*บทความนี้อาจมีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของ Wicked: Part One*

หากถามว่าปลายปีนี้หนังเรื่องไหนมาแรงที่สุด คำตอบคงไม่พ้น Wicked: Part One หนังมิวสิคัลแฟนตาซีที่ดัดแปลงจากนิยายและละครบรอดเวย์ในชื่อเดียวกัน ปัจจุบัน Wicked กวาดรายได้ทั่วโลกไปมากกว่า 534.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้กลายเป็นหนังจากบรอดเวย์ที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับสอง รองแค่ Mamma Mia (611.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เท่านั้น

นอกจากโปรดักชันสุดอลังการ เพลงไพเราะติดหู และนักแสดงแม่เหล็ก อีกหนึ่งจุดเด่นของหนังก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวละครหลัก ‘เอลฟาบา’ แม่มดร้ายฝั่งตะวันตก และ ‘กลินดา’ แม่มดดีฝั่งใต้

อันที่จริงไดนามิกซับซ้อนของทั้งคู่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวมาตั้งแต่สมัย Wicked ยังอยู่ในรูปแบบนิยายกับละครบรอดเวย์แล้ว พวกเธอเป็นทั้งศัตรู รูมเมต และเพื่อนซี้ เป็นผู้หญิง 2 คนที่เลือกทางเดินคนละทาง แต่ก็รักและเข้าใจกันที่สุด

ความรักอันลึกซึ้งนี้เองก่อให้เกิดข้อถกเถียง คนดูกลุ่มหนึ่งตีความว่า นี่เป็นรักแบบเพื่อนเท่านั้น แต่อีกกลุ่มก็แย้งว่า มวลโรแมนติกระหว่างเอลฟาบากับกลินดามีมากจนน่าสงสัย บางทีอาจไม่ใช่เพียงมิตรภาพธรรมดา

คนดูกลุ่มแรกหลายคนคงจะมองว่ากลุ่มหลังเพ้อเจ้อ แต่ทั้งนี้เราต้องพิจารณาด้วยว่า Wicked เป็นสปินออฟจาก The Wizard of Oz ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหนังไอคอนิกของชาว LGBTQIA+ แม้กระทั่งสแลง “เพื่อนของโดโรธี (friends of Dorothy)” ที่ใช้เรียกเกย์ในภาษาอังกฤษ ก็มาจากโดโรธี เกล ตัวเอกของ The Wizard of Oz 

พูดง่ายๆ คือ Wicked มีความเควียร์แฝงอยู่ตั้งแต่จุดกำเนิดของมันแล้ว

เกรกอรี แมกไกวร์ (Gregory Maguire) ผู้เขียนนิยาย Wicked เองก็เป็นเกย์คนหนึ่ง โดยเขาเผยว่า เขาอยากเขียนให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันเป็นกลุ่มที่มีอยู่จริงในดินแดนออซ

ยิ่งไปกว่านั้นแมกไกวร์ยืนยันว่า มวลโรแมนติกระหว่างเอลฟาบากับกลินดาไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือจินตนาการบรรเจิดของสาววาย แต่เขา ‘ตั้งใจ’ เขียนให้เป็นเช่นนั้น ในนิยายต้นฉบับ ก่อนเอลฟาบาจะแยกกับกลินดาไปตามทางของตัวเอง เธอโน้มใบหน้าลงไปจูบกลินดาถึง 2 ครั้ง

ถึงแม้ฉากนี้จะถูกตัดออกจากเวอร์ชันคนแสดง แต่ทั้งละครเวทีและหนังก็ยังพยายามแฝงนัยความเควียร์เอาไว้ในรูปแบบอื่น ยกตัวอย่างเช่น เพลง What is This Feeling? ซึ่งพูดถึงความรู้สึก ‘เกลียดชัง’ ที่สองสาวมีต่อกัน

เอลฟาบาและกลินดาในเพลง What is This Feeling?

What is this feeling, so sudden and new?

ความรู้สึกนี้คืออะไร กะทันหันและใหม่มาก

I felt the moment I laid eyes on you

ฉันรู้สึกตั้งแต่ตอนที่มองเห็นเธอ

My pulse is rushing, my head is reeling

หัวใจฉันเต้นเร็ว หัวฉันหมุน

Yeah, well, my face is flushing

ใช่แล้ว หน้าฉันแดงไปหมด

ทั้งใจเต้นแรง ทั้งหน้าแดง

บางทีอาจจะจริงที่ว่า รักกับเกลียดมีเพียงเส้นบางๆ กั้น หากท่อนฮุกไม่เฉลยว่าตัวละครกำลังพูดถึงความเกลียดชัง เพลงนี้ก็คงเนียนเป็นเพลงรักได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ไหนจะฉากในหนังที่เอลฟาบาเตรียมขึ้นรถไฟไปพบกับจอมพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่แห่งออซ จอมพ่อมดเชิญเอลฟาบาแค่คนเดียว แต่เมื่อรถไฟกำลังจะออก เอลฟาบาอ่านข้อความอวยพรจากกลินดาว่า “ขอให้ได้ดั่งใจปรารถนา” แล้วก็ตัดสินใจชั่ววูบ เรียกให้กลินดาขึ้นรถมาด้วย 

