วยกลไกของตัวมันเอง
เรื่องราวเกิดขึ้นไหลผ่านไปอย่างต่อเนื่อง จนเราคาดเดาไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป คนดูก็นั่งเฝ้ามองธรรมชาติของกลายพันธุ์ในระบบปิดจำลอง และได้มองย้อนกลับเข้าไปในตัวเราเองว่า เรารู้สึกอย่างไรกับการได้เห็นตัวเราในความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ที่เป็นการจำลองช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของปัญญาประดิษฐ์ จุดที่มันวิวัฒนาการตัวมันเองไปสู่การเป็นสสารหนึ่งในทะเล และผสานเข้ากับภูมิประเทศเพื่อที่จะก่อรูปขึ้นมาเป็นแนวรอบบึงที่มีความรู้สึกรับรู้และตอบสนองกับสภาพแวดล้อม
Blue (2018)
“อะไรคือความแตกต่างระหว่างความทรงจำส่วนตัว และความทรงจำส่วนรวม? ”
งานตะวันดับ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นงานวิดีโอที่เลือนเส้นแบ่งระหว่างความทรงจำส่วนตัว และความทรงจำร่วมในสังคม งานใช้วิธีเรียบเรียงปะติดปะต่อสัญลักษณ์เข้าด้วยกันอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ภาพที่ตัดสลับไปมาระหว่าง ภาพ เจนจิรา พงพัศ ไวด์เนอร์ ที่กำลังนอนหลับกึ่งกระสับกระส่าย ฉากลิเกในดงกล้วยที่ขยับเปลี่ยนฉากไปมาระหว่างฉากต่างๆ และภาพเต็มของฉากธรรมชาติกับพระอาทิตย์ที่ปรากฎอยู่เหนือขอบฟ้าแบบพอดิบพอดี
ภาพตรงหน้าที่วนลูปไปเรื่อยๆ ค่อยๆ กระตุกความรู้สึกคนดู ให้ได้มองย้อนกลับเข้าไปในความทรงจำของตนเอง ถึงสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ถึงความเป็นจริงตรงหน้า กับความรุ่มร้อนกระวนกระวายใจ ที่ฉุดกระชากคนนอนให้ต้องลุกตื่นขึ้นมา ภาพวาดธรรมชาติที่สุขสงบที่เกิดขึ้นชั่วขณะที่ดวงตะวันลอยปริ่มเหนือเส้นขอบฟ้า แต่ถูกล็อคให้อยู่บนกรอบของฉาก ความไม่เสถียรที่ถูกล็อคอยู่ในกลไกของการทำซ้ำๆ และความสิ้นหวังแม้แต่จะหวังถึงดินแดนในอุดมคติ ที่ในท้ายที่สุดก็ถูกฉวยใช้ จนผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของการทำซ้ำๆ
เราเห็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านอยู่ในจอหนัง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็นั่งอยู่ในพื้นที่เปลี่ยนผ่านอีกแห่งในแกลเลอรี่เวอร์ เพื่อมีประสบการณ์กับการถามตัวเองว่า เรารู้สึกอย่างไร กับภาพความทรงจำที่แตกออกเป็นชิ้นๆ และกำลังวนลูปอยู่ตรงหน้าเรานี้?
