เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปแล้วกับซีเกมส์ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย และก็เหมือนซีเกมส์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่ยังแทบไม่มีข่าวคราวการชิงเหรียญสำคัญๆ เสียด้วยซ้ำ ก็มีข่าวคาวความไม่แฟร์ให้ได้บ่นกันแล้ว ทั้งการดูแลนักกีฬาที่ไม่เสมอภาค การจัดตารางแข่งที่ดูเอียงๆ และโดยเฉพาะการตัดเอากีฬาที่เจ้าภาพไม่มีหวังออก และยัดเยียดกีฬาแปลกๆ เข้ามาพร้อมกับเหรียญรางวัลจำนวนมาก จนซีเกมส์แทบจะมีชื่อเล่นว่า ‘ซีโกง’ ไปแล้ว
ถ้ามองว่ากีฬาต้องเป็นกิจกรรมที่แข่งกันอย่างเท่าเทียมจริงๆ ซีเกมส์ก็ดูจะไม่ตอบโจทย์นั้นเท่าไหร่ แต่ถ้ามองอีกแบบว่ามันคือการเอาชนะ การช่วงชิงการแก่งแย่ง ไปจนถึงสงคราม เราอาจพอจะเข้าใจมันได้มากขึ้น
จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชื่อดัง เจ้าของผลงาน Animal Farm และ 1984 เคยอธิบายด้านมืดของกีฬาไว้อย่างน่าสนใจว่า กีฬาที่แข่งกันอย่างจริงจังคือ ‘สงครามที่แค่ไม่มีการยิงกัน’ (war minus the shooting) และมันก็กลายเป็นโควตดังที่มักจะถูกยกมาพูดถึงเสมอ ยามที่พบว่ากีฬาไม่ใช่แค่อะไรใสๆ
โควตดังกล่าวของออร์เวลล์มาจากบทความชื่อว่า ‘The Sporting Spirit’ โดยเขาอธิบายว่า เอาเข้าจริงแล้วกีฬาอาจไม่ได้สร้างความเป็นมิตร (อย่างที่ใครๆ มักจะพูดถึง) เท่ากับที่ทำลายมัน กีฬาที่มุ่งแข่งขันอย่างจริงจังนั้นล้วนแต่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ริษยา โอ้อวด ยโส อย่างที่จะเห็นได้จากความรุนแรงในกีฬาหลายๆ ครั้ง และก็ไม่ใช่แค่ผู้เล่น แต่มันส่งผลสำคัญต่อคนดูมากกว่าด้วยซ้ำ
สำหรับออร์เวลล์แล้ว ปัญหาสำคัญที่สุดของกีฬาคือมันมักจะไปส่งเสริมความเป็นชาตินิยม เป็นความวิกลจริตสมัยใหม่ ที่ผู้คนต้องการจะยึดโยงตัวเองเข้ากับอำนาจอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง โดยเฉพาะกับคนในเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างอุดอู้ ไม่มีกิจกรรมกลางแจ้งจะปลดปล่อยพลังงานล้นเกินอย่างคนชนบท พวกเขาจึงปลดปล่อยมันออกมาผ่านการเชียร์กีฬาที่ยิ่งเร่งเร้าความเป็นชาตินิยม
อุปมาว่ากีฬาเหมือนสงครามนี้น่าจะยิ่งชัดขึ้น ถ้าทำความเข้าใจมันผ่านไอเดียเรื่องชุมชนจินตกรรมของเบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) เพราะถ้าเรามองว่าชาติคือชุมชนในจินตนาการที่คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกร่วมกันขึ้นมาแล้ว การแข่งขันกีฬาทีมชาติก็น่าจะเป็นการทำให้จินตนาการนั้นเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้อย่างชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่ง มันทำให้เห็นชาติตัวเป็นๆ กระโดด วิ่งเตะ ฯลฯ อยู่ในสนาม และเมื่อจ้องเอาแพ้เอาชนะกัน มันก็คือสงครามจำลองดีๆ นี่เอง
‘The Sporting Spirit’ เผยแพร่ครั้งแรกใน Tribune วารสารฝ่ายซ้ายรายสัปดาห์ที่ออร์เวลล์เคยเป็นบรรณาธิการ บทความเกี่ยวกับกีฬาโดยตรงชิ้นเดียวของออร์เวลล์นี้ [i] ถูกเขียนขึ้นในเดือนธันวาคมของปี 1945 ไม่กี่เดือนหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่กี่วันหลังจากที่ดินาโม มอสโคว์ (Dynamo Moscow) สโมสรฟุตบอลชั้นนำของโซเวียตมาทัวร์แข่งฟุตบอลกับสโมสรในเกาะอังกฤษ
