“สังคมชายเป็นใหญ่กำลังทำร้ายทุกคน รวมถึงผู้ชายเองด้วย”
“คิดอะไรไม่ออกก็โทษชายเป็นใหญ่ไว้ก่อน ทั้งที่มันไม่มีจริง”
“ทุกวันนี้ไม่มีแล้วชายเป็นใหญ่ มันคือยุคของหญิงเป็นใหญ่ต่างหาก”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำว่าระบบชายเป็นใหญ่ หรือ ‘ปิตาธิปไตย’ (Patriarchy) ถูกพูดถึงมากในระยะหลัง ทั้งในแง่ของความหมายในเชิงสังคมศาสตร์ว่าเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจของมนุษย์เพศชายที่มีเหนือกว่าเพศ ‘อื่นๆ’ ในสังคม หรือแง่ของการโต้แย้งว่าตัวแนวคิดที่ว่านี้ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือมีคนบางส่วนนอกจากจะเห็นว่าสังคมชายเป็นใหญ่จะไม่มีจริงแล้ว สังคมตอนนี้ยังมีลักษณะแบบหญิงเป็นใหญ่ หรือ ‘มาตาธิปไตย’ (Matriarchy) อีกด้วย เนื่องจากผู้หญิงได้รับสิทธิหลายอย่างที่เหนือกว่าผู้ชาย และผู้ชายมีความลำบากในการใช้ชีวิตมากกว่า
บ้างว่าเกณฑ์ทหารก็มีแต่เพศชายที่ถูกบังคับ บ้างว่าโดยสารรถสาธารณะก็ต้องลุกให้ผู้หญิงนั่ง หรือแม้แต่การเล่นมุขกลัวเมียในกลุ่มผู้ชาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาเป็นหนึ่งในเหตุผลสนับสนุนว่าระบบหญิงเป็นใหญ่มีอยู่จริงในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด และเหตุผลเหล่านั้นควรค่าที่จะเห็นด้วยหรือไม่ ถึงอย่างนั้นในบางสังคมและบางช่วงเวลา ก็ได้มีการปรากฏลักษณะที่เข้าข่ายว่าเป็นสังคมแบบหญิงเป็นใหญ่จริงๆ เพียงแต่อาจจะไม่ได้เป็นไปด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับที่เราเข้าใจ
ชาติพันธุ์มินังกาเบา (Minanggabau) ในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นสังคมที่มีระบบแบบมาตาธิปไตย ที่แม้พวกเขาจะเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ให้สตรีมีอำนาจเป็นผู้นำทั้งภายในครอบครัวและระดับสังคม นอกจากนี้ ไม่ใช่เพียงอำนาจในการตัดสินใจที่ผู้หญิงมีมากกว่า แต่พวกเขายังมีขนบในการครองคู่ที่สวนทางกับสังคมอื่นๆ อีกด้วย
ชาวมินังกาเบามีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เรียกว่า ‘อาดัต มินังกาเบา’ (Adat Minangkabau) จากความเชื่อที่ว่าคนเราเปรียบเสมือนลูกเจี๊ยบที่ต้องเดินตามแม่ไก่ ไม่มีลูกเจี๊ยบตัวไหนเดินตามพ่อไก่ และสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของแม่ ไม่ใช่พ่อ
วัฒนธรรมอาดัต มินังกาเบา จึงมีการนับสายโลหิตทางฝั่งแม่หลังการคลอดบุตร โดยที่หลังการแต่งงาน สามีจะต้องเป็นผู้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านของภรรยาแทนที่จะเป็นภรรยาย้ายเข้าไปอยู่กับสามีแบบสังคมโดยทั่วไป และกรรมสิทธิ์ทางทรัพย์สินต่างๆ จะต้องตกเป็นของฝ่ายหญิงทั้งหมด แม้ว่าฝ่ายชายจะเป็นผู้ทำงานหามาก็ตาม
ฟังดูแล้ว สังคมนี้ดูจะห่างไกลจากคำว่าเท่าเทียมอย่างแน่นอนที่ยกผู้หญิงให้สูงกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจละเลย คือชาวมินังกาเบานั้นนับถือศาสนาอิสลามที่มีการให้อำนาจผู้ชายเป็นสำคัญอยู่แล้ว เมื่อมาพบกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีการกำหนดบทบาทของผู้หญิงให้เหนือกว่า ทั้งสองความเชื่อจึงดำรงอยู่ได้ในพื้นฐานเดียวกัน ภายใต้การเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ชาวมินังกาเบายังเชื่อว่าทั้งหญิงและชายต่างก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน และไม่ควรมีเพศใดอยู่เหนือกว่าเพศใด
คงมิใช่เพียงชาวมินังกาเบาที่ทิศทางของอำนาจนำจากเหตุแห่งเพศดูจะสวนทางกับสภาพโดยส่วนใหญ่ทั่วโลก แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น ชาวบรีบรี (Bribri) ในคอสตาริกา หรือชาวกาสี (Khasi) ในอินเดีย ที่ถ้าได้ร้องเนื้อเพลงที่ถามว่า “Who run the world?” พวกเธออาจตอบว่า “Girls” ได้ก่อนใคร
แต่ถามว่าตอนนี้ในโลกมีกี่ประเทศกันที่หญิงได้เป็นใหญ่จริงๆ? เชื่อว่าต่อให้นับเป็นพื้นที่ ยังไม่ต้องไปถึงระดับประเทศ ก็ยังไม่ถึงสิบ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม เพราะในปัจจุบันนี้ยังคงไม่มีประเทศใดที่จะสามารถกล่าวได้ว่าเป็นประเทศแห่งความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงทีเดียว
ถึงอย่างนั้นหญิงก็เคยได้เป็นใหญ่ในอดีต
อีกสิ่งบ่งชี้ว่าหญิงเป็นใหญ่อาจมีจริง แม้จะต้องย้อนเวลาไปไกล นั่นคือการดำรงอยู่ของหญิงเป็นใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในงานเสวนา ‘พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี: ความจริงและภาพแทน’ มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว เนื้อความตอนหนึ่งว่าด้วยการที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมและพิธีกรรมต่างๆ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนชื่อดัง
สุจิตต์มองว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการนับถือศาสนาผีอย่างแพร่หลาย แม้แต่ของไทยเราก็ยังเป็นกึ่งพุทธกึ่งผี และในอดีตก่อนการเข้ามาของผีผู้ชายแบบตะวันตก มีเพียงผีบรรพชนที่มักเป็นผู้หญิงเท่านั้นที่มีพลังอำนาจช่วยคุ้มครองคนที่นับถือ การนับถือผีที่ว่านี้จึงอาจเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้หญิงได้รับการเคารพนับถือตั้งแต่ในอดีต (แม้ว่าจะได้รับการนับถือในฐานะวิญญาณบรรพชนก็ตาม)
ขณะที่ ดร.รัศมี ชูทรงเดช รองศาสตราจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หยิบยกหลักฐานทางโบราณคดีขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างไร
“หลักฐานทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทยได้รับการยกย่องในฐานะแม่และเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย และบางสังคมมีสถานภาพสูงกว่า เช่น แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงกระดูกบางโครงมีการฝังลูกปัดนับแสนเม็ดลงไปพร้อมศพ โดยเชื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้ปั้นหม้อ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญ”
ถึงตอนนี้ หญิงส่วนใหญ่ ได้เป็นใหญ่จริงหรือไม่
มีข้อมูลทางสถิติมากมายที่นำมาอธิบายได้ว่า ความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงไม่ได้เข้าใกล้กับคำว่าหญิงเป็นใหญ่แต่อย่างใด และไทยก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ห่างไกลจากความเท่าเทียมทางเพศอยู่มาก
ประเทศไทยยังคงมีผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศและกระทำความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน และอัตราของผู้หญิงที่ต้องเข้ารับการรักษา หรือร้องทุกข์เรื่องการโดนล่วงละเมิดทางเพศ มีราวๆ ปีละ 3 หมื่นคน
พื้นที่ทางการเมืองในวุฒิสภา จากสมาชิก 250 คน มีผู้หญิงอยู่เพียง 26 คน คิดเป็น 10.40%, สภาผู้แทนราษฎร จากสมาชิก 474 คน มี 73 คน ที่เป็นผู้หญิง คิดเป็น 15.40 % และมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เป็นเพศหลากหลาย
ในทางศาสนา การบวชพระภิกษุณียังคงไม่ถูกรับรองสถานะตามกฎหมายไทย พระภิกษุณียังคงต้องเดินทางไปบวชที่ต่างประเทศเพื่อให้ได้รับสถานะนักบวชเช่นเดียวกับพระภิกษุสงฆ์และสามเณร
ความไม่เท่าเทียมที่ปรากฏอยู่นี้ ทำให้เราไม่อาจนำมุขตลกจำพวก ‘รักชีวิตอย่าคิดสู้เมีย’ หรือข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่ดูจะผิดฝาผิดตัว มาเป็นเหตุสนับสนุนได้ว่าสังคมนี้เป็นสังคมแบบหญิงเป็นใหญ่ เพราะไม่ว่าจะจากพื้นที่หรือมุมมองใดๆ ผู้ที่มีพื้นที่และเป็นใหญ่อยู่จริงๆ ก็ยังคงเป็นผู้ชายอยู่ดี
และอันที่จริง แม้แต่การเรียกตัวเองว่าคนกลัวเมีย ก็เป็นอีกสิ่งที่สะท้อนว่าหากผู้ชายยอมให้ผู้หญิงขึ้นมา จะกลายเป็นเรื่องที่ดูผิดแปลกเสียจนน่าขบขันไม่ใช่หรือ
เช่นนี้แล้วหญิงจะเป็นใหญ่ได้อย่างไร?
ที่มา
https://www.theguardian.com/world/2011/jan/18/india-khasi-women-politics-bouissou
https://www.silpa-mag.com/history/article_68755
https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_398674
https://www.tcijthai.com/news/2022/3/current/12248
Tags: Gender, ผู้หญิง, ชายเป็นใหญ่, ปิตาธิปไตย, ผู้ชาย, หญิงเป็นใหญ่, มาตาธิปไตย