หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีระบบที่ให้ประชาชนเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ จนถึงตอนนี้มี 20 ประเทศจากทั้งหมด 28 ประเทศแล้ว ล่าสุด ที่เยอรมนีก็กำลังถกเถียงกันว่าควรจะมีกฎหมายแบบเดียวกันหรือไม่

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพเยอรมันเสนอร่างกฎหมายที่จะทำให้ทุกคนเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ เว้นแต่กรณีที่จะเลือกไม่บริจาค (opt out) เปลี่ยนจากระบบปัจจุบันที่ให้คนเลือกเป็นผู้บริจาคเองตามความสมัครใจ (opt-in) โดยเหตุผลที่มีการเสนอกฎหมายนี้มาจากความต้องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการบริจาคอวัยวะยังมีน้อย

เจนส์ สปาห์น รัฐมนตรีผู้เสนอกฎหมายกล่าวว่า ทุกวิธีที่เคยทำมาไม่ช่วยให้มีผู้บริจาคเพิ่มขึ้นเลย เช่นเดียวกับผู้แทนจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ให้เหตุผลว่า มีคนที่รอรับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมากกว่าผู้บริจาค 10 เท่า

เมื่อปีที่แล้ว มีผู้รอรับการเปลี่ยนอวัยวะประมาณ 9,400 คน และมีการเปลี่ยนอวัยวะไปเพียง 1,000 คน ขณะที่ผู้ที่รอไม่ไหวเสียชีวิตไปแล้ว 2,000 คน แพทย์สามารถเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากบุคคลที่แสดงตนว่าเป็นผู้บริจาคแล้วเท่านั้น โดยพวกเขาอาจจะมีบัตรผู้บริจาค หรือเขียนไว้ในพินัยกรรม

ร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้กำหนดให้ชาวเยอรมนีที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเป็นผู้บริจาคอวัยวะ และสามารถยกเลิกได้ทุกเวลาด้วยการไปลงทะเบียนว่าตนเองไม่ต้องการเป็นผู้บริจาค สมาชิกของครอบครัวสามารถเพิกถอนความยินยอมได้หลังจากที่บุคคลนั้นเสียชีวิต ส่วนแพทย์ต้องปรึกษากับครอบครัวผู้เสียชีวิตก่อนที่จะนำเอาอวัยวะออกไปเสมอ แม้ว่าบุคคลนั้นจะถูกระบุว่าสมองตาย

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็เสนอกฎหมายเพื่อปรับปรุงระบบการบริจาคอวัยวะเช่นกัน โดยให้ยึดระบบสมัครใจเช่นเดิม เช่น ส.ส.จากพรรคกรีน พรรคฝ่ายซ้าย และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน เสนอร่างกฎหมายที่ใช้วิธีถามความเห็นของประชาชนบ่อยๆ ว่าต้องการเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่ เช่น เวลาไปพบแพทย์ หรือต่อบัตรประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการลงทะเบียนผู้รับบริจาคอวัยวะออนไลน์ได้ด้วย แทนระบบบัตรแบบเดิม พวกเขาเห็นว่าการบริจาคอวัยวะต้องเป็นการตัดสินใจที่ผู้บริจาคมีสำนึกและสมัครใจ ซึ่งรัฐไม่สามารถบังคับได้

มูลนิธิเพื่อการคุ้มครองผู้ป่วยเตือนถึงการละทิ้งหลักการการความสมัครใจ โดยบอกว่า การบริจาคอวัยวะคือการตัดสินใจโดยสมัครใจ เป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรมในการบริจาคอวัยวะมนุษย์ ‘ของขวัญ’ ลักษณะนี้ต้องไม่ได้มาจากการบังคับ

จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยังไม่กำหนดวันที่แน่นอน และจะมีการลงคะแนนอย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามมติพรรค

 

 

ที่มา:

 

Tags: , ,