เมื่อเดือนมีนาคม 2022 มารีอูปอล (Mariupol) เป็นหนึ่งในเมืองท่าของยูเครนที่ได้รับความเสียหายหนักจากการรุกรานของกองกำลังรัสเซีย โดย ลิบ สตริซโก (Hlib Stryzhko) เป็นหนึ่งในทหารเรือที่ประจำการอยู่ที่นั่น
แรงระเบิดนำพาร่างของลิบกระเด็นตกจากตึกชั้น 3 ลงสู่พื้นเบื้องล่างในพริบตา ทำให้กระดูกเชิงกราน กราม และจมูกของเขาแตก ส่วนสมองก็ได้รับการกระทบกระเทือนค่อนข้างรุนแรง ซ้ำร้ายในระหว่างที่เขาถูกกองทัพรัสเซียจับกุมในฐานะนักโทษสงคราม อาการบาดเจ็บของเขาไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเหมาะสมเท่าไรนัก
หากให้ลองเดาจากเรื่องราวเพียงเท่านี้ หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจเมื่อได้เห็นว่าตอนนี้ ทหารผ่านศึกวัย 26 ปีผู้นี้ ไม่ได้ใช้ชีวิตจมอยู่กับความทุกข์และความเครียดระหว่างรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ แต่กลับมา ‘ต่อติด’ กับชีวิตรักและชีวิตเซ็กซ์ของตนได้โดยไม่เสียกำลังใจ
“หลังจากถูกปล่อยตัวกลับมาจากการจับกุมและออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผมก็คบหากับแฟนคนหนึ่ง จากนั้นก็มีแฟนอีกคนช่วงที่ทำแบบสอบถามให้โปรเจกต์นี้พอดี และตอนนี้เองผมก็มีแฟน”
ขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ลิบหยิบมือถือขึ้นมาเปิดวิดีโอโปรโมตโครงการ ReSex ที่ตัวเองเพิ่งมีโอกาสไปร่วมแสดงด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ
“แฟนทุกคนที่ผมคบหา (หลังกลับจากสงคราม) ล้วนมีส่วนช่วยให้ผมสามารถเรียกความมั่นใจในตัวเองกลับคืนมาได้ เพราะอย่างนั้น ผมถึงรู้สึกขอบคุณพวกเขามาก”
‘ReSex Project’
อิโวนา คอสตีนา (Ivona Kostyna) หนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ทหารผ่านศึกของยูเครนที่ดูแล ReSex กล่าวถึงไอเดียตั้งต้นของโครงการนี้ว่า ไม่ได้มีที่มาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตอนที่ทีมงานมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ
ศูนย์ทหารผ่านศึกเพิ่งได้รับทุนสำหรับโครงการอย่างจริงจัง หลังรัสเซียเริ่มเข้ารุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ และจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็เริ่มออกไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทหารกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการนี้จะมีประโยชน์กับเหล่าทหารผ่านศึกและคนใกล้ชิดได้จริง
นอกจากจะเผยแพร่แคมเปญในโซเชียลมีเดีย ทั้งรูปแบบภาพกราฟิกและชุดวิดีโอแบบที่ลิบร่วมแสดงแล้ว พวกเขายังตั้งเบอร์โทรสายด่วนสำหรับให้คำปรึกษาด้านเพศศึกษาขึ้นมา ตลอดจนเผยแพร่จุลสารเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของผู้พิการและผู้มีอาการบาดเจ็บจำนวน 6,000 เล่ม ส่งตรงไปยังที่อยู่ของทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมถึงสถานพยาบาลต่างๆ สำหรับแจกฟรีให้ผู้ป่วยและญาติ
สื่อต่างๆ เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นโดยคำนึงถึงความหลากหลายในด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เผลอลืมใครเอาไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นคู่มือสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะแยกออกมาต่างหาก หรือหมวดพิเศษสำหรับทหารผ่านศึกอายุน้อยที่อาจไม่เคยมีเซ็กซ์มาก่อน
“นั่นหมายความว่า เพศสัมพันธ์หลังจากการบาดเจ็บ อาจเป็นเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของพวกเขาก็ได้ และมันจะเป็นเซ็กซ์ในรูปแบบที่แตกต่างจากภาพจำเดิมๆ ที่พวกเขามี” อิโวนากล่าว
เมื่อผู้พิการและผู้ป่วยพักฟื้นต้องถูกกดทับไม่ให้คาดหวัง ‘ชีวิตเซ็กซ์’
“พิการแล้วทำไมยังหมกมุ่นเรื่องใต้สะดือ”
“โฟกัสเรื่องรักษาตัวก่อนดีกว่าไหม”
“ตรงนั้นยังมีความรู้สึกอยู่อีกหรือ”
แม้แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทหารผ่านศึกที่ทำงานในโปรเจกต์ ReSex ก็ยังเคยต้องเผชิญหน้ากับอคติทำนองเดียวกัน เช่น
“ผู้คนกำลังล้มตาย คุณยังมัวมาคิดเรื่องเซ็กซ์อยู่อีก!”
ทั้งผู้พิการและผู้ป่วยพักฟื้นระยะยาวต่างเข้าใจดีว่า บุคลากรในระบบสาธารณสุข คนในสังคม หรือแม้แต่คนใกล้ชิดของพวกเขาเอง ต่างรู้สึกถึง ‘ความรับผิดชอบ’ อะไรบางอย่างเหนือร่างกายของพวกเขา ทำให้มีคนคอยเข้ามาจัดแจงดูแล สั่งสอน และตัดสินใจแทนอยู่เสมอว่า พวกเขาควรจะใช้ชีวิตอย่างไร สามารถมีเซ็กซ์ได้ไหม สามารถมีลูกได้ไหม ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอะไรบ้างที่ ‘จำเป็น’ ต่อร่างกายและจิตใจ
นอกจากนี้ เนื้อหาด้านเพศศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย ยังเป็นเนื้อหาที่แทบไม่มีปรากฏอยู่ในการเรียนการสอนทั้งในและนอกระบบ หรือสื่อกระแสหลักเลย ทำให้ความต้องการทางเพศของคนกลุ่มนี้ถูกละเลยไป ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เปราะบางต่อการถูกกดดัน เอารัดเอาเปรียบในด้านเพศ หรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจากความเหงา
ผู้มีข้อจำกัดด้านร่างกายส่วนมาก มักอาศัยการได้รับถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจจากครอบครัวและคนใกล้ชิด ซึ่งมีประสบการณ์ด้านเพศที่ต่างออกไปด้วยปัจจัยด้านร่างกาย ทำให้ความเข้าใจที่ถูกถ่ายทอดมาอาจไม่สมบูรณ์ หรือเป็นความเข้าใจผิดที่ขัดกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เช่น
– ข้อจำกัดด้านร่างกายส่งผลให้ผู้พิการขาดสมรรถภาพในการมีเพศสัมพันธ์ ไม่รู้สึกถึงความต้องการทางเพศ หรือในบางกรณี ผู้พิการก็ถูกมองว่าไม่สามารถควบคุมความต้องการที่ล้นเกินจากการเก็บกดทางเพศได้
– ผู้พิการและผู้ป่วยพักฟื้นต้องการการเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งที่ในความเป็นจริง เวลาส่วนตัวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สำรวจความต้องการทางเพศของตนเอง
– ครอบครัวหรือผู้ดูแลปฏิบัติตัวเหมือนผู้พิการหรือผู้ป่วย เป็นเด็กที่ดูแลตัวเองไม่ได้อยู่เสมอ และมักถือสิทธิขาดในการตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตของผู้พิการ ซึ่งอาจรวมไปถึงการเลือกคบเพื่อน การคบหาดูใจกับใครสักคน ไปจนถึงการแต่งงาน มีครอบครัว หรือมีลูก
สิทธิเหนือร่างกายเนื้อตัวและสิทธิในการที่จะตอบสนองความต้องการทางเพศของตนเอง ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ แต่เมื่อปราศจากข้อมูลด้านเพศศึกษาที่โอบรับความหลากหลายทางกายภาพ ผู้พิการจำนวนมากจึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตัวเองได้ เพราะขาดองค์ความรู้ในการควบคุมหรือปลดปล่อยความต้องการผ่านเรือนร่างที่แตกต่างออกไป
นอกเหนือจากความรู้ด้านเพศศึกษาจะสัมพันธ์กับความเคารพในเกียรติศักดิ์ศรีและร่างกายเนื้อตัวของตนเองแล้ว มันยังสอนให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเคารพขอบเขตและการตัดสินใจของคู่นอนอีกด้วย
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-europe-66443573
https://thisable.me/content/2022/02/798
https://www.usatoday.com/story/life/health-wellness/2023/08/16/disabled-sex-education/70500471007/
https://resex.veteranhub.com.ua/
https://nationalpost.com/feature/back-to-the-ussr-kyiv
Tags: ReSex, Ukraine War, Body Image, Gender, ผู้ป่วยพักฟื้น, เพศศึกษา, สิทธิเนื้อตัวร่างกาย, เพศสัมพันธ์, ผู้พิการ, ทหารผ่านศึก, Sex Education, สงครามรัสเซีย-ยูเครน