ชื่นชมหญิงข้ามเพศด้วยคำว่า “สวยจนอยากยกมดลูกให้”
มีเพื่อนเป็นไบเซ็กชวลแล้วหวั่นใจ กลัวเพื่อนจะคิดไม่ซื่อกับเรา
ภรรยารู้สึกเหมือนโดนหักหลัง เพราะสามีเพิ่งรู้ตัวว่าเป็นเกย์
ฯลฯ
การกระทำเหล่านี้ถือว่าเป็นการเหยียดเพศหรือไม่?
‘Queerphobia’ หรืออาการเกลียดกลัวเพศหลากหลาย หมายถึงความกลัวหรืออคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยครอบคลุมบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หญิงรักหญิง แพนเซ็กชวล หรือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางเพศแบบชายหญิง
พอใช้คำว่า ‘เหยียดเพศ’ ซึ่งเป็นคำในเชิงลบ เรามักจะคุ้นเคยกับ Queerphobia ในรูปแบบของความรุนแรงทางกายภาพหรือวาจา เช่น การทำร้ายร่างกาย การใช้คำพูดเหยียดเพศ หรือขบวนการต่อต้านเฟมินิสต์และความหลากหลายทางเพศที่เห็นว่ารักเพศเดียวกันเป็นบาป ทั้งหมดล้วนเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงอคติต่อเพศหลากหลายอย่างชัดเจน
แต่นอกจากการเกลียดกลัวเพศหลากหลายที่เห็นได้ชัดเหล่านั้นแล้ว อาการเกลียดกลัวเพศหลากหลายยังสามารถเกิดขึ้นในระดับที่ลึกและแนบเนียน จนแม้แต่ผู้กระทำเองอาจไม่รู้ตัวว่าตนก็มีความคิดเหยียดเพศ และผู้ถูกกระทำก็มักจะถูกหาว่าคิดมากไปเอง
พฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่าย Queerphobia?
“คู่นี้น่ารักจัง ใครเป็นรับ ใครเป็นรุกเหรอ”
“Asexual คืออะไร ไม่เคยมีเซ็กซ์แล้วรู้ได้อย่างไรว่า ตัวเองเป็นแบบนั้นจริงๆ”
“พวกกะเทยเก่ง นิสัยดี ตลกกว่าเพศอื่นด้วย เราก็มีเพื่อนเป็นเพศที่สามแบบเธอเลย”
อาจเพราะสังคมเรายังเป็นไปตามบรรทัดฐานรักต่างเพศแบบชายหญิง (Heteronormative) ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนล้วนเกิดมาเป็นผู้หญิงผู้ชาย หลายคนจึงมองทุกสิ่งบนโลกโดยยึดระบบเพศสองขั้วจนทำให้ปฏิเสธตัวตนของเพศหลากหลายและเลือกปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว
ความคิดว่าเกย์ต้องมีรับมีรุกและแบ่งออกเป็นฝ่ายสามี-ภรรยาเสมอ การไม่เชื่อว่าตัวตนของเพศหลากหลายที่ตัวเองไม่คุ้นเคยมีอยู่จริง หรือการมองว่าเพศหลากหลายมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัว สิ่งเหล่านี้รวมถึงการกระทำที่ดูเป็นปกติอื่นๆ ล้วนเกิดขึ้นจากอาการเกลียดกลัวเพศหลากหลายที่แฝงอยู่
พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเป็น ‘Microaggression’ หรือการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงอคติต่อกลุ่มคนที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ ภาษา ฐานะ หรือการเหยียดหยามอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การชื่นชมว่าชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียพูดภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งที่รู้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตในอเมริกาอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากการสันนิษฐานว่าอีกฝ่ายเป็นเอเชียนและต้องพูดภาษาอังกฤษไม่เก่งนั่นเอง
“การกระทำแบบ Microaggression มักจะเกิดขึ้นจากความไม่รู้ และแม้ผู้พูดจะมีเจตนาที่ดี มันก็ยังอันตรายอยู่ดี” แอรอน มาลาร์ก (Aaron Malark) นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการแพทย์กล่าว
เรามีภาพจำต่อการเหยียดเพศและอาการเกลียดกลัวเพศหลากหลายในระดับที่รุนแรงกว่านั้น หลายครั้งคนที่กระทำ Microaggression จึงปฏิเสธอย่างหนักแน่นเมื่อมีใครมากล่าวหาว่าเหยียดเพศ เพราะพวกเขาไม่เชื่อจริงๆ ว่าตนเป็นเช่นนั้น และไม่ทันคิดว่าการกระทำที่ดูเล็กน้อยของตัวเองจะทำร้ายคนอื่นได้อย่างไร
Microaggression เกิดขึ้นบ่อยครั้งในมิติทางเพศ ทั้งในระดับทางการ เช่น การบังคับใช้คำนำหน้าชื่อที่ไม่ตรงกับเพศวิถี หรือที่เจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การให้สาวทรานส์เข้าห้องน้ำชาย แม้ว่าการแบ่งเกณฑ์เช่นนี้จะมีเหตุผลมากมายมารองรับ แต่สุดท้ายแล้ว เหตุผลทั้งหมดก็เป็นไปด้วยแนวคิดแบบ Queerphobia ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เห็นกันชัดๆ ว่าเหยียดเพศ ไปจนถึงอาการเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศอื่นๆ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ได้รับการตระหนักรู้อย่างที่ควรจะเป็น และผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงได้รับผลกระทบจากความไม่รู้เหล่านั้น
แม้ว่าผู้กระทำจะไม่ตั้งใจ แต่ความไม่รู้ก็อาจเป็นสิ่งที่ทำร้ายผู้อื่นได้ แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่รู้ไปทุกเรื่อง แต่แทนที่จะร้อนรนเมื่อรู้สึกว่าตนโดนแปะป้ายว่าเป็นพวกเหยียดเพศ เราอาจต้องหมั่นทบทวนตัวเอง ยอมรับความคิด และตระหนักถึงอคติที่ตัวเองมีและมันอาจทำร้ายคนอื่นอยู่
ที่มา
https://diversio.com/what-is-queerphobia-and-how-can-we-be-anti-queerphobic/
https://healthmatters.nyp.org/how-microaggressions-affect-the-lgbtq-community/
Tags: Gender, เกย์, LGBTQ, เควียร์, ความหลากหลายทางเพศ, ไบเซ็กชวล, Queerphobia, Microaggression