สตรีนิยมกดขี่เพศชาย

สตรีนิยมแบ่งแยกฝักฝ่ายให้ชายหญิงเป็นศัตรูกัน

สตรีนิยมนิยมแค่สตรี บุรุษเพศจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

1 ใน 3 ของผู้ชายจาก 30 ประเทศทั่วโลกเชื่อว่าการมาถึงของแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ก่อให้เกิดโทษมากกว่าคุณต่อมนุษยชาติ ข่าวดีคือ 2 ใน 3 ของผู้ชายที่เหลือไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่ข่าวร้ายคือหากผลสำรวจที่สถาบันความเป็นผู้นำสตรีโลกแห่งคิงส์คอลเลจลอนดอน (King’s College London) วิจัยร่วมกับอิปซอส (IPSOS) ในครั้งนี้ คือภาพสะท้อนที่ซื่อตรงต่อความเป็นจริง ก็น่าเศร้าที่ปริมาณ 1 ใน 3 ของประชากรชายทั้งหมดนั้น ถือเป็นปริมาณที่ไม่น้อยเลย

Toxic Masculinity หรือ ‘ภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษ’ เป็นแนวคิดหนึ่งที่สื่อถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเป็นชายเหมารวมแบบดั้งเดิม ซึ่งขัดกับหลักการความเท่าเทียมทางเพศ 

มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการสตรีนิยมจำนวนมาก ที่เชื่อว่าแนวคิดนี้คือเครื่องมือที่เฟมินิสต์คิดขึ้นมาเพื่อสร้างความเกลียดชังให้กับเพศชาย แต่ในความเป็นจริง เฟมินิสต์ไม่ใช่คนที่ริเริ่มใช้คำนี้ด้วยซ้ำ

ก่อนที่คำนี้จะถูกใช้อย่างกว้างขวางในงานเขียนสตรีนิยมและ Gender Study คำว่า Toxic Masculinity นั้นมีพื้นเพเดิมมาจากการเคลื่อนไหวของชายกลุ่มตำนานกวี (Mythopoetic Men’s Movement) ในช่วงยุค 80s และ 90s นักคิดและนักเขียนชายชาวอเมริกันเหล่านี้ รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมและจัดเวิร์กช็อป ภายใต้หลักคิดที่ว่าสังคมเมืองหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังกัดกิน Deep Masculinity หรือ ‘ความเป็นชายที่ลุ่มลึก’ อย่างที่เราเคยได้เห็นในตำนานและกวีโบราณ จนมันเริ่มหดหายไปจากสังคม

จะเหลือไว้ก็แค่เพียงภาพจำของความเป็นชาย ซึ่งกลายพันธุ์ไปเป็นภาพชายอำนาจนำจอมทำลายล้าง แล้วปรากฎการณ์นั้นก็ได้ไปกดทับความเป็นชายแบบอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป

แม้แก่นสารของการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น อาจยังห่างไกลจากจุดยืนสนับสนุนสิทธิสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งยังน่าสงสัยว่าอาจแฝงไปด้วยแนวคิดเหยียดเพศอยู่เป็นนัยๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือเสียงสะท้อนจากเพศชายด้วยกันเองที่เห็นถึงปัญหานี้

 

#NotAllMen

ภาพ: Reuters

หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ออกมากล่าวแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อแนวคิด Toxic Masculinity คือเมอรีล สตรีป (Meryl Streep) นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมแห่งยุค ผู้กวาดรางวัลมาไว้ในอ้อมแขนจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน

“เรากำลังทำร้ายเด็กผู้ชายด้วยการแปะป้ายเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าความเป็นชายที่เป็นพิษ ผู้หญิงแม่งก็ท็อกซิกได้เหมือนกันนั่นแหละ สิ่งที่ท็อกซิกคือผู้คนต่างหาก” สตรีปกล่าวในงานสัมมนาซีรีส์ Big Little Lies ของ HBO ที่เธอร่วมแสดง

อาจจริงอย่างที่สตรีปว่า มนุษย์ทุกเพศทุกวัยล้วนมีโอกาสที่จะรับเอาพฤติกรรมท็อกซิกมาใช้ได้หมด และนั่นก็รวมถึงผู้หญิงด้วย อย่างไรก็ดี คำพูดนี้ของเธอเป็นตัวอย่างที่ดีมากของความเข้าใจผิดที่ว่า Toxic Masculinity เป็นคำที่คิดขึ้นมาเพื่อแปะป้ายผู้ชายว่าเป็นเพศที่ท็อกซิก

ทั้งที่จริงๆ แล้วแนวคิดภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษในมุมมองแบบเฟมินิสต์ ไม่ใช่การกล่าวอ้างว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่ท็อกซิก ไม่ใช่การกล่าวโทษให้มนุษย์ผู้ชายเป็นเพศที่เกิดมาท็อกซิกโดยสารัตถะของพวกเขาเอง และไม่ใช่การเหมารวมความเป็นชาย (ซึ่งหลากหลายและไม่สามารถถูกครอบได้ด้วยนิยามเดียว) ว่าเป็นคุณลักษณะที่ท็อกซิกในตัวของมันเองเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ท็อกซิก คือความเป็นชายรูปแบบหนึ่งที่ถูกอวยยศให้เป็นความเป็นชายแม่แบบ โดยพ่วงมากับสังคมปิตาธิปไตยที่ไม่เอื้ออาทรต่อเพศอื่น รวมถึงชายใดก็ตามที่บังอาจต่อต้านมาตรฐานความเป็นชายที่คับแคบนี้ต่างหาก

 1. ชายแท้ต้องมีเหตุผล

‘ผู้ชายถนัดใช้เหตุผล ผู้หญิงถนัดใช้อารมณ์’

‘ผู้หญิงอ่อนไหวง่าย ผู้ชายไม่คิดอะไรมาก’

‘ลูกผู้ชายเขาไม่ร้องไห้กันหรอกนะ’

ภาพ: DC Comics

อ้างอิงจากข้อมูลทางสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า อาจเพราะผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนไหวและอ่อนแออยู่แล้ว ผู้หญิงส่วนมากจึงไม่กลัวที่จะต้องถูกมองว่าอ่อนแอ หากออกมาสื่อสารความทุกข์ใจของตนเองออกมา

ส่วนผู้ชายกลับถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กไม่ให้แสดงด้านที่อ่อนแอออกมา หรือพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองมากเกินไป จากผลการวิจัยของ Priory Group พบว่า 40% ของผู้ชาย ไม่เคยพูดคุยกับใครเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองเลย แม้ว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานเรื้อรัง จากอาการวิตกจริต ภาวะเครียด หรือแม้แต่โรคซึมเศร้าเพียงลำพังก็ตาม พวกเขาให้คำตอบถึงเหตุผลในแบบสอบถามว่า

‘ฉันได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมันแล้ว’ (40%)

‘ฉันไม่อยากเป็นภาระของใคร’ (36%)

‘ฉันรู้สึกอับอายที่จะต้องพูดเรื่องนี้’ (29%)

‘คนในวงสังคมของฉันตีตราให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องผิดปกติ’ (20%)

2. ชายแท้ต้องพึ่งพาได้

โลกที่ขับเคลื่อนด้วยปิตาธิปไตยใบนี้ ไม่ได้ใจร้ายแค่กับผู้หญิงที่ทะเยอทะยานออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งยังคงได้รับคำปรามาสให้กลับไปเข้าครัว อยู่บ้าน ดูแลลูกและสามีแค่เพียงเท่านั้น แต่ยังใจร้ายกับผู้ชายที่เต็มใจจะทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ที่บ้านแทนภรรยา ด้วยการมอบคำดูถูกว่าไม่เอาไหน ไร้ศักดิ์ศรี เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เกาะเมียกิน ฯลฯ

ผลสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามผู้ใหญ่เพศชาย 1,000 คนพบว่า ส่วนมากยกให้หน้าที่การงาน (32%) และปัญหาการเงิน (31%) เป็นปัญหาชีวิตที่กระทบกับสภาพจิตใจของพวกเขามากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางสังคมของเพศชายโดยตรง ผู้ชายมักมองว่าตัวเองล้มเหลว หากไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ และบางส่วนยอมรับว่ารู้สึก ‘เสียศักดิ์ศรี’ หรือแม้แต่ ‘เจ็บใจ’ หากตนเองมีรายได้ หรือหน้าที่การงานไม่มั่นคงเท่าภรรยา

3. ชายแท้ต้องเข้มแข็ง

เมื่อไรก็ตามที่มีข่าวหรือฉากในหนังละคร แสดงภาพผู้ชายถูกผู้หญิงทำร้าย เสียงตอบรับมักเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือขบขัน ล้อเลียน และดูถูกว่าเป็น ‘พ่อบ้านใจกล้า’ ทั้งที่หากกลับกันผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกผู้ชายทำร้ายบ้าง ผลลัพธ์คงต่างกันราวหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์การทหารที่ผ่านมา เพศที่ตกเป็นเป้าของการเกณฑ์กำลังพลไปสู้รบกับรัฐศัตรูมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้คือเพศชาย โดยปัจจุบันมีแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่อนุญาตให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถเข้ารับเกณฑ์ทหารได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้กฎระเบียบชุดเดียวกัน ได้แก่ สวีเดนและนอร์เวย์ ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ที่ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่นั้น ล้วนเกณฑ์เฉพาะประชากรชายเพียงอย่างเดียว

กลุ่มคนที่มีแนวคิดต่อต้านสตรีนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ มักยกตัวอย่างการเกณฑ์ทหารว่าเป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศรูปแบบหนึ่ง ที่เฟมินิสต์ละเลยไม่ยอมช่วยเรียกร้องหรือแม้แต่กล่าวถึง

อันที่จริงแล้ว เฟมินิสต์เริ่มวิพากษ์วิจารณ์การบังคับเกณฑ์ทหารมาตั้งแต่ยุค 80s ว่าเป็นวิถีปฏิบัติที่เหยียดเพศ ทั้งยังเป็นเครื่องมือของรัฐในการขีดเส้นบทบาททางสังคมของสองเพศให้แยกขาดจากกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรียงความ ‘ทำอย่างไรให้การจับใบดำใบแดงเป็นปัญหาของผู้หญิงด้วย’ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Women เมื่อปี 1981 มาจนถึงบทความ ‘เปลี่ยนจากให้ผู้หญิงจับใบดำใบแดง เป็นต่อต้านการก่อสงครามไปเลยดีกว่าไหม’ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ CODEPINK เมื่อปี 2016

4. ชายแท้ต้องมีความต้องการทางเพศ

สังคมปัจจุบันยังคงแสดงปฏิกิริยาต่อการล่วงละเมิดทางเพศ ระหว่างกรณีที่มีเหยื่อเป็นหญิงและชายอย่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่เราคอมเมนต์อย่างตื่นกลัวและโกรธเกรี้ยว เมื่อได้อ่านข่าวไรเดอร์ชายพูดจาแทะโลมลูกค้าหญิงที่ไม่ใส่ชุดชั้นในลงมารับอาหาร

แต่เรากลับกดสติกเกอร์หัวเราะชอบใจและคอมเมนต์ล้อเลียน ลดทอนความรุนแรงให้เป็นเพียง ‘การแซวเล่น’ และ ‘ประสบการณ์ชีวิต’ เมื่อไรเดอร์ชายได้รับกระดาษโน้ตคุกคามทางเพศแนบมากับเงินค่าอาหาร เพราะผู้ชายยังคงถูกกะเกณฑ์ด้วยภาพจำแบบเดิมๆ ว่าจะต้องรู้สึกยินดี หรือแม้แต่กระหายที่จะมีเพศสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา

สำหรับคนส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเพศใด การยินยอมมีเซ็กซ์กับใครสักคนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายเท่านั้น แต่รวมไปถึงการผูกสัมพันธ์ทางจิตใจและอารมณ์ ทว่าค่านิยมดั้งเดิมกลับตีกรอบให้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่สมควรมีทัศนคติและชีวิตเซ็กซ์ที่รัดกุมเช่นนั้น

ในขณะที่ผู้ชายกลับถูกคาดหวังให้รู้จักสำรวจทดลอง ออกไปเจอโลกกว้าง และมองประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์เป็นเหมือนเหรียญเกียรติยศที่ควรภาคภูมิใจ ผู้ชายคนไหนก็ตามที่ไม่สนใจ หรือไม่ชอบเมื่อถูกหยิบยื่นโอกาสมีเพศสัมพันธ์ให้ จึงมักถูกสบประมาทว่า ‘ติ๋ม’ ‘เนิร์ด’ หรือ ‘กาก’

5. ชายแท้ต้อง ‘แมน’

หนึ่งในรากฐานสำคัญของความเป็นชายที่เป็นพิษ คือความเกลียดกลัวว่าตนเองจะถูกนำไปข้องแวะกับความเป็นหญิง เมื่อผู้ชายคนหนึ่งมีลักษณะใดก็ตามที่ถูกตีกรอบให้เป็นลักษณะตามขนบของผู้หญิง เช่น รูปร่างอ้อนแอ้น หน้าตาสำอางจิ้มลิ้ม สวมใส่เสื้อผ้าสีหวาน แต่งหน้าทาเล็บ มีบุคลิกเรียบร้อย หรือมีภาษากายหรือวิธีการพูดจาที่ดู ‘ตุ้งติ้ง’ ผู้ชายคนนี้จะถูกผลักไสออกจากใจกลางของความเป็นชายที่แสนศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการแปะป้ายว่าเป็นตุ๊ด เกย์ เก้งกวาง ชายไม่แท้ ฯลฯ แม้เจ้าตัวอาจจะชอบผู้หญิง และไม่สนใจเพศชายด้วยกันเลยก็ตาม

ผู้ชายส่วนหนึ่งจึงต้องทนอดกลั้น ไม่แสดงตัวตน หรือความชอบตัวเองออกมาตามใจ ด้วยความหวาดระแวงว่าอาจถูกเหมารวมเพศสภาพโดยที่ตนไม่ยินยอม

เมื่อลองพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เพศชายต้องเผชิญทั้งหมดนี้ น่าแปลกที่คนส่วนหนึ่งกลับผลักไสขบวนการเฟมินิสต์ที่ถกเถียงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังให้เป็นศัตรู แต่กลับไป Normalize ระบอบปิตาธิปไตยให้เป็นสัจธรรมของโลก ทั้งที่ตนเองก็กำลังถูกกดทับอยู่ด้วยเช่นกัน

 

ที่มา

Mahdawi, A. Seriously, Meryl Streep? Toxic masculinity’ doesn’t hurt men – it kills them. https://www.theguardian.com/world/2019/jun/01/seriously-meryl-streep-toxic-masculinity-doesnt-hurt-men-it-kills-them

Priory Group. Why Are Suicides So High Amongst Men? https://www.priorygroup.com/blog/why-are-suicides-so-high-amongst-men

Singh, P. 11 Ways How Toxic Masculinity Hurts Men. https://feminisminindia.com/2016/10/06/toxic-masculinity-hurts-men/

Tags: , , , , , ,