หลังภูตผีและกองไฟ
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเดินเล่นไปกับภูตผีและกองไฟที่งาน Ghost:2561 นำเสนอ ในสังคมที่ความเชื่อเรื่องผีสางวิญญาณยังคงอยู่ ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นตะวันตกหรือตะวันออก สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือ สื่อกลาง อย่าง คนทรง รูปสักการะ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลอย่างพระเครื่อง และ พิธีกรรม ฯลฯ
งานของสเตฟานี โกมิเลงพาเราไปพบกับพิธีกรรมที่เชื่อมต่อคน ข้ามระยะทางระหว่างสถานที่เข้าด้วยกัน ทำให้สำนึกของความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับสถานที่จริงที่สามสาวใช้ชีวิตอยู่ มิติและชั้นเชิงของการตัดต่อมีส่วนสำคัญที่ทำให้เรารับรู้เรื่องราวด้วยความรู้สึกร่วม (empathy) ไม่ใช่ความสงสาร เราเห็นความอัดอั้นที่อยู่ในสีหน้าเพียงแวบเดียวก่อนที่ภาพจะตัดกลับไปยังโลกของการเชื่อมต่อในวันอาทิตย์ วันที่หมายถึงการกลับมารวมตัวอีกครั้ง ที่เชื่อมต่อกันหลายระดับ ทั้งในทางกายภาพ สถานที่ ความรู้สึกนึกคิด และภวังค์ทางจิตวิญญาณที่ผูกเข้ากับเทคโนโลยีโดรน ซึ่งย้อนเล่นกับมุมมองของมนุษย์ และอมนุษย์ผ่านระดับมุมกล้องกับการให้เสียงกวีผู้เล่าเรื่องราว การรวมตัวในความเป็นจริง เข้ามามีส่วนในการวางรูปแบบการเล่าเรื่อง
ในขณะที่งานของเอียน เฉิง ที่แสดงออกมาผ่านสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะกึ่งบรรพกาลนิยม (primitivism) พ้องกันไปกับความสนใจของเขาที่มีต่อแนวคิดเรื่องการตระหนักรู้ของมนุษย์ (consciousness) ที่อาจถือได้ว่า เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสามพันกว่าปีก่อน ไม่ใช่สิ่งที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์การมีอยู่ของมนุษย์ ก่อนหน้านั้นมนุษย์มีชีวิตอยู่ในลักษณะคล้ายมนุษย์กล (automaton) ที่ไม่มีการตระหนักรู้ นึกย้อนคิดในการกระทำของตน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เขาได้มาจากการอ่านและตีความข้อเสนอทางทฤษฎีจากหนังสือชื่อ The Origin of Consciousness in the Breakdown of the Bicameral Mind (1976) ของ จูเลียน เจย์เนส (Julian Jaynes) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
งานทั้งสามชิ้นนี้ (รวมถึงงานอีกหลายๆ ชิ้นในงาน Ghost:2561) ต่างก็เชื่อมต่อเข้ามาในความตระหนักรู้ที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนดู (latent consciousness) ในแบบที่แตกต่างกันออกไป ฉะนั้นงานนี้ไม่ใช่งานที่ต้องพกกระไดมาดู แค่เปิดใจกับมัน เดินเล่นไปกับมันในความคิด ความรู้สึกของเขา และมองดูความเป็นไปได้ที่จะหาทางไปต่อ ไม่ว่ามันจะเป็นสถานการณ์ที่ดูหนักอึ้ง เป็นสภาวะที่เรารู้อยู่แก่ใจแบบไฟสุมอกแบบในงานตะวันดับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือความยากลำบากของ Emissaries ที่พยายามดำรงอยู่ต่อไปในเวลาของระบบจำลอง โดยตัว Emissaries ถูกกำกับไว้ด้วย A.I. ที่เกิดจากการรวบรวมโมเดลของเกมแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยสำหรับตัวศิลปินเองนั้น มันคล้ายกับการสร้างสิ่งที่คล้ายกับความตระหนักรู้นี้ขึ้นมา
หากเมื่อห้าสิบเอ็ดปีก่อน ริชาร์ด บราว์ทิเกนเปิดบทกลอนแต่ละบทของเขาด้วยท่อน “ฉันชอบที่จะคิด” มาวันนี้คนดูคนหนึ่งของ Ghost ก็ขอเพิ่มต่อเป็นว่า “ฉันชอบที่จะคิด และรู้สึก”
อ้างอิง
- “So what I am trying to address with “Ghost” is this dichotomy of (Eastern) spirituality and (Western) technology.” จากบทสัมภาษณ์ กรกฤต อรุณานนท์ชัย โดย Andrea Lissoni ใน Kaleidoscope, 33: Fall/Winter 2018/19, หน้า 296.
- VII. Cybernation and Culture (1966) ใน Marshall McLuhan, On the Nature of Media, Berkeley: Gingko Press, หน้า 97-98.
- บทสัมภาษณ์ Ian Cheng: BOB Emissaries, Serpentine Galleries, accessed 24.10.2018, https://www.youtube.com/watch?v=TO6Luilc4Bo.