หลายครั้งตัวละครที่ไม่ใช่คู่ชายหญิงในซีรีส์ที่เราได้ดูนั้น เหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน จากท่าทีและเรื่องราวอันคลุมเครือที่ทำให้จินตนาการไปไกล แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครมาเฉลยว่าพวกเขารักกัน หรืออยู่ในชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงหรือไม่

แต่ไม่ว่าเป็นเพราะคนดูคิดไปเอง หรือเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตสื่อ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และแน่นอนว่าไม่ใช่ความบังเอิญ ­

‘Queerbaiting’ มาจากคำว่า Queer ใน LGBTQ+ และ bait จากคำว่า Clickbait เป็นเทคนิคเชิงการตลาดที่ถูกใช้เล่าเรื่องผ่านสื่อ ละคร ภาพยนตร์ เพลง ไปจนถึงนิยาย ในการสร้างความเป็นไปได้ให้เข้าใจว่า ตัวละครนี้ ‘อาจจะ’ เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความไม่ชัดเจนว่าตัวละครมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร ทำให้สามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้จากทุกฝ่าย และดึงความสนใจจากทั้งผู้ชมทั่วไป โดยเฉพาะ LGBTQ+ ไปจนถึง คนที่เก­­­­­­ลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobe) ให้มาเสพ

“มันคือการดึงกลุ่มเป้าหมายไว้หลายๆ กลุ่ม เพราะนอกจากจะไม่กระทบคนดูที่เป็นอนุรักษนิยมแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณบอกกับผู้ชมกลุ่ม LGBTQ+ ได้อีกด้วยว่าสื่อยังต้องการพวกเขา” จูเลีย ฮิมเบิร์ก (Julia Himberg) ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์และสื่อ จากมหาวิทยาลัย Arizona State กล่าว

เทคนิค Queerbaiting อาจใช้ตั้งแต่เริ่มต้นผลิตสื่อ หรือนำมาใช้อธิบายตามหลังได้ นอกจากประโยชน์ในแง่กำไร มันยังช่วยสร้างภาพลักษณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่สนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย ให้สื่อนั้นดูหัวก้าวหน้า โดยที่ยังคงฐานแฟนกลุ่มอนุรักษนิยมไว้

Queerbaiting เป็นปัญหาอย่างไร?

นอกจากสื่อที่ได้ประโยชน์หรือเพียงแค่ความสุขของผู้ชมบางกลุ่มแล้ว Queerbaiting เป็นปัญหาในแง่ที่ว่า มันคือการนำอัตลักษณ์ทางเพศของ LGBTQ+ มาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด โดยที่อัตลักษณ์เหล่านั้นไม่ได้ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาแต่อย่างใด จากเดิมที่มีบทบาทน้อยมากอยู่แล้ว พื้นที่ของผู้มีอัตลักษณ์หลากหลายทางเพศในสื่อจึงยิ่งพร่าเลือนมากขึ้นไปอีก

แบรนด์ Calvin Klein เคยโดนโจมตีในประเด็นนี้เมื่อปี 2019 จากการปล่อยแคมเปญเกี่ยวกับหญิงสาวและปัญญาประดิษฐ์ ที่มีการเล่าเรื่องออกมาคล้ายความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง ซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ เห็นว่าเป็นการนำเอาอัตลักษณ์ทางเพศมาโฆษณา แม้ว่าแบรนด์จะออกมาชี้แจงในภายหลังว่าต้องการส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็ถูกมองว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะให้ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นจริง

ตัวละคร ดัมเบิลดอร์ (Dumbledore) จากปลายปากกานักเขียนดัง เจ.เค.โรว์ลิง ถือเป็นอีกกรณีตัวอย่างของ Queerbaiting ที่โดนวิจารณ์อย่างแพร่หลาย หลังจาก เจ.เค.โรว์ลิง ออกมาประกาศในปี 2007 ว่าดัมเบิลดอร์เป็นเกย์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่ได้มีการบอกชัดถึงอัตลักษณ์นี้ผ่านหนังสือหรือภาพยนตร์แต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็น Queerbaiting ที่ทำไปโดยไม่ได้มีเจตนาจะสนับสนุนชุมชน LGBTQ+

วัฒนธรรมป็อปฝั่งตะวันออก อย่างเช่น อนิเมะหลายเรื่อง หรือวงนักร้องไอดอล ซึ่งมักจะมีการขาย ‘Bromance’ ทำให้มีความกำกวมระหว่างมิตรภาพกับความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกัน Queerbaiting จึงไปได้­­­­­­­ดีและช่วยหล่อหลอมวัฒนธรรมคู่ชิปให้แข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกัน พื้นที่ของ LGBTQ+ กลับไม่ได้มีมากขึ้นแต่อย่างใด

การขาดตัวแทน (Representation) ของ LGBTQ+ ในสื่อ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นรองของความรักความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความรักแบบชายจริงหญิงแท้ตามบรรทัดฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่สื่อแบบ Queerbaiting เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลผลิตอื่น เช่น ซีรีส์วาย ที่แม้จะมีความชัดเจนว่าตัวละครหลักเป็นเกย์ แต่บทบาทตัวละครก็มักจะติดอยู่กับรักต่างเพศแบบชายหญิงอยู่ดี เพราะจะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่มีความเป็นชาย (Masculinity) มากกว่าเสมอ สุดท้ายซีรีส์วายที่ควรจะเป็นตัวแทนของเกย์ในสื่อ กลับกลายเป็นแค่การเปลี่ยนจาก ‘พระเอก-นางเอก’ เป็น ‘พระเอก-นายเอก’ เท่านั้น และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงโดนละเลยอยู่ดี

Queerbaiting เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าสังคมยังไม่ได้ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยหลักการพื้นฐานว่า ‘คนเท่ากัน’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงการลดทอนอัตลักษณ์และตัวตนของคนให้กลายเป็นแค่คอนเทนต์เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ราวกับว่าการมีอยู่ของพวกเขาไม่มีจริง

 

ภาพ: AFP

 

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-47820447

https://www.pinknews.co.uk/2018/02/26/what-is-queerbaiting-everything-you-need-to-know/

https://www.insider.com/calvin-klein-apologized-queer-baiting-bella-hadid-lil-miquela-2019-5

https://www.refinery29.com/en-gb/jk-rowling-dumbledore-sexual-relationship

Tags: , , , , ,