หลายคนคงรู้จักคำว่า ‘Body Shaming’ หรือการวิจารณ์ ประณาม ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาคนอื่น อันเป็นผลพวงจากมาตรฐานความสวย (Beauty Standard) ที่ในบางสังคมจะต้องผอม ขาว จมูกโด่ง มีใบหน้ารูปไข่ ฯลฯ
คนที่ไม่ตรงกับกรอบความงามที่ว่า มักได้รับการวิจารณ์พร้อมคำทักทายเชิงตำหนิรูปร่างหน้าตา หรือล้อเลียนอัตลักษณ์ เช่น อ้วน ดำ ไม้กระดาน ฯลฯ และมักปิดท้ายคำพูดล้อเลียนว่า “แค่พูดเล่นขำๆ ไม่เห็นต้องซีเรียสเลย”
‘Skinny Shaming’ การถูกวิจารณ์รูปร่างด้วยคำว่า ‘ผอมเกินไป’ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักในสังคมไทย ด้วยมาตรฐานความสวยที่ส่งต่อความคิดว่าผอมเท่ากับสวยในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าพื้นที่สื่อหรือพื้นที่สาธารณะ ที่เอื้อประโยชน์ให้คนผอมมากกว่า จนทำให้คำกล่าวว่า ‘ผอมเกินไป’ ถูกลดทอนหรือถูกตัดออกด้วยเหตุผลที่ว่า “จะคิดมากทำไม มันน่าอับอายตรงไหน ผอมก็ดีกว่าอ้วนหรือเปล่า?”
ซึ่งจริงๆ แล้วการพูดทำนองนี้ถือเป็นการ Body Shaming ทั้งคนผอมและอ้วนในเวลาเดียวกัน
เพราะการทักทายหรือประโยคที่ว่า “กินข้าวบ้างนะ” “ขาตะเกียบ” “รู้จักไหมหมูกระทะ” “ป่วยหรือเปล่า” “ผอมจนเห็นกระดูก ติดยาเหรอ” หรือ “ผอมไม่ได้แปลว่าสวย” สิ่งเหล่านี้คือการ Body Shaming ผู้อื่นอยู่ดี
คำกล่าวข้างต้นอาจทำให้คนที่ถูกพูดถึงรู้สึกกังวล เสียความมั่นใจในตัวเอง หรือคุณอาจเป็นบุคคลที่ทำให้ทั้งวันของเขาเป็นวันที่แย่ก็ได้
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซีซี่ มิลส์ (Zeze Millz) ผู้จัดรายการโทรทัศน์และพิธีกรชาวอังกฤษ ได้บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวจากการถูก Skinny Shaming ที่เธอหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นกับใครอีกผ่าน TikTok ว่ามีคนกล่าวถึงน้ำหนักของเธออย่างน้อยวันละครั้ง และหลายครั้งมีคนกล่าวว่าเธอติดยาหรือป่วย
“ทำไมผู้คนถึงคิดว่าการบอกให้คนผอมไปกินข้าว หรือหากเธอเพิ่มน้ำหนักแล้วจะดูดีจะสวยขึ้น เป็นสิ่งที่โอเค และไม่มีปัญหา
“ฉันผอม ฉันตัวเล็ก นี่คือรูปร่างธรรมชาติของฉัน ในอนาคตไม่รู้ว่าฉันจะมีรูปร่างแบบไหน อาจจะผอมมากกว่านี้อีก แต่ฉันเป็นคนผอมและตัวเล็กมาตลอด
“ทำไมถึงต้องทักว่า ‘คุณป่วยเหรอ’ ‘คุณติดยาเหรอ?’ ผู้หญิงทุกคนไม่ได้เกิดมามีรูปร่างเหมือนกัน ฉันโอเคที่เกิดมาเป็นคนผอม มีผู้หญิงบนโลกนี้อีกมากมายที่เกิดมาผอม พวกเราโอเค พวกเราไม่มีอะไรผิดปกติ และนี่คือรูปร่างของเรา”
ไอเญส แบร์โรโซ (Ines Barroso) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อธิบายว่ามนุษย์มีสรีระที่แตกต่างกัน บางคนไม่ต้องออกกำลังกายก็สามารถเผาผลาญแคลอรี่ในร่างกายได้โดยธรรมชาติ หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราทุกคนเกิดมาจากร้อยพ่อพันแม่ การมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันเป็นสิ่งปกติ
แต่สิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งคือการไปทัก ล้อเลียน รูปร่างหน้าตาคนอื่นไม่ว่าจะ อ้วน ผอม ขาว ดำ หรือแบบไหนก็ตาม
ที่มา
https://journals.plos.org/plosgenetics/article…
https://timesofindia.indiatimes.com/…/80927017.cms…
Tags: ความผอม, Skinny Shaming, Gender, body shaming, บูลลี่