แบบสำรวจเมื่อปี 2021 โดย Survey Center on American Life ระบุว่า ผู้ชายอเมริกัน 15% ไม่มีเพื่อนสนิทเลยสักคน นอกจากนี้หากเจาะเข้ามาเฉพาะกลุ่มผู้ชายที่ยังไม่แต่งงาน พบว่า 20% ไม่มีเพื่อนสนิท และในกลุ่มผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี 25% ไม่มีเพื่อนสนิท
นอกจากแบบสำรวจข้างต้น หลายปีให้หลังเรายังได้ยินผู้ชายจำนวนมากเล่าคล้ายๆ กันเกี่ยวกับความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว ขาดที่พึ่ง นี่เองทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามเป็นวงกว้างว่า
เพราะอะไรผู้ชายถึงเหงาเหลือเกิน
หากผู้อ่านท่านใดสิงอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตฝั่งอินเตอร์ น่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Male Loneliness Epidemic’ หรือภาวะระบาดความเหงาของผู้ชาย ผ่านตาอยู่บ้าง วันนี้ The Momentum จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมกับสำรวจสาเหตุต่างๆ ที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญและคนส่วนใหญ่คาดเดากัน
ค่านิยมเก่าๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศ
หลายคนสันนิษฐานว่า ความรู้สึกอ้างว้างที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ชายนั้นเกิดจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และราคาบ้านที่สูงขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้ชายถูกตั้งความหวังให้เป็นเสาหลัก เป็นเพศที่ต้องทำงานหาเงิน สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว จึงยิ่งกดดันเป็นพิเศษ นำไปสู่การปิดตัวเองจากคนภายนอก รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ
อย่างไรก็ตามมีเสียงโต้แย้งว่า บทบาททางเพศแบบนี้คร่ำครึไปแล้ว ปัจจุบันผู้หญิงก็ทำงานเช่นกัน แถมผู้ชายเจน Z ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นคนหาเงินคนเดียวในครอบครัวอีกแล้ว ถึงอย่างนั้นผู้ชายเจน Z กลับทุกข์ทนกับความเหงาอยู่ดี
วัฒนธรรมปัจเจกชนนิยมและโซเชียลมีเดีย
แบบสำรวจของ BBC เมื่อปี 2018 ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนอายุ 16-99 ปีใน 237 ประเทศเผยว่า กลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อความเหงาที่สุดคือผู้ชายอายุน้อยในประเทศปัจเจกชนนิยม (Individualism) หรือก็คือประเทศที่มีแนวคิด ‘ตัวใครตัวมัน’ ผู้คนให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตัวเองมากกว่าเป้าหมายส่วนรวมของสังคม
ทว่าในยุคสมัยที่อะไรเปลี่ยนแปลงไวไปหมด เศรษฐกิจผันผวน สงครามปะทุ การเมืองทั้งในและระหว่างประเทศไม่มั่นคง การจะมีเป้าหมายแน่วแน่เป็นของตัวเองนั้นยากกว่าที่คิด ชายหญิงรุ่นใหม่หลายคนรู้สึกหลงทาง แต่พออยู่ในประเทศปัจเจกชนนิยมก็พึ่งใครไม่ได้ จึงหันหาโซเชียลมีเดียเป็นคำตอบสุดท้าย
อีกแบบสำรวจหนึ่งจาก Equimundo เมื่อปี 2023 ระบุว่า เกือบครึ่งของผู้ชายอเมริกันรู้สึกมีคุณค่าในโลกออนไลน์มากกว่าชีวิตจริง หลายคนพยายามเติมเต็มรูโหว่ในใจด้วยการเข้าร่วมกับคอมมูนิตี้ออนไลน์ขวาจัด ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) และเชิดชูคนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) ผู้ชายเจน Z มากถึง 20% ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจาก แอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังที่เผยตัวว่าเกลียดผู้หญิง
ยิ่งถลำลึกลงไปกับมูฟเมนต์สุดโต่งพวกนี้มากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับผู้หญิง คนผิวสี และกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่มีความเชื่อต่างจากตัวเอง บางทีอาจถึงขั้นปัดคนที่มีเจตนาดีไปเป็นศัตรูทั้งหมด ส่งผลให้เปล่าเปลี่ยวในท้ายที่สุด
เปราะบางไม่ได้ แตกสลายไม่เป็น
เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เชี่ยวชาญหลายแห่งเห็นพ้องต้องกันว่า เหตุผลหลักที่ผู้ชายยุคใหม่เหงาขนาดนี้เพราะไม่สามารถแสดงความเปราะบางออกมาตรงๆ ได้
ในสังคมอนุรักษนิยม (Conservative) ผู้ชายถูกคาดหวังให้เข้มแข็งตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะดู ‘ไม่แมน’ ส่วนในสังคมหัวก้าวหน้า (Progressive) ก็ยังมีคนบางส่วนเยาะเย้ยหรือด้อยค่าผู้ชายที่ออกมาเล่าปัญหาของตัวเอง เพราะพวกเขามองว่า ปัญหาของผู้ชายเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอ ริชาร์ด รีฟส์ (Richard Reeves) ประธานองค์กร American Institute for Boys and Men เชื่อว่า การถูกเยาะเย้ยด้อยค่าเช่นนี้ทำให้ผู้ชายจำนวนมากตัดสินใจพึ่งพิงคนอย่างเทต
อันที่จริงไม่ว่าจะเพศไหนก็ต้องการพื้นที่ปลดปล่อยอารมณ์อ่อนไหวไม่ต่างกัน หากเก็บกดนานๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต ข้อมูลจาก Equimundo เผยว่า ผู้ชาย 44% คิดถึงการฆ่าตัวตายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนทำแบบสำรวจ และผู้ชายที่ยึดถือเรื่องความ ‘แมน’ อย่างเคร่งครัด (เช่น ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ถึงจะสมชาย ห้ามร้องไห้เพราะมันไม่แมน) จะยิ่งมีแนวโน้มอยากฆ่าตัวตายมากที่สุด
สุดท้ายแล้วความเหงาก็ไม่เข้าใครออกใคร ที่เขาว่ากันว่าความเหงาฆ่าคนได้ ฟังเผินๆ อาจเหมือนเวอร์ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงสูงมาก
ในยุคสมัยที่ภาวะอ้างว้างโดดเดี่ยว ‘ระบาด’ หนัก จะดีกว่าไหมหากเราหันมาใส่ใจกันและกันมากขึ้น ละทิ้งความเกลียดชังแบบสุดโต่ง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถพูดคุยปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเปิดเผย
เพราะการสร้างสังคมที่ดีเป็นงานกลุ่มของเราทุกคน
อ้างอิง
https://www.latimes.com/opinion/story/2024-01-15/men-friendship-gen-z-loneliness
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0191886920302555
https://www.equimundo.org/resources/state-of-american-men/
Tags: Gender, ความเหงา, ผู้ชาย, Male Loneliness Epidemic, Male Loneliness