ในทัวร์นั้น ดินาโม มอสโคว์ทำสถิติไม่แพ้ใครทั้ง 4 นัด ชนะอาร์เซนอล 4-3 ถล่มคาร์ดิฟฟ์ 10-1 เสมอเชลซี 3-3 และเสมอกับกลาสโกว์เรนเจอร์ส 2-2 แต่ดูเหมือนว่าผลการแข่งขันที่น่าอายสำหรับสโมสรจากเกาะอังกฤษไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ออร์เวลล์ขุ่นเคือง สาเหตุหลักๆ น่าจะมาจากการที่รัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษให้การต้อนรับคณะทัวร์เป็นอย่างดี ทั้งที่โซเวียตที่ถูกปกครองโดยโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) นั้นมีความน่ากังขาหลายอย่าง
ออร์เวลล์มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และมีปัญหาอย่างมากกับการปกครองของสตาลินที่ตัดต่อพันธุกรรมคอมมิวนิสต์ในโซเวียตจนกลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ (งานชิ้นสำคัญของออร์เวลล์อย่าง Animal Farm และ 1984 ก็มุ่งวิพากษ์การปกครองของสตาลิน) ออร์เวลล์จึงรู้สึกข้องใจกับการมาทัวร์ของสโมสรจากโซเวียตมาก โดยเฉพาะที่ตอนนั้นดินาโม มอสโคว์ถูกควบคุมโดยลัฟเรนตีย์ เบรียา (Lavrentiy Beria) ผู้ดูแลตำรวจลับและกิจกรรมด้านมืดทั้งหลายของระบอบสตาลิน
แม้จะดูเหมือนว่าการเขียนถึงด้านลบของกีฬาจะมีแรงขับมาจากความไม่เห็นด้วยกับระบอบสตาลิน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ไอเดียที่ออร์เวลล์เสนอไว้จะไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่นาน เมื่อปี 1936 นาซีก็ใช้โอลิมปิกที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพในการโชว์ศักยภาพและกระตุ้นความเป็นชาตินิยมอย่างชัดเจน (ซึ่งสำหรับออร์เวลล์แล้ว ต้นเหตุสำคัญของสงครามโลกครั้งที่สองก็มาจากชาตินิยมเนี่ยแหละ) กระทั่งในช่วงสงครามเย็น โซเวียตกับอเมริกาก็ใช้โอลิมปิกเป็นสมรภูมิจำลอง ผ่านการบอยคอตกันและกันมาแล้ว
ย้อนกลับมาที่ซีเกมส์ หากเรามองมันว่าเป็นสงครามจำลองอันหนึ่ง สงครามแห่งชาตินิยมสงครามที่ชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งตัวแทนมาช่วงชิงความเกรียงไกร การงัดแทคติกต่างๆ มาสู้ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก ยิ่งโดยเฉพาะกับเจ้าภาพที่สามารถออกแบบสมรภูมิรบให้ตนเองมีโอกาสชนะมากขึ้นได้
ถ้าย้อนดูสถิติซีเกมส์ 28 ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้เลยว่านี่เป็นมหกรรมกีฬาเพื่อเจ้าภาพโดยแท้ เพราะจาก 28 ครั้งนั้น มีมากถึง 15 ครั้งที่ประเทศเจ้าภาพเป็นเจ้าเหรียญทอง เรียกว่าขอให้ได้เป็นเจ้าภาพเถอะ โอกาสครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองมีมากกว่าครึ่ง จะบอกว่าพอได้แข่งในบ้านก็เลยทำให้นักกีฬามีพลังฮึดเก่งขึ้นเป็นพิเศษ ก็ดูจะปิดตาข้างเดียวไปหน่อย
ซีเกมส์แต่ละครั้งนั้น เจ้าภาพมักจะงัดเอากลเม็ดเด็ดพรายหลากหลายมาสู้ทั้งในและนอกสนาม แทกติกยอดนิยมที่สุดต้องยกให้การเพิ่มกีฬาที่ตนเองเชี่ยวชาญเข้ามา ถ้าดูจำนวนชนิดกีฬาในซีเกมส์ 2017 จะเห็นได้ว่ามีมากถึง 38 ชนิดกีฬา มากกว่าโอลิมปิก 2016 ที่บราซิลซึ่งแข่งกันแค่ 28 ชนิดกีฬาเท่านั้น เรียกได้ว่าซีเกมส์ที่แข่งกันเฉพาะชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีกีฬาหลากหลายกว่าโอลิมปิกที่แข่งกันแทบทั้งโลกเสียอีก (แต่ก็คงไม่ได้หมายความว่าเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่กว่าแน่ๆ)
แล้วความแตกต่างระหว่างซีเกมส์กับโอลิมปิกมันอยู่ตรงไหน เพราะอะไรการชิงชัยในโอลิมปิกถึงดูตรงไปตรงมากว่าซีเกมส์มากนัก เราอาจทำความเข้าใจมันได้ผ่าน 2-3 มุมมอง
มุมมองแรกว่าด้วยเศรษฐกิจ เนื่องจากมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกนั้น ไม่ใช่แค่การแข่งขันเพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรีของชาติโดดๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินหมุนเวียนมหาศาล คุณภาพการแข่งขันจึงเป็นสิ่งจำเป็น จะยอมให้มีการแทรกแซงด้วยเหตุผลอื่นไม่ได้ ต่างกับซีเกมส์ที่เป็นการแข่งขันระดับภูมิภาค ไม่มีวงเงินหมุนเวียนมากขนาดนั้น (หรือพูดอีกแบบให้ดาร์กๆ ไม่ต่างกันก็ได้ว่า โอลิมปิกนั้นรับใช้ทุน ขณะที่ซีเกมส์รับใช้รัฐ)
มุมมองที่สองว่าด้วยมิติทางสังคมวัฒนธรรม หากพิจารณาการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติในฐานะสงครามจำลอง วิธีคิดที่ว่าสงครามเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองดินแดนหนึ่งใช้ประกาศศักดาเหนือผู้ปกครองดินแดนอื่นๆ น่าจะยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘การรักษาหน้า’ และยิ่ง ‘หน้า’ ที่ว่านั้นเกี่ยวพันกับกระแสชาตินิยม การแพ้ในดินแดนตัวเองจึงเป็นอะไรที่ยอมกันได้ยาก
มุมมองที่สามเป็นการพยายามมองให้แฟร์กับซีเกมส์เสียหน่อย เพราะเอาเข้าจริงแล้วสถานะของมันคือการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคซึ่งพันธกิจหนึ่งคือการพยายามโปรโมตกีฬาพื้นบ้านของภูมิภาคให้เป็นที่รู้จัก ก้าวสู่การเป็นกีฬาสากลและบรรจุในโอลิมปิก [ii] จึงไม่แปลกอะไรที่ซีเกมส์จะเต็มไปด้วยกีฬาพื้นบ้าน (แต่ถ้าเป็นพื้นบ้านที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคหน่อยก็คงดีกว่านี้)
จะว่าไปแล้วซีเกมส์ก็คงแค่ ‘ดูเหมือน’ โกง ซึ่งหมายความว่าไม่ได้เป็นซีโกงจริงๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้วกีฬาไหนๆ ก็ล้วนแต่มีการต่อสู้แย่งชิงรับใช้ทุนหรือรับใช้รัฐกันทั้งนั้น มันไม่ได้ใสๆ ซื่อๆ ไปเสียทั้งหมด และถ้าคิดว่ามันเป็นสงครามอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าของสนามรบย่อมต้องสร้างสถานการณ์ที่ตนเองได้เปรียบอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้มันไม่มีการยิงกันอย่างที่ออร์เวลล์ว่าไว้ ก็คงจะพอรับได้อยู่บ้าง
ดูเพิ่มเติมได้ที่
The Sporting Spirit www.orwell.ru/library/articles/spirit/english/e_spirit
‘War Minus the Shooting’: George Orwell on International Sport and the Olympics www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/17460263.2012.761150
ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยมwww.openbase.in.th/files/tbpj042.pdf
ซีเกมส์ยิ่งแข่งขันยิ่งแตกแยก?themomentum.co/sea-games
Fact Box
- [i] นอกจาก 'The Sporting Spirit' แล้ว ออร์เวลล์ยังเคยเขียนพาดพิงถึงกีฬาสอดแทรกในงานชิ้นอื่นๆอยู่บ้างซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นในทางที่ไม่ดีนักไม่ว่าจะเป็นใน1984ที่พูดถึงฟุตบอล (พร้อมๆกับเบียร์หนังและการพนัน) ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มอมเมาให้ประชาชนไม่ลุกขึ้นสู้หรือในเรื่องสั้นShooting the Elephant ที่เล่าถึงการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่อาณานิคมกับประชาชนที่สนามฟุตบอลในพม่า (ซึ่งน่าจะเป็นประสบการณ์ตรงจากที่ออร์เวลล์เคยไปทำงานที่นั่นมาระยะหนึ่ง)
- [ii] ผลผลิตที่สำคัญอันหนึ่งของซีเกมส์ก็คือเซปักตะกร้อ กีฬาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มกำหนดกติกาขึ้นมาเพื่อแข่งในซีเกมส์โดยเฉพาะ และตอนนี้ก็ก้าวไปถึงระดับเอเชียนเกมส์แล้ว