หลังจากที่ เหอ เจี้ยนขุย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใต้เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ประกาศความสำเร็จที่สามาระตัดต่อพันธุ์กรรมทารกแฝดให้ต้านทานเชื้อเอชไอวี ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับจริยธรรม

เหอ เจี้ยนขุย ทำวิจัยลับๆ มาหลายปี ก่อนจะประกาศความสำเร็จนี้ด้วยความภาคภูมิใจ ในงานประชุมที่ฮ่องกงเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ถูกประณาม สั่งให้ยุติการวิจัย และพักงาน กระทั่งล่าสุด มีข่าวจากเว็บไซต์ Shanghaiist ว่าเขาหายตัวไปอย่างลึกลับ แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นิตยสาร ​Science ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่เขียนโดยประธานของสามองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของโลก ได้แก่ สถาบันการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. National Academy of Medicine) สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ  (U.S. National Academy of Sciences) และสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) เรียกร้องให้นานาชาติหามาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้นักวิทยาศาสตร์สร้างทารกที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม โดยปราศจากการอนุมัติและควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม

บทบรรณาธิการนี้พาดหัวว่า “เสียงปลุกจากฮ่องกง” (Wake-up call from Hong Kong) ซึ่งหมายถึงกรณีที่ เหอ เจี้ยนขุย อ้างว่าสามารถสร้างตัวอ่อนฝาแฝดขึ้นจากการตัดต่อดีเอ็นเอในห้องทดลอง ด้วยเทคนิคที่ชื่อ CRISPR โดยส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการกล่าวว่า “เพื่อรักษาความไว้วางใจของสาธารณะ ที่ต่อไป การตัดต่อจีโนมจะกลายเป็นการรักษาหรือป้องกันโรคได้ ชุมชนวิจัยต้องดำเนินการตอนนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เครื่องมือใหม่นี้เข้ากันได้กับความรู้ความสามารถ ความซื่อตรง และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”

“การกำหนดมาตรฐานอย่างเดียวไม่เพียงพอ เรายังต้องการกลไกนานาชาติที่จะช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เพิ่มความตระหนักถึงข้อกังวลต่อการวิจัยที่ไม่เป็นไปตามหลักการหรือมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับได้”

สำนักข่าวเอ็นพีอาร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์มีปฏิกิริยาต่อบทบรรณาธิการนี้หลายแบบ ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับแถลงการณ์ที่ออกมาเพราะมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมโดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ แต่นักวิทยาศาสตร์อีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะนักชีวจริยธรรมและนักเคลื่อนไหววิจารณ์ว่า แถลงการณ์นี้แสดงความอ่อนแอและความพยายามที่ผิดพลาดมากมายในการดูแลกันเองของชุมชนวิทยาศาสตร์

เจ.เบนจามิน เฮิร์ลบัต (J. Benjamin Hurlbut) นักชีวจริยธรรม มหาวิทยาลัยแอริโซนา เขียนอีเมลตอบสำนักข่าวเอ็นพีอาร์ ในประเด็นที่แถลงการณ์ประณามเรื่องการล้ำเส้นของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ว่า ทำไมจึงถามหาว่าเส้นแบ่งนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต แทนที่จะถามว่าเราควรจะข้ามเส้นนี้หรือไม่

แต่บทบรรณาธิการนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จอร์จ เดลีย์ (George Daley) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้จัดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการตัดต่อจีโนมมนุษย์ครั้งที่ 2 (Second International Summit on Human Genome Editing) ที่ฮ่องกงเมื่อ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งให้ความเห็นว่ามันเป็นแถลงการณ์ที่น่าคิด

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการที่ฮ่องกงนี้ ได้ประณามการทดลองของเหอ แต่ปฏิเสธที่จะเรียกร้องให้ยุติการทำงานวิจัยการตัดต่อพันธุกรรมทารก โดยผู้จัดงานเรียกร้องให้พัฒนา “แนวทาง”​ ว่า นักวิทยาศาสตร์จะสร้างทารกที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมที่ปลอดภัยและมีจริยธรรมได้อย่างไรเพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรม

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการใช้เทคนิคตัดต่อพันธุกรรม เช่น CRISPR ทั้งที่มีวิธีอื่นที่ปลอดภัยกว่า ส่งผลเสียน้อยกว่าในการป้องกันโรค ฟิโอดอร์ เออร์นอฟ (Fyodor Urnov) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอัลเทียสเพื่อวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Altius Institute for Biomedical Sciences) ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เรียกร้องในตอนนี้เหมือนกับที่พวกเขาเคยเรียกร้องเมื่อสามปีก่อน แล้วมันได้ผลหรือไม่

ประเด็นคำถามเรื่องวัฒนธรรมและจริยธรรมต่อเรื่องการพัฒนาอย่างรวดเร็วของการตัดต่อพันธุกรรมจะถูกถกเถียงในปีหน้า ด้วยการริเริ่มของโครงการ Global Observatory for Gene Editing ที่มีนักสังคมศาสตร์สองคน เชียลา จาซานอฟฟ์ (Sheila Jasanoff) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเจ.เบนจามิน เฮิร์ลบัต (J. Benjamin Hurlbut) มหาวิทยาลัยแอริโซนา เป็นโต้โผ โดยมีเป้าหมายเพื่อถกเถียงเรื่องเทคโนโลยีให้กว้างขวางขึ้น เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนักจริยศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ตัวแทนจากรัฐบาล ประชาสังคม เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้คนจากทุกสาขาได้เห็นมุมมองอื่นๆ

โครงการนี้เกิดจากการรวมตัวกันของนักสังคมศาสตร์ นักจริยศาสตร์ นักคิดทางศาสนา นักวิชาการด้านกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์  และตัวแทนจากหน่วยงานด้านจริยธรรมทั้งในและต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อเดือนเมษายน 2017 เพื่ออภิปรายในประเด็นเทคนิดต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ตัดต่อระบบของสิ่งมีชีวิต ผู้ก่อตั้งโครงการหวังว่าโครงการนี้จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ตรงกลางที่เข้าถึงได้เกี่ยวกับนโยบายและจริยธรรมของการตัดต่อจีโนมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและเป็นพื้นที่ในการถกเถียงต่อคำถามชีวจริยธรรม

เฮิร์ลบัตสังเกตเห็นว่า เหอเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่ต้องการทำความเข้าใจเรื่องจริยธรรมในการทำงานของพวกเขา แต่ไม่มีการอบรมหรือทรัพยากรใดที่ทำให้พวกเขาได้ขบคิดถึงเรื่องนี้ต่อ โครงการนี้ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาจะแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ เช่น จะรับมืออย่างไรกับการตัดต่อสารพันธุกรรมอย่างไร ควรจะได้รับอนุญาตหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง

 

ที่มา​:

Tags: , , ,