ราวกับหนังต้องการบอกผู้ชมอ้อมๆ ว่า ใจของเอลฟาบาปรารถนากลินดาอย่างไรอย่างนั้น

เอลฟาบาและกลินดาระหว่างเดินทางไปพบจอมพ่อมดที่เมืองมรกต

หรือฉากที่กลินดาได้รับหมวกมาจากยายของตน แต่เธอส่งต่อมันให้เอลฟาบา ไม่กล้าใส่เองเพราะเพื่อนๆ บอกว่าหมวกนั้นดูขี้เหร่ และกลินดาแคร์สายตาคนอื่นยิ่งกว่าอะไร

หากมองให้ลึกลงไปหน่อย หมวกในฉากนี้อาจเป็นสัญญะที่สื่อถึงความเควียร์ เอลฟาบากล้าใส่หมวกอย่างภาคภูมิ เพราะเธอกล้าที่จะแตกต่างจากมาตรฐานสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแง่สีผิว อุดมการณ์ หรือรสนิยมทางเพศ ส่วนกลินดายังไม่กล้าเท่า เหมือนอย่างที่ อารีอานา กรานเด (Ariana Grande) นักแสดงบทกลินดากล่าวว่า “กลินดาอยู่ในตู้เสื้อผ้านิดๆ” โดยสำนวน ‘อยู่ในตู้เสื้อผ้า (in a closet)’ หมายถึงคนรักเพศเดียวกันที่ไม่กล้าเปิดเผยรสนิยมของตัวเอง

เอลฟาบาและกลินดาในงานเลี้ยง โดยเอลฟาบาสวมหมวกที่กลินดาให้เป็นครั้งแรก

ในสัมภาษณ์ล่าสุดและน่าจะเป็นสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของแมกไกวร์เกี่ยวกับ Wicked เขายังทิ้งระเบิดใส่แฟนๆ ไว้อีกด้วยว่า “บางทีอาจเพราะนักเขียนไม่สามารถเขียนทุกฉากลงไปในนิยายได้ บางทีตอนที่ปิดไฟมืด แล้วนักเขียนหลบไปสูบบุหรี่ในซอยด้านหลัง เอลฟาบากับกลินดาอาจจะมีเซ็กซ์กันระหว่างทางไปเมืองมรกต” 

แน่นอน นี่ทำให้เหล่าชิปเปอร์เอลฟาบา-กลินดาบ้าคลั่งกันไปเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่กล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกระหว่างเอลฟาบากับกลินดา แมกไกวร์กำชับเสมอว่า มันเป็นเพียง ‘ความเป็นไปได้’ ที่เขาอยากชวนให้ลองขบคิดดู ไม่ใช่กฎเหล็ก แม้ตัวเขาเองจะเชื่อแบบหนึ่ง แต่ก็ให้อิสระแฟนๆ ในการตีความแบบอื่น

สุดท้ายไม่ว่าคุณจะมองเอลฟาบากับกลินดาเป็นเพื่อนหรือมากกว่านั้น หนึ่งในข้อคิดหลักของ Wicked ก็คือการโอบรับความแตกต่าง ไม่ด่วนตัดสินคนจากคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้วแก้ไม่ได้ นับเป็นประเด็นที่ชาว LGBTQIA+ ส่วนใหญ่รีเลต

และนอกจากนักเขียนนิยายต้นฉบับจะเป็นเกย์แล้ว แคสต์หลักอย่างซินเทีย เอริโว (Cynthia Erivo) ที่แสดงเป็นเอลฟาบา, โจนาทาน เบลีย์ (Jonathan Bailey) ที่เป็นฟิเยโร, มาริสซา โบดี (Marissa Bode) ที่เป็นเนสซาโรส ก็ล้วนอยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ เช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังเควียร์ทำ เควียร์ใช้ เควียร์​เจริญอย่างแท้จริง

อ้างอิง

https://www.billboard.com/lists/broadway-musical-films-biggest-box-office-wicked/mamma-mia/ 

https://www.huffpost.com/entry/friends-of-dorothy-how-ga_b_1067585 

https://screenrant.com/wicked-movie-elphaba-glinda-romance-cynthia-erivo-ariana-grande-response/ 

https://www.them.us/story/wicked-gregory-maguire-elphaba-glinda-lesbian-intersex

Tags: , , , , , ,