ผู้ชายมีความสามารถในการดูเส้นทาง ส่วนผู้หญิงมักจะขับรถไม่เก่ง
ผู้ชายเป็นเพศที่มีตรรกะและเหตุผล ขณะที่ผู้หญิงจะใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่า
ผู้ชายร่างกายแข็งแรงกว่า จึงต้องมีหน้าที่ในการปกป้องผู้หญิง
ฯลฯ
ผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินกับคำพูดเหมารวมจากการมีเพศกำเนิดชายหญิง จนละเลยที่จะตั้งคำถาม เพียงเพราะเชื่อว่าเพศสรีระ (Biological Sex) สามารถกำหนดพฤติกรรมและบทบาทของทุกคนได้อย่างตายตัว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้เราทุกคน
“เราไม่ได้เกิดมาเป็นหญิง หากแต่ถูกทำให้กลายเป็นหญิง” ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักคิดชาวฝรั่งเศส ได้เขียนประโยคดังกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง The Second Sex ตั้งแต่ปี 1949 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องการยึดติดกับเพศกำเนิดนั้นได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานาน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคงพบเห็นความคิดแบบนี้ได้ทั่วไปในปัจจุบัน
ในปี 2017 บริษัท Google ได้ปลดวิศวกรชายคนหนึ่งออก หลังพบว่าพนักงานคนนี้ต่อต้านนโยบายความเท่าเทียมทางเพศของบริษัท โดยการส่งบันทึกที่มีเนื้อหาว่าผู้หญิงไม่สามารถทำงานในบริษัทไอทีชั้นนำอย่าง Google ได้ และไม่สามารถเขียนโค้ดได้ดี เพราะพวกเธอมีโครโมโซมเพศหญิง
ผู้หญิงเขียนโค้ดไม่เก่ง ทำงานไอทีได้ไม่ดี แถมยังเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผล ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะว่าร่างกายของพวกเธอถูกออกแบบมาเช่นนั้น จะเห็นว่าภายใต้มายาคติของการกำหนดบทบาทชายหญิงตามเพศสรีระ ส่วนใหญ่แล้วมักแฝงไปด้วยแนวคิดอคติทางเพศ (Sexism) ต่อผู้หญิงทั้งสิ้น
ทำไมจึงกล่าวว่ามันเป็นอคติทางเพศต่อผู้หญิงมากกว่า? ประเด็นสำคัญอาจเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า จริงหรือที่ว่าความแตกต่างทางกายภาพส่งผลต่อความสามารถในการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างคนทั้งสองเพศ
หนึ่งในมายาคติเก่าแก่ที่ถูกใช้ในการสร้างอคติจากเพศสรีระ คือคำกล่าวอ้างที่ว่าผู้ชายมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าผู้หญิง ดังนั้นผู้ชายจึงมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดกว่า แม้จะมีการโต้แย้งกันหลายครั้งหลายคราว่า หากขนาดสมองเป็นตัวบ่งชี้ความฉลาดจริงๆ วาฬหรือช้างก็คงจะฉลาดกว่ามนุษย์ด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังคงมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าผู้ชายฉลาดกว่าผู้หญิงด้วยเหตุนี้
หรือเรื่องของการใช้เหตุผลและอารมณ์ ที่เชื่อกันว่าสำหรับผู้ชาย สมองซีกขวาซึ่งเป็นส่วนตรรกะสามารถทำงานได้ดีกว่าสมองซีกซ้ายซึ่งเป็นส่วนอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่สมองซีกซ้ายของผู้หญิงจะทำงานได้ดีกว่าซีกขวา จึงสรุปว่าผู้ชายมีตรรกะและเหตุผล ส่วนผู้หญิงเป็นเพศที่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล ทั้งที่ในความเป็นจริงก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ทำให้สามารถสรุปออกมาเช่นนั้นได้
และสิ่งที่น่าจะเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในปัจจุบัน คือเรื่องของอวัยวะเพศ ฮอร์โมน และโครโมโซม ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะมีหลายคนที่ต่อต้านสิทธิของคนข้ามเพศจากความเชื่อว่าเพศถูกกำหนดโดยเพศทางชีววิทยา
ปัญหาของการยึดตามระบบเพศสรีระแบบสองขั้วจากอวัยวะเพศ ฮอร์โมน และโครโมโซม มักปรากฏชัดเมื่อมีการแข่งขันกีฬา อย่างกรณีของ แคสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักวิ่งสาวชาวแอฟริกาใต้ ที่มีเพศสรีระเป็นหญิง แต่มีโครโมโซมเป็น XY และมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในระดับสูง ที่ถูกตัดสิทธิ์การแข่งขันเพราะถือว่าเธอมีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป
โดยทั่วไปแล้ว เพศหญิงจะมีโครโมโซม XX และอวัยวะเพศหญิง ส่วนเพศชายจะมีโครโมโซม XY และอวัยวะเพศชาย แต่สุดท้าย การแบ่งเพศสรีระตามเกณฑ์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะยังมีผู้ที่มีโครโมโซม XY แต่มีร่างกายเป็นหญิงแบบเซเมนยา หรือบุคคลที่มีอวัยวะเพศที่ไม่ชัดเจนและไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพศใด การใช้เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเกณฑ์จึงไม่ครอบคลุม อีกทั้งยังนำไปสู่การเกิดอคติทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่ม Transgender รวมถึงผู้มีเพศสรีระคลุมเครือในกรณีนี้
นอกจากกรณีของอดีตวิศวกรชายจาก Google ที่เชื่อว่าผู้หญิงไม่สามารถทำงานในบริษัทไอทีชั้นนำได้ เพราะเรื่องของโครโมโซมเพศที่ถือว่าเป็นการเหยียดเพศที่มองว่าเพศหญิงอ่อนแอกว่าอย่างเห็นได้ชัดแล้ว การยึดติดเพศสรีระที่แฝงมาด้วยอคติทางเพศยังอาจปรากฏในรูปแบบของ ‘Benevolent Sexism’ หรือการเหยียดเพศแบบเคลือบน้ำตาลอีกด้วย
Benevolent Sexism คือการที่ผู้ชายทำตัวเป็นสุภาพบุรุษ ให้เกียรติด้วยเพราะอีกฝ่ายเป็นผู้หญิง เพราะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ในการปกป้องผู้หญิง ซึ่งดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่แท้จริงคือการมองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าตน จึงต้องมีผู้ชายมาคอยปกป้อง และถือว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากอคติทางเพศโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งแน่นอนว่าอคติทางเพศจากเพศสรีระนั้นไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้หญิงหรือเพศหลากหลาย แต่ยังทำร้ายผู้ชายด้วย ทั้งเรื่องทางกาย เช่น ส่วนสูง ความแข็งแรง ที่ผู้ชายถูกคาดหวังว่าต้องมีรูปร่างที่มีความเป็นชาย หรือการถูกคาดหวังให้ต้องเข้มแข็ง ไม่ร้องไห้ เพียงเพราะว่าเป็นผู้ชาย สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นมาจากการอิงเพศสรีระในระบบเพศสองขั้วที่กำหนดให้ชายหญิงมีบทบาทที่แตกต่างกัน
พื้นฐานของการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่การให้เกียรติเพศใดเพศหนึ่งด้วยความคิดที่ว่าเขามีอำนาจน้อยกว่าเรา แต่อยู่ที่การให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์ และเพราะเพศเป็นเรื่องทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การยึดติดว่าเพศสรีระจะกำหนดทุกอย่างแม้แต่พฤติกรรมในการขับรถจึงไม่ควรมีอีกต่อไปแล้ว
ที่มา:
– https://www.bbc.com/future/article/20190930-the-sexist-myths-about-gender-stereotypes-that-wont-die
– https://www.thecollector.com/simone-de-beauvoir-the-second-sex-summary-key-ideas/
– https://www.forbes.com/sites/kimelsesser/2020/06/15/the-myth-of-biological-sex/?sh=1a4aad8976b9
– https://www.voicetv.co.th/read/evBoBVYVa
Tags: Gender, มายาคติ, ปิตาธิปไตย, Biological Sex, เพศสรีระ, Sexist